"ชะตากรรมปลาบึก ชะตากรรมคนหาปลาแม่น้ำโขง"

ทำไมต้องจับปลาบึก!? ทำไมรัฐซึ่งประกาศว่า ต้องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกด้วยการผสมเทียม และเหตุใดชาวบ้านกลับต้องการอนุรักษ์ปลาบึกโดยธรรมชาติ!?

เชื่อว่าหลายคนยังคงสงสัยใคร่รู้ เพราะข่าวการจับปลาบึกในแม่น้ำโขงของพรานปลาบ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจของคนทั่วประเทศไปแล้ว จนมีนักท่อง เที่ยวจากทุกสารทิศเดินทางไปเยือนเชียงของอย่างต่อเนื่อง

ปลาบึกถือเป็นปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกล็ด ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและพบเพียงแห่งเดียวคือ ในแม่น้ำโขง

ว่ากันว่า มีคนจับปลาบึกที่ใหญ่ที่สุดและบันทึกเอาไว้ คือมีน้ำหนัก 282 กิโลกรัม โดยมีความยาววัดได้ถึง 3 เมตร

ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงนั้น นอกเหนือจากทะเลสาบเขมรแล้ว แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบน นับว่าเป็นที่เดียวที่ยังพบปลาบึก เนื่องจากปลาบึกมักเดินทางจากตอนล่างขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำโขง ตั้งแต่เหนือบ้านเมืองกาญจน์ ไปจนถึงบ้านแซว อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งบริเวณนี้ ถือว่าเป็นพื้นที่เดียวในโลกที่พบปลาบึกมาวางไข่ และเป็นบริเวณเดียวที่มีการจับปลาบึกมานานกว่า 80 ปี

"สมัยก่อน พ่ออุ้ยจะเป็นคนไปหาจับปลาเอง เคยไปไกลสุดถึงเมืองมอม ประเทศลาว และเคยจับปลาบึกตัวใหญ่ที่สุดประมาณ 280 กิโลกรัม" พ่อซ้อ จินะราช ที่ปรึกษาชมรมปลาบึก และเป็นนักวิจัยจาวบ้าน เชียงของ-เวียงแก่น เล่าให้ฟัง

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย พูดถึงวิถีคนลุ่มน้ำโขงเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ชาวอำเภอเชียงของ เวียงแก่น และเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีวิถีชีวิตที่ผูกพันและพึ่งพาแม่น้ำโขงอย่างสงบสุขมาหลายชั่วคน ประกอบด้วยหลายชนชาติ ทั้งชาวล้านนา ชาวไทยลื้อ ขมุ ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ซึ่งมีอาชีพทำนา ทำไร่ ปลูกผักสวนครัวริมโขง เก็บสาหร่าย (ไก) ทำประมงพื้นบ้าน

และมีการจับปลาบึกช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนมิถุนายน ประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วย การบวงสรวงเทพยดาผู้คุ้มครองแม่น้ำโขง และเทพแห่งปลาบึก เพื่อขอจับปลาบึกตามฤดูกาล เป็นพิธีกรรมอันในอดีต พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก จะทำกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนที่จะเริ่มฤดูกาลจับปลาบึก โดยสังเกตจากธรรมชาติ คือ ดอกซอมพอ (ดอกหางนกยูง) บาน นกนางนวลบินมาเป็นกลุ่มก้อน ปลาเริมนำมาก่อน หลังจากนั้น ปลาบึกก็จะตามมา

เมื่อชาวประมงจับปลาบึกได้ก็จะนำมาแบ่งปันกัน เด็ก ๆ จะห่อข้าวกับเนื้อปลาบึกเอาไปกินที่โรงเรียน ไม่มีการซื้อขาย ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยปลาบึกจะจับได้เฉพาะที่บ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ

รัฐออกกฎห้ามจับ-แต่...

ก่อนนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกฎกระทรวง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 โดยระบุว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงปลาบึกในแม่น้ำโขง ท้องที่ หนองคาย เลย มุกดาหาร อุบลราชธานี และเชียงราย โดยเด็ดขาด" แต่มีข้อยกเว้นว่า "เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีกรมประมงมอบหมาย"

อย่างไรก็ดี หลังจากกรมประมง ได้ทดลองทำการผสมเทียมปลาบึกได้สำเร็จ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ทำให้กรม มีความต้องการไข่และน้ำเชื้อปลาบึกจากธรรมชาติเพื่อการผสมเทียม และได้ออกระเบียบใหม่ ว่าด้วยการอนุญาตให้ทำการประมงในแม่น้ำโขง พ.ศ.2533 อ้างตามกฎกระทรวง เปิดช่องให้สามารถจับปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน ของทุกปี

ทั้งนี้จะต้องขอ" อาชญาบัตร" เพื่อการจับปลาได้จากพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานประมงหรือจังหวัด และต้องแจ้งรวมทั้งยินยอมให้เจ้าหน้าที่ประมงเข้าตรวจสภาพอาการของปลาและทำการผสมเทียมปลาบึกที่จับได้

นั่นคือ ที่มาของการจับปลาบึกในแม่น้ำโขง จนล่าสุดได้กลายเป็นประเด็นที่สร้างความคลางแคลงใจคนทั่วประเทศ ว่าสาเหตุที่เกิดการล่าปลาบึกกันเป็นประจำทุกปีนั้น มาจากฝ่ายใดก่อนกันแน่

ในมุมมองของชาวบ้าน คนลุ่มน้ำโขง เห็นว่า การจับปลาบึกนั้นเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานแล้ว โดยเฉพาะคนหาปลาบ้านหาดไคร้เชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาที่มีเจ้าของ มีภูตผีคุ้มครอง บ้างก็นับถือปลาบึกเป็นเสมือนปลาเทพเจ้าแห่งแม่น้ำโขง

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ประมงนั้น อนุญาตให้ "อาชญาบัตร" แก่คนหาปลา และเมื่อจับปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่ทำการรีดน้ำเชื้อ รีดไข่ เพื่อทำการผสมเทียม

ต่อมา มีการทำพิธีบวงสรวงปลาบึกที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2529 เพื่อรับเสด็จเจ้าฟ้าชายอากิชิโนแห่งประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นประเพณีการทำพิธีบวงสรวงปลาบึกทุกวันที่ 18 เมษายนของทุกปี

สว.เตือนใจ บอกว่า เมื่อการท่องเที่ยวเชียงของ ชูประเด็นเรื่องปลาบึกเป็นหลัก จนเกิดค่านิยมการกินเนื้อปลาบึกขึ้นมา ปลาบึกจึงกลายเป็นปลาที่มีราคาสูง เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ปลาบึกเป็นปลาที่มีเนื้อละเอียด รสดี เป็นปลากินพืช ถือศีล ใครได้กินแล้วจะอายุยืน สุขภาพดี มีโชคลาภ มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่จับปลา แล้วส่งต่อไปขายภัตตาคารในจังหวัดใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ ราคาปลาบึกจึงสูงถือกิโลกรัมละ 280 บาท บางปีสูงถึงกิโลกรัมละ 400 บาท

กระแสการอนุรักษ์ปลาบึกผุดขึ้นอีกครั้ง
หลังจากที่มีการจับปลาบึกตัวแรกได้ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา กระแสจากคนหลายฝ่ายหลายองค์กรเริ่มออกมาเสนอทางออกกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ชาวบ้านเปลี่ยนค่านิยมจากที่เคยชอบทานปลาบึก เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่า ทำให้มีอายุยืนนั้น ให้หันมาร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกให้อยู่คู่กับแม่น้ำโขงแทน เพื่อให้มีการแพร่พันธุ์ให้มากขึ้น หรือรอให้มีราคาถูกเท่ากับราคาปลาทั่วๆ ไป ก่อน เพราะการที่ปลาบึกมีราคาสูง ทำให้กลายเป็นแรงจูงใจให้มีการล่าปลาบึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากนักล่ามาเป็นนักอนุรักษ์
นายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึก กล่าวว่า ที่หลายฝ่ายต้องการให้หยุดล่าปลาบึกและหันมาร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกนั้น ทางสมาชิกของชมรมปลาบึก ซึ่งขณะนี้มีทั้งสมาชิกทั้งหมด 272 คน ต่างพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึก แต่ถ้าจะให้ชาวบ้านหยุดการจับปลาบึกทันทีนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนถือว่า การล่าปลาบึกเป็นประเพณีของหมู่บ้านที่มีมาช้านานแล้ว และถ้าหากจำเป็นให้หยุดจริงๆ รัฐจะต้องหาทางออกให้แก่ชาวบ้านด้วยการหาอาชีพมาทดแทนการจับปลาบึกด้วย

"ทุกคนเห็นด้วย ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีการอนุรักษ์ปลาบึกให้มีชีวิตอย่างปลอดภัย และถูกยกเว้นจากการล่า โดยมีการหาอาชีพใหม่มาทดแทนเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวประมง หลังยุติการล่าปลาบึก ในขั้นตอนแรก คงต้องมีการระดมทุนอย่างเร่งด่วน เพื่อซื้อชีวิตปลาบึกที่พรานปลาจับได้ในช่วงนี้ หลังจากนั้น เราจะจัดโครงการศึกษาวิจัยวงจรชีวิตปลาบึก โดยชมรมปลาบึกและองค์กรพันธมิตร รวมทั้ง จำเป็นต้องมีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนให้ชาวประมงจากผู้ล่ามาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แทน" นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว

อนุรักษ์แบบผสมเทียมหรือแบบธรรมชาติ
อีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังขัดแย้งกันในทางปฏิบัติ ก็คือ เจ้าหน้าที่ประมงยังยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายอย่างเคร่งครัด ที่จะต้องนำปลาบึกที่จับได้ไปทำการรีดน้ำเชื้อ-รีดไข่ ก่อนจะปล่อยปลาบึกลงในแม่น้ำโขง

ซึ่งสวนทางกับชาวบ้าน ที่เสนอโครงการรักษ์ปลาบึก-รักษ์แม่น้ำโขง ที่ต้องการซื้อชีวิตปลาบึก และขอร้องเจ้าหน้าที่ไม่ให้มีการฉีดน้ำเชื้อเพื่อรีดน้ำเชื้อ รีดไข่ และขอร้องให้นำปลาบึกที่จับได้ปล่อยลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว เพราะหวั่นเกรงว่า ปลาบึกจะบอบช้ำและทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งยังเสนอให้มีการอนุรักษ์ปลาบึกโดยวิธีธรรมชาติ

ชาวบ้านคนหนึ่ง บอกว่า เจ้าหน้าที่ยังยืนยันหนักแน่นเช่นเดิม และยังอธิบายถึงขั้นตอนการฉีดฮอร์โมนและรีดน้ำเชื้อ ภายในเวลาบ่ายสามโมง ก่อนจะปล่อยลงสู่แม่น้ำ แต่สุดท้ายปลาบึกกลับดูอ่อนแรง หายใจช้า และตายก่อนที่จะปล่อยลงสู่แม่น้ำโขง

"หลายปีก่อน ทางประมงเคยทำการรีดน้ำเชื้อ ก่อนจะปล่อยปลาบึกลงแม่น้ำโขง แต่สุดท้ายได้ข่าวว่า ปลาตัวดังกล่าวไปตายเกยตื้นแถวหลวงพระบางโน่น" พุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึก เอ่ยออกมา

ประเด็นการตายของปลาบึก ได้ทำให้หลายคนตั้งข้อกังขากันไปต่างๆ นานา ว่าสาเหตุที่ปลาบึกตายนั้น มาจากความผิดพลาดจากฝ่ายใด!?

"ปัญหาเรื่องการอนุรักษ์ปลาบึกในแม่น้ำโขง ไม่ใช่เป็นปัญหาเพียงแค่ของท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาในเชิงนโยบาย ซึ่งจะเห็นว่าการจัดการที่ผ่านมา ล้วนติดขัดในเชิงนโยบายทั้งสิ้น ดังนั้น คงจะ
ต้องมีการนำเรื่องนี้เข้าประชุมในคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาว่า ควรจะมีการปรับแก้กฎกระ
ทรวงในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของอาชญาบัตร ที่มุ่งเพียงเรื่องวิจัยการผสมเทียมปลาบึกอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกและปลาทุกชนิดในแม่น้ำโขงให้แพร่พันธุ์ตามธรรมชาติได้อย่างไร" เตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้มีรายงานว่า การศึกษาวิจัยเรื่องปลาบึกในประเทศไทยของกรมประมง จะมุ่งเน้นไปที่การผสมเทียมและการเพาะเลี้ยงเป็นหลัก ส่วนการศึกษาวงจรชีวิตตามธรรมชาติของปลาบึกในแม่น้ำโขงนั้นยังไม่มีการศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งแตกต่างไปจากประเทศเขมร ที่ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยธรรมชาติของปลาบึกในทะเลสาบเขมร โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาการอพยพของปลาบึกควบคู่ไปกับการศึกษาปลาหนังชนิดอื่นๆ ด้วย

รายงานพิเศษ
องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท