Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถึงแม้เหตุการณ์สึนามิจะผ่าน 100 วัน ให้เราได้ร่วมรำลึกถึงผู้ที่จากไป แต่สำหรับผู้ยังมีลมหายใจชีวิตของพวกเขายังต้องดำเนินต่อไป หลังหายนะภัยที่กวาดทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีเคยเป็นของพวกเขาไปหมดสิ้น

สำหรับผู้อยู่ในเมืองหลวงห่างไกลจากพื้นที่ประสบภัยใน 6 จังหวัดภาคใต้ คงจะได้รับรู้ข่าวคราวผ่านสื่อกระแสหลักจากข่าวทางโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์เป็นระยะๆ ถึงความเป็นไปของผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ เราคงเข้าใจว่าสถานการณ์ที่นี่คงเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้คนที่นี่คงได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนหลายๆ องค์กรที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ คงเข้าใจว่าที่นี่ไม่มีอะไรน่าห่วงแล้ว นั่นคงเป็นแง่มุมหนึ่งที่ประชาชนอย่างเราจะมีโอกาสได้รับรู้อย่างผิวเผินจริงๆ !

ชีวิตดำเนินต่อไปได้ด้วยน้ำใจจากอาสาสมัคร

บริเวณเขาหลัก จ.พังงา ย่านการค้าและธุรกิจท่องเที่ยว

หากใครได้มาที่นี่ ณ เวลานี้ (ต้นเดือนเมษายน) จะเห็นฝรั่งต่างชาติเดินไปเดินมาพอให้เมืองไม่เงียบเหงา คงต้องคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยวเสียเป็นแน่แท้ แต่ถ้ามีโอกาสได้คุยด้วยหรือสอบถามจากคนที่นี่ จะได้คำตอบว่า "เขาเป็นอาสาสมัครมาช่วยคนที่นี่"

พี่ลัดดาวัลย์ โลหะ เจ้าของร้านอาหารชื่อ PUENG RESTAURANT คุยให้ฟังว่า "ตอนนี้ร้านนี้อยู่ได้ก็เพราะอาสา สมัครเหล่านี้มาช่วยอุดหนุน โดยเขาจะสลับร้านไปเรื่อยๆ เพื่อให้พวกเรามีรายได้ ไม่อย่างนั้นเราก็คงอยู่ต่อไม่ได้ถ้าไม่มีลูกค้าเพราะตอนนี้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวมาที่นี่เลย คนไทยเขากลัวไม่กล้ามา นี่ที่เพิ่งเกิดแผ่นดินไหว (28 มีนาคม 2548) นักท่องเที่ยวฝรั่งและคนไทยที่มาเที่ยวก็กลับกันไปหมด"

เช่นเดียวกัน ร้านค้าต่างๆ ล้วนแต่อยู่ในภาวะซบเซากันถ้วนหน้า เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าร้านหนึ่ง บอกว่า แต่ละวันก็จะเงียบเหงา ตอนนี้ที่ขายได้เพราะมีอาสาสมัครมาอุดหนุน และเป็นคนจากภูเก็ตหรือจังหวัดอื่นที่ต้องผ่านที่นี่จึงจะแวะมาซื้อ

รีสอร์ตและบังกะโลหลายต่อหลายแห่งที่นี่ เดิมเคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยว กลับมามีรายได้จากอาสาสมัครต่างชาติประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและพวกเขา ชาวบ้านบางคนเปรยให้ได้ยินว่า "พออาสาสมัครกลับไปแล้ว ไม่รู้ที่นี่จะเป็นอย่างไร"

จริงใจกันหน่อย! เสียงจากคนที่นี่ ถึงภาครัฐ

ใครที่อาจเคยมาเยือนเขาหลักเมื่อครั้งก่อนเหตุการณ์สึนามิ หากได้กลับมาเห็นสภาพในเวลานี้คงแทบไม่เชื่อสายตาตนเอง เมืองซึ่งเคยคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเคยทำรายได้ให้คนที่นี่และคนต่างถิ่นที่เข้ามาประกอบกิจการและอาชีพด้านต่างๆ แต่สภาพปัจจุบัน โรงแรมและรีสอร์ทจำนวนมากถูกคลื่นยักษ์สึนามิทำลายจนแทบไม่เหลือสภาพเดิม พนักงานและลูกจ้างตามโรงแรมต่างๆ ถึงแม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่เขาเหล่านี้กลับอยู่ในสภาพคนตกงานไปโดยปริยาย

อดีตพนักงานโรงแรมไม่ขอเปิดเผยนาม ตำแหน่งหัวหน้าบาร์ ฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มของโรงแรมระดับ 5 ดาวแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิ บอกว่า "ส่วนใหญ่คนที่ ต.คึกคัก ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นพนักงานทำงานในโรงแรมที่มีอยู่หลายแห่งที่นี่ ตอนนี้คนที่รอดชีวิตก็ตกงานกันหมด ช่วงที่ผ่านมาทาง ททท.เขาให้พนักงานโรงแรม 400 กว่าคน เข้ารับการอบรมโดยให้ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 175 บาท มี การอบรมไปแล้ว 3 ชุดๆ ละ 10 วัน นี่ก็หมดแล้ว ก็รู้สึกว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล เพราะอย่างที่รู้ว่างบของ ททท. มีมหาศาล นอกจากเรื่องประกันสังคมแล้ว เขาต้องส่งมาช่วยพนักงานที่ตกงาน นี่ช่วยพนักงานที่ยังไม่มีงานทำ ให้พนักงานไปอบรมวันละ 3 ชั่วโมง มันไม่ได้อะไรเลย ส่วนมากให้ไปคุยกัน เหมือนให้ไปรักษาจิตใจมากกว่า บางทีคนต่าง
ชาติเขาบอกว่า คนใน 6 จังหวัดภาคใต้รวยแล้ว ได้รับเงินบริจาคมาก 50 ล้านบ้าง 100 ล้านบ้าง แต่ไม่รู้ว่างบจริงๆ หายไปไหนหมด" เขาเองยังกังขาในเรื่องนี้

อริสรา เดชาสิริสกุล ผู้ประกอบกิจการรีสอร์ตขนาดเล็ก และธุรกิจท่องเที่ยวแบบครบวงจร ที่หาดบางเนียง ด้วยเงินลงทุนเกือบ 2 ล้านบาทยังไม่รวมค่าตกแต่งซึ่งเธอพากเพียรเก็บหอมรอมริบรวมกับเงินที่ทางครอบครัวให้ไว้ ด้วยความหวังกับกิจการที่เธอถนัด กลับมลายหายไปพร้อมกับคลื่นยักษ์ เธอได้รับเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ 2 หมื่นบาท แต่เนื่องจากกิจการของเธอมีค่าใช้จ่ายซึ่งยังคงมีหนี้สินค้างจ่ายเป็นค่าอุปกรณ์ตกแต่งร้านและรีสอร์ท รวมทั้งค่าจ้างคนงานซึ่งเธอต้องรับผิดชอบ เงินจำนวนนี้จึงต่อลมหายใจเธอได้ไม่นานนัก เธอสะท้อนความรู้สึกถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐว่า "หน่วยงานรัฐบอกว่า โอเค เดี๋ยวเราจะช่วยคุณนะ แต่เราขอให้คุณช่วยโปรโมทกันก่อน เรายินดีค่ะ แต่อย่างน้อยคุณจะช่วยใครด้วยใจ คุณไม่ควรพูดถึงผลประโยชน์มากนัก" เธอบอกว่า ช่วงหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ภาครัฐมีการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ประชุมหลายครั้งแล้วก็เงียบหายไป ไม่เกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งเธอเลิกที่จะเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานของรัฐแล้ว

"ตอนนี้เหมือนตายทั้งเป็นค่ะ ทุกคนที่โดนเหมือนดิฉันก็ต้องมาอยู่บ้าน knock down เราไม่ใช่คนร่ำรวยแล้วค่ะ ตอนนี้พูดได้เต็มปากว่า เราก็อยู่อย่างที่จะอยู่ได้ เงินที่มีก็ต้องใช้อย่างรู้จักใช้มากขึ้น ดิฉันคิดว่าทุกคนลำบากเสมอภาคกันหมด แต่ความช่วยเหลือไม่เสมอภาค คนที่ไม่ได้บ้านเพราะทะเบียนบ้านไม่ได้อยู่ที่นี่ คนที่ไม่ได้เพราะไม่มีเส้น ไม่ได้ให้เงิน มีอีกหลายคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและก็วิงวอนผ่านเรามา อยากบอกว่าหน่วยงานรัฐยังมาไม่ถึงเราเลย และเขาก็พูดแค่คำว่า รอ ก็บอกเขาว่า "รอ" วันเดียวสำหรับคุณ กับ "รอ" วันเดียวสำหรับเราไม่เหมือนกัน ที่นี่ทุกวันเราตื่นมาต้องกินข้าว คุณกินข้าวอย่างสบายใจ แต่เรากินข้าวอย่างไม่สบายใจเลย เราจะหาเงินจากไหน จะทำอะไร อยากให้ทุกคนเห็นความเป็นจริง มีแต่คนมาสัมภาษณ์ มาวิจัย แต่กลับไม่มีใครมาช่วยเราเลย 3 เดือนแล้วนะคะ คุณให้ความสนใจตรงนี้หน่อย" เธอฝากทิ้งท้ายไว้

ข่าวคราวการฟื้นฟูอันดามันพร้อมงบประมาณก้อนโตของภาครัฐที่หวังพลิกฟื้นการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ เพียง 3 เดือนผ่านพ้นไป เสียงแว่วให้ได้ยินถึงความไม่ชอบมาพากล ความไม่เท่าเทียมของการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในทุกระดับชั้นและอาชีพ เสียงของผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจจะดังไปไม่ถึงหูของท่านผู้มีอำนาจ เท่ากับเสียงของนักธุรกิจรายใหญ่

เทศกาลสงกรานต์นี้ ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ คงเต็มไปด้วยผู้คนร่วมเฉลิมฉลองกันอย่างรื่นเริง ผู้คนที่นี่คงได้แต่รอ... รอว่าเมื่อไรความสนุกสนานรื่นเริงจะกลับมาให้พวกเขาได้หัวเราะอย่างเต็มเสียงอีกครั้ง
ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี
ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net