Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงย่างกุ้งทั้ง 4 แห่งในช่วงบ่ายวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นการวางระเบิดที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในรอบ 40 ปีของประเทศพม่า

กลุ่มผู้ต้องสงสัยที่รัฐบาลพม่าพุ่งเป้าว่าอยู่เบื้องหลังการวางระเบิดครั้งนี้คือ กองกำลังชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่มที่ยังไม่ได้เจรจาหยุดยิง และกลุ่มรัฐบาลพลัดถิ่น หรือ เอ็นซีจียูบี ซึ่งต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่นอกประเทศพม่า

รัฐบาลทหารพม่าประณามกลุ่มดังกล่าวผ่านสื่อรัฐบาลว่า เป็น "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความไร้เสถียรภาพ และความไม่สงบขึ้นในประเทศ

หากพิจารณาถึงเหตุผลและความเป็นไปได้ของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้จะพบว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวยังมีช่องโหว่อยู่หลายแห่ง รวมทั้ง ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นกัน

กลุ่มแรกที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยคือ กองกำลังชนกลุ่มน้อยทั้ง 3 กลุ่ม ที่ยังสู้รบกับรัฐบาล ประกอบด้วย สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) กองทัพรัฐฉาน-ใต้ (เอสเอสเอ-เซาธ์), พรรคกะเหรี่ยงก้าวหน้าแห่งชาติ (เคเอ็นพีพี) หรือกะเหรี่ยงแดง

กองกำลังทั้งสามกลุ่มตกเป็นผู้ต้องหาครั้งนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เป็นศัตรูกับรัฐบาลชัดเจนที่สุด รวมทั้งเป็นกลุ่มที่มีอาวุธครอบครองอยู่ในมือ แต่หากพิจารณาถึงสถานที่เกิดเหตุจะพบว่า โอกาสที่กองกำลังสามกลุ่มจะเข้าไปดำเนินการดังกล่าวเป็นไปได้ยาก

เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุเป็นแหล่งชุมชนพลุกพล่านใจกลางเมืองหลวง คือ ห้างสรรพสินค้าและศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ซึ่งตามปกติจะมีเจ้าหน้าที่ราชการ ตำรวจ ทหารของรัฐบาลสอดส่องดูแลอย่างเคร่งครัด

การส่งตัวแทนจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยไปวางระเบิดในสถานที่ดังกล่าว โดยเฉพาะขณะที่กำลังมีงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ และเป็นบริเวณที่ใกล้กับบ้านผู้นำระดับสูง (หนึ่งในจุดที่ถูกวางระเบิดอยู่ใกล้บ้านกับพล.อ.ตานฉ่วย) นับเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะเปรียบเสมือนเป็นการเดินเข้าไปฆ่าเสือถึงในถ้ำเลยทีเดียว

และหากพิจารณาพื้นที่การสู้รบระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่าตลอดเวลากว่าสี่สิบปีที่ผ่านมาจะพบว่า กองกำลังชนกลุ่มน้อยจะเลือกรบในพื้นที่เพื่อป้องกันตนเองมากกว่าจะเป็นฝ่ายบุกเข้าไปเหยียบถ้ำเสือถึงกรุงย่างกุ้งของผู้นำพม่า

นอกจากนี้ศัตรูในสนามรบของกองกำลังชนกลุ่มน้อย คือ ทหารของกองทัพรัฐบาลซึ่งมีอาวุธอยู่ในมือเช่นกัน ไม่ใช่ประชาชนผู้บริสุทธิ์สองมือเปล่า ดังนั้น การลอบวางระเบิดเพื่อให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บมากมายขนาดนี้จึงไม่ใช่วิถีทางที่ชนกลุ่มน้อยน่าจะเลือกนำมาใช้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กระแสโลกกำลังต่อต้านการก่อการร้ายด้วยแล้ว

การหยิบวิธีนี้ขึ้นมาใช้จะยิ่งทำให้ชนกลุ่มน้อยตกอยู่ในที่นั่งลำบากมากขึ้น เพราะจะไม่ได้รับความ เห็นใจจากประชาคมโลกอีกต่อไป และเป้าหมายการกู้ชาติ ก็จะถูกเบี่ยงประเด็นเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่ก่อกวนรัฐบาลไปวัน ๆ และสามารถฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้อย่างเลือดเย็นแทน

กรณีที่สองที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในครั้งนี้ คือ กลุ่มรัฐบาลพลัดถิ่นหรือผู้สนับสนุนประชาธิปไตย นับเป็นกลุ่มที่มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะก่อเหตุครั้งนี้เช่นกัน เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาวุธหรือใช้ความรุนแรงในการเรียกร้องประชาธิปไตยมาก่อนเลย

กลุ่มนี้จะเลือกใช้แนวสันติวิธีและการเจรจาทางการทูตมากกว่า ขนาดอองซาน ซูจี ผู้นำของตนถูกจับกุมตัวอยู่นานหลายปี ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรที่ส่อเค้าให้เห็นถึงความรุนแรงเลย และหากพิจารณาโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะเข้าไปก่อเหตุในสถานที่ดังกล่าวยิ่งเป็นไปได้ยาก

เพราะตามปกติ สมาชิกของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจะถูกขึ้นบัญชีดำของรัฐบาล หากใครเดินทางไปไหน หรือมีพฤติกรรมอะไรที่ผิดปกติขนาดลอบวางระเบิดตามจุดสำคัญ ๆ ของเมืองได้ไม่น่าจะเล็ดลอดสายตาของรัฐบาลไปได้

ที่สำคัญก็คือ การกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าได้ เพราะทำให้ประชาชนพม่าที่เป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต้องได้รับบาดเจ็บและทั่วโลกมองการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเชิงลบ โอกาสที่จะได้ประชาธิปไตยก็จะยิ่งริบหรี่ขึ้นไปอีก

นอกจากกลุ่มดังกล่าวที่ถูกรัฐบาลพม่ากล่าวหา ยังมีกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลทหาร และจะได้รับการพิจารณาเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

กลุ่มแรก คือ กลุ่มลูกน้องเก่าของพลเอกขิ่น ยุ้นต์ และกลุ่มนักธุรกิจซึ่งเสียผลประโยชน์จากการปลดพบพลเอกขิ่น ยุ้นต์ จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าหน่วยข่าวกรองเมื่อปีที่ผ่านมา อาทิ เนื่องจากหลังการเปลี่ยนตัวผู้นำดังกล่าว ผลประโยชน์มหาศาลต้องไปอยู่ในมือของผู้นำชุดปัจจุบันและกองทัพรัฐบาลทั้งหมด

กระแสความไม่พอใจของกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์เหล่านี้ เป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำที่มีโอกาสพัฒนาเป็นคลื่นยักษ์ซึนามิแก้แค้นคนที่ทำให้ตนเสียผลประโยชน์ในสักวันหนึ่งเช่นกัน และเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยด้านสถานที่วางระเบิดซึ่งเป็นย่านธุรกิจ ใจกลางเมือง โอกาสที่คนกลุ่มนี้จะลงมือก็เป็นเรื่องไม่ยาก

เพราะเป็นกลุ่มที่คุ้นชินกับสถานที่จน "ไม่เป็นที่ผิดสังเกต" ในการนำระเบิดเข้าไปวาง ดังนั้น บุคคลกลุ่มนี้จึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะถูกนับเป็นผู้ต้องสงสัย แต่รัฐบาลยังไม่ได้เอ่ยถึง เพราะการเอ่ยถึงอาจทำให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้นไปอีก

กลุ่มถัดมา คือ กองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลไปแล้วทั้ง 17 กลุ่ม แม้ว่าทั้ง หมดจะมี สถานภาพภายนอก "ไม่เป็นศัตรู" กับรัฐบาล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า กลุ่มเหล่านี้จะ "รู้สึกสวามิภักดิ์" กับรัฐบาล

เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการเจรจาหยุดยิง กองกำลังเหล่านี้ต่างถูกกดดันให้วางอาวุธมาโดยตลอด หรือหากไม่วางอาวุธก็จะต้องใช้อาวุธและกำลังคนช่วยรบกับศัตรูของรัฐบาลซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ดังเช่น กรณีว้ารบกับไทยใหญ่จนบาดเจ็บและล้มตายรวมกันมากกว่าหกร้อยคนอยู่บริเวณชายแดนไทยในขณะนี้ หรือกรณีกะเหรี่ยงพุทธรบกับกะเหรี่ยงเคเอ็นยู และกลุ่มคะยาห์ดาวแดงรบกับกลุ่มคะยาห์เคเอ็นพีพี

การกดดันให้กองกำลังหยุดยิงต้องเลือกระหว่างรบกันเองกับวางอาวุธให้รัฐบาลจึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองกำลังหยุดยิงเลือกใช้วิธีการลอบวางระเบิดครั้งนี้ด้วยก็เป็นได้

กลุ่มสุดท้าย ที่เราควรนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน คือ กลุ่มผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งขณะนี้กำลังเสียรูปมวยอย่างหนักทั้งในเชิงการเมืองระหว่างประเทศและการสู้รบกับชนกลุ่มน้อย ผู้นำทหารไม่สามารถพัฒนาประชาธิปไตยให้คืบหน้าไปได้ดังที่ประชาคมโลกคาดหวัง การประชุมสมัชชาแห่งชาติล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า นางอองซาน ซูจี ยังคงไร้วี่แววจะได้รับปล่อยตัว ส่วนสถานการณ์ด้านชนกลุ่มน้อยก็ต้องเผชิญกับความผิดหวัง เพราะส่งทหารชนกลุ่มน้อยไปฆ่ากันเองไม่สำเร็จ

ในทางตรงกันข้าม บรรดากองกำลังชนกลุ่มน้อยกลับพยายามรวมตัวกันให้เข้มแข็งหนักมากขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะมองไปทางไหน รัฐบาลทหารก็กำลังเข้าตาจนอย่างหนัก เหตุการณ์วางระเบิดครั้งนี้จึงอาจเป็นโอกาสให้รัฐบาลทหารสามารถเรียกร้องความเห็นใจจากประชาคมโลกที่ต่อต้านการก่อการร้าย และหันมาช่วยสนับสนุนให้ปราบปรามกองกำลังชนกลุ่มน้อยและกลุ่มผู้สนับสนุนประชา ธิปไตยอย่างเด็ดขาดมากขึ้น

สิ่งที่ประชาคมโลกควรช่วยกันจับตามองกันต่อไปก็คือ การเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้อย่าง "โปร่งใส" โดยเปิดโอกาสให้องค์กรต่อต้านการก่อการร้ายระดับสากลเข้าไปร่วมตรวจสอบว่าสิ่งที่รัฐบาลพม่ากล่าวหานั้นเป็นความจริงหรือไม่

โดยรัฐบาลพม่าจะต้องเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนจากโลกภายนอกเข้าไปติดตามเรื่องนี้มาเผยแพร่อย่างเสรี เพราะนั่นเป็นบทพิสูจน์ถึงความจริงใจของรัฐบาลทหารพม่าต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมทั้งยังเป็นผลดีกับรัฐบาลพม่าเองด้วยเช่นกัน เพราะหากข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริง ประชาคมโลกก็จะเลิกประณามรัฐบาลพม่าเสียที

รายงานพิเศษ
ธันวา สิริเมธี ศูนย์ข่าวสาละวิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net