Skip to main content
sharethis

ปาฐกถาในงานประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 4
"วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง"
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่ 23 มีนาคม 2548
----------------------------------------------------------------

ความรุนแรงที่สังคมไทยกำลังเผชิญ เป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องช่วยกันค้นหาทางออก มุมมองและคำถามทางมานุษยวิทยาของ "มารค ตามไท" ไม่เพียงมีความสำคัญกับนักวิชาการ หากแต่กับสังคมไทยทั้งหมดว่าเราเข้าใจ "ความต่าง" ในสังคมเช่นไร และ การเคารพความแตกต่างเพียงเท่านั้นจะนำไปสู่สันติสุขได้หรือไม่ ....
………………….

สังคมเรากำลังเผชิญปัญหาความรุนแรงอยู่อย่างเด่นชัด ผมมีความเชื่อว่านักมานุษยวิทยาจะทำให้สถานการณ์อาจจะดีขึ้นและเลวลงได้

หัวข้อคือ มานุษยวิทยาและมานุษยธรรม ผมจะขอแบ่งเป็น 2 ส่วน หัวข้อแรก คือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษย์ หัวข้อที่สอง คือ กระบวนทัศน์ที่ใช้ในการอธิบายความต่าง และผลที่มีต่อลักษณะวิชามานุษยวิทยาในประเทศไทย

มันมีคำถามอยู่จำนวนหนึ่งที่ผมถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะ 4-5 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับ "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" มี 4 คำถามใหญ่

คำถามแรก การส่งเสริมและชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถนำไปสู่สันติสุขในสังคม ซึ่งประกอบด้วยหลายวัฒนธรรมได้หรือไม่ ถ้าการส่งเสริมและชื่นชมอยู่ในลักษณะแค่เคารพกันและกัน แต่ต่างคนต่างอยู่

คำถามที่สอง สันติสุขในสังคม ต้องเกิดบนฐานความเป็นหนึ่งเดียวด้วยหรือไม่ ต้องมีมิตินี้รวมอยู่ด้วยหรือเปล่า

คำถามที่สาม การส่งเสริมและชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความรู้สึกความเป็นมนุษย์ร่วมกัน (common humanity) หรือเปล่า เพราะสองอย่างนี้บางทีก็ไม่ค่อยเข้ากัน

สุดท้าย ถ้าเป็นอุปสรรคจะทำอย่างไรดี ในเมื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมมันเป็นความเป็นจริงของสังคมเรา ถ้าเรายังมุ่งจะสร้างสันติสุขในสังคม เราจะจัดการกับคำถามนี้อย่างไร

"ความหลากหลายของวัฒนธรรม" คืออะไร

ผมนำคำถามเหล่านี้ไปคุยกับเพื่อนในที่ต่างๆ พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ บางที่ในโลกนี้ ไม่เห็นว่า 4 คำถามนี้เป็นปัญหา ผมก็นั่งคิดว่าทำไมบางที่มันไม่เป็นปัญหา แต่ผมคิดว่าเป็นปัญหาโดยเฉพาะในสังคมไทย

อาจจะพอเข้าใจได้จากตัวอย่าง 2 โครงการจากโลกตะวันตก ที่ผมว่าแปลกแต่หลายคนว่าไม่แปลก โครงการแรก คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ยูเนสโกร่างและผ่านการยอมรับของสมัชชายูเนสโกมา 3 ปีกว่าแล้ว โครงการที่สองคือ การส่งออกประชาธิปไตย ของประเทศตะวันตกหลายๆ ประเทศ สองโครงการนี้มันค่อนข้างใกล้ชิดมากในเรื่องวัฒนธรรม แต่ทำไมผู้คิดโครงการรู้สึกว่าไม่เป็นปัญหา

ปฏิญญาสากลว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีมาตราต่างๆ มากมาย แต่ผมรู้สึกมี 2 อย่างน่าสนใจ สิ่งแรกมันไม่ค่อยชัดว่ามองความหลากหลายทางวัฒนธรรมว่าเป็นความเป็นจริงในโลกแล้วต้องจัดการกับมัน เพื่อไม่ให้บอบช้ำมากเกินไป หรือเป็นสิ่งพึงปรารถนา ที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตัวเองในขั้นต่อไปเรื่อยๆ บางมาตราพูดถึงขนาดว่าถ้าขาดความหลากหลายทางวัฒนธรรม คล้ายๆ ด้อย หรือขาดโอกาสบางอย่างที่จะพัฒนาตัวเอง

มันก็มาเจอสิ่งที่สองที่ผมว่าค่อนข้างแปลก คือ พูดว่า "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" นี้ไปกันดีกับความคิดสากลอื่น เช่น สิทธิมนุษยชน

แต่ทีนี้เวลาวัฒนธรรมมันครอบคลุมถึงระบบคุณค่าต่างๆ มันก็เป็นคำถามว่า ระบบคุณต่างๆ ที่อยู่ด้วยกัน ไม่ได้แปลว่ามันไปด้วยกันได้หมด มันอาจจะขัดกันได้กับคุณค่าสากล

โปรเจคนี้มันกำลังหลอกตัวเองหรือเปล่า ในเมื่อมันเป็นความจริงของโลกที่อยู่ท่ามกลางความหลากหลาย ก็พูดให้มันดีเสียว่าความหลากหลายทำอะไรได้เยอะ

โครงการที่สองคือ การส่งออกประชาธิปไตย สมัยนี้พูดอยู่ทุกวันถึงความล้มเหลวของการส่งออกประชาธิปไตยหลังสงครามอิรัก ที่จริงพูดกันมาหลายสิบปีว่ามันต้องมีวัฒนธรรมอะไรรองรับหรือเปล่าสำหรับระบอบประชาธิปไตย

คนที่ส่งออกประชาธิปไตย ส่วนมากคิดว่าไม่เป็นปัญหา วัฒนธรรมอะไรที่มีอยู่ก่อนก็ปรับนิดหน่อย ไม่ใช่ว่าง่าย แต่ยากเพราะอยู่นาน ไม่ใช่เพราะคอนเซ็ปของวัฒนธรรม

ผมก็ตั้งคำถามว่า ทำไมคิดว่าทำได้ ยกตัวอย่างเรื่องเสาหลักของ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คือการไม่ให้ศาสนาเข้ามามีบทบาทด้านการเมือง มันมีหลายวัฒนธรรมที่ความคิดอย่างนี้ไม่มีความหมาย และเป็นไปไม่ได้

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเรามอง "อะไร" ต่างกันอย่างค่อนข้างจะสำคัญ สำหรับคนที่คิดว่า 4 คำถามแรกของผมไม่ยาก และโครงการที่ยกตัวอย่างก็ไม่มีปัญหาอะไร

พัฒนาการของความเข้าใจ "ความต่าง"

เราอาจจะเข้าใจได้ว่าทำไมจากมุมมองของโลกตะวันตก สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับผมจึงไม่เป็นปัญหา มโนทัศน์เรื่องวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกกับไทยอาจเข้าใจต่างกัน

ผมจะตามแนวของเบอร์นาด แมคเกร อาจจะคุ้นกันในเรื่อง Beyond the anthropology หนังสือนี้น่าสนใจที่ว่า เป็นประวัติความคิดเกี่ยวกับวิธีเข้าใจ "ความต่าง" ของยุโรป ยังไม่ต้องใช้เรื่องวัฒนธรรม เพียงแต่เรามองคนที่ต่างจากเรา แล้วคิดเกี่ยวกับคนที่ต่างจากเราอย่างไร มันไม่คงที่ แต่มีวิวัฒนาการตามตัวสังคม

หนังสือเล่มนี้เสนอ "ความต่าง" ใน 4 ยุค เริ่มต้นที่ศตวรรษที่16 ในสมัยนั้นยุโรปจะเข้าใจคนที่ต่างในกรอบของศาสนา ใครที่ต่างเป็น "คนบาป" เป็น "ปีศาจ" เพราะอยู่นอกศาสนา เข้าสู่ศตวรรษที่ 17-18 ยุครู้แจ้งวิทยาศาสตร์ก็พัฒนาขึ้นมา ยุโรปก็จะมองคนต่างว่าเป็น "คนโง่" พอมาศตวรรษที่ 19 ซึ่ง "เวลา" เข้ามามีความหมายในการค้นคว้าทางวิชาการของยุโรป เช่น ธรณีวิทยา ทฤษฎีวิวัฒนาการ ทั้งหลาย ก็มองคนที่ต่างว่าเป็น "คนล้าหลัง" คือไม่ใช่โง่ตลอด แค่ยังไม่ได้พัฒนามาเท่ากัน

แต่พอต้นศตวรรษที่ 20 มันมีพระเอกใหม่เข้ามา แล้วก็เกิดคอนเซ็ปของวัฒนธรรมเข้ามา มันอธิบายคนต่างว่า ต่างก็แค่ต่างวัฒนธรรม ไม่มีคุณค่าอย่างอื่นแฝงอยู่ เหมือนวัฒนธรรมคือตะกร้าและคนที่ต่างก็เพราะอยู่คนละตะกร้า โดยไม่ได้มองว่าอันไหนดีกว่าอันไหน

เวลาเราเข้าใจ "วัฒนธรรม" แบบนี้ มันก็เป็นแค่เพียง "การจัดระเบียบความต่าง" เราจึงอธิบายว่าคนนั้นต่างจากเรา เขาอยู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง มันก็เลยเป็นไปได้ที่ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการส่งออกประชาธิปไตย ที่กล่าวถึงข้างต้นมันจะไปด้วยกันได้ไม่มีปัญหา

กลับมาดู ปฏิญญาสากล เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะส่งเสริมความหลากหลายของคุณค่า ขณะเดียวกันก็ยืนยันคุณค่าบางอย่างแล้วบอกไม่ขัดกัน

ถ้าในกรอบนี้ก็เพราะคุณค่าของความหลากหลายมันไม่ใช่ของคงที่ มันเปลี่ยนได้ง่าย (แต่การเปลี่ยนจะใช้เหตุผลหรือไม่เป็นอีกเรื่อง) การส่งออกประชาธิปไตยก็เหมือนกัน ศาสนาเคยมีบทบาทในวัฒนธรรมหนึ่ง ก็แค่เปลี่ยนไม่ให้เล่นบทบาทนั้น

"วัฒนธรรม" คืออะไร

หลังจากปฏิญญาสากลผ่านได้ไม่ถึง 2 ปี เขาเชิญให้ผมไปขึ้นเวทีวิพากษ์วิจารณ์ปฏิญญาสากลนี้พร้อมนักปรัชญาบางคน ผมก็ชี้แจงดังที่เล่า ทุกคนก็ไม่เข้าใจ เหตุหนึ่งเพราะเขาเข้าใจ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแง่เสรีภาพที่จะแสดงออกทางศิลปะ แต่ไม่ได้พูดถึงการอยู่ร่วมกัน เพราะไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องลงรากลึก

สงสัยเราเข้าใจอะไรต่างกันมาก ระหว่างสังคมไทยกับสังคมตะวันตก เวลาเราเผชิญกับคอนเซ็ปของ "วัฒนธรรม"

สิ่งแรกที่อาจจะเห็นความต่าง คือ ตะวันตกเวลาเจอคำว่าวัฒนธรรม เขาคิดถึง "คนอื่น" แต่ในสังคมไทยเวลาเจอคำว่าวัฒนธรรม ส่วนมากคิดถึง "ตัวเอง" หมายถึงศึกษาวัฒนธรรมไทย ซึ่งมันก็สอดคล้องกับวิวัฒนาการความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร

ถ้าเราจะตอบคำถามนี้ในบริบทของสังคมไทยว่า มันเป็นอย่างนี้ แล้วจะมีผลอะไรต่อลักษณะสังคมของเราหรือเปล่าที่จะจัดการกับความรุนแรง หรือสร้างสันติสุข ผมว่าต้องมาดูวิธีมองความต่างในสังคมไทย ซึ่งเข้าสู่หัวข้อที่สอง

กระบวนทัศน์ที่ใช้ในการอธิบายความต่าง และผลที่มีต่อวิชามานุษยวิทยาในประเทศไทย

เท่าที่ผมทราบ ผมเข้าใจว่าไม่มีการศึกษาประวัติความคิดเกี่ยวกับการเข้าใจ "ความต่าง" ในสังคมไทย ว่าสังคมไทยมองคนที่ต่างเปลี่ยนไปหรือไม่ ในช่วง 200-300 ปีที่ผ่านมา มีวิวัฒนาการเกี่ยวกับความคิดเรื่อง "ความต่าง" หรือไม่

ทำไมในประวัติความคิดเกี่ยวกับ "ความต่าง" ในโลกตะวันตกจึงมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่อธิบาย ผมไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดมันเปลี่ยนตามการค้นพบความจริงอะไรเพิ่มเติม หรือไม่ได้เปลี่ยนจากการศึกษาวิจัยของนักมานุษยวิทยา

ผมคิดว่าโมเดลที่จะช่วยอธิบายการเปลี่ยนความคิดเรื่อง "ความต่าง" ในสังคมตะวันตกนั้น ก็คือ โมเดลของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm)

หัวใจของการเปลี่ยน กระบวนทัศน์ก็คือต้องมีเหตุที่ทำให้เปลี่ยน และเหตุนั้นคือ วิกฤตของสังคม

มองแบบเดิมมันแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างที่คนบาปกลายเป็นคนโง่ เพราะวิทยาศาสตร์มีบทบาทมากขึ้น ถ้ามองความต่างว่าบาปมันไม่ค่อยเข้ากับวิธีการเข้าในโลก และที่เปลี่ยนอีกครั้งก็เพราะศตวรรษที่19 มันมองว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการจึงอาจจะพัฒนาต่อไปได้

อันสุดท้ายที่สำคัญ วิกฤตอะไรที่ทำให้เปลี่ยนการมองความต่าง เป็นเพียง ความต่าง โดยไม่ใส่คุณค่าเข้าไป มีคนวิเคราะห์หลายอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไรถูก แต่หลายคนที่ผมอ่านเขาให้เหตุผลหนักไปทางเรื่องสำนึกผิด มันคล้ายมี guilt feeling ที่ไปว่าว่าเขาล้าหลัง มันไม่สอดคล้องกับความรู้สึกบางอย่าง ถ้าพูดว่าใครล้าหลัง หรือผิด หรือไม่เก่งเท่าเรา แปลว่า เราต้องมั่นใจในความเก่งของเรา

ตอนต้นศตวรรษที่ 20 มันมีความบั่นทอนความมั่นใจว่ามนุษย์ถูก รู้ความจริงหมด ก็เลยมีเรื่องความสัมพัทธ์เข้ามา ก็อาจพูดได้ว่านี่เป็นวิกฤตหนึ่ง

ถ้าใช้โมเดลนี้มันจะเริ่มต้นโดยการเจอปัญหาก่อน แล้วย้อนกลับไปว่าปัญหามันมาจากไหน ซึ่งมันไม่ได้อยู่ที่ความเป็นจริงของโลก แต่ปัญหามันอยู่ที่วิธีที่เราศึกษาโลก เราไปเลือกศึกษาโลกภายใต้คอนเซ็ปบางอย่าง

ตัวอย่างที่คนมักจะยกคือ เมื่อ 500 ปีก่อน นักดาราศาสตร์มีปัญหามาก ไม่สามารถอธิบายการโคจรของดวงดาวในระบบสุริยะจักรวาลได้ เพราะข้อมูลมันขัดกับทฤษฎีอยู่เรื่อย ก็ต้องแก้ทีละนิดทีละหน่อย ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนความเข้าใจที่ว่าโลกเราเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ และดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก

ปัญหาของสินค้านำเข้าอย่าง "มานุษยวิทยา"

สรุปแล้วเราไม่ได้เข้าใจคอนเซ็ปของวัฒนธรรมเหมือนตะวันตกเข้าใจ นี่คือสมมติฐานของผมแต่มีปรากฏการณ์ที่น่าสนในคือ เราเรียนมานุษยวิทยามาจากตะวันตก มันเลยยุ่งนิดหน่อย

เราได้วิชาความรู้มาวิชาหนึ่ง วิชานั้นเข้าใจคอนเซ็ป "วัฒนธรรม" อย่างหนึ่ง แต่เราเอาไปทำการค้นคว้าในเมืองในชนบทอะไรต่างๆ ภายใต้มโนทัศน์บางอย่าง ซึ่งมีความหมายอื่นในวิธีวิทยาที่เอามา วิธีวิทยา ที่เห็นความต่างเป็นเพียงความต่าง แต่เราคนไทยเอาใช้ศึกษาความต่างที่ลึกและเปลี่ยนไม่ง่ายมันมีคุณค่าแฝงอยู่ เพราะเราเป็นลักษณะอยากยึดไว้มากกว่า ที่จะเป็นคนกลางไปสังเกตวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง สังคมไทยแล้วต้องเก็บไว้ ทำนุบำรุง นี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับวัฒนธรรมตัวเองที่ต่างจากตะวันตก

เราจะเริ่มใหม่จะทำอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

1. ต้องดูว่าสังคมไทยปัจจุบัน เข้าใจ "ความต่าง" อย่างไร อธิบายความต่างอย่างไร วิธีที่เราเข้าใจความต่างในปัจจุบันกับวิธีเมื่อ 100 ปีก่อน มันเปลี่ยนไปไหมหรือไม่เคยเปลี่ยนเลย ซึ่งอันนี้คงต้องเลือกมองในกลุ่มวัฒนธรรมหลัก และถ้าเข้าใจแบบหนึ่งคือแบบไหน ผมว่าคงคล้ายๆ ยุครู้แจ้งของยุโรปที่มองว่าต่างแล้วโง่ หรือต่างแล้วบกพร่อง

2. วิธีที่เรามองและเข้าใจความต่างขณะนี้ มันกำลังเผชิญกับวิกฤตอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะมันกลับมาถึง 4 คำถามแรกที่ผมถาม เข้าใจความต่างอย่างที่เราเข้าใจมันรองรับ "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" ได้หรือไม่ มันทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม กับการเห็นเพื่อมนุษย์เป็นหนึ่งเดียวไปด้วยกันได้หรือไม่ และนำไปสู่สังคมสันติสุขได้ไหมถ้าเราเข้าใจความต่างอย่างที่เป็นอยู่นี้

ถ้าถามแบบนี้ จะเห็นทันทีว่ามานุษยวิทยาชักจะไม่ใช่วิชาเชิงประจักษ์อย่างเดียวแล้ว มันไม่ใช่วิชาที่มีวิธีวิทยาไปหาความรู้อย่างเดียวแล้ว เพราะวิธีวิทยาที่ศึกษาทำให้เกิดวิกฤตหรือเปล่ามันเป็นคำถามในเชิงบรรทัดฐาน เพราะอะไรคือวิกฤตหรือไม่ มันไม่ใช่คำถามเชิงข้อเท็จจริง แต่มันอยู่ที่ว่าเราปรารถนาไปสู่สังคมแบบไหน

วิกฤตของกระบวนทัศน์เกี่ยวกับความเข้าใจความต่างของสังคมเดี๋ยวนี้ ผมเสนอว่ามันไม่รองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่สันติสุข มันอาจจะรองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในลักษณะเคารพซึ่งกันและกัน แต่ไม่แน่ใจว่าเพียงแค่นั้น มันพอหรือเปล่า ในสังคมที่เราเรียกว่า "ประชาธิปไตย" แค่เคารพกัน แต่ล้วนเป็นพลเมืองของประเทศเดียวกันที่มีอิทธิพลต่อชีวิตคนอื่นผ่านการเลือกตั้ง มันก็คือการเอาคุณค่าของเราไปกำหนดสิ่งที่จะกระทบวิถีชีวิตของคนอื่น ผ่านเสียงที่เรามีในการเลือกตั้ง หรือนโยบายบางอย่างของพรรคที่เราชอบ

ฉะนั้น เราอาจจะเคารพคนได้ แต่เราอาจจะกระทบชีวิตเขาในทางที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสันติสุขได้ ถ้าเราเพียงแต่เคารพ ไม่ลบหลู่ แต่จริงๆ ไม่ได้สนใจห่วงใยเขา ผมรู้สึกว่ามันมีความแตกต่างกันระหว่าง การเคารพผู้อื่น กับ ความห่วงใยทุกข์สุขเขา

เคารพ ในโลกยุคนี้บางทีแค่อย่ายุ่ง อย่าไปด่า อย่าไปทำให้เขาเดือดร้อน แต่ห่วงใยทุกข์สุขมันต้องทำอะไรเกินกว่านั้น

จากการค้นคว้าในลักษณะนี้ อาจจะสรุปได้ 2 อย่าง เห็นได้ว่าเราเป็นผู้เลือกวิธีศึกษาค้นคว้า ซึ่งถ้าให้วิธีเป็นตัวกำหนดมันเป็นการเข้าข้างตัวเอง ไปหาปัญหาที่เข้ากับวิธีของเรา เพราะวิธีใหม่มันอาจจะยาก อันที่จริงอยากจะหาคำตอบต้องไปพัฒนาหาวิธีศึกษา

แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ บางทีมันทำไม่ได้ บางครั้งเราไม่สามารถเลือกวิธีศึกษา เพราะวิธีไม่ได้กำหนดมา แต่วิธีกลายเป็นตัวสร้างลักษณะของสิ่งที่เราศึกษา เช่น ถ้าเรายึดมโนทัศน์วัฒนธรรมในความหมายหนึ่งมันก็กำหนดการมองความเป็นจริงของเรา ซึ่งก็อาจจะไม่แปลกสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์สัมผัสโลกได้แบบนี้แบบเดียว เราต้องสัมผัสความเป็นจริงด้วยโครงสร้างบางอย่าง และโครงสร้างนั้นมันมีคุณค่าอยู่ด้วย

อย่างที่สองคือ จริงๆ หัวใจของวิชามานุษยวิทยาคือ เรื่องคุณค่า เพราะเราต้องบอกก่อนว่าเราจะมองอย่างไรถึงไปศึกษาได้ คุณค่าว่าอย่างไรเหมาะสมหรือไม่ เป็นตัวกำหนดให้เราหาผลของการศึกษา ก็คือว่า วิธีเข้าใจความต่างมันมีผลต่อการสร้ารงอคติ เพราะการสัมผัสความต่างอย่างหนึ่ง สามารถนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับความต่างนั้นได้หลายแบบที่ขัดกัน และมีฐานะทางญาณวิทยาเท่ากัน เช่น ถ้าเราเห็นคนต่างโง่ เมื่อเราเข้าไปในหมู่บ้าน เราต้องตีความสิ่งต่างๆ ในลักษณะนั้น

สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องทำ ก็คือ ทุกคนต้องไปตรวจสอบตัวเองว่าชีวิตที่ตัวเองกำลังดำเนิน ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางวิชาการ ทั้งหมดมันกำลังส่งเสริมคุณค่าอะไรในสังคมไทย เพราะหลายอย่างที่เราทำไปไม่ใช่เฉพาะ "วิธีค้นหาความรู้" แต่มันกำลังส่งเสริมคุณค่าบางอย่างในสังคมไทย แล้วเราไม่รู้ตัว เราต้องไปตรวจสอบ ถ้าพบก็ต้องถามต่อไปว่า พอใจกับคุณค่านั้นไหม และถ้าไม่พอใจจะทำอย่างไร …… "การผ่าตัดตัวเอง เป็นการผ่าตัดที่ยากที่สุด"

ถ้าไม่พอใจเราก็ต้องเปลี่ยน คุณค่าที่เรากำลังพูดถึงใน 3 วันนี้ก็คือ "สันติสุข" ถามว่าคุณค่าที่อยู่เบื้องหลังวิชาการของเราที่แฝงอยู่ในภาษา วิธีวิทยา รวมทั้งคุณค่าที่อยู่ในวิถีชีวิตเรา มันส่งเสริมให้เกิดสันติสุขหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net