Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากมีโอกาสไปเยือนจังหวัดมุกดาหารยามนี้จะพบว่ามีการก่อสร้างขนาดใหญ่กำลังดำเนินการอย่างขมักเขม้น นั่นคือ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 2 " บริเวณบ้านบางทรายใหญ่และบ้านสงเปือยทอดข้ามฝั่งไปด้วยระยะทาง 1600 เมตร ไปลงที่บริเวณบ้านท่าอุดมและบ้านนาแก ของเมืองคันทะบุรี แขวงสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากและคาดว่าจะเสร็จภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาที่เรียกว่าเรียกว่า East-West Corridor ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งโครงการนี้รวมการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดมุกดาหารของไทยและการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 9 จากสะหวันนะเขตของ สปป.ลาวไปสู่ชายแดนเวียดนามที่ลาวบาว ก่อนจะไปบรรจบกับเส้นทางหมายเลข 1 ของเวียดนามสู่ท่าเรือน้ำลึก โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่ที่มีการพัฒนาน้อยซึ่งตั้งอยู่บนเขตแนวดังกล่าวได้มีการพัฒนามากขึ้น

เมื่อดูถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับ 3 ประเทศหลัก คือ ไทย ลาว และเวียดนาม ในขณะนี้จะพบว่ามีความคืบหน้าไปมาก โดยในประเทศลาวได้มีการปรับปรุงถนนหมายเลข 9 เสร็จเรียบร้อยแล้วและสามารถร่นระยะเวลาเดินทางจากสะหวันนะเขตไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาวชายแดนเวียดนาม - ลาว ได้ด้วยเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่ในเวียดนามก็มีการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน การยกระดับท่าเรือเทียนซาที่ดานัง และอื่น ๆ รวมทั้งการก่อสร้างอุโมงค์ไฮวานเสร็จแล้ว เหลือเพียงการปรับปรุงถนนในเขตจังหวัดภาคกลางซึ่งก็ใกล้แล้วเสร็จ ในส่วนประเทศไทยการก่อสร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่ 2 ก็คาดว่าจะเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

ขณะที่การเชื่อมต่อเส้นทางดังกล่าวคืบหน้าไปมาก สิ่งที่ไทยควรให้ความสนใจขณะนี้ คือ เรื่อง ผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ จากการมีสะพานและการใช้ประโยชน์จากเส้นทางหมายเลข 9 ในอนาคต ซึ่งในเรื่องนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะหน่วยงานวิจัย ได้สนับสนุนให้สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ทำการวิจัย "ผลกระทบจากการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 9 ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างเสริมกลไกท้องถิ่นเพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อประมวลและประเมินสถานการณ์ฉายภาพอนาคตว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างและควรเตรียมการรองรับอย่างไร ซึ่งได้มีการนำเสนอผลการศึกษาแก่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดมุกดาหาร โดยผลการศึกษาระบุว่า

ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยถึงสาระสำคัญของการ
ศึกษาดังกล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นการสำรวจและประมวลสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้แล้วมองไปข้างหน้าว่าจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้างทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม และอีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือการพัฒนากลไกของภาคประชาชน โดยการศึกษาระยะที่ 1 ทำในช่วงก่อนและระหว่างการสร้างสะพาน ผลการศึกษาพบว่ามีผลใน ด้านเศรษฐกิจ ชัดเจนที่สุด เพราะเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญของการพัฒนาเส้นทางนี้ ให้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งสินค้า ทั้งคน แรงงาน และการท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้แม้การพัฒนาเส้นทางในแต่ละประเทศยังไม่เสร็จ 100% แต่มีความคืบหน้าไปมาก แต่ผลที่เกิดขึ้นในด้านนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจะมาจากอะไรบ้าง เช่น ถ้าเป็นสินค้าน่าจะมาจากพืชผลประเภทไหน แม้แต่ทิศทางก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะไหลจากเวียดนามเข้ามาไทยหรือจากไทยจะไหลออกไปมาก ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยวิเคราะห์กันต่อไปว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แล้วจึงลงไปสู่การศึกษาที่เน้นลงไปว่าจังหวัดไหนจะได้รับผลทางบวกทางลบอย่างไร ซึ่งเป็นการศึกษาที่ต้องเข้าไปดูในลาวและเวียดนามด้วย

ผลใน ด้านสังคม ก็แน่นอนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่สำหรับมุกดาหารที่ไม่เคยเป็นจังหวัดหน้าด่าน มุกดาหารเป็นเมืองใหม่ที่แยกมาจากนครพนมเมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั่นคือการหลั่งไหลเข้ามาของคนจากภายนอก การค้า การลงทุน รวมทั้งเงินตรา ธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเข้ามาบ้าง จึงต้องมาช่วยกันประมาณการณ์ว่ามันจะกระทบกับคนท้องถิ่นอย่างไร ซึ่งที่กระทบทันทีก็มี เช่น คนจะมีงานทำเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินดีขึ้น ตอนนี้เราจึงเห็นมีการประกาศขายที่ดินในบริเวณใกล้เส้นทางมากขึ้น แต่การซื้อขายจริงยังมีอยู่น้อย ขณะเดียวกันผลกระทบทางลบก็มีเยอะ เช่น สังคมที่เคยเป็นสังคมกลมเกลียวกันอยู่ในวิถีเดิมก็คงจะเปลี่ยนไปค่านิยมก็จะเปลี่ยนไป อาจจะตัวใครตัวมันมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นคนวัยทำงานกับคนรุ่นอาวุโสก็อาจจะค่านิยมหรือความคิดเห็นต่างกัน นั่นคือทำให้ช่องว่างที่มีอยู่แล้วกว้างมากขึ้น

