Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 พ.ค.48 "การแก้ปัญหาภาคใต้ ผมไม่เห็นด้วยที่จะหลีกเลี่ยงประเด็นศาสนา....เราต้องสื่อสารสนทนาเรื่องศาสนาแบบไขว้ข้ามระหว่างพุทธกับอิสลาม โดยพูดแบบเปิดปลายให้เกิดการตีความ ความหลากหลาย สามารถเลือกได้และสงสัยได้ เพราะเมื่อสงสัยแล้วก็อาจจะไม่ฆ่า" รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานเสวนา "แก้เงื่อน ถอดปม ความรุนแรงในสังคมไทย" จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา (B-Net)

รศ.ดร.เกษียรชี้แจงความจำเป็นที่ต้องพูดประเด็นศาสนาในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาค ใต้ว่า นอกจากปัจจัยของสถานการณ์สากลที่ศาสนาอิสลามถูกนำมาใช้เป็นภาษาร่วมสำหรับผู้ถูกกดขี่ที่ลุกขึ้นสู้รวมทั้งถูกใช้เป็นความชอบธรรมสำหรับการก่อการร้ายแล้ว ผู้ก่อการภาคใต้ยังแสดงให้เห็นว่าสามารถฆ่าผู้อื่นและปลิดชีวิตตัวเองได้ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการอิสลาม ซึ่งเป็นความเชื่อมั่นที่ไร้ข้อสงสัยใดๆ เพราะเมื่อไรที่เกิดความสงสัยจะไม่มีทางปฏิบัติการได้ จึงต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ก่อการสงสัยในแนวทางที่ตัวเองดำเนินอยู่

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. ยกตัวอย่างความสำเร็จในการจัดการความรุนแรงในรูปแบบดังกล่าว โดยเชื่อมโยงไปยังกรณีของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ต่อสู้กับรัฐบาลในเขตป่าเขา โดยปัจจัยที่ทำให้พคท.ยอมวางปืนไม่ใช่เพียงนโยบายการเมืองนำการทหารตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เพียงอย่างเดียว แต่เพราะมีนิตยสาร "ไทยนิกร" ซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายที่มีแนวทางปฏิรูปเข้าไปเผยแพร่ในป่า และสมาชิกเกิดความสงสัยในแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรง จนกระทั่งวางปืนยอมออกจากป่าในที่สุด

นอกจากนี้ รศ.ดร.เกษียร ยังวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเดินในแนวทางของสายเหยี่ยวที่ใช้ความรุนแรงกดขวัญศัตรู ปลุกขวัญมวลชน โดยฐานที่มองชาวบ้านว่าไม่มีจุดยืนและพร้อมจะอยู่ข้างผู้ชนะ รวมทั้งการใช้ไม้แข็งกับศัตรูที่มองไม่เห็น ทำให้ต้องพึ่งพาข่าวกรอง ซึ่งดำเนินการบนหลักความสงสัย มากกว่าหลักยุติธรรมที่ดำเนินการบนหลักการพิสูจน์

ส่วนการแก้ปัญหาในปัจจุบันนั้น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. มองว่า เป็นการแก้ปัญหาแบบสายอีแร้ง เพราะมีความครึ่งๆ กลางๆ เนื่องจากเมื่อเห็นว่าความรุนแรงแบบสายเหยี่ยวไม่ได้ผล จะหันมาเดินสายพิราบก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะผู้คนที่ห้อมล้อมผู้นำล้วนคุ้นเคยกับวิถีทางแห่งความรุนแรง

"คณะกรรมการสมานฉันท์ที่ตั้งขึ้น ของต่างประเทศในกรณีแบบนี้เขาจะตั้งคณะกรรมการในลักษณะที่เป็นไปเพื่อความยุติธรรม ความจริง และความสมานฉันท์ แต่ของไทยเราสมานฉันท์เฉยๆ ไม่ต้องยุติธรรม และไม่ต้องค้นหาความจริง แต่มันก็ไม่แน่ว่ากระบวนการของคณะกรรมการสมานฉันท์อาจนำไปสู่ความจริงและความยุติธรรมก็ได้" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ.กล่าว พร้อมระบุว่าอย่างไรก็ตาม ถือว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ของรัฐบาลเป็นแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรุกเป็นครั้งแรก

ขณะที่ในตอนท้าย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวถึงมุมมองของสังคมไทยที่มีต่อมุสลิมว่า สังคม ไทยมักจะมองภาพของมุสลิมเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งที่จริงแล้วสังคมมุสลิมก็มีความแตกต่างหลาก หลายไม่แพ้สังคมอเมริกัน และขณะนี้กำลังมีแนวโน้มใหม่ๆ ของอิสลาม ที่มีการให้ความหมายกับภารกิจการต่อสู้ต่อการกดขี่ไปในทิศทางที่ไม่ใช่การก่อการร้ายเกิดขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net