Skip to main content
sharethis

ความหวั่นวิตกต่อโลกที่กำลังร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หรือที่เรียกกันฮิตติดปากว่า "ภาวะเรือนกระจก" เป็นผลทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกลงนามให้สัตยาบันร่วมกัน หรือว่ากันง่าย ๆ คือให้คำมั่นสัญญาต่อกันว่าจะช่วยกันลดภาวะโลกร้อน หรือจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยลง

การลงนามเพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อน ลงนามกันครั้งแรกที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2540 เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า " พิธีสารเกียวโต" ทั้งนี้เมื่อมีประเทศร่วมลงนามครบ 55 ประเทศก็เป็นอันว่าพิธีสารดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมาพิธีสารเกียวโตเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว พิธีสารดังกล่าวว่าไปก็เหมือนกฎหมายลูกที่จะบังคับให้ประเทศที่ร่วมลงนามจะต้องปฏิบัติตาม โดยกำหนดให้ประเทศที่ลงสัตยาบันจะต้องร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันได้แก่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำสู่ชั้นบรรยากาศ

ประเทศที่ก่อมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศของโลกอย่างสาหัสสากรรจ์ เช่น ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปล้วนร่วมลงนามแล้ว มีแต่สหัรฐอเมริกาที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ยังไม่มีท่าทีว่าจะให้สัตยาบันนี้
หากมองผิวเผินก็ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความสนใจและตื่นตัวต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ในความเป็นจริงการลงนามในพิธีสารเกียวโตยังไม่สามารถบังคับให้ประเทศพัฒนาแล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดิม ๆ ได้จริง ประเทศพัฒนาแล้วยังสามารถปล่อยมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศอันเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนได้อีก เพียงแค่คุณมีเงินไป " ปลูกป่า" ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย คุณก็สามารถทำทุกอย่างที่คุณเคยทำมาได้เหมือนเดิม เช่นว่าสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษได้เหมือนเดิม เป็นต้น
ปลูกป่าลดโลกร้อน หรือ ทำลายป่า ?
ในพิธีสารเกียวโตนั้นเปิดช่องให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถดำเนินการลดภาวะเรือนกระจก โดยร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา เช่นไทยได้ เรียกกันว่า " กลไกการพัฒนาที่สะอาด" หรือ Clean Development Mechanism - CDM

การดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาจะทำให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถอ้างได้ว่าได้ดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตนเองแล้ว กิจกรรมที่อยู่ภายใต้ CDM ได้แก่โครงการด้านพลังงานหมุนเวียน การฟื้นฟูป่า เป็นต้น
วนัน เพิ่มพิบูลย์ จากกองทุนสัตว์ป่าโลกกล่าวว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือการฟื้นฟูป่าและปลูกป่าอาจจะทำให้มีการบุกรุกทำลายป่ามากขึ้น เพราะถ้าชุมชนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมได้ ก็ต้องไปเปิดพื้นที่ใหม่เพื่อใช้ประโยชน์แทนเป็นต้น นั่นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์จากการทำลายป่าบริเวณอื่นนั่นเอง
และยังมีคำถามว่าป่าที่จะปลูก จะปลูกพันธุ์ไม้อะไร ทั้งนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการปลูกป่าที่ทำ ๆ กันมานั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า ทั้งนี้เพราะการปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกัน เช่นการปลูกยูคาลิปตัสนั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างมหาศาล ทำให้ดินเสื่อมโทรมและน้ำแห้ง เป็นต้น

การเข้ามาปลูกป่าของประเทศพัฒนานี้เรียกกันเป็นภาษาตลาดว่า "เครดิตปล่อยมลภาวะ" หมายความว่า การปลูกป่าไม่ว่าที่ไหนในโลกสามารถเพิ่มเครดิตให้คุณปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นอีกได้นั่นเอง องค์กรสิ่งแวดล้อมมีความเห็นว่าโครงการ CDM นี้ไม่ได้ทำให้ประเทศผู้ก่อปัญหาโลกร้อนเกิดแรงจูงใจในการลดการปล่อยมลพิษอย่างจริงจังในประเทศของตนเอง เพราะเอาเข้าจริงการลงทุนไปปลูกป่าเพื่อซื้อเครดิต หรือยืดเวลาแบบนี้ถูกกว่าดำเนินการลดในประเทศของตนเองอย่างมาก

