สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICPR) เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้หลักประกันในด้านสิทธิของประชาชนที่จะมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากการแบ่งแยก เลือกปฏิบัติ การทรมานทารุณกรรมหรือการถูกลงโทษ ล่วงละเมิดด้วยวิธีการใด ๆ ภายใต้รัฐบาลใด ๆ ซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออก

การล่วงละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มักจะเกิดขึ้นโดยตรงอันเนื่องมาจากข้อกฎหมาย และการปฏิบัติของรัฐ ทหาร ตำรวจ หรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า การล่วงละเมิดใด ๆ จะมีผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มทางสังคม ศาสนา หรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง

บางครั้งมีการแอบอ้างความจำเป็นหรือข้ออ้างว่าด้วยการป้องกัน ซึ่งภัยความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของรัฐ และผู้มีอำนาจ

บ่อยครั้งมักมีการอ้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสหประชาชาติ หรือแม้แต่ประโยชน์สุขของประชาชน บ่อยครั้งมีการอ้างความสงบเรียบร้อยเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ของชาติ ด้วยการละเมิดสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ที่ประชาชนบางกลุ่มยินยอมที่จะให้มีการละเมิดได้ โดยไม่มีเสียงคัดค้าน

กติการะหว่างประเทศฉบับนี้คุ้มครอง ปกป้อง สิทธิในชีวิต สิทธิเสรีภาพที่ปลอดจากการถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพที่ปลอดจากการทรมานและทารุณกรรมหรือการลงโทษทัณฑ์ที่ไร้มนุษยธรรม สิทธิและเสรีภาพในทางความคิด การแสดงออกซึ่งความคิดเห็น สิทธิส่วนบุคคล สิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมกิจกรรมสมาคม และชุมนุมโดยสันติ รวมถึงสิทธิเสรีภาพ ในการเคลื่อนย้ายที่อยู่หรือเดินทางได้โดยเสรี เป็นต้น

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองผ่านความเห็นชอบโดยมติของสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1966 (พ.ศ.2509) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 1976 พ.ศ.2519) มีภาคีสมาชิกในปัจจุบัน 149 ประเทศ

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติกาฉบับนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 แต่ยังไม่เคยทำรายงานเสนอต่อ ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee)

สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้รับการพัฒนามาจากการยอมรับในความจริงที่ว่า มนุษยชาติจะสามารถใช้เสรีภาพที่ปราศจากความกลัว และความต้องการได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้างเงื่อนไขที่เขาสามารถเข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองขึ้นมาก่อน

ผู้นำประเทศต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย รวมถึง ดร.มหาเธร์ แห่งมาเลเซีย มักจะมีท่าทีบ่ายเบี่ยงและปฏิเสธการให้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองแก่ประชาชน โดยอ้างว่าประชาชนจะต้องเสียสละสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของตนเพื่อเอื้อต่อกระบวนการจัดระเบียบให้กับสังคม และเพื่อที่จะยกระดับชีวิตของประชาชนโดยรวม

ซึ่งในความเป็นจริงทั้งสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นสิทธิ 2 ชุดที่มีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ แนบแน่น และเสริมกันและกัน สิทธิมนุษยชนจึงไม่สามารถนำมาต่อรองกันได้ ด้วยการเอาสิทธิหนึ่งไปแลกกับอีกสิทธิหนึ่ง

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผ่านความเห็นชอบโดยมติของสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1966 (พ.ศ.2509) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 1976 (พ.ศ.2519) มีภาคีสมาชิกในปัจจุบัน 146 ประเทศ

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติกาฉบับนี้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2542 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 แต่ยังไม่เคยทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights) เลย

นอกจากกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทั้ง 2 ฉบับนี้แล้ว ประเทศไทยยังเป็นภาคีของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (Convention on the Eradication of Discrimination Against Women - CEDAW) และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)

นอกจากนี้ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (International Convention on the Eradication of Radical Discrimination- CERD) และกติกากรุงโรมว่าด้วยตุลาการอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statue of International Criminal Court - ICC

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท