Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงนี้กลิ่นหอมเย้ายวนของดอกไม้นานาชาติกำลังแผ่ปกคลุมประเทศไทย ด้วยเหล่าสาวงามต่างตบเท้าเดินเข้ามาอวดโฉมเต็มบ้านเกลื่อนเมือง ทว่ากลิ่นหอมอบอวลของดอกไม้ธูปเทียนที่เหล่าพุทธ
ศาสนิกชนรวมใจเดินทักษิณาวรรตรอบพระอุโบสถในวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา กลับไม่สร้างความ
รู้สึกรัญจวนใจเท่า
……
นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ.218) พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิอย่างต่อเนื่อง และเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย ทั้งด้านวรรณกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และประเพณีวัฒนธรรม มีพิธีกรรมอันเนื่องมาจากวันสำคัญทางศาสนาตลอดปี และคนไทยได้ถือปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตเรื่อยมา

ปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เป็นพุทธศาสนิกชน มีวัดทั้งสิ้น 32,710 วัด มีพระภิกษุสามเณรจำนวน 352,651 รูป

ผลักดันศูนย์พุทธศาสนาโลกในประเทศไทย
วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญสากลของโลก โดยประเทศไทยได้จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธ
ศาสนาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ามียอดตัวเลขผู้มาเวียนเทียนรอบพระบรมสารีริกธาตุ ณ ท้องสนามหลวงถึง 7,800 คนต่อชั่วโมง และมีผู้มาร่วมงานกว่า 1,200,000 คน ตัวเลขเหล่านี้คือตัวชี้วัดที่ดีพอหรือยังสำหรับการประกาศตัวเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก?

ทั้งนี้ ยอดตัวเลขผู้มีส่วนร่วมในวันวิสาขบูชาดังกล่าว อาจช่วยยืนยันในการนำมาใช้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก และการจัดประชุมพุทธศาสนานานาชาติต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังขับเคลื่อนอยู่

เนื่องด้วยพุทธศาสนามีความสำคัญและเป็นศาสนาประจำชาติไทย การจัดประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือขององค์กรพระพุทธศาสนาดังกล่าว จึงเป็นการย้ำถึงจุดยืนของไทยในการจัดการระหว่างประเทศ
โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สมเด็จพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระสงฆ์ 1,500 รูป จาก 41 ประเทศ ได้ร่วมประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชา โดยมีมติให้จัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังต้องการให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก โดยมีมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งการประชุมพุทธศาสนานานาชาตินี้จะเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2549 - 2550

คนไทยกับความใส่ใจพุทธศาสนา
วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญสากลของโลก และประเทศไทยได้จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระ
พุทธศาสนาไปแล้วนั้น กลับมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญและละเลยที่จะปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธ

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2548 กล่าวว่า วันหยุดนักขัตฤกษ์เนื่องในวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา เซียนพนันไทยกลับยังคงแห่เข้าบ่อนกาสิโนปอยเปต ประเทศกัมพูชา แม้ว่าจะมีข่าวลือปิดด่านก็ตาม แต่คนไทยก็ยังคงหลั่งไหลเข้าไปเสี่ยงโชคเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ สำนักสวนดุสิตโพล ได้สำรวจความเห็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งสอบถามสาเหตุของเยาวชนที่ไม่อยากเข้าวัดทำบุญในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่าไม่มีเวลาว่าง ไม่มีเพื่อนไป และมีบางส่วนอ้างว่ามีข่าวทางด้านลบเกี่ยวกับพระสงฆ์ค่อนข้างมาก

จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างที่เราต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า ประเทศไทยถึงเวลาที่จะประกาศตัวสู่เวทีพุทธศาสนาโลกแล้วหรือยัง? ระหว่างคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามผลักดันและยกระดับสู่สากล กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังฟ้องให้เห็นภาพความเป็นจริงในสังคม

-----------------------------------

ไทยนำพระพุทธศาสนามาจากไหน?

ในสมัยอาณาจักรโปลนนารุวะ ซึ่งเป็นยุคทองของศิลปะสังกา ได้เผยแพร่พุทธศาสนาลัทธิหินยานลังกาวงศ์มาในอาณาจักรสุวรรณภูมิ ลังกาจึงเปรียบเสมือนครูของคนไทย และเป็นจุดแพร่พุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามายังแถบบ้านเรา

ขณะเดียวกัน เมื่อคนไทยเรืองอำนาจทางการเมืองขึ้นมา ไทยได้รับพุทธศาสนาแบบหินยานจากมอญในพม่าตอนล่างมาใช้ และยังรับพุทธศาสนาจากลังกาอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งมอญน่าจะมีส่วนในการที่ทำให้พระสงฆ์ไทยออกไปจาริกแสวงบุญยังเมืองลังกา

หากถามว่าทำไมไทยรับพุทธศาสนาจากลังกา ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ "วิถีไทย: การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม" ว่า เนื่องจากไทยไปรับจากอินเดียโดยตรงไม่ได้ ถึงแม้ว่าตอนกลางของไทยนั้นจะมีพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยทวารวดี และเมื่อขอมเรืองอำนาจ ศาสนาฮินดูและพราหมณ์กลับมีอิทธิพลมากกว่า แต่ต่อมาเขมรก็หันไปรับพุทธศาสนาแบบมหายานในสมัยนครธม

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ไทยได้นำหลักในการปกครองสงฆ์ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งมีองค์กรของคณะสงฆ์เพียงองค์กรเดียว ที่สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช นับเป็นรากเหง้าการปกครองสงฆ์ที่ไทยได้รับมาจากลังกาในเวลาต่อมา

ดร.ชาญวิทย์ ยังเสนออีกว่า น่าเชื่อได้ว่าหลักในการปกครองสงฆ์แบบนี้ดึงดูดใจกษัตริย์สุโขทัยและแนวคิดศาสนูปถัมภก เนื่องจากเป็นแนวทางให้พระมหากษัตริย์ดูแลสนับสนุนและควบคุมพระสงฆ์ในเวลาเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบ้านการเมืองจนเกินขอบเขตนั่นเอง

เมื่อพุทธศาสนาได้เข้ามาผนวกรวมกับวิถีคนไทยหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแต่เดิมมีการนับถือผีสางนางไม้ เทวาอารักษ์ ฯลฯ เท่ากับเป็นการบีบให้วิถีที่หลากหลายกลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีเดียวกัน ซึ่งส่วนกลางต้องการสร้างความประนีประนอมให้เกิดขึ้นในสังคม
จะเห็นได้ว่า การที่พระพุทธศาสนาประดิษฐานในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน ล้วนผูกโยงทั้งด้านศาสนจักรและอาณาจักร และเกี่ยวพันธ์กับผู้ปกครองและยุทธวิธีการจัดการกับอำนาจ โดยที่พุทธศาสนาถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอำนาจที่ว่านี้

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net