ที่ผ่านมาองค์กรสิ่งแวดล้อมหลายองค์กร เช่นกองทุนสัตว์ป่าโลก โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติเคยรณรงค์คัดค้านรัฐบาลไทยไม่ควรร่วมลงนามสัตยาบันนี้ แต่ปรากฏว่าประเทศไทยได้มีการลงนามเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 ดังนั้นเท่ากับว่ารัฐบาลไทยพร้อมอ้าแขนรับและร่วมมือกับการสร้างเครดิตอันจอมปลอมนี้ด้วย ทั้งนี้อาจจะหวังเม็ดเงินจากประเทศพัฒนาที่จะเข้ามาปลูกป่านั่นเอง

แนวโน้มที่ประเทศพัฒนาแล้วจะเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชน หรือภาครัฐเพื่อปลูกป่าในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีคำถามว่าแล้วเราจะเอาพื้นที่ไหนไปปลูกป่า เพราะปัญหาที่ดิน บ้านเราก็วิกฤตมากพออยู่แล้ว

ไม่มีพื้นที่ให้ปลูกป่า

เป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤตปัญหาที่ดินก่อปัญหาความขัดแย้งรุนแรงมาหลายยุคสมัย และนับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากการสำรวจของมูลนิธิสถาบันที่ดินพบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรถึง 1.5 ล้านครอบครัวที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งนี้เพราะที่ดินที่ควรจะเป็นของภาคเกษตรกรรมกลับถูกแย่งชิงไปเพื่อใช้ในเรื่องอื่น ๆ เสียมาก โดยเฉพาะการเข้ามาช่วงชิงจากกลุ่มนักลงทุน เช่นว่า เอาไปสร้างสนามกอล์ฟ ทำรีสอร์ท

กรณีในภาคใต้มีกลุ่มนายทุนจากต่างชาติเข้ามาเช่าพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพาราเป็นระยะเวลาหลายสิบปี จนชาวบ้านเดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งนี้ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันที่ดินระบุว่า ที่ผ่านมาภาครัฐให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเช่าพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันถึง 200,000 ไร่ และ 800,000 ไร่ใน จ.กระบี่ ขณะที่มีเกษตรกรในภาคใต้ 202,071 ครอบครัวหรือประมาณ 1 ใน 3 มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ

เช่นเดียวกับกรณีภาคอีสานก็มีการเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมปลูกยูคาลิปตัส โดยมีนักลงทุนจากต่างประเทศเช่นกัน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทำให้ดินเสื่อมโทรม และน้ำแห้งแล้ว คนอีสานยังถูกแย่งชิงที่ดินทำกินไปอีกด้วย เป็นต้น

นอกเหนือจากการเข้ามาปลูกป่าในเขตป่าเสื่อมโทรมแล้ว ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าโครงการปลูกป่าลดโลกร้อนของประเทศพัฒนายังสามารถลุกขึ้นไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้อีกด้วย หากมีบริษัทเอกชน หรือหน่วยงานรัฐไหนสนใจทำโครงการดังกล่าวก็มีสิทธิทำได้ทั้งสิ้นเพียงแค่อ้างเหตุผลว่าจะฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศเท่านั้น ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ถึง 4.6 แสนครอบครัว หรือเกือบ 2 ล้านคน

ทั้งนี้ปัญหาของชุมชนกับรัฐในเขตป่านั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เช่น การจำกัดพื้นที่ทำกิน การดำเนินกิจกรรมป่าชุมชน หากมีการดำเนินโครงการปลูกป่าเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้ปัญหาความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

วนัน เพิ่มพิบูลย์ ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้นจะอยู่ที่ใคร อยู่ที่ผู้เข้ามาลงทุน หรือว่าเจ้าของที่ดิน

ชุมชนจะสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่านั้นได้หรือไม่ การตัดสินใจว่าจะเลือกปลูกพืชพันธุ์ชนิดไหน พื้นที่ตรงไหน ใครตัดสินใจ ?

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแนวโน้มว่าการใช้ที่ดินจะเปลี่ยนไปจากที่เคยใช้เพื่อผลิตอาหารภายในประเทศอาจจะลดลงเพราะการปลูก

เบญจา ศิลารักษ์
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net