Skip to main content
sharethis

กรุงรัตนโกสินทร์ต่อไปจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ?

ในช่วงสองร้อยกว่าปีของกรุงรัตนโกสินทร์ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย จากอดีตที่มีเรือนแพเรียงราย 2 ฝั่งน้ำเจ้าพระยา บ้านเรือนไทยของขุนนางเก่า กลายเป็นตึกราม อาคารปูนเข้ามาแทนที่ เรือนขนมปังขิงซึ่งยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่หลังในปัจจุบัน เหล่านี้ล้วนแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ตาม กรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่เคยร้าง "คน"

แต่ถ้ามีการดำเนินการบางอย่างที่กำลังจะทำให้ "คน" หายไปจากกรุงรัตนโกสินทร์ ล่ะ

เมืองพาณิชย์โฉมใหม่

พ.ศ. 2534 "แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์" เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิดของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มุ่งปรับภูมิทัศน์เมืองโดยเน้นความสวยงามทางการภาพ ด้วยวิธีการเปิดมุมมองให้เห็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

โดยเฉพาะการปรับภูมิทัศน์วัดและวัง รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ว่างเพื่อเป็นสวนสาธารณะ ในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ กินอาณาบริเวณเขตเมืองตั้งแต่ริมคลองผดุงกรุงเกษม (คูเมืองชั้นนอก) จากปากคลองเทเวศร์ไปจนออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกฝั่งหนึ่ง

ด้วยแผนดังกล่าว จะต้องมีการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างเดิม อาทิ ที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ ชุมชน ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือ รัฐจะทำอย่างไร "คน" หรือ "ชุมชน" ที่ได้รับผลกระทบภายใต้แผนดังกล่าว

นอกจากนั้นยังมีการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินโครงการ "แผนผังแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ถนนราชดำเนิน และพื้นที่ต่อเนื่อง" ภายใต้โครงการเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนการเจริญ
เติบโตอีกครั้ง

โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่อง ให้เป็นย่านการค้า ลักษณะเดียวกับถนนชองส์เอลิเซ่ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายใต้ฐานคิดที่ว่า การพัฒนาคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ถนนราชดำเนินก็คือ "ทุน"

แม้ว่า แนวคิดการทำให้เมืองน่าอยู่ โดยการปรับภูมิทัศน์จะเป็นหลักการที่ยอมรับโดยทั่วไป แต่คำถามคาใจก็คือ แท้จริงแล้วรัฐปรับปรุงเมืองเพื่อใคร ในเมื่อตามแผน รัฐต้องย้าย "คน" ออกจากชุมชนเดิม แล้วเปลี่ยนโฉมพื้นที่เป็นย่านธุรกิจท่องเที่ยว

เสียงสะท้อนจากภายใน

แม้ว่าแผนฯ ยังไม่เริ่มดำเนินการ แต่ข้อมูลที่ได้รับจากภาครัฐ ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกิดความวิตกกังวล บางส่วนที่มีฐานะเริ่มคิดจะหาที่อาศัยใหม่ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการเมือง แทนที่จะเป็นเพียงผู้รับผลกระทบแต่ฝ่ายเดียว

ในส่วนนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในชุมชน อาทิ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์เอง ก็มองว่า การรักษาคนไว้กับเมืองจะทำให้เมืองที่มีชีวิต มีพัฒนาการและหากมองในแง่การท่องเที่ยววิถีชีวิตของผู้คนก็สามารถสร้างจุดสนใจกับนักท่องเที่ยวได้

จนกระทั่งปลาย พ.ศ. 2547 วิทยาลัยการจัดการทางสังคม ร่วมกับคณะโบราณคดี และคณะสถาปัตยกรรมศิลปากร และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน จัดเวทีเสวนา "กรุงเทพฯ ยศล่มแล้ว" ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยวิพากษ์แผนแม่บททั้งสองฉบับ โดยมีนักคิด นักเขียน อาทิ ม.ร.ว. อคิน ระพีพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท, รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาอาวุโส , ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, พิชญ์ วงศ์สวัสดิ์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มศึกษาแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่ม Urban Media Society (UMS) เข้าร่วมการเสวนา ท่ามกลางความสนใจของชุมชนในกรุงรัตนโกสินทร์

ทั้งนี้ผู้ร่วมเสวนาเห็นร่วมกันว่า การพัฒนาเมืองโดยปราศจาก "คน" นั้น ไม่ต่างจากการทำลายเมืองให้ไร้ชีวิต ทั้งการพัฒนาเมืองควรคำนึงถึงประวัติศาสตร์สังคม ซึ่งไม่สามารถแยกส่วนออกจากประวัติศาสตร์ของเมืองได้

เขียนเมือง เล่าเรื่องคน

หลังเวที เสวนา "กรุงเทพยศฯล่มแล้ว" ผู้จัดมีความสนใจที่จะศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของแม่บทอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงเกิดโครงการต่อเนื่อง "เขียนเมืองเล่าเรื่องคน" มีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของ "แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ถนนราชดำเนิน และพื้นที่ต่อเนื่อง" เป็นหลัก

โครงการเขียนเมืองเล่าเรื่องคน ต้องการสื่อความรู้ในเรื่องเมืองกับสาธารณะโดยใช้วิธีหลายรูปแบบในการนำ เสนอ ทั้งทางวิชาการ กิจกรรม ละคร หนัง สารคดีขนาดสั้น และงานศิลปะ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาทิ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม กลุ่ม Action Aid นิตยสารสารคดี นิตยสารสเกล กลุ่ม UMS และกรุงเทพมหานคร

ความคาดหวังของผู้จัดคือ เกิดข้อเสนอทางวิชาการในเรื่องแนวทางการจัดการกรุงรัตนโกสินทร์อย่างมีส่วนร่วม จากการศึกษาวิเคราะห์และประมวลความรู้โดยนักวิชาการและผู้เข้าร่วม ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 11-15 พ.ค. 48

ส่วนในวันที่ 16 พ.ค. 48 จะเป็นการสรุปงานด้วยเวทีวิชาการ "เขียนเมือง เล่าเรื่องคน" ณ ห้อง 103 คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนักวิชาการทั้งจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์

และจะจบงานด้วยการแถลงข่าว "ข้อเสนอทางวิชาการต่อกรุงรัตนโกสินทร์" โดย รศ.ดร. วิวัฒน์ชัย อัตถากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และ รศ.ดร.สุรพล นิติไกรพล อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลา 16.00-16.30 น.

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะสะท้อนเสียงของ "ชุมชนรัตนโกสินทร์" ต่อแนวทางที่ควรจะเป็นในการจัดการเมืองที่รวมส่วน "คน" เข้าไปด้วย

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net