Skip to main content
sharethis

อาจกล่าวได้การสาดกระสุนช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างกองกำลังว้าแดง(UWSA-Uni
ted Wa State Army) และกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่(SSA-Shan State Army)ของพันเอกเจ้ายอดศึกแถวชายแดนแม่ฮ่องสอนครั้งนี้เป็นสงครามที่ "ไม่ธรรมดา" ทั้งในเรื่องสาเหตุการรบ คู่สงครามและผู้สนับสนุนเบื้องหลัง รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งผลกระทบในความสัมพันธ์ระหว่างไทใหญ่และว้า รวมทั้งผลกระทบต่อความมั่นคงของชายแดนประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด

เจราสันติวิธีล่ม-จำต้องสู้รบ

ศึกครั้งนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ 13 มีนาคม 2548 โดยฝ่ายว้าเริ่มโจมตีไทใหญ่ก่อน ลักษณะการรบเกิดขึ้นแบบประปราย ไม่รุนแรง เจ้ายอดศึก ผู้นำทางกองกำลังไทใหญ่จึงพยายามส่งคนไปเจรจาสงบศึก เพราะเป้าหมายของการตั้งกองกำลังไทใหญ่ขึ้นมาไม่ได้ต้องการรบกับว้า แต่ต้องการรบกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่ออิสรภาพของชาวไทใหญ่ แต่ทว่าความพยายามก่อไม่เป็นผล

พ.อ.เจ้ายอดศึก กล่าวถึงเหตุผลที่เจรจาไม่สำเร็จว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน ได้ส่งคนประสานงานกับทางUWSA เพื่อใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา แต่ทางว้าไม่ยอมเจรจาด้วย โดยชี้แจงเหตุผลการขึ้นตีดอยไตแลง 3 ข้อเนื่องจาก

-SSA เอาข้อมูลเรื่องเหวยเซียะกังค้ายาเสพติดส่งให้ทางไทยและสหรัฐฯ อยู่ๆเรื่อยๆ จนผู้นำว้าถูกสหรัฐฯ ออกหมายจับ

-คนค้ายาเสพติดของเหวยเซียะกัง ชื่ออ้ายแดงและพวกถูกอุ้มหายไป 8 คน ว้ากล่าวหาว่าSSA จับตัวไป ประเด็นนี้ทางไทใหญ่ยืนยันกับว้าหลายครั้งว่า SSA ไม่ได้ทำให้เขาตรวจสอบดู แต่เขาไม่ฟัง

-ว้ากล่าวว่า ทาง SSA ซุ่มยิงและวางระเบิดเขาบ่อย อย่างไรเสียเขาต้องรบและขึ้นยึดดอยไตแลงให้ได้

พ.อ.เจ้ายอดศึก กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้พม่าอยู่เบื้องหลัง กองทัพพม่าเคลื่อนทหาร 100 กว่าคนมาเตรียมอยู่แล้วที่ศูนย์แยกเมืองสาด และที่เมืองทา ผมบอกทางUWSAว่าเราไม่อยากรบกันเอง ถ้าเป็นไปได้อยากใช้การเจรจาหาทางออกด้วยสันติวิธี

"เพราะการที่ชนกลุ่มน้อยรบกันเอง เป็นสิ่งที่กองทัพพม่าต้องการอยู่แล้ว แต่ว้าไม่ฟัง เขาฟังพม่าฝ่ายเดียว ผมคิดว่าถ้ารบกันไปเรื่อยๆชายแดนไทยก็เดือดร้อน ประชาชนไทยก็เดือดร้อน ต้องรับผลกระทบ ผมเองไม่ต้องการรบกับว้า แต่เมื่อเขามารบเราเอง ขึ้นโจมตีเรา เราก็ต้องป้องกันตัวเอง" พ.อ.เจ้ายอดศึก กล่าว

และเมื่อการเจรจาไม่เป็นผลการสู้รบจึงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือดและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยกองทหารว้าแดงได้ทำการเสริมกำลังพลมากกว่า 600 คนตั้งแต่วันที่ 8-9 เมษายนที่ผ่านมา และมีการเคลื่อนอาวุธหนักเข้าในพื้นที่หลายหมู่บ้าน ฝั่งรัฐฉาน เพื่อเตรียมขึ้นยึดกองบัญชาการสูงสุดของSSA บนยอดดอยไตแลง ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

เหตุการณ์การสู้รบก็เริ่มปะทุขึ้นในเช้าตรู่ของวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา การปะทะกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง มีรายงานว่าทหารว้าแดงตายไปแล้ว 50 กว่าศพ บาดเจ็บ 80 กว่าราย ขณะที่ทางฝ่ายSSA ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต มีเฉพาะผู้บาดเจ็บเล็กน้อย เนื่องจากฝ่าย SSA อยู่ในพื้นที่สูงจึงได้เปรียบกว่าฝ่ายว้าที่บุกขึ้นมาจากข้างล่าง จนถึงวันที่ 13 เมษายนมีรายงานว่า ทหารว้าสังเวยชีวิตแล้วกว่า 70 ศพ บาดเจ็บ 134 นาย ส่วนทหารไทยใหญ่บาดเจ็บ 12 นาย แต่ยังไม่มีราย
งานการเสียชีวิต

สงคราม- เบื้องหลัง "พม่า" ?

