Skip to main content
sharethis

ประชาไท-22 เม.ษ. 48 "สิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างคลื่นซึนามิก็เกิดขึ้นมาแล้ว และได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างมากมาย เรื่องแผ่นดินไหวก็เช่นกันแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบร้อยปี แต่ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ๆ ที่กรุงเทพฯ และอยู่ในช่วงชั่วอายุของเรานี่แหละ" นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย ประธานคณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าว

วันนี้ ณ อาคาร ว.ส.ท. นายเป็นหนึ่งและนายปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ อาจารย์คณะวิศว กรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย ร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง แผ่นดินไหว ภัยใกล้ตัวคนกรุงเทพฯ รู้ทันแล้วจะเตรียมรับมืออย่างไร

โดยนายเป็นหนึ่งกล่าวว่า ในขณะนี้มีการวิจัยและทำการเปรียบเทียบถึงความเป็นไปได้ ระหว่างกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในแมกซิโก(1985) ที่เกิดห่างจากตัวเมืองราว 100 กม. กับกรณีถ้ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในกทม. ถึงด้านสาเหตุและระดับความเสียหายที่น่าจะเกิดมาจากชั้นแผ่นดินอ่อน (ที่สามารถขยายแรงสั่นสะเทือนได้หลายเท่า)เหมือนกัน และในกทม.เองประกอบไปด้วยตึกสูงมากมายที่ไม่มีมาตรฐานการก่อสร้าง ที่สามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และอาจทำให้ความเสียหายในวงกว้างได้

นายเป็นหนึ่งกล่าวต่อว่า สาเหตุที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวในกทม.นั้น มาจากรอยเลื่อนของเปลือกโลกในประเทศพม่าที่ยาวมาถึงทะเลอันดามันและห่างจากกทม.ประมาณ 400 กม. หรืออาจจะเป็นเป็นรอยเลื่อนของเปลือกโลกใน จ. กาญจนบุรี ที่มีอยู่หลายรอยด้วยกันและห่างจากกทม.เพียง 200 กม.

"ความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในกทม.นั้น จะมาจากมาตรฐานในการสร้างตึกเป็นหลัก โดยเฉพาะต้นเสาที่เป็นโครงของตึกหรืออาคาร ยิ่งในปัจจุบันที่มีการสร้างเพดานตึกแบบไร้คานเพื่อให้ได้ชั้นมากขึ้น แต่ผมอยากให้นึกภาพดูว่าตอนเวลาตึกถล่มนั้น เมื่อเสาไม่แข็งแรงเพราะโครงเหล็กไม่ได้มาตรฐาน คานเพดานก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเวลามันถล่มก็จะเหมือนกับลักษณะของแพนเค้ก และตึกที่ต่ำกว่า 15 ชั้นในกทม. ก็อยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงสูงเช่นกัน" ประธานคณะอนุกรรม การผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม ว.ส.ท. กล่าว

ด้านนายปณิธาน กล่าวว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่มีความไม่แน่นอน เพราะมีการเปลี่ยน แปลงพื้นที่อยู่ตลอดเวลา รวมถึงจุดที่เกิดพายุด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อไม่สามารถจำกัดจุดเกิดเหตุได้ จึงน่าจะเร่งสร้างมาตรการแก้ไขในระยะยาวเพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยจะเน้นที่การสร้างวัฒนธรรมปลอดภัยและเริ่มปลูกจิตสำนึกในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เด็ก

"การสร้างวัฒนธรรมปลอดภัย นอกจากจะเริ่มที่ประชาชนในการปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เยาว์วัยแล้ว ผมอยากให้มีการบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมหาวิทยาลัย และให้ความรู้พื้นฐานด้านภัยธรรมชาติการบรรเทาภัย หรือแม้แต่ความรู้พื้นฐานด้านความปลอดภัยด้วย" อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ กล่าว

นายปณิธานกล่าวต่ออีกว่า วิศวกรก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องมีจิตสำนึกในด้านวัฒนธรรมปลอดภัยเช่นกัน คือ การประยุกต์งานด้านวิศวกรรมนั้นจะต้องดำเนินไปด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูง มีการสร้างมาตรฐานด้านการออกแบบต้านภัยธรรมชาติ ลงทุนทำวิจัยในเรื่องดังกล่าว และพัฒนาทรัพยากรด้านการบรรเทาภัยธรรมชาติ อีกทั้งควรเรียนรู้และประยุกต์การทำงานจากกฎของธรรมชาติด้วย

สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net