Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-7 เม.ย.48 เมื่อตอนบ่าย วันนี้ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นี้ เพื่อหารือเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงกลาโหม

พล.อ.ธรรมณักษ์ เปิดเผยว่า มีการหารือเรื่องปรับโครงสร้างของกระทรวงกลาโหม ที่จะจัดกำลังให้กะทัดรัด เหมาะสมกับภารกิจ งานใดที่เหมือนกันให้จัดเข้าด้วยกัน จะทำให้ลดอัตราลงได้เป็นหมื่น อย่างกองทัพบกสามารถลดกำลังพลลงได้ประมาณ 12,000 คน ทั้งๆ ที่มีการตั้งหน่วยใหม่ คือ กองพลพัฒนาที่ภาคใต้ ซึ่งหากไม่ตั้งกองพลพัฒนานี้ จะลดกำลังพลลงได้ถึง 20,000 กว่าคน

พล.อ.ธรรมรักษ์ เปิดเผยว่า ทั้งนี้ ต้องดูความเป็นไปได้ของกฎหมายด้วย เช่น การใช้กำลังทหารในยามที่สถานการณ์ไม่ปกติจะใช้อย่างไร เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายอื่น เพราะต่อไปอาจจะไม่ต้องใช้กฎอัยการศึก ส่วนการปลดถ่ายกำลัง ถ้าอายุถึง 50 ปี ยังไม่ได้เป็นนายพล จะต้องออกจากราชการ โดยมีมีค่าตอบแทนให้ ซึ่งจะทำในทุกระดับ

พล.อ.ธรรมรักษ์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับการปรับลดกำลังพลในแต่ละเหล่าทัพ จะไม่เท่ากัน เช่น กองทัพเรือปรับลด 4,000 คน ส่วนกองพลพัฒนาที่ตั้งใหม่ อัตรากำลังพลมีประมาณ 11,000 คน แต่อาจจะบรรจุไม่เต็มอัตราก็ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังพลทั้งสามกองทัพ มีประมาณ 400,000 คน การปรับลดดังกล่าว ส่งผลให้ตำแหน่งนายพลลดลง โดยจะไปเพิ่มจำนวนทหารระดับล่างให้มากขึ้น การปรับโครงสร้างใหม่ จำเป็นต้องปรับลดอัตราลง เพื่อให้กองทัพมีความกะทัดรัด และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

พล.อ.อู๊ด เบื้องบน ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตนมาอธิบายนายกรัฐมนตรีเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ลงตัว ยังต้องหารืออีก 2 - 3 ครั้ง สำหรับโครงสร้างใหม่ ต้องสอดคล้องกับภารกิจ อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้คำแนะนำหลายเรื่อง เช่น ด้านกำลังพล การปฏิบัติงานตามโครงสร้างต สำหรับนโยบายด้านกำลังพล เป็นเพียงภาพรวมกว้างๆ การจัดกำลังพลของทหารไม่เหมือนกับหน่วยงานอื่น เพราะมีเรื่องการจัดกำลังรบเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ถ้าหากว่าเอากำลังรบมาเปรียบเทียบ ฝ่ายได้เปรียบจะมีอำนาจต่อรองมากกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการหารือถึงกฎหมายที่ออกมารองรับการเป็นเจ้าพนักงานของทหารหรือไม่ ปลัดกระทรวงกลาโหม

พล.อ.อู๊ด กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงกฎหมายที่จะออกมารองรับการเป็นเจ้าพนักงานของทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยจะอิงกฎหมายที่มีอยู่ และให้ผู้ที่ดูแลกฎหมายเป็นผู้ออกประกาศในกรณีที่จะนำทหารไปทำงานด้านนั้นๆ โดยทหารเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจมาจากผู้ที่ถืออำนาจตามกฎหมายฉบับนั้นๆ ส่วนโครงสร้างใหม่จะมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือเป็นเสนาธิการร่วมเหมือนกับสหรัฐอเมริกา ยังไม่ได้ข้อยุติ เป็นเรื่องที่กำลังหารือกันอยู่

พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า เป็นการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องภารกิจการป้องกันประเทศ การช่วยเหลือภัยพิบัติ และการต่อต้านการก่อการร้าย แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนภารกิจของกองทัพอากาศที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน คือ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล โดยเฉพาะการจัดกำลังไปช่วยสนับสนุนส่วนต่างๆ ที่เกรงกันว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายรองรับ เช่น เหตุการณ์จี้เครื่องบิน หากมีการส่งกำลังเข้าไปปฏิบัติการ อาจจะเกิดปัญหาด้านข้อกฎหมายขึ้นมาได้ ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังดูว่า ควรจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net