หากวิเคราะห์ถึงความ "ไม่ธรรมดา" ของการรบครั้งนี้จะพบว่า คู่สงครามคราวนี้แตกต่างจากการรบครั้งที่ผ่านมาของกองกำลังไทใหญ่คือ ไม่ได้รบกับกองทัพรัฐบาลพม่า แต่รบกับกองทัพชนกลุ่มน้อยด้วยกัน

และกองทัพชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้เป็นกองทัพที่มีความพร้อมทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังพลมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในพม่า (แม้ว่ากองกำลังว้าจะเจรจาหยุดยิงกับกองทัพพม่ามาเป็นเวลากว่าสิบปี แต่กองกำลังว้าไม่เคยหยุดการพัฒนากำลังพลและอาวุธของตนเอง) และเมื่อการรบครั้งนี้ กองทัพว้ามีกองทัพรัฐบาลสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง กำลังพลและอาวุธของกองทัพว้าจึงมีจำนวนทวีคูณมากขึ้นไปอีก

ขณะที่กองทัพไทใหญ่ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึกไม่มีเงินทองมาซื้ออาวุธให้ทันสมัยเทียบเท่ากับยุคขุนส่า รวมทั้งยังสูญเสียอาวุธไปกับการรบกับกองทัพพม่าอยู่ทุกปี กำลังอาวุธระหว่างคู่สงครามครั้งนี้ ไทใหญ่เป็นฝ่ายด้อยกว่าอยู่หลายขุม

สิ่งที่ไทใหญ่มีเหนือกว่ามีอยู่ 2 อย่าง คือ ฐานที่มั่นดอยไตแลงและแรงฮึดของคนที่อยู่ในลักษณะ "หมาจนตรอก" คือ ไม่สู้ก็ตาย แต่สู้ยังมีโอกาสรอด

วิเคราะห์-ไทใหญ่ได้เปรียบ?

ฐานที่มั่นดอยไตแลงของไทใหญ่มีข้อได้เปรียบ คือ เป็นพื้นที่สูง ซึ่งชายแดนด้านหนึ่งติดกับไทย เมื่อทหารว้าไต่จากตีนดอยขึ้นมาบนดอยไตแลง ทหารไทใหญ่จะมองเห็นและยิงได้ถูกเป้าหมายมากกว่า ด้วยเหตุนี้ หลังจากการรบผ่านไปเพียงแค่สองวัน ทหารว้าจึงเสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันหลายร้อย

ขณะเดียวกัน หากฝ่ายทหารว้ายิงปืนกระหน่ำมาทางดอยไตแลงมากเกินไป กระสุนปืนก็จะเข้ามาตกฝั่งไทย ซึ่งหากกองทัพไทยยังคงวางเฉย โดยไม่ส่งสัญญาณตักเตือน ก็ถูกมองว่าปล่อยให้เพื่อนบ้านละเมิดอธิปไตยของแผ่นดินไทย และหากกองทัพไทยยิงปืนตักเตือนที่รุนแรงเกินไป ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งสนับสนุนว้าอยู่ก็จะต้องไม่พอใจที่ไทยดูเหมือนจะช่วยไทใหญ่

หวั่นบานปลายเป็น สงครามไทย-พม่า

มีการวิเคราะห์กันว่า สถานการณ์การสู้รบระหว่างว้าและไทใหญ่อาจบานปลายไปเป็นสงครามไทย-พม่า ดังนั้น การยิงปืนของฝ่ายว้าและพม่าใส่ไทใหญ่จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวังไม่ให้กระทบกับประเทศไทย ขณะที่ฝ่ายไทใหญ่สามารถยิงกระหน่ำคู่ต่อสู้ได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวจะปะทะกับไทย พื้นที่ดอยไตแลง จึงทำให้ไทใหญ่ได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามค่อนข้างมาก

เชื่อลูกฮึดไทใหญ่ "สู้เพื่อเอกราช"
สำหรับ "แรงฮึด" ของทหารไทใหญ่นั้น มีความได้เปรียบจากทหารว้าเช่นกัน เนื่องจากฝ่ายไทใหญ่ต้องการรบเพื่อรักษาฐานที่มั่นที่สำคัญที่สุดเอาไว้ให้ได้ หากสูญเสียดอยไตแลงไป ความหวังของการกู้ชาติไทใหญ่ก็จะต้องริบหรี่ลงไปอีก ดังนั้น การต่อสู้ครั้งนี้จึงมีความหมายไปถึงการต่อสู้เพื่อแผ่นดินไทใหญ่ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ฝ่ายว้า ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนถึงการต่อสู้เพื่อชนชาติว้า เพราะหากต้องการต่อสู้เพื่อชนชาติว้า ทหารว้าจะต้องต่อสู้กับกองทัพพม่า เช่นเดียวกับที่กองกำลังไทใหญ่ต้องการต่อสู้กับกองทัพพม่า ไม่ใช่กองทัพว้า

ดังนั้น เป้าหมายของการสู้รบของว้าในครั้งนี้ จึงเป็นการรบเพื่อเป้าหมายอื่น ซึ่งหากพิจารณาสิ่งที่เจ้ายอดศึกให้สัมภาษณ์ไว้ถึงเบื้องหลังการรบครั้งนี้ จะพบว่า เป้าหมายของว้านั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้นำว้าบางคนเท่านั้น

ว้าชนะ ยาเสพติดทะลักเข้าไทย?

"เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2548 ทางพม่าเรียกเหวยเซียะกัง ผู้นำว้าไปย่างกุ้ง และบอกว่า หากว้ารบกับ SSA ที่ชายแดนไทย กองทัพว้าก็สามารถอยู่ต่อไปในรัฐฉานได้ อยากค้าขายอะไรก็ได้หมด ไม่มีปัญหา" นั่นคือคำให้สัมภาษณ์เอาไว้

ดังนั้น สิ่งที่ไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านน่าจะต้องเตรียมใจ หากการสู้รบครั้งนี้กองกำลังว้าเป็นฝ่ายชนะก็คือ ปัญหาเรื่องการไหลทะลักของยาเสพติด ปัญหาผู้ลี้ภัยไทใหญ่ และปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน

หากพิจารณาเหตุผลที่ทำให้ฝ่ายว้าสู้รบกับไทใหญ่ครั้งนี้จะพบว่า เป็นเพราะกองกำลังไทใหญ่ได้ทำลายเปิดโปงและทำลายกระบวนการค้ายาเสพติดของว้ามาโดยตลอด ดังนั้น หากฝ่ายว้าปราบไทใหญ่ได้สำเร็จ ย่อมหมายความว่า นับจากนี้ไปย่อมไม่มีใครมาขัดขวางกระบวนการค้ายาเสพ
ติดของว้าตามแนวชายแดนไทยอีกต่อไป

เมื่อชายแดนไทย-พม่าในเขตภาคเหนือโดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า โอกาสที่ทหารไทยจะเข้าไปลาดตระเวณตลอดแนวชายแดนเพื่อสกัดกั้นยาเสพติดจึงเป็นเรื่องยาก สงครามครั้งนี้จึงเป็นสงครามที่รัฐบาลและกองทัพไทยจะต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้อย่างดี

เตรียมรับผู้ลี้ภัยไทใหญ่ไหลทะลัก

ส่วนปัญหาผู้ลี้ภัยไทใหญ่นั้น คาดว่า จะต้องไหลทะลักอย่างแน่นอน และไม่ใช่แค่ผู้ลี้ภัยจากดอยไตแลงซึ่งมีทั้งชาวบ้านและเด็กกำพร้าหลายพันคนเท่านั้น แต่อาจรวมถึงผู้ลี้ภัยจากพื้นที่ชั้นในของรัฐฉานซึ่งเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่ามากยิ่งขึ้น ปัญหาผู้ลี้ภัยเหล่านี้ประเทศไทยจะทำอย่างไร เพราะหากไม่เปิดค่ายรองรับผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงและคะยา ประเทศไทยก็จะต้องถูกมองว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวไทใหญ่อย่างแน่นอน

สงครามวัดใจ นโยบายไทย-พม่า
ปัญหาสุดท้าย คือ ปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน ซึ่งที่ผ่านมาทหารไทยเคยตั้งด่านคู่กับทหารไทใหญ่ จะต้องเปลี่ยนมาเป็นทหารว้า ซึ่งมีความแตกต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้งทัศนคติระหว่างกัน ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและว้าไม่พอใจกันมาก่อนในหลาย ๆ เรื่อง ความไม่เข้าใจดัง
กล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งซึ่งกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของไทยอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ การสู้รบระหว่างว้าและไทใหญ่ครั้งนี้จึงเป็นการรบที่ "ไม่ธรรมดา" และเป็นสงครามวัดใจนโยบายไทย-พม่าว่าจะดำเนินต่อไป
รายงานพิเศษ
ธันวา สิริเมธี
ศูนย์ข่าวสาละวิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net