บูชาคุณสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี- บทความพิเศษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถือกันว่าพระคุณท่านรูปนี้เป็นบุรุษอาชาไนย ในทางพระศาสนา อย่างหาผู้เปรียบเทียบได้ยาก หากท่านอายุสั้น ดับขันธ์ไปในวัย ๖๓ พรรษา ๔๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ ถ้าท่านดำรงชีวิตต่อมา น่าจะบริหารการพระศาสนาให้มั่นคงแข็งแรงยิ่งๆขึ้นก็เป็นได้ แม้กระนั้นท่านก็มีศิษย์ที่สามารถบริหารวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษ์ต่อมา โดยเฉพาะก็พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตโต) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งหรือชุบชีวิตมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยา ลัย อย่างเรียกว่า ต่อยอดขึ้นไปจากมหาธาตุวิทยาลัย (วิทยาลัยแห่งแรกของกรุงสยาม) ในสมัยสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) ยิ่งพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ และเคยรักษา การในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกด้วยแล้ว ถ้าไม่เกิดความผันผวนทางการเมืองขึ้น ทั้งทางอาณาจักร และศาสนจักร ท่านผู้นี้อาจจะได้เป็นอภิชาตศิษย์ที่สืบทอดเจตนารมณ์ของสมเด็จเขมจารีให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกก็ได้ ที่ความหวังทั้งนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลนั้น ยังไม่มีการวิเคราะห์เจาะลึกกันอย่างเพียงพอ

สมเด็จเขมจารี เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๒๔ ที่บ้านท่าแร่ สะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี บิดาแซ่ฉั่ว ชื่อตั้วเก๊า (ได้เป็นขุนพัฒน์) มารดาชื่อทับทิม

บรรพชาอายุ ๑๒ สึกสองครั้ง เพราะต้องไหว้บรรพบุรุษตามประเพณีจีน บวชครั้งที่ ๓ อายุ ๑๓ ปี อายุ ๑๖ ปี ไปอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม จนได้เป็นเปรียญเอก ๙ ประ โยคในปี ๒๕๔๖ (หลังจากอุปสมบทแล้ว ๑ ปี ถ้ารออย่างกรณีสามเณรประยุทธ ปยุตฺโต วัดพระพิเรนทร์ ท่านย่อมได้เป็นสามเณรเปรียญ ๙ ประโยค เป็นรูปแรกของรัชกาลที่ ๕)

ต่อมา ได้เป็นพระราชาคณะที่พระศรีวิสุทธิวงศ์ พระราชสุธี พระเทพโมลี พระธรรมไตรโลกาจารย์ และพระพิมลธรรม ตามลำดับ ก่อนได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะในปี ๒๔๘๒ นับเป็นสมเด็จพระวันรัตรูปแรก ในสมัยประชาธิปไตย และได้เป็นประธานสังฆสภารูปแรกด้วย เมื่อเกิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ในปี ๒๔๘๔

ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ แต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นเจ้าคณะมณฑลนครสวรรค์ พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นเจ้าคณะรองหนเหนือ พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นเจ้าคณะมณฑลอยุธยา พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ตำแหน่งต่างๆนั้น ท่านบริหารอย่างเต็มกำลังความสามารถ ส่งศิษยานุศิษย์ให้ไปเป็นเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสในมณฑลนั้นๆ ช่วยให้การพระศาสนาเป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันดีงาม ซึ่งเริ่มจากวัดมหาธาตุนั้นแล กล่าวคือ กวดขันในเรื่องการทำวัตรสวดมนต์ รักษาศีลาจารวัตร อุดหนุนพระปริยัติศึกษา และเอื้อเฟื้อทางด้านการศึกษาของเยาวชนด้วย รวมถึงรักษาวัดวาอารามให้ร่มรื่นร่มเย็น จะขาดตกบกพร่องบ้างก็ในทางสมาธิภาวนา ซึ่งเป็นไปในทางรูปแบบมากกว่าจะเจาะลึกลงไปในทางโยนิโสมนสิการ

เจ้าคุณสมเด็จเขมจารีนั้นเป็นผลได้ของการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบโบราณโดยแท้ แม้จะมาอยู่วัดมหาธาตุและเป็นเปรียญแต่ยังเป็นสามเณร ทั้งยังเป็นผู้ปลุกปั้นการศึกษาแบบใหม่ ที่มหาธาตุวิทยาลัยก็ตาม แต่ท่านเรียนแบบแปลด้วยปาก โดยหวังจะกลับไปทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาที่บ้านเดิมของท่านมากกว่า แต่โดยที่ท่านเป็นอัจฉริยะ ท่านจึงต้องสอบจนได้ประโยคสูงสุด และบัญชาการพระศาสนาอยู่ในพระมหานคร ความเป็นคนหัวเก่าหรือพระหัวเก่าของท่านนั้น จะเห็นได้ว่าท่านไม่ยอมให้ศิษย์หาเรียนภาษาอังกฤษ เพราะเห็นว่าเป็นดิรัจฉานวิชา อันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เปรียญวัดมหาธาตุรุ่นนั้นต้องแอบเรียนกัน แต่นอกไปจากนี้แล้ว เจ้าคุณสมเด็จเขมจารีท่านมีความคิดที่ก้าวหน้าทางการศึกษาและการบริหาร

ท่านเป็นศิษย์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และเป็นที่โปรดปราน เมื่อเจ้าคุณสมเด็จเขมจารี ได้เป็นพระราชาคณะครั้งแรกนั้น ท่านเขียนไว้ว่า "เสด็จพระอาจารย์ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ทรงพระเมตตา เป็นพระธุระในการแจกเจ้าพนักงาน" ทั้งยังทรงพระกรุณา เสด็จไปร่วมงานถึงกุฏิท่าน อันท่านและศิษยานุศิษย์ถือกันว่าเป็นมงคลยิ่งนัก และเมื่อท่านเป็นพระราชาคณะได้ยังไม่ทันไร "เสด็จพระอาจารย์" ได้มีลายพระหัตถ์ไปถึงสมเด็จพระวันรัต (ฑิต) พระอุปัชฌาย์ของท่านว่า

"บัดนี้ เจ้าคุณชราแล้ว มีการคณะเกี่ยวกับหน้าที่เจ้าอาวาส จงใช้พระศรีวิสุทธิวงศ์แทนเถิด ต่อไปจะพูดตรงถึงเธอทีเดียว" (ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้ครองพระอารามจนกว่าอีกทศวรรษต่อมา)

และในปลายปีนั้นเอง พระศรีวิสุทธิวงศ์ ก็ได้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ นี้นับว่าเป็นการได้กำลังใจจากผู้เป็นประธานทางด้านการพระศาสนา เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้น้อยได้ทำงานอย่างจริงจัง เมื่อท่านเรียบเรียงรายงานการตรวจตราคณะสงฆ์แขวงบางกอกน้อย เป็นที่พอพระทัย ถึงกับโปรดให้คัดมาลงใน แถลงการณ์คณะสงฆ์ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พระสังฆาธิการทั้งหลาย ซึ่งไม่ปรากฏว่า พระเถระรูปใดได้รับการยกย่องถึงเพียงนี้

นอกไปจากนี้แล้วยังโปรดให้ท่านเป็นพระคณาจารย์เอกทางคันถธุระอีกด้วย แม้เวลานั้นพรรษาอายุจะยังน้อยอยู่ก็ตาม โดยที่พระคณาจารย์เอกนั้นเทียบตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลเลยทีเดียว พร้อมกันนั้น ท่านที่เป็นผู้น้อยก็เคารพนับถือผู้ใหญ่อย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้ว่าเจ้าคุณสมเด็จเขมจารีนั้น ท่านไม่แต่เคารพเจ้าคุณสมเด็จพระวันรัตผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านอย่างลึกซึ้งเท่านั้น หากท่านยังเคารพเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ เป็นอย่างมากอีกด้วย

แม้ในทางแปลและเรียบเรียงหนังสือ ท่านทั้งสองก็ได้รับคำสรรเสริญจากนักปราชญ์ราชบัณฑิตแห่งยุคพอๆกัน ทั้งท่านยังพิถีพิถันมากอีกด้วย ไม่แต่ในทางภาษา แม้ในทางพระวินัย ก็ไม่ยอมให้โทษเกิดขึ้นได้โดยรู้ตัว แม้จะเป็นอาบัติเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ยิ่งในทางแสดงธรรมด้วยแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าก็ทรงสรรเสริญ เจ้าคุณสมเด็จเขมจารี ดังทรงยกย่องว่า "ได้ฟังเทศนาของพระศรีวิสุทธิวงศ์ เฮง เขมจารี วัดมหาธาตุ เห็นว่าเธอมีความรู้และปฏิภาณในทางเทศนา สมควรเป็นธรรมกถึกแท้ เขียนหนังสือฉบับนี้ไว้เป็นเครื่องแสดงความพอใจ"

พระสมณนิพนธ์นี้ แม้จะสั้น แต่ก็สำคัญมาก ใครที่ได้รับกิตติคุณจังๆ จากพระองค์ท่านเช่นนี้ ถือกันว่าเป็นประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรอย่างหนึ่งทีเดียว สมัยนั้นการฟังธรรมเป็นเรื่องที่ตั้งใจสดับกันมากในหมู่ผู้รู้ โดยเฉพาะก็ในบรรดาเจ้านายและขุนนาง ตลอดจนประชาราษฎร พระองค์ท่านเองก็ออกจะทรงกวดขันมากอยู่ กว่าจะประทานใบชมเช่นนี้ได้

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดปรานสมเด็จพระวันรัต เขมจารี พอๆ กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณวโร วัดเทพศิรินทร์ ดังมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปได้ตีพิมพ์ลายพระหัตถ์กับลิขิตของท่านทั้งสองนี้ขึ้นแล้ว ในนามว่า สามสมเด็จ (พ.ศ.๒๕๒๓)

เมื่อพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเขมจารี ที่วัดเทพศิรินทร์นั้น สมเด็จกรมพระยาฯเพิ่งเสด็จกลับจากการลี้ภัยไปประทับที่เกาะหมาก (