Skip to main content
sharethis

นราธิวาส- 9 เม.ย.48 เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 เมษายน 2548 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ แม่ทัพภาค 4 นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลมอบเงินจำนวน 24,050,000 บาท ให้กับประชาชนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และทายาทผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งก่อนหน้านี้กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมูลนิธิสานใจไทยสู่ใจใต้ได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว

ยันตัดเงื่อนไขละเมิดสิทธิ

ก่อนจะมีการมอบเงิน ญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมดแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันว่า จะไม่ยอมรับเงินดังกล่าว เนื่องจากในใบสำคัญรับเงินข้อ 2 ปรากฎข้อความว่า เมื่อรับเงินแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายอีก ซึ่งญาติผู้เสียชีวิตเกรงว่าจะเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ต่อมานายอรรถ บือราเฮง ทนายความ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านได้เจรจากับนายประชา ขอให้ตัดข้อความดังกล่าวออกไป นายประชารับปากจะตัดข้อความออก แต่ขอให้พิธีการรับมอบเงินเสร็จสิ้นก่อน โดยจะให้นายอรรถ มาเป็นพยานในการขีดฆ่าข้อความดังกล่าว ในวันที่ 11 เมษายน 2548 ที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส ญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด จึงยินยอมรับเงินชดเชยจำนวนนี้

สำหรับเงินชดเชยดังกล่าว จ่ายให้ญาติผู้เสียชีวิตศพละ 300,000 บาท 74 ศพ ส่วนอีก 11 ศพ ยังไม่มีญาติมายืนยัน สำหรับผู้บาดเจ็บมี 54 ราย จากทั้งหมด 61 ราย โดยผู้ทุพพลภาพได้รับค่าชดเชยรายละ 80,000 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บได้รับค่าชดเชยรายละ 30,000 บาท

นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล กรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า สำหรับ กรณีผู้สูญหายจากเหตุการณ์นี้ รวมทั้งทรัพย์สินที่เสียหายและสูญหายนั้น คณะกรรมการเยียวยาที่มีนายรุ่ง แก้ว แดง เป็นประธาน จะประชุมหารือกันอีกครั้ง

นายมะลี มามะ บิดาของนายมะกอเซ็ง มามะ อายุ 19 ปี ซึ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุสลายการชุมนุม กล่าวว่า เงินจำนวนนี้ไม่สามารถทดแทนชีวิตที่สูญเสียได้ แต่ยินดีที่จะรับเงินจำนวนนี้ และหากเป็นไปได้ยังต้องการมากกว่านี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ได้แจ้งต่อที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติว่า จะมีการตั้งเงื่อนไขดังกล่าว ในการจ่ายเงินชดเชยกรณีตากใบ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของญาติผู้เสียชีวิต ส่งผลให้ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในภายหลังได้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าร่วมประชุมอยู่ด้วย รับว่าจะสั่งการให้ตัดข้อความที่เป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า มีการยกเลิกเงื่อนไขห้ามผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรำเภอตากใบ ฟ้องร้องดำเนินคดีเมื่อรับเงินชดเชยไปแล้ว เพราะไม่ถูกหลักของกฎหมาย และไม่เป็นธรรม ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีกรือเซะ พบว่ายังมีความล่าช้า ในวันที่ 11 เมษายน 2548 จะมีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ คาดว่าจะมีการแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น

ปรับเกณฑ์เพิ่มเงินชดเชย

ต่อมา วันเดียวกัน ที่โรงแรมซากุระ แกรนด์วิลล์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายจาตุรนต์ ได้เป็นประธานประชุมชี้แจงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีเหตุระเบิดที่จังหวัดสงขลา โดยมีตัวแทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายจาตุรนต์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การช่วยเหลือประชาชนที่ผ่านมา ทางจังหวัดดำเนินการเต็มที่แล้ว แต่มีอุปสรรคในระเบียบราชการบางอย่าง ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าการจ่ายค่าชดเชยสำหรับผู้เสียชีวิตเดิมจะได้รายละไม่เกิน 196,000 บาท บาดเจ็บรายละไม่เกิน 37,000 บาท พิการรายละไม่เกิน 40,000 บาท รวมถึงการขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพอีกเดือนละ 2,000 บาท โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือไม่เกิน 2 ปี หรือวันละ 200 บาท ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่น้อย เมื่อเทียบกับสภาวะการดำรงชีพในปัจจุบัน จึงพิจารณาให้เพิ่มเงินชดเชยสำหรับประชาชนผู้เสียชีวิตอีกรายละไม่เกิน 100,000 บาท และไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนกรณีบาดเจ็บจะได้เงินชดเชยเพิ่มอีกรายละไม่เกิน 40,000 บาท โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ในวันที่ 12 เมษายน 2548

นายอรุณ ไทยสนิท สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2548 องค์กรประชาชนในอำเภอตากใบ จะจัดงานซับน้ำตาและคืนอิสรภาพชาวตากใบ ที่โรงเรียนตาดีกาบ้านศาลาใหม่ ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ เพื่อหารายได้ จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ โดยเฉพาะเด็กกำพร้า หญิงม่าย ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา

น้องฮ่องเต้อาการดีขึ้น

สำหรับอาการล่าสุดของ ด.ช.พัชรพล เจริญศิลป์ หรือน้องฮ่องเต้ อายุ 4 ขวบ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่ ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่ห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม ทางคณะแพทย์ยืนยันว่า มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในส่วนของประสาทด้านสมอง สามารถรับรู้เมื่อญาติสนิทเข้าเยี่ยม มีกำลังแขนและขาดีขึ้น สามารถยกแขนขาเองได้ ระบบหายใจทำงานได้ปกติ ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีเพียงการใช้หน้ากากครอบจมูกให้ออกซิเจนบ้างเป็นระยะ

ด้านระบบขับถ่ายปัสสาวะเป็นปกติ ขับถ่ายเองได้โดยไม่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ เช่นเดียวกับระบบทางเดินอาหาร ที่ลำไส้ทำงานแล้ว แต่แพทย์ยังคงต้องงดอาหารและน้ำ โดยยังคงให้อาหารทางหลอดเลือด และยังคงให้ยาระงับปวดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พักผ่อนได้เพียงพอ แต่ยังต้องทำความสะอาดแผล 2 ครั้งต่อวัน และไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม ยกเว้นญาติสนิทเท่านั้นที่อนุญาตให้เยี่ยมได้ โดยต้องทำความสะอาดมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าเยี่ยมทุกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net