Skip to main content
sharethis

ในจังหวัดภูเก็ต หาดป่าตองจัดเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจากคลื่นยักษ์ซึนามิ หาดป่าตองถึงถูกรับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องในการซ้อมแผนอพยพ เพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างของการจัดทำแผนอพยพประชาชนในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด 6 จังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยมีกรมป้อง
กันและบรรเทาสาธารณภัยออกแผนวางแผนแม่บท

นายพูนศักดิ์ นาคเสนา ปลัดเทศบาลเมืองป่าตองหัวหน้าทีมจัดทำร่างแผนการอพยพได้เปิดเผยแก่ "ประชาไท" ถึงที่มาที่ไป รวมทั้งภาพรวมของแผนการอพยพประชาชนในพื้นที่ป่าตอง ซึ่งจะมีการซ้อมจริงในวันที่ 29 เม.ษ.ศกนี้

-----------------
"ป่าตอง"เป็นพื้นที่แผนแรกที่จัดทำร่างแผนฯการอพยพ เป็นพื้นที่ตัวอย่างให้พื้นที่เสี่ยงภัยอื่นๆได้นำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนการที่จังหวัดภูเก็ต เร่งดำเนินการวางแผนแม่บทโดยใช้ป่าตองเป็นพื้นที่ซ้อมอพยพเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำแผนการอพยพเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว

"ฤดูกาลท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตคือเดือนพฤศจิกายน นี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการภายในเดือนนี้ ตอนนี้เป็นต้นไป"

ตามเหตุการณ์ที่เรากำหนดไว้เพื่อทำแผนอพยพในวันที่ 29 เมษายน 2548 นี้ เหตุการณ์สมมุติ คือ เวลา 10 โมงเช้ามีแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ซึ่งห่างจากประเทศไทยออกไปประมาณ 400 กิโลเมตร

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น "ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ" ที่กรุงเทพฯซึ่งจะเป็นผู้ตรวจเช็คจะส่งสัญญาณเตือนภัยมายังภูมิภาคทันที

เหตุการณ์สมมุติในวันนั้น.คือ ขณะที่เกิดแผ่นดินไหวนั้น ทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการในบริเวณนั้น ยังไม่ทราบเรื่อง และใช้ชีวิตตามปกติ เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 8 นาทีเพื่อยืนยันว่าเกิดแผ่นดินไหวและมีเหตุอันน่าเชื่อได้ว่าจะเกิดคลื่นยักษ์
ซึนามิแน่นอน

"ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ"ที่กรุงเทพฯ จะเป็นผู้ส่งสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียมมายังเสาสัญญาณทันที

ในขณะนี้ที่หาดป่าตองได้ติดตั้งเสารับสัญญาณ ไว้ 3 จุด และเสาสัญญาณดังกล่าวสามารถส่งเสียงเตือนได้ในรัศมี1.5 กิโลเมตร เสียงเตือนจึงดังครอบคลุมพื้นที่บริเวณหาดได้ทั้งหมด

เมื่อได้รับสัญญาณดาวเทียม เสารับสัญญาณก็จะทำหน้าที่ส่งเสียงเตือนเป็นเสียงไซเรนทันที และในเวลาต่อมา จะมีเสียงเตือนให้ประชาชนในพื้นที่อพยพหนีขึ้นที่สูง โดยเตือนเป็นเสียงพูด 6 ภาษา คือ ภาษาไทย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ จีน

หากติดทั่วเสารับสัญญาณทั่วทั้งจังหวัดภูเก็ตนั้น คาดว่าจะรับสัญญาณเตือนภัยได้ทั้งหมด สำหรับพื้นที่เกาะแก่งผมยังไม่แน่ใจว่ารัศมีการส่งสัญญาณจะดังไปถึงบริเวณเกาะหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ตามเกาะต่างๆจะมีหน่วยงานของทหารเรือ และกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบในการเตือนภัยอยู่แล้ว

เมื่อสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นเหนือหาดป่าตอง เรามีเวลา 40 นาที กว่าที่คลื่นจะเดินทางมาถึงบริเวณชายหาด ทุกคนบริเวณจะต้องวิ่งหนีขึ้นไปอยู่ที่สูง ในโซนปลอดภัยซึ่งทางเทศบาลได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบแล้วว่าอยู่ตรงจุดไหน เราคาดว่าจะใช้เวลาในการวิ่งหนีประมาณ 10-20 นาที โดยขณะนั้นเจ้าหน้าที่เทศบาลจะไปประจำตามจุดที่กำหนดไว้ เพื่อกระตุ้นผู้คนให้เร่งอพยพและอำนวยความสะดวกในการวิ่งหนี อีกทั้งได้มีการประสานแบ่งหน้าที่กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้แล้ว

จากนั้นเราจะเหลือเวลาอีกประมาณ 10-20 นาที ในการเร่งช่วยเหลือผู้คนที่ตกค้าง เมื่อผู้คนวิ่งหนีกระจายไปในโซนปลอดภัยแล้ว เราจะรอดูสถานการณ์บริเวณนั้น โดยทางเทศบาลทำหน้าที่จัดหาอาหารและน้ำเตรียมไว้ในศูนย์เฉพาะกิจที่ตั้งขึ้น 3 จุด บริเวณเขตปลอดภัยเพื่ออำนวยความสะดวก

ขั้นตอนต่อไปตามแผนปฏิบัติการคือ เมื่อเกิดคลื่นซัดมาจริง ทางเทศบาลจะทำหน้าที่เตรียมจุดพักผู้อพยพ หมายถึง บุคคลที่บ้านเรือนตัวเองเสียหาย ไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้

"เราจะแยกนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างจังหวัดออกไปเพราะเขาสามารถกลับไปบ้าน หรือติดต่อกับทางสถานทูตได้ โดยเราจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกจัดส่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ไปยังจังหวัดซึ่งเป็นส่วนกลางในการประสานงาน ทั้งนี้ทางโรงแรมซึ่งมีบัญชีรายชื่อนักท่องเที่ยวจะทำงานประสานงานร่วมกับจังหวัดในการนำส่งนักท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกในการแยกย้าย

ส่วนที่เป็นประชาชน ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งได้รับความเสียหาย เราได้จัดเตรียมที่พัก บริเวณโซนพักผู้อพยพ โดยทางเทศบาลจะจัดเตรียมเต็นท์ชั่วคราวหรือห้องพักตามโรงแรมไว้ให้ อีกทั้งจะรับผิดชอบอำนวยความสะดวกอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ผ้าห่ม หรือห้องน้ำ ซึ่งตามแผนฯได้เตรียมจุดพักผู้อพยพ 13 จุด ซึ่งคาดว่าเพียงพอต่อการรองรับผู้อพยพแน่นอน

แผนแม่บทการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยซึนามิ มีที่มาจากส่วนกลาง แต่ก็ไม่ได้เขียนอะไรมาก เป็นแผนรวม ซึ่งมีการนำมาแยกเป็นแผนแม่บทส่วนจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดต่างก็มีแผนแม่บทในการอพยพ แต่ในแผนฯไม่มีรายละเอียดอะไร

อย่างในแผนแม่บทของจังหวัดภูเก็ตกำหนดเพียงใครทำอะไร ไม่มีแผนการปฏิบัติจริง การวางแผนในการปฏิบัติจริงจึงเป็นหน้าที่ของเทศบาล ที่กำหนดว่าใครทำหน้าอยู่ในส่วนไหนในเหตุการณ์ มีผู้รับผิดชอบที่ระบุอย่างชัดเจน ตัวอย่าง เช่น 7 โซนที่จัดไว้เหนือหาดป่าตอง จะมีผู้รับผิดชอบดูแลแต่ละโซนทันที โดยที่ทางเทศบาลไม่ต้องสั่งการ เนื่องจากมีแผนฯรองรับปฏิบัติการในพื้นที่ไว้แล้ว

"แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ต่างก็ต้องเตรียมแผนการอพยพของพื้นที่ตน เพื่อรับสถานการณ์คลื่นยักษ์ เมื่อถึงเหตุการณ์ตอนนั้น ทุกคนต้องรู้หน้าที่แล้วว่าจะอยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไร จะได้ไม่ต้องสับสนเหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้รวบรวมแผนของแต่ละพื้นที่เพื่อปรับ หรือประเมินสถานการณ์ในการให้ความช่วยเหลือ และประสานงานกับส่วนกลางต่อไป"

ในส่วนของเทศบาลป่าตอง ขั้นตอนหลังจากเสร็จสิ้นการซ้อมแผนอพยพคือ การเช็คประชาชนในพื้นที่แต่ละโซน เราจะเช็คให้ได้ว่าแต่ละโซนมีใครอยู่บ้าง อยู่กี่คน เพื่อสะดวกในการตรวจเช็คข้อมูลหรือติดตามต่อไป ที่ผ่านมาป่าตองเป็นพื้นที่ซึ่งเสียหาย ทั้งด้านทรัพย์สินและชีวิตมาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงเลือกพื้นที่ป่าตองเป็นต้นแบบในการอพยพ

"เราจะเรียกความมั่นใจจากนักท่องเที่ยวกลับคืนมา"

การที่เราซ้อมแผนอพยพแค่ 2 โซน จาก 7 โซนมาจากความคิดที่ว่า ถ้าหากเราปิดทั้ง 7 โซนนั่นหมายถึงต้องปิดเมือง ปิดถนน ซึ่งเราก็กลัวว่ามันจะไปกระทบกับนักท่องเที่ยว กับสนามบิน การปิดพื้นที่ซ้อมอพยพ 2 โซนจะไม่กระทบกับการท่องเที่ยวในตัวเมืองมากนัก อีกทั้งการทดลองครั้งนี้ หากผิดพลาดก็สามารถแก้ไขในแต่ละจุดๆ หาข้อบกพร่องได้ง่าย แต่ถ้าปิดเมืองทำการซ้อมอพยพทั้งหมด หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องยากในการหาจุด หรือพื้นที่ที่ผิดพลาดเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง

"เราอยากจุดประกาย เราทำจุดเล็กๆ เริ่มขึ้นที่จุดเล็กๆ ให้พร้อมก่อน ดีกว่าที่จะทำจุดใหญ่ๆแต่มีช่องโหว่มาก"

"หน้าที่ที่ผมรับผิดชอบ ผมถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้อีกแล้วในชีวิต อย่างเหตุการณ์ที่เกิดคลื่นยักษ์ครั้งที่แล้ววุ่นวายมาก เพราะหลังจากคลื่นยักษ์มา ทั้งเจ้านายใหญ่โต ทั้งไทยมุง มากองกันที่นี่ทั้งหมด ทำให้การทำงานค่อนข้างลำบาก คนโน้นจะเอาอย่างนี้ คนนี้จะเอาอย่างนั้น ทั้งที่ทางเราก็วุ่นวายอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่นั่นก็ถือเป็นอีกประสบการณ์ที่ทำให้เราต้องเตรียมพร้อมมากขึ้น"

สำหรับการร่างแผนอพยพครั้งนี้ เป็นการทำแผนฯครั้งแรก ถามว่า มันสมบูรณ์หรือไม่นั้น คงไม่มีใครบอกได้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าสมบูรณ์ที่สุดคือระดับไหน ทุกคนก็ไม่รู้ เราวางแผนว่าในเหตุการณ์ควรเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่ความจริงย่อมต่างจากที่คิดไว้ เราทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ เราหวังเพียงว่าผลจากการวางแผนจะทำให้การอพยพดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net