ส่วนผล ด้านสิ่งแวดล้อม ก็น่าจะเป็นผลกระทบตามมากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้ามีรถบรรทุกเข้ามา การตั้งโรงงาน รวมทั้งเรื่องของการกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว นั่นคือ มีการใช้ทรัพากรในพื้นที่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ และป่าไม้ ซึ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องประมาณการว่าถ้าสิ่งเหล่านี้เข้ามาอะไรมันจะเกิดขึ้นเพื่อจะได้ระมัดระวังป้องกัน

ผอ.สกว. กล่าวว่า ผลของงานวิจัยระยะที่ 1 แม้จะยังบอกไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดมากน้อยอย่างไร แต่เป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ควรรู้เพื่อเตรียมการรองรับ ซึ่งในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างสะพานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือผลที่เกิดจากการก่อสร้างสะพาน ซึ่งจะมีมากน้อยอย่างไรมันก็ชั่วคราว เพราะเมื่อสร้างเสร็จผลกระทบก็จบไปด้วย โดยมีการปรับตัวและแก้ไขปัญหาไปในระหว่างการสร้าง แต่ผลกระทบที่ตามส่วนที่ 2 คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการใช้สะพาน การมีรถวิ่งผ่านไปผ่านมา การมีคนเข้ามา อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมกันต่อไปอีกนาน

"ลองนึกภาพว่าพอมีการเปิดสะพานคนไหลเข้ามาด่านตรวจคนเข้าเมืองจะทำอย่างไรจึงจะจัดการได้ทันเวลา ด่านศุลกากรจะทำอย่างไร เมื่อเข้ามาแล้ว โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งข้อมูล การคมนาคมขนส่งจะทำอย่างไร เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน รวมทั้งในภาคประชาชนควรจะรับรู้และเตรียมตัวอย่างไร สิ่งที่งานวิจัยทำในระยะที่ 1 นี้คือการสร้างฐานข้อมูล (base line data) ในการติดตามผลกระทบ"

ผอ.สกว.กล่าวอีกว่า สำหรับผลการศึกษาดังกล่าวนอกจากการเผยแพร่สู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระดับจังหวัดได้นำไปใส่ในแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีของจังหวัดมุกดาหารซึ่งจะนำเสนอต่อรัฐบาล ขณะเดียวกันก็จะเผยแพร่สู่ภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน เพื่อสร้างความรับรู้สร้างความตระหนักต่อความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ ที่ควรจะสนใจและเตรียมพร้อม

นายประเสริฐ อังคะณา กำนัน ต.บางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างสะพาน ซึ่งมีการเวนคืนที่ดินซึ่งชาวบ้านรู้สึกว่าราคาต่ำเกินไปจึงเกิดการเรียกร้องและต่อรองเกิดขึ้น กำนันประเสริฐ เล่าว่า เดิมชาวบ้านก็รับรู้เรื่องการสร้างสะพานมาเป็นระยะ ๆ จากที่ไม่เชื่อและไม่มั่นใจว่าจะมีการสร้างจริงในที่สุดก็มีการสร้างจริง ๆ เราก็รู้สึกว่ามันจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงตามมาแน่ ๆ แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นผลดี การทำมาหากิน การประกอบอาชีพก็คงจะมีช่องทางมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิมซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำนา ทำการเกษตร เมืองมุกดาหารก็จะขยายเติบโตขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการขยายเมืองมาใกล้บริเวณที่สร้างสะพานมากขึ้น การค้า การท่องเที่ยว การลงทุน ที่จะเกิดขึ้นส่วนที่ว่าชาวบ้านจะปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทันหรือไม่ กำนันประเสริฐย้ำว่า ที่ผ่านมาเราก็ปรับตัว ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นผลกระทบมาจากการสร้างสะพาน เช่น การเรียกร้องให้แก้ปัญหาน้ำเสียที่เกิดจากการก่อสร้างขวางเส้นทางน้ำของชุมชน รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ซึ่งชาวบ้านเมื่อมีปัญหาก็จะมีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหากันเป็นระยะ ๆ การปรับตัวถือว่าไม่น่าห่วง

เมื่อดูความพร้อมในเชิงเศรษฐกิจการลงทุนตามเส้นทางนี้ สำหรับนักลงทุนไทย จะพบว่ามีนักลงทุนไทยเริ่มเข้าไปลงทุนในลาวและเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากมีการส่งเสริมการลงทุนด้วยการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ และส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนที่ทำมาค้าขายกับประเทศในแถบนี้อยู่แล้วโดยเฉพาะนักธุรกิจจากมุกดาหาร ซึ่งมีหลายรายเข้าไปลงทุนทำมาค้าขายสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่สินค้าเกษตร ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า การผลิตและประกอบชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ เช่นใน เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ของ สปป.ลาว และ เขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว เมืองกวางจิ ประเทศเวียดนาม เป็นต้น

นายสมปอง สงวนบรรพ์ กงสุลใหญ่ ประจำสถานกงสุลไทย ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า เส้นทางนี้เป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในภูมิภาค เกิดการเดินทางข้ามไปมาหาสู่กันได้สะดวกขึ้น เกิดความเข้าใจวัฒนธรรมของผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นอย่างไร พอถนนเกิดขึ้นการเดินทางไปมาหาสู่กันสะดวกแน่นอนอุปสรรคต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ซึ่งต้องร่วมมือและแก้ไขกันไป เช่น การผ่านแดน เดิมการจะเข้าไปเวียดนามต้องใช้วีซ่า แต่ปัจจุบันเวียดนามก็ได้ยกเลิกไปแล้ว เช่นเดียวกับ สปป.ลาวที่ก็ยกเลิกวีซ่าให้กับคนไทยเช่นกัน ดังนั้นเพียงมี passport เราก็สามารถเดินทางผ่านลาวเข้าถึงเวียดนาม

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะให้เราเอารถพวงมาลัยขวาเข้าไปได้ โดยมีการคุยกันในหลักการกับทางการเวียดนามแล้ว โดยอาจกำหนดพื้นที่ให้ในระยะทางไม่เกิน 7 จังหวัด อุปสรรคข้อขัดข้องกำลังแก้ไขลดลงไปเรื่อย ๆ การเชื่อมต่อมาที่ประเทศไทยประโยชน์ที่พูดกันตอนนี้ คือเราสามารถส่งสินค้าเข้าไปขายได้สะดวกขึ้นซึ่งนี่เป็นภาพในอนาคต ระยะทางน้อยลง ค่าใช้จ่ายการขนส่งน้อยลง สามารถประหยัดเวลาไปได้ 2-3 วัน นักลงทุนไทยก็เข้าไปลงทุนมากขึ้น โดยเรามีการค้าขายกับเวียดนามประมาณกว่า 2000 ล้านเหรียญ และในปีที่ผ่านมาอัตราการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในโลก สมมติเราค้าขายกับจีนเพิ่มร้อยละ 30 แต่เราค้าขายกับเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เป็นต้น

"ในที่สุดเมื่อสะพานเปิดสิ่งที่เราจะได้คือ ตราบใดถ้าเราได้มิตรภาพได้การไปมาหาสู่กันกับประเทศเพื่อนบ้านนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และสิ่งที่จะได้เป็นรูปธรรมตามมาคือเรื่องการค้าขาย แต่ใครจะค้าขายเก่งกว่ากันนั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องปรับกันไป" กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ กล่าว

ด้านนักธุรกิจไทยรายหนึ่งในเวียดนาม เปิดเผยว่า เป็นนักธุรกิจจากมุกดาหาร ที่ไปลงทุนทำธุรกิจทั้งในลาวและเวียดนาม จากที่เดิมก็ทำการค้าในเส้นทางนี้อยู่แล้วทั้งในลาวและเวียดนาม หลัก ๆ ก็เป็นการค้าขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า หรือสินค้าอะไรที่คนที่โน่นต้องการเราก็เอาไปขาย ส่วนที่มีการลงทุนเพิ่มเมื่อมีการพัฒนาเส้นทางสายนี้คือการผลิตสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง ยี่ห้อ SUPER HORSE โดยมีโรงงานผลิตที่เขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว ที่เมืองกวางจิ ชายแดนเวียดนาม-ลาว โดยทำมาได้ 3 ปีแล้ว เส้นทางตอนนี้ก็สะดวกมากขึ้น การขนส่งก็รวดเร็วขึ้น สำหรับแรงงานในระดับแรงงานฝีมือ ช่างเทคนิค ช่างควบคุมเครื่องเราก็ใช้คนไทย แต่ในระดับแรงงานฝ่ายผลิตก็ใช้คนเวียดนาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตอนนี้ก็เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพราะขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น คาดว่าเมื่อเส้นทางเสร็จและมีการแก้ไขอุปสรรคข้อติดขัดต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามจากภาพรวมทั้งหมดของผลการศึกษาในแง่ทัศนคติพบว่า ทั้งคนไทย คนลาว และคนเวียดนามต่างมีความรู้สึกดีต่อกันแม้จะมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกันอยู่บ้างในบางเรื่อง แต่การเดินทางไปมาหาสู่กันและการใช้ประโยชน์ร่วมกันบนเส้นทางนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันมากขึ้น ดังนั้นนอกจากการเป็นเส้นทางเศรษฐกิจยังเป็นเส้นทางมิตรภาพของทั้ง 3 ประเทศอีกด้วย.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net