Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 21 เม.ย.48 นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ แถลงว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548 ได้รับหนังสือจากรัฐบาล ให้คณะกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณาเปิดเผยรายงานผลการสอบสวนกรณีสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ และกรณีการล้อมปราบที่มัสยิดกรือเซะฉบับสมบูรณ์ ตนเห็นควรเปิดเผยรายงานผลการสอบสวนฉบับเต็ม แต่เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ จึงตั้งคณะทำงานพิจารณารายงานทั้ง 2 ฉบับ โดยรายงานที่เปิดเผยต้องไม่มีข้อความก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ หรือเกลียดชังทางเชื้อชาติ ศาสนา ในส่วนข้อมูลการสอบปากคำ หรือรูปภาพต่างๆ จะไม่มีการเปิดเผย

นายอานันท์ เปิดเผยว่า คณะทำงานจะรายงานให้คณะกรรมการฯ ทราบ ในการประชุมช่วงเย็น วันที่ 24 เมษายน 2548 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อพิจารณาว่าเนื้อหาที่คณะทำงานเสนอให้เปิดเผยได้นั้น เหมาะสมหรือไม่ หากเห็นชอบจะมีมติให้เปิดเผย และแจกรายงานผลการสอบสวนทั้ง 2 กรณีต่อสาธารณะทันที คาดว่าการเปิดเผยผลการสอบสวนทั้ง 2 กรณี จะช่วยขจัดความไม่เข้าใจ เกลียดชัง ขมขื่น หวาดระแวง หรือความเกรงกลัวในพื้นที่ให้ค่อยๆ หมดไป

นายอานันท์ เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้มีคำสั่งตั้งกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเพิ่มขึ้นอีก 1 คน คือ พระครูธรรมธรนิพนธ์ โชตโก เจ้าอาวาสวัดทุ่งข่อย ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อมาจากกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิสายมุสลิม

"สำหรับการลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯ ระหว่างวันที่ 22 - 24 เมษายน 2548 เป็นการไปรับฟังสถานการณ์จากฝ่ายทหาร ตำรวจ ญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมกับเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อธิบายให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบเจตนารมณ์การทำงานของคณะกรรมการฯ คาดหวังว่าจะได้รับข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่โดยตรง เบื้องต้นประชาชนอาจจะกลัว แต่หวังว่าการพบปะจะทำให้คนในพื้นที่คลายความหวาดระแวงได้บ้าง ต่อไป อาจจะทำทั้งในรูปของคณะใหญ่ และอนุกรรมการฯ" นายอานันท์ กล่าว
นายอานันท์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการฯ ในช่วงเย็นวันที่ 24 เมษายน 2548 นอกจากจะพิจารณาเรื่องเปิดเผยผลการสอบสวน 2 กรณีแล้ว จะพิจารณาโครงสร้างการทำงานว่า ควรจะเป็นอย่างไร จะต้องตั้งอนุกรรมการฯ หรือคณะทำงานเรื่องใดบ้าง

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของตนและคิดว่าน่าจะรวมถึงกรรมการที่เป็นตัวแทนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คนอื่นๆ ไม่มีแผนจะนำเสนอข้อมูลหรือผลักดันอะไร ต่อที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เพราะอยากให้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตามธรรมชาติมากกว่า ใครอยากจะคุยลงลึกเรื่องอะไรกับกรรรมการฯ คนไหน หรือจะคุยกับนายนายอานันท์โดยตรงก็ได้

นายมัซลัน มาหามะ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา วิทยาลัยอิสลามยะลา เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ได้รับเชิญ ให้ไปให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ในวันที่ 22 เมษายน 2548 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี

นายมัซลัน กล่าวว่า ตนจะนำเสนอให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาให้มากที่สุด ต้องลดเงื่อนไขความขัดแย้งต่างๆ ลงให้ได้ รวมทั้งต้องแก้กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค และเป็นเงื่อนไขทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น เมื่อแก้ปัญหาตรงนี้ได้แล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ต้องปรับตัวด้วย มิใช่มัวแต่อ้างกฎระเบียบเดิมอยู่ ทุกฝ่ายต้องให้เวลากับคณะกรรมการฯ ได้พิสูจน์ตัวเองว่า สามารถกำหนดแนวทางแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาวได้ ตามที่นายอานันท์กล่าวไว้ได้หรือไม่

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ เลขาธิการสหพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉัน์แห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมายให้เชิญตัวแทนข้าราชครูในจังหวัดยะลา 3 คน เข้าร่วมประชุม เปิดเผยว่า เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม จึงเชิญนายบัญญัติ แสงมณี ผู้อำนวยการโรงเรียนบันนังสตาอินทรจักร ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ตนจึงเชิญนายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นจังหวัดยะลา เข้าร่วมประชุมอีกคนหนึ่งด้วย

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เปิดเผยว่า จะทำหนังสือแจ้งประธานคณะกรรมการฯ ว่า ไม่ร่วมลงพื้นที่กับคณะกรรมการฯ ช่วงปลายสัปดาห์นี้ เพราะนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กล่าวปิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ในวันที่ 23 เมษายน 2548

รายงานข่าวจากสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณแจ้งว่า ในการจัดงานในวาระครบรอบวันสถาปนา 25 ปีของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2548 จะมีการจัดกิจกรรม ในหัวข้อ "จากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ถึงสึนามิ : บทบาทของนักเขียนภาคใต้" ในวันที่ 8 - 9 พฤษภาคม 2548 ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา บ้านอ่าวทราย หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา

สำหรับกำหนดการจัดงาน ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2548 มีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "วิกฤตภาคใต้ : จากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ถึงสึนามิ" โดยนายสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เมธีอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง "จากวิกฤตชายแดนภาคใต้ถึงสึนามิ : บทบาทของนักเขียนภาคใต้" โดยนายเสน่ห์ วงษ์กำแหง นาย เปลื้อง คงแก้ว สายธาร สิโป และดวงแก้ว กัลยาณ์ฯ มีนายสถาพร ศรีสัจจัง ดำเนินรายการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net