บันทึกนักข่าวหนีงาน ตอนที่ 4: เด็กค่าย

"ทำไมถึงอยากไปค่ายนี้ล่ะ"
"อยากลำบากค่ะ"
"ปกติเป็นคนกินยากไหม"
"ไม่ค่ะ"
"กินแย้ได้ไหม"
"แย้เลยเหรอคะ เอ่อ… แย้…ก็ได้ค่ะ"

ตัวอย่างบทสนทนาระหว่างการสัมภาษณ์ซึ่งมี "พี่เอ๋" วัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้จัดการอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ทำหน้าที่ "ผู้ร้าย" เพื่อทดสอบความตั้งใจของบรรดาหนุ่ม ๆ สาว ๆ เนื่องจากมีผู้สมัครเกินจำนวนที่จะรับได้…บางคนจะไม่ได้ไป

การสัมภาษณ์ดำเนินไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน "คุณคิดว่าจะใช้วิชาการตลาดของคุณช่วยนำเสนอสิ่งที่ชาวเวียงแหงได้พบได้หรือไม่ และจะทำอย่างไร" -เป็นคำถามสำหรับหนุ่มจากภาควิชาการตลาด ชั้นปีที่ 2มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

"ตามข้อสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่ารัฐมีเหตุผลที่ดีเสมอ แพรจะอธิบายเรื่องเหมืองถ่านหินที่เวียงแหงว่าอย่างไร" คำถามสำหรับสาวน้อยที่เพิ่งขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และหลวมตัวบอกพี่เอ๋ว่าอยากเรียนเศรษฐศาสตร์

บางคนหลั่งน้ำตา "พี่ทำให้หนูรู้สึกผิด" นุ่นจากภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดใจหลังถูก "ทำร้ายทางวาจา" เรื่อง (เด็ก) ธรรมศาสตร์ที่ดูจะไม่สนใจประเด็นทางสังคมอีกต่อไปแล้ว

……อัศวินผู้ฝ่าด่านมังกรไฟมีทั้งสิ้น 23 คน และจากนี้ไปเราจะเรียกพวกเขาให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า "เด็กค่าย"

…………………………………………………………………………………….

พวกเขาเดินทางโดยรถไฟขบวนกรุงเทพฯ - เชียงใหม่เวลา 21.30 น. เพื่อจะมาถึงปลายทางที่บ้านแม่แพมเวลาประมาณ 17.30 น. ของวันรุ่งขึ้น การเดินทางไม่ทำให้แววสดใสใคร่รู้ในดวงตาเหือดหายไป

ทุกคนแยกย้ายเข้าบ้าน บ้านละ 2 คน โดยมีเจ้าของบ้านวัยไล่เลี่ยกันมาคอยรับ พวกเขาจะต้องอยู่กับเจ้าบ้านที่นี่เป็นระยะเวลา 5 วันนับจากนี้

บรรดาเจ้าบ้าน 13 คนล้วนมีลักษณะนิสัยใกล้เคียงกันอย่างประหลาด ทุกคนขี้อายมาก กระทั่งจะบอกชื่อเสียงเรียงนามยังต้องม้วนหลายตลบหลบเข้าข้างหลังเพื่อนทิ้งระยะเนิ่นนานกระทั่งคนถามจากเมืองกรุงซึ่งเข็มนาฬิกาในตัววิ่งเร็วจี๋รู้สึกรำคาญนั่นแหละ จึงจะได้คำตอบที่เบาแสนเบา เมื่อถามซ้ำว่า "ชื่ออะไรนะ" กระบวนการเขินอายก็เริ่มใหม่อีกรอบ

ทีมพี่เลี้ยงค่ายกังวลกันว่า ความขี้อายจะเป็นอุปสรรคสำหรับการแลกเปลี่ยน
…………………………………………………………………………………………………..

ค่ำคืนแรกผ่านไปอย่างไม่ประทับใจนัก ด้วยการเตรียมการที่ไม่พร้อมเอาเสียเลย นี่คือการทำค่ายในพื้นที่เปิด และอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ทีมเตรียมค่ายไม่สามารถเตรียมวิทยากรในพื้นที่ได้อย่างที่ต้องการด้วยอุปสรรคด้านภาษา และวิถีชีวิตซึ่งไม่สามารถกำหนดตายตัว

ผู้เฒ่าเล่า "ทา" ซึ่งมีลักษณะเหมือนการเล่าเรื่องหรือเล่านิทาน อาจมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักหรือปรัชญา ภาษาปากญอไม่ได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาไทยให้เพียงพอแก่ความเข้าใจ และผู้เล่า "อาย" ก็เลยหยุดเล่าเสียดื้อ ๆ เด็กค่ายแยกย้ายไปนอน พี่เลี้ยงค่ายนั่งคุยกันต่อ

………………………………………………………………………….

"ตอนแรกเรามองแบบโรแมนติ๊ก โรแมนติก คิดว่าจะเป็นกิจกรรมรอบกองไฟ แล้วก็มีการต้อนรับแบบชาวบ้าน" แอน พี่เลี้ยงค่ายใจดีเปิดใจ

"เรารู้สึกว่าเหมือนเราเตรียมค่ายไม่ดี อยากได้แบบหนึ่งก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นอีกแบบ…วิทยากรอายอีก เล่าต่อไม่ได้เพราะอาย…แต่มันก็น่ารักดีนะ" กั๊ก คนทำค่ายอีกหนึ่งหนุ่มพูดยิ้ม ๆ หลังผ่านช่วงเวลาน่าปวดหัวมาแล้ว

ความขี้อายและธรรมชาติของชาวบ้านที่นี่ อยู่เหนือการควบคุมของทีมทำค่าย…อายจนไม่รู้ว่าเขายินดีกับการมาของชาวค่ายหรือไม่ หาไม่มีหลักฐานบางอย่าง…

พ่อหลวงสร้างบ้านใหม่จากฝาไม่ไผ่หลังเล็ก ๆ ขนาด 2 คนนอนไว้หนึ่งหลัง ก่อนที่เด็ก ๆ จากกรุงเทพฯ จะเดินทางมาถึง พวกเราได้รู้จากสังวร ว่าพ่อหลวงสร้างไว้ในชาวค่าย แต่ เมื่อเราเอ่ยปากฝากคนไปนอนด้วย ก็ได้คำตอบเขิน ๆ "ไม่รู้จะนอนได้หรือเปล่านะ" แต่หลังจากนั้นแคร่ไม้ไผ่โล่ง ๆ ในบ้านไม่ไผ่หลังเล็กก็มีที่นอนหมอนมุ้งเตรียมไว้เสร็จสรรพพร้อมไฟฉาย

หนุ่มน้อยม. 2 มาทวงถามถึงคนที่จะไปพักกับเขาที่บ้าน,วันที่ 2 ของค่ายเริ่มมีเด็กค่ายบางคนใส่เสื้อปากญอมาร่วมกิจกรรม พร้อมคำอธิบาย… "แม่ให้มา" ….บางค่ำคืนเด็กค่ายตามพ่อแม่ไปจับเขียดเป็นที่สนุกสนาน

"พวกพี่หาค่ายแบบนี้ได้ยังไงอ่ะ ชาวบ้านแบบนี้ ธรรมชาติแบบนี้" เด็กค่ายบางคนถามในวันสุดท้าย ทำเอาบรรดาพี่เลี้ยงยิ้มแก้มปริ แม้จะไม่ใช่ผลงานของตัวเองก็ตาม

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท