Skip to main content
sharethis

เชียงของ - เวียงแก่น : พัฒนาการของสังคมชายขอบริมฝั่งโขงสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
------------------------------------------------------------------------------------------
ผลวิจัยชาวบ้านริมฝั่งโขง จากเชียงของ-เวียงแก่น ระบุผลการพัฒนาทำความสัมพันธ์คนท้องถิ่นมีปัญหา เกิดความคิดสวนทางขัดแย้งด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ละเลยวัฒนธรรมประเพณี เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม หากรัฐไม่เร่งแก้ไขอาจส่งผลระยะยาวต่อคนในท้องถิ่นและใกล้เคียง
-----------------------------------------------------------------------------------------

ท้องถิ่นเชียงของ-เวียงแก่น เป็นพื้นที่ชายแดนไทย-ลาวริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ยึดการสร้างเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยทำให้พื้นที่ชายแดน-ชายขอบบริเวณนี้กลายเป็นประตูของการสร้างเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและภูมิภาค ละเลยการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นและผลกระทบที่พวกเขาจะได้รับ ซึ่งงานวิจัยโดยคนท้องถิ่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

กรณีศึกษาสังคมชายแดน-ชายขอบริมฝั่งน้ำโขงในเขตอำเภอเชียงของและอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในโครงการอบรมและวิจัยเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชาติพันธุ์ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งผลการศึกษาโดยคนท้องถิ่นซึ่งมีทั้งครู พระสงค์ และชาวบ้านร่วมกันเก็บรวบรวมความรู้ของท้องถิ่นในมิติต่าง ๆ จนนำไปสู่ผลการศึกษาที่สะท้อนภาพเคลื่อนไหวของสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คนริมฝั่งโขง รวมถึงปัญหาและผลกระทบที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ จากกลุ่มรักษ์เชียงของ หนึ่งในทีมนักวิจัยเล่าว่า เชียงของเป็นเมืองที่มีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากพัฒนาการของย่านตลาด ผ่านที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มอาชีพต่างๆ สถานที่ราชการ วัด รวมถึงสาธารณูปโภค พื้นที่สูงรอบๆ เชียงของกลายเป็นที่ปลูกสวนส้มขนาดใหญ่ อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวของชนเผ่าชาติพันธุ์บนที่สูงอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณดอยหลวง ดอยผาหม่น และดอยผาตั้ง กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ได้แก่ พวกลาหู่ ขมุ จีนฮ่อ อาข่า เย้า และม้ง ในขณะที่พื้นที่ราบโดยเฉพาะริมสองฝั่งน้ำโขงจะมีการเคลื่อนย้ายของคนไทลื้อจากทางสิบสองปันนาลงมา ทำให้มีการผสมผสานของคนไทลื้อและไทยวนเกิดขึ้น

เชียงของมีบูรณาการทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้ดีกว่า เพราะเป็นบริเวณศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วนบริเวณเวียงแก่นนั้นคนกลุ่มต่างๆ ยังแยกกันอยู่อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคนไทลื้อ ขมุ ม้ง เย้า ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ในเรื่องวัฒน
ธรรมและวิถีชีวิตยังคงรักษาอัตลักษณ์และสำนึกทางชาติพันธุ์ไว้ได้ อย่างไรก็ตามสังคมของคนเหล่านี้ไม่ได้หยุดนิ่งเพราะมีอิทธิพลและบทบาทของการจัดการทางการบริหารและการเมืองของรัฐ การขยายพรมแดนทางเศรษฐกิจของนายทุนจากภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งได้สร้างภาวะความเป็นเมืองให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน

เรวัตร ชินะข่าย กำนัน ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น กล่าวว่า เชียงของกับเวียงแก่นถือเป็นบ้านพี่เมืองน้องที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คู่กันมาช้านาน การที่เวียงแก่นมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นชุมชนตามธรรมชาติซึ่งกลายเป็นเสน่ห์ของพื้นที่ เช่นชาวไทยลื้อก็จะอยู่บนพื้นราย ขณะที่พวกขมุ ม้ง ย้า อาย่า จีนฮ่อ จะอยู่บนที่สูง

"เดิมทีจะอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง การปกครอง การเปลี่ยน
แปลงทางสังคมภายนอกของชนเผ่าต่างๆ ส่งผลให้สังคมของทั้งสองพื้นที่เปลี่ยนไป ก่อให้เกิดปัญหาตามมาคือการทะเลาะเบาะแว้ง การขัดแย้งในด้านแนวความคิด ทำให้ยากแก่การปกครอง ดังนั้นสภาพสังคมและวัฒนธรรมจึงเปลี่ยนไปในที่สุด กระทั่งทุกอย่างเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งในปี พ.ศ. 2533 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่ยุคที่เป็นสังคมชายขอบในยุคอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตั้งแต่นั้นมา"

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นักวิจัยท้องถิ่นจากกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวเสริมว่า จากอดีตถึงปัจจุบันคนเชียงของและเวียงแก่นได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ขณะที่ปัจจุบันก็ยังถูกภัยคุกคามทั้งด้านความมั่นคงทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ นั่นก็คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของนายทุนภายในประเทศ ด้วยการเข้ามาซื้อพื้นที่ปลูกไร่ส้มและพืชเศรษฐกิจที่คลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ บางพวกถึงกับโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านเรือนบริเวณใกล้ถนนและเขตเมือง สร้างสถานที่ทำการค้าและบริการ รวมทั้งบ้าน วัด โดยที่กลุ่มคนพวกนี้มักไม่ยอมอยู่ในกติกาและกฎ
เกณฑ์ทางจารีตประเพณีของท้องถิ่น แต่มักอาศัยกฎหมายจากรัฐและราชการมาอ้างอิงสิทธิและความชอบธรรม รวมถึงอิทธิพลทางการเมืองที่เข้ามาคุกคามคนในท้องถิ่นอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ปัญหาใหญ่ที่คนเชียงของและเวียงแก่นกำลังเผชิญคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและเกษตรอุตสาหกรรมของคนจีนที่รัฐและสภาหอการค้าประจำจังหวัดให้การสนับสนุน ซึ่งเท่าที่เป็นรูปธรรมก็คือ การระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อทำเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าจากเชียงรุ่งมายังเชียงแสน เชียงของ และหลวงพระบาง โดยที่เรือสินค้าที่มีระวางขับน้ำ 200-500 ตันแล่นลงมาได้ ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จก็จะส่งผลให้เมืองประวัติศาสตร์สำคัญของชาติตกอยู่ในสภาพที่ถูกทำลายทั้งทางศิลปวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"จีนได้วางแผนว่าจะสร้างเขื่อนจำนวน 15 เขื่อน ขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 2 เขื่อน ส่วนเขื่อนที่ 3 และ 4 กำลังจะสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในไม่ช้านี้ นอกเหนือจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแล้วยังมีโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งได้ลงมือสำรวจอย่างเป็นจริงเป็นจังเมื่อปี พ.ศ.2534 โดยเป็นการสำรวจร่วมระหว่างประเทศจีนกับประเทศลาว ปัจจุบันเหลือเพียงประเทศไทยแห่งเดียวที่ยังไม่ถูกระเบิด" สมเกียรติให้เหตุผลต่อว่า การระเบิดแก่งเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ พันธุ์พืชนานาชนิด ทำลายเขื่อนหรือฝายทดน้ำตามธรรมชาติที่จะช่วยชะลอการไหลของกระแสน้ำที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างทดแทนได้ ฉะนั้นความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ไปใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่พวกเราคิดว่าจะต้องเร่งทำก็คือการจัดทำแผนแม่บทของชุมชนขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูสิ่งต่างๆ ให้กลับคืนดังเดิม รวมทั้งหยุดยั้งการกอบโกยผลประโยชน์ของประชาชน หยุดการเปลี่ยน
แปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่สำคัญคือต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมคิดและร่วมแก้ไขอย่างจริงจังมิใช่คิดแทนประชาชน

ทีมวิจัยยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของท้องถิ่นไม่ค่อยให้ความสนใจในการศึกษาประวัติความเป็นมา และความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสู่การพัฒนาแบบสมัยใหม่ ทำให้ไม่เข้าใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมแนวปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน ซ้ำร้ายยังเกิดการแบ่งแยกทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้เกิดความไม่ภาคภูมิใจและขาดความเข้าใจในตนเอง

แนวทางหนึ่งที่บรรดาครูท้องถิ่นที่เป็นแกนหลักของงานวิจัยเสนอ คือการเร่งสร้างสำนึกรักท้องถิ่นโดยการนำองค์ความรู้ที่ได้ซึ่งเป็นเรื่องราวของท้องถิ่นไปสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน เป็นหลัก
สูตรการศึกษา และการผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน หรือในรูปของพิพิธภัณฑ์
ท้องถิ่น โดยการร่วมมือกับทุกภาคส่วนของท้องถิ่นโดยเฉพาะการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงต่อการพัฒนาท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

กรณีศึกษาถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชาติพันธุ์นี้นับเป็นภารกิจสำคัญ เป็นการกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจ ความรัก ความหวงแหนท้องถิ่น เกิดสำนึกแห่งความรับผิดชอบร่วมกันในการที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืนต่อไป.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
www.pr-trf.net)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net