Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ - 24 พ.ค.48 "วิทยุชุมชนที่แท้จริง หน้าตาเป็นอย่างไร ภาครัฐต้องชัดเจนก่อนถึงแม้รัฐธรรมนูญเขียนไว้และให้สัดส่วนภาคประชาชน 20% ของการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดก็ตาม เพราะมีการแอบอ้างวิทยุชุมชนไปทำธุรกิจ" นายนิรพงษ์ สุขเมือง ตัวแทนสถานีวิทยุชุมชนอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีกล่าวในเวทีนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับสื่อกระจายเสียงเพื่อชุมชน

ในวันนี้ ( 24 พ.ค.) สำนักงานสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.) จัดงานงานมหกรรมวิชาการ " การสื่อสารเพื่อชุมชน" ภายใต้ชุดโครงการการวิจัยการสื่อสารชุมชนเพื่อพัฒนากระตุ้นให้เกิดการแกเปลี่ยนความคิดเห็นและพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการว่าด้วยการสื่อสารเพื่อชุมชนร่วมกับกลุ่มนักวิจัย นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา และนักพัฒนาด้านการสื่อสาร

ผลจากการนำเสนอรายงานวิจัยพบว่า สถานีวิทยุชุมชนที่ดำเนินการโดยประชาชนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ วิทยุชุมชนที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินรายการกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) ซึ่งวิทยุชุมชนประเภทนี้ไม่มีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาสาระของรายการมักนำเสนอตามกรอบของสถานีวิทยุที่คอยกำกับดูแล รวมทั้งวิทยุชุมชนบางแห่งภาคประชาชนเป็นเพียงผู้ไปเข้าร่วมดำเนินรายการ โดยมิได้มีส่วนร่วมกับการวางผังรายการและการบริหารจัดการรายการ

ในขณะที่วิทยุชุมชนที่จัดตั้งโดยการรวมตัวประชาชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับการใช้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารภาคประชาชนนั้น รายงานวิจัยระบุว่าภาคประชาชนจะเริ่มต้นจากเรียนรู้นิยามคำว่า วิทยุชุมชน ปรัชญา หลักการ แนวคิดวิทยุตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จากนั้นจึงเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดเอง ทำเอง และบริหารจัดการคลื่นวิทยุชุมชนด้วยตนเอง เพราะเล็งเห็นถึง "สิทธิความเป็นเจ้าของวิทยุชุมชน"

ด้านนายชาคริต สุดสายเนตร หัวหน้าโครงการเรื่องการใช้สื่อวิทยุเพื่อส่งเสริมประชาคม จังหวัดมหาสารคาม กล่าวถึงสาเหตุของการใช้วิทยุชุมชนผิดจากหลักการของรัฐธรรมนูญว่า เป็นเพราะการตีความไม่ชัดเจน ทำให้ความหมายและคำนิยามของวิทยุชุมชนผิดเพี้ยนจากเจตนารมณ์ตามหลักการวิทยุชุมชน ตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 โดยพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการหลายรายใช้ช่องทางกฎหมายแอบอ้างเข้ามาเอารัดเอาเปรียบเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ทางธุรกิจ

"สภาพปัจจุบันวิทยุชุมชนเกิดขึ้นมากมาย ทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรชาวบ้าน และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่แอบแฝงเข้ามาทำธุรกิจ เพราะเขามีเงิน มีทุน ไปซื้อเครื่องมา เปิดเพลงทั้งวัน ขายโฆษณา และใช้คำวิทยุชุมชน ตรงนี้เองที่เป็นปัญหา ขณะที่วิทยุชุมชนที่แท้จริงที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของ ต่างหวาดหวั่น และเริ่มกลัว หลายคลื่นหยุดดำเนินการไปแล้วชั่วคราว" นายนิรพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

จันทร์สวย จันเป็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net