เส้นทางสายไหม แฟชั่นล้านนา พิไลพิลาสสู่สากล

รายงาน

การพัฒนาของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน หรือกลุ่มล้านนา ได้กำหนดบทบาทการพัฒนาร่วมกันโดยใช้ศักยภาพฐานที่ตั้งเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนานาชาติ ด้วยโครงข่ายคมนาคมทุกระบบทั้งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ และนำมาประสานและสนับสนุนศักยภาพที่มีอยู่ของกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจในแต่ละด้าน ทั้งด้านท่องเที่ยว การผลิตการเกษตร อุตสาหกรรมบริการใหม่ เช่น ซอฟต์แวร์ การบริการสุขภาพ ฯลฯ รวมถึงหัตถอุตสาหกรรมที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มล้านนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัตถอุตสาหกรรมผ้าไทยแบบล้านนา ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่การส่งออก
ในระยะที่ผ่านมาไม่นานนักหลายคนอาจเริ่มคุ้นหูกับโครงการ "ล้านนาแฟชั่น" และนี่คือจุดเริ่มต้นของการรวมพลังจุดแสงสว่างให้ผ้าในสไตล์แบบล้านนามุ่งสู่ตลาดโลก

ยกระดับอุตฯผ้าไทย
ปั้นล้านนาแฟชั่น

นางวิภาดา ตรีสัตย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากหัตถอุตสาหกรรมผ้าไทย
เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งของภาคเหนือตอนบน และถูกบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ที่นำคุณค่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นฐานในการสร้างรายได้ทั้งด้านการท่องเที่ยวและหัตถอุตสาหกรรม

ดังนั้น กลุ่มจังหวัดล้านนาจึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจแฟชั่นผ้าไทย
(ล้านนา) ด้านต่างๆ ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นและมีความทันสมัยเทียบได้กับมาตรฐานสากล
เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการตลาดเพื่อการส่งออก

ทั้งนี้ จากสภาพการค้าการลงทุนในตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโลกในปัจจุบันมีการแข่งขันในอัตราที่สูง และจากมาตรการด้านการเปิดการค้าเสรีในตลาดโลก ทำให้แต่ละประเทศต่างปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบการแข่งขันและช่วงชิงการเป็นผู้นำการตลาด
ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่อุตสาหกรรมสิ่งทอของล้านนาต้องปรับกลยุทธ์ให้ทัน

สำหรับโครงการล้านนาแฟชั่น จะเป็นการพัฒนาศักยภาพธุรกิจแฟชั่นผ้าไทยในแบบล้านนาให้เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งพบว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน มีผู้ประกอบการและแรงงานฝีมือในการผลิตในขั้นตอนต่างๆจำนวนมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกลับพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานั้นยังมีมูลค่าต่ำ ซึ่งมั่นใจว่าโครงการล้านนาแฟชั่น จะเป็นการพลิกมิติทางธุรกิจของอุตสาหกรรมผ้าไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพในภาคการผลิตมากขึ้น

โครงการล้านนาแฟชั่น ได้กำหนดแผนงานตามยุทธศาสตร์กลุ่มล้านนา 3 ด้านคือ ยุทธศาสตร์เชิงรุก จะรุกเรื่องการตลาดและการออกแบบนำการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ด้านการผลิต 2.ยุทธศาสตร์ปรับตัว เป็นการนำเอกลักษณ์และความโดดเด่นด้านงานฝีมือมาเป็นตัวนำการผลิต สุดท้ายคือยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน จะเน้นนำศิลปวัฒนธรรมล้านนาเข้ามาเป็นส่วนผสมผสานกับการผลิต การตลาดและการออกแบบ โดยสร้างเอกลักษณ์ที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน

สำหรับแนวทางของล้านนาแฟชั่นจะประกอบด้วยส่วนสำคัญหลักๆคือ 1.ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอาจได้มาจากความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่รวมอยู่ในกลุ่มล้านนานำมาผสมผสานอย่างสร้างสรรค์และมีรสนิยม 2.วัสดุที่ใช้ในการผลิตอาจนำมาจากธรรมชาติและมีความหมาย แต่สามารถนำวัสดุอื่นมาสอดประสานได้

3.ผลงานที่ผลิตออกมานั้นในแต่ละชุดอาจมีจำนวนน้อยชิ้น แต่ต้องสามารถนำมาใช้ได้เอนก
ประสงค์ 4.การนำลวดลายต่างๆมาใช้ในการออกแบบ ซึ่งจะต้องมีเรื่องราว ความหมายที่น่าสนใจ 5.ส่งเสริมสนับสนุนพร้อมกับเผยแพร่ความรู้ในแนวแฟชั่นล้านนาให้กลุ่มชนทุกระดับได้รับทราบ โดยอาจเริ่มจากสถาบันการศึกษา รวมถึงองค์กรทุกระดับ เป็นต้น

กิจกรรมที่ส่งเสริมโครงการล้านนาแฟชั่นที่ดำเนินการแล้ว และที่เตรียมจะดำเนินการต่อไป ได้แก่ 1.การเปิดตัวโครงการล้านนาแฟชั่น หรืองาน "พิไลพิลาสล้านนา ครั้งที่ 1" เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา, การจัดอบรมด้านการตลาดแก่กลุ่มผู้ทอผ้า กลุ่มแปรรูป นักออกแบบ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา

ส่วนแผนงานระยะต่อไปคือ จะมีการจัดประกวดแบบเสื้อในโอกาสต่างๆและการแสดงแฟชั่นโชว์ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2548 ณ ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์, การจัดประกวดนายแบบ นางแบบ ที่จะดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2548

การจัดงานแสดงแบบเสื้อและการจำหน่ายสินค้าในช่วงเดือนสิงหาคม และการร่วมออกงาน
BIFF (Bangkok International Fashion Fair) ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ วันที่ 28 - 30 กันยายน 2548 นี้

กลุ่มล้านนาผนึกพลังทางสายไหม
ดึงจุดขายพิไลพิลาสสู่ตลาดสากล

นายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การส่งออกเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดย 8 จังหวัดภาคเหนือซึ่งได้รวมตัวและขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นกลุ่มล้านนา ได้เล็งเห็นว่าหัตถอุตสาหกรรมผ้าไทย (ล้านนา) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากของภาคเหนือตอนบน จึงต้องการสร้างศักยภาพผ้าไทยให้มีความทันสมัยได้มาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้านทั้งเชิงรุก เชิงปรับตัว และการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวทางพัฒนาศักยภาพแฟชั่นผ้าไทยแบบล้านนา โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางและจะขยายสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งหมดในระยะต่อไป ซึ่งได้กำหนดกิจกรรมและโครงการสำหรับปีงบประมาณ 2548 ที่จะเป็นการนำร่องสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต อาทิ กิจกรรมด้านการจัดเก็บข้อมูลและฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง, กิจกรรมการจัดตั้งองค์กรเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาดเชิงรุกทั้งด้านผลิตภัณฑ์และด้านบุคลากรในอาชีพนายแบบ-นางแบบ และนักออกแบบ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสารสนเทศแก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น

"จุดขายของล้านนาแฟชั่นคือ การมีเรื่องราว มีมิติด้านต่างๆบนผืนผ้าทุกชิ้น การออกแบบต้องมีจินตนาการ การตลาดต้องมีเป้าหมายชัดเจน ตอนนี้เราเพิ่งอยู่ที่จุดเริ่มต้นของการรวมพลัง ซึ่งภารกิจต่อไปจะมีกิจกรรมสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างงานพิไลพิลาสล้านนาจะมีการจัดต่อเนื่องไปถึง 5 ครั้ง ขณะเดียวกันเราก็จะวิเคราะห์ตลาดเป้าหมายด้วย ซึ่งเป้าหมายเราต้องนำแฟชั่นล้านนามุ่งสู่สากให้ได้"

ผู้ผลิต/นักออกแบบสะท้อนปัญหา

พิสมัย ปุ๊ดพรม ตัวแทนกลุ่มผลิตเส้นใยและสิ่งทอ บอกว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการผลิตผ้าในสไตล์ล้านนาออกมาจำนวนมาก และส่วนใหญ่มีรูปแบบที่คล้ายๆกันและไม่มีความแตกต่าง
ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องแฟชั่น ทำให้สินค้าไม่สามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศได้มากนัก การผลิตส่วนมากจะอาศัยความรู้ดั้งเดิมในแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการสืบทอดมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเส้นใยสิ่งทอที่ยังไม่มีการพัฒนาในเรื่องของสีสัน ลวดลาย
รูปแบบ

ขณะเดียวกันแม้ในระยะที่ผ่านมาภาครัฐจะให้การสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพการผลิตให้กับกลุ่มต่างๆ แต่ปัญหาคือระยะเวลาการเรียนรู้ค่อนข้างจำกัด การเรียนรู้ของชาวบ้านจึงขาดความต่อเนื่องและขาดการเชื่อมโยง

สหพล โชติกชีวิน ตัวแทนผู้ประกอบการด้านการออกแบบ สะท้อนว่า ที่ผ่านมาเริ่มมีนักออกแบบเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาที่พบคือ ยังขาดการติดตามตลาดแบบต่อเนื่อง เช่น
นักออกแบบที่เพิ่งจบใหม่เริ่มหันเหเข้าสู่อาชีพนี้มากขึ้น แต่กลับขาดความสนใจและขาดการสื่อสารกับตลาด ทำให้สินค้าที่ออกแบบออกมามีตลาดที่จำกัดในวงแคบๆ ไม่สามารถไต่สู่ตลาด
โลกได้

เพราะในความจริงนักออกแบบต้องสามารถสื่อสารได้ว่าต้องการขายสินค้าแนวไหนให้กับตลาดใด ซึ่งการนำเสนอแต่แฟชั่นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูงและเปิดเสรี ทั้งนี้นอกเหนือจากการรู้ตลาดเป้าหมายแล้ว จำเป็นต้องเรียนรู้เทรนด์และแนวโน้มตลาดในแต่ละปีด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท