Skip to main content
sharethis

สืบสกุล กิจนุกร กองเลขานุการ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ซึ่งได้เข้าไปร่วมทำงานอยู่กลุ่มเกษตรกรในเขตภาคเหนือ เพื่อต่อสู้ในเรื่องการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน และการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบ ล่าสุด เขาเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีบุกรุกที่ดินทั้งหมดประมาณ 40 คดี

มองภาพรวมของปัญหาที่ดินอย่างไร?

ใช่, ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ ปัญหาที่ดินมี 2 เรื่อง หนึ่ง การถือครองที่ดินไม่เป็นธรรม ที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของคนที่มีอำนาจซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในภาคเกษตรและชนบท ไม่มีที่ดินทำกิน

สอง การใช้ที่ดินไม่เกิดความยั่งยืน เพราะเป็นการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การตั้งโรงงานก่อมลภาวะต่อน้ำ การส่งเสริมปลูกพืชในพื้นที่ขนาดใหญ่มีการใช้สารเคมีเยอะ อย่างกรณีสวนส้มในภาคเหนือ หรือการปลูกป่ายูคาลิปตัสซึ่งทำให้ดินเสีย ปลูกสนในพื้นที่ต้นน้ำเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์

ถ้าย้อนไปสามสิบปีก่อน หลัง 14 ตุลา 2516 มีการเคลื่อนไหวในภาคเหนือตอนบนเรื่องปัญหาค่าเช่านา แต่เดี๋ยวนี้ ปัญหาใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และในภาพรวมของทั้งประเทศ คือ หนึ่ง คนไม่มีที่ดินทำกิน สอง มีแต่ไม่พอ

ข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนคนจนของรัฐบาลยืนยันว่า 3 ล้าน 9 แสน ครอบครัวไม่มีที่ดินทำกิน รัฐบาลต้องใช้ที่ดินกว่า 40 ล้านไร่ในการแก้ไขปัญหานี้ แสดงว่าปัญหาที่ดินวิกฤติแล้ว

คนไม่มีที่ดินทำกิน เกษตรกรหรือชุมชนเข้าถึงที่ดินได้ยาก เพราะกฎหมายที่มีอยู่ไม่เอื้อต่อชาวบ้าน เช่น กฎหมายป่าไม้ทั้งหมดห้ามคนใช้ประโยชน์ในเขตป่า ซึ่งมันก็มีปัญหาซ้อนไปอีกว่าบางคนอยู่ในเขตป่าอยู่แล้ว อยู่มานานแล้วถูกประกาศทับ นี่เป็นปัญหาใหญ่ หรือ กฎหมายที่ดิน วางกฎ
เกณฑ์ให้คนมีเงินเท่านั้นสามารถเข้าถึงที่ดินได้ แต่กฎหมายบางมาตรากลับไม่ใช้ เช่น มาตรา 6 ของกฎหมายที่ดิน ที่ระบุว่าที่ดินที่ทิ้งร้างรัฐสามารถฟ้องยึดคืนมาเป็นของหลวงได้ จึงทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงที่ดิน

ในภาคเหนือตอนบน มีปัญหาเรื่อง คนที่มีอำนาจเหนือกว่า หรือคนรวย มาแย่งเอาที่ดินของคนจนไป เช่น มีการกว้านซื้อที่ดินในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แล้วออกโฉนดผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีเขตจัดสรรหนองปลาสวาย ศึกษาแล้วพบว่าที่ดิน 15,000 ไร่ เป็นของชาวบ้านที่ใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมากรมที่ดินเข้ามาจัดสรรแต่ล้มเหลว หลังจากนั้นปรากฏว่าที่ดินตกอยู่ในมือของนายทุนหมด

การพัฒนาประเทศทำให้เกษตรกรเป็นคนจนเยอะขึ้น ตอนนี้ที่ดินของชาวบ้านแทบทุกแปลงติดอยู่กับธกส. ซึ่ง ธกส.จะฟ้องยึดเมื่อใดก็ได้

โดยภาพรวมมันก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ดิน ต้องมีการเคลื่อนไหวให้มีการกระจายที่ดินอีกรอบหนึ่งให้ถึงมือเกษตรกรรายย่อยและชุมชนอย่างแท้จริง แล้วต้องมาทบทวนในทิศทางในการพัฒนาประเทศด้วย

ทำไมถึงต้องปฏิรูปที่ดินโดยชาวบ้าน?

การปฏิรูปที่ดินโดยรัฐ เป็นผลจากการเคลื่อนไหวของชาวนาเมื่อสามสิบปีก่อน ปรากฏว่ารัฐไม่สามารถปฏิรูปที่ดินได้สำเร็จ เพราะสามารถเอาที่ดินของเอกชนมาได้เพียง 400,000 ไร่เท่านั้น ส่วนใหญ่กลับไปจัดการในเขตป่าซึ่งมีคนอยู่แล้ว ทำให้เขามีสิทธิอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ทำการพัฒนาการปฏิรูปที่ดินอย่างแท้จริง หมายถึง ต้องดูแลการผลิต การตลาด การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นบ้าน การลงทุนของเกษตรกร ซึ่ง สปก.(สำนักงานปฏิรูปที่ดิน) ไม่ได้ทำเลย

ในสมัยรัฐบาลชวน ยุคหนึ่งมีการแจก สปก.4-01 มีการคอรัปชั่น คือแจกที่ดินให้คนรวยด้วย ทุกวันนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ในภาคเหนือ เช่น กรณีบ้านโป่งรู ตำบลนครเจดีย์ (อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) ปรากฏว่า เจ้าของโรงงานไอศครีม มีที่ดินในเขต สปก. ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสในการได้ที่ดิน หรือบางกรณีเอาที่เอกชนมาปฏิรูป ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ไปเช่าซื้อที่ดินของ สปก. ติดหนี้สิน เพราะว่า สปก.ให้เกษตรกรเช่าซื้อโดยให้ทำทำการเกษตรแบบพันธสัญญา ชาวบ้านโป่งรูติดหนี้หลายหมื่นบาทจนไม่สามารถปลดหนี้ได้เลย สรุปแล้วการปฏิรูปที่ดินแบบนี้ไม่มีความหมายสำหรับคนจนเลย

การพัฒนาใด ๆ ก็ตามถ้าไม่มีชาวบ้านมีส่วนร่วม การพัฒนานั้นจะล้มเหลว การปฏิรูปที่ดินที่ผ่านมามันล้มเหลวเพราะชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม ในการเสนอความคิดเห็น การตัดสินใจ ในการวางแผน ในการใช้งบประมาณ หรือทรัพยากรอะไรต่างๆ

เพราะฉะนั้น เราต้องการให้สังคมไทยได้ทบทวนการใช้อำนาจตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรที่ดินกันใหม่ โดยที่ชาวบ้านและเกษตรกรรายย่อยต้องมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน และตรงนี้รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อยู่แล้ว เช่น มาตรา 46 ชุมชนมีสิทธิในการอนุรักษ์รักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรม
ชาติอย่างยั้งยืน อันนี้ก็ต้องบวกกับมาตรา 84 กำหนดให้รัฐจะต้องจัดระบบการจัดการที่ดินให้เหมาะสม จัดหาแหล่งน้ำ ดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร ส่งเสริมการลงทุนของเกษตรกร ซึ่งทั้งสองมาตราเทียบกัน ก็คือการปฏิรูปที่ดินนั่นแหละ ซึ่งตรงนี้เราต้องการผลักดันให้การพัฒนาเปลี่ยนกระบวนการผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ

การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ทำเพียงไม่กี่จังหวัดในภาคเหนือตอนบน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้หรือ

การปฏิรูปที่ดินถ้าทำกันจริง ๆ มันคือการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่แล้ว จะเปลี่ยนโดยชาวบ้านหรือรัฐก็แล้วแต่ ผลประโยชน์มันจะตกอยู่กับคนในสังคมทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะชาวนา เกษตรกร หรือชุมชนเองเท่านั้น

เหตุที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือมีปฏิบัติการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนเอง ก็เพราะเห็นแล้วว่า ไม่สามารถที่จะรอฝ่ายรัฐเป็นคนดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว ข้อเรียกร้องที่ผ่านมาก็คือตรวจสอบว่ามันออกผิดกฎหมาย ให้มีการเพิกถอน จัดสรรใหม่ ที่ดินนี้ไม่มีใครใช้ประโยชน์ แล้วกฎหมายมาตรา 6 ก็ไม่มีการใช้จริงจัง ชาวบ้านเรียกร้องเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่ดิน

ถ้าหากมีการปฏิรูปที่ดินใหม่ในสังคมไทย น่าจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลมากกว่า ในแง่ที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตเยอะขึ้น รัฐบาลก็บริหารประเทศได้ง่าย ในแง่ของสังคมโดยรวมถ้าเกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองก็เท่ากับเป็นหลักประกัน เป็นฐานของอธิปไตยทางอาหารสำหรับสังคมไทย อันนี้สำคัญ เพราะเดี๋ยวนี้การต่อสู้ระดับโลก คือ เรื่องอาหาร เรื่องการเกษตร เช่นเรื่องการทำการค้าเสรีเรื่องการเกษตร ซึ่งยังหมายความถึงองค์ความรู้ในการทำการเกษตร องค์ความรู้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์

องค์ความรู้ในเรื่องเกษตร เป็นเรื่องที่ต่อสู้กันหนัก บริษัทข้ามชาติพยายามเข้ามาครอบงำเมล็ดพันธุ์ ครอบงำปัจจัยการผลิต หรือบางทีก็เข้าไปจัดการเรื่องการเกษตรเอง ถ้าปล่อยให้การเกษตรตกอยู่ในมือของทุนขนาดใหญ่ ความมั่นคงในอาหารของสังคมจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ถ้าเราปฏิรูปที่ดินใหม่ให้แก่เกษตรรายย่อยและชุมชน ซึ่งมันกระจายทั่วประเทศและองค์ความรู้ในการผลิตของเกษตรกร มีอยู่หลากหลายและซับซ้อน จะเป็นหลักประกันในการผลิตอาหารของคนทั้งสังคม

ถ้าหากว่าเป้าของการปฏิรูปที่ดินคือ สังคมที่เป็นธรรม คนส่วนใหญ่ในสังคมจะมีส่วนช่วยให้มันไปถึงเป้าหมายนั้นเร็วขึ้นได้อย่างไร

ผมคิดว่าสังคมไทยต้องคิดให้ดี ๆ ตอนนี้เราอยู่ในยุคของการเปิดประเทศ ให้การค้าเป็นแบบเสรี เปิดกว้าง เราต้องนำเข้า โดยที่เราไปทำข้อตกลงกับองค์กรการค้าโลกและข้อตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศ เช่น เรากับจีน มันมีผลต่อระบบอาหารในสังคมไทย หมายความว่าเราต้องเปิดตลาดให้สินค้าการเกษตรเข้ามาจากทั่วทุกสารทิศโดยไม่มีข้อจำกัด

โดยรวมแล้ว จะเห็นว่าสินค้าเกษตรของบ้านเราทุนค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พูดง่ายๆ เดี๋ยวนี้ อย่างนมจากออสเตรเลีย เทียบกับนมในประเทศไทย 1,500,000 ครอบ ครัวของคนที่เลี้ยงวัวนมในประเทศไทย จะล้มละลายหายไปเลย

รัฐบาลบอกว่า จะสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงตัวเองพัฒนาตัวเอง แต่มันไม่ง่ายวันใดเพียงแค่คุณเริ่มต้นการค้าเสรีกับออสเตรเลีย น้ำนมมันจะทะลักเข้ามา เกษตรกรอยู่ไม่ได้หรอก แน่นอน ผู้บริโภคจะได้นมในราคาถูกแต่นมนั้นจะถูกผูกขาดโดยเจ้าเดียว ซึ่งจะไม่มีหลักประกันในเรื่องราคาอีกต่อไป แล้วก็ยังต่อรองยากด้วย เพราะอยู่ไกลถึงออสเตรเลีย จะต่อรองผ่านอะไร แต่ถ้านมในประเทศมีผู้ผลิตหลายราย เราสามารถเลือกซื้อได้ เราสามารถต่อรองกับผู้ผลิตได้

ดังนั้นสังคมไทยต้องคิดให้ดีในเรื่องการค้าเสรี โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร ถึงแม้ว่าจะมีคำโฆษณาว่าเราจะมีสินค้าที่ถูกขึ้น แต่มันก็เป็นเพียงแค่ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะโดยธรรมชาติของการค้า ก็คือต้องการการผูกขาดอยู่แล้ว ถ้าเกษตรกรเราอยู่ไม่ได้เราก็ไม่มีอาหารกิน ซื้อเขาต้องพึ่งพาเขา

แน่นอน เราก็ต้องมาสนับสนุนเรื่องการปฏิรูปที่ดินใหม่ด้วย ซึ่งการปฏิรูปที่ดินใหม่ มันหมายรวมถึงไม่ใช่แค่เกษตรกรฝ่ายเดียวที่จะได้ มันรวมถึงการวางผังวางโซนการใช้ที่ดินด้วย มีคนเสนอเรื่องการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า สำหรับคนที่มีที่ดินแล้วไม่ใช้ประโยชน์ ซึ่งการไม่เก็บภาษีแบบนี้ทำให้คนในเมืองซื้อบ้านราคาแพง เพราะไม่มีคนไปควบคุมบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินมีราคาสูง ที่ถูกปั่นขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้ ถ้าเราไม่มีกลไกอะไรมาควบคุมราคาที่ดินในตลาดไทย คนชั้นกลางจะซื้อบ้านในราคาที่แพงขึ้น ซื้อบ้านได้ยากขึ้น

มีความรู้สึกอย่างไรที่ถูกดำเนินคดี

การดำเนินคดีต่อชาวบ้านที่เรียกร้องในเรื่องของการปฏิรูปที่ดิน ไม่นับว่าเป็นอุปสรรคในงานพัฒนา แต่มันจะเป็นเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เกษตรกร ชุมชน หรือใครก็แล้วแต่ที่โดนคดี ได้พูดความจริงกับสังคมไทยว่า ปัญหาที่ดินอยู่ตรงไหน เราหวังว่ากระบวนการยุติธรรมช่วยทำให้สังคมไทยได้เข้าใจ และเป็นตัวผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมขึ้น

ผลการตัดสินคดีที่บ้านแพะใต้ ที่ตัดสินว่าชาวบ้านแพ้

ในมุมผมไม่ค่อยได้สนใจเรื่องผลที่ออกมาแล้วชาวบ้านแพ้ แต่ผมสนใจว่าในกระบวนการในคดีนี้ ชาวบ้านพยายามต่อสู้ให้เห็นว่ามันมีที่ดินอยู่ผืนหนึ่งเคยเป็นของชาวบ้าน แล้วรัฐก็อ้างว่ารัฐเป็นเจ้าของ แล้วรัฐก็เอามาจัดให้ชาวบ้านสุดท้ายล้มเหลวพอมีการออกโฉนด นายทุนก็ยื้อแย่งเอาไปโดยความร่วมมือของรัฐเองนั่นแหละ แล้วที่ดินก็ถูกปล่อยทิ้งไว้ นำไปเก็งกำไร เป็นหนี้เน่าเฉยๆ

แล้วชาวบ้านเป็นฝ่ายเรียกร้องคืนมา อันนี้ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่ชาวบ้านพยายามที่จะบอกกับศาล พยายามบอกกับสังคมในเรื่องของการพิจารณาคดี ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าถูกตัดสินว่าแพ้ แต่ว่าทิศทางศาลจะเป็นอย่างไรผมไม่รู้ ไม่รู้ว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร แต่เราก็ต้องเคารพในกระบวนการยุติธรรมว่าศาลเป็นที่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เป็นผลดีของชาวบ้านที่จะพูดความจริงต่อศาล รวมถึงสังคมว่าความเป็นจริงเป็นเช่นไร

แต่ล่าสุดศาลสั่งยกฟ้องชาวบ้าน คดีบุกรุกที่บ้านหนองสูน

ถือว่า เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ ที่ชาวบ้านชนะคดี และคิดว่าชาวบ้านได้สื่อให้สังคมได้เห็นความเป็นจริงแล้วว่า ปัญหาการถือครองที่ดินของนายทุนคนรวยนั้นได้ก่อปัญหาให้กับชาวบ้านจริง ถึงแม้ว่าผู้มีอำนาจจะพยายามถือเอากฎหมายมากดขี่คนจนก็ตาม

ทั้งนี้ นอกจากชาวบ้านจะต้องต่อสู้คดีกันในศาล แต่เราจะต้องผลักดันให้รัฐเร่งดำเนินการจัดการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรมไปพร้อมๆ กัน โดยต้องสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ เพราะทุกวันนี้ จะเห็นว่านโยบายของรัฐที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าการจดทะเบียนคนจน หรือนโยบายที่บอกว่า จะแก้ไขปัญหาความยากจน แต่สุดท้ายก็ช่วยอะไรชาวบ้านไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net