Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 เม.ย.48 "ความสูญเสียของชาวบ้านรวมถึงเจ้าหน้าที่ก็ตาม มันหนักกว่าที่คิดไว้มาก" นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) กล่าวในรายการ "ถึงลูกถึงคน" ทางรายการโทรทัศน์โมเดิร์นนายทีวี หลังเสร็จสิ้นการเดิน ทางลงไปในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชุมกรรมการกอส.ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-24 เม.ย. ที่ผ่านมา

นายอานันท์ กล่าวว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชน เป็นทั้งความสูญเสียทางจิตใจ และทางเศรษฐกิจ ค่าชดเชยชีวิตและแสนสองแสนไม่เพียงพอ โดยจะต้องให้อนาคตใหม่กับเมียและลูกผู้สูญเสีย โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาของภาคใต้นั้นอยู่ในจิตใจของคนที่อยู่ภาคอื่นด้วย ความสมานฉันท์จึงต้องทำทั่วประเทศ ทุกกลุ่มต้องปรับปรุงตัวเอง ต้องหันหน้าเข้าหากัน ไม่มีใครถูกใครผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญ คนไทยต้องเริ่มอ่านประวัติศาสตร์ของปัตตานี อีสาน เพื่อจะเข้าใจความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรม และการที่แต่ละท้องถิ่นจะมีภาษาของตนเองก็ไม่ใช่ของแปลก และเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ

น.พ.ประเวศ วะสี รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ข้อเสนอแนะมามาก โดยข้อเสนอทุกฝ่ายเสนอตรงกันหมด คือ การเยียวยาผู้สูญเสีย ทั้งทางจิตใจทางสังคม ความหมายกว้างมาก ทางราชการพยายามทำ แต่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี หนึ่งในกรรมการฯ ได้รับตรงนี้ไปจัดการ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขด้วย

"การเยียวยามีความหมายกว้าง การทำความจริงให้ปรากฏก็เป็นหนึ่งในการเยียวยา อย่างกรณีตากใบ ชาวบ้านให้ข้อมูลทั้ง 58 คนที่ถูกจับเป็นคนตากใบทั้งหมด แต่นายกฯ บอกเป็นคนนอก ถ้าเป็นคนตากใบจะปล่อยทั้งหมด ก็ต้องพิสูจน์ เอาความจริงตรงนี้มาเช็คคงไม่ยาก" รองประธานฯกอส.กล่าว

น.พ. ประเวศกล่าวด้วยว่า เรื่องนิรโทษกรรมก็มีคนเสนอแนวคิดนี้แทนที่จะไปไล่ล่าคนผิด คนที่วางแผนมีจำนวนน้อย โดยอยากให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบ เพื่อคนส่วนใหญ่จะเกลียดรัฐบาล อันนี้ต้องระวัง ต้องรักษาคนส่วนใหญ่ไว้

รศ.วรวิทย์ บารู รองอธิการบดี มอ.ปัตตานี กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่สุดคือ ความเป็นธรรม ข้าราชการต้องทำให้ชาวบ้านเห็นว่าเป็นธรรม เพราะความแตกแยกไม่มาจากศาสนาเลย บางชุมชนมีการวางกฎเกณฑ์หาทางออกเองได้ด้วยซ้ำ เพราะด้วยข้อเท็จจริงการเข้ามาของอิสลามเข้ามาหลังพุทธหลายร้อยปี ส่วนของความเป็นพี่น้องกันก็ยังมี ฉะนั้น การให้คำตอบที่ยังคลางแคลงใจจะช่วยแก้ปัญหาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net