Skip to main content
sharethis

ยะลา- 20 เม.ย.48 นายวิกรานต์ บุ่งสุด ผู้อำนวยการสำนักงานไปรษณีย์เขต 9 เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ไปรษณีย์ทั้ง 92 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคใต้ตอนล่าง เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจ
สอบพัสดุภัณฑ์ของลูกค้า โดยเฉพาะพัสดุที่มีปลายทางในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทุกชิ้นจะต้องผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ตรวจวัตถุระเบิด

พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง ในฐานะที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ หลังจากรัฐบาลมีมาตรการและแนวทางปฏิบัติ จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนซิมการ์ดเถื่อนที่อาจจะลักลอบเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้ขอให้ด่านศุลกากรเพิ่มความเข้มงวด ในการตรวจสอบประชาชนที่เดินทางเข้าออกตามชายแดนเป็นพิเศษ

น.ส.จัลวาตี เบ็ญจวงศ์ เจ้าของร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือภายในตลาดจตุจักร เขตเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลออกระเบียบดังกล่าว เพราะจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบได้บางส่วน โดยเฉพาะการลอบวางระเบิด การควบคุมดังกล่าว มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ ข้อดีสามารถคุมการจำหน่ายซิมการ์ดกับลูกค้าได้ ส่วนข้อเสียเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะลูกค้าบางรายอาจต้องการเก็บข้อมูลเป็นการส่วนตัว ไม่อยากเปิดเผย แต่โดยรวมแล้ว คิดว่าเกิดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า เชื่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่พร้อมจะร่วมมือ แต่คงไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย

นายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จังหวัดยะลาเตรียมเชิญร้านจำหน่ายซิมการ์ดแบบเติมเงินมาประชุม เพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยจดหมายเลขบัตร 13 หลัก และขอสำเนาทะเบียนบ้าน เมื่อมีคนมาซื้อซิมการ์ดแบบเติมเงิน ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายแต่เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะใช้แก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิด

ทั้งนี้ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรม เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 เกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย ได้มีการพูดถึงแนวทางการทำงาน ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาว่า ได้ขยายความร่วมมือในระดับประชาคมโลกมากขึ้น ทำให้ขณะนี้มีสมาชิกเพิ่ม ขึ้นเป็น 60 ประเทศ พร้อมกับได้หารือถึงรูปแบบการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อจัดกลุ่มตามระดับความรุนแรงของเหตุการณ์

จากนั้น จะกำหนดมาตรการที่จะใช้แก้ปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และรับจะกลับไปศึกษาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศของตน และจะนำกลับมาจัดลำดับและจัดกลุ่มร่วมกันอีกครั้ง

ส่วนมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย ขณะนี้ทางสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรม ได้กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจากประเทศสมาชิกจัดลำดับและจัดกลุ่มเสร็จ ก็สามารถนำมาปฏิบัติได้ทันที โดยที่ประชุมยังได้หารือถึงกรอบความร่วมมือ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันมากขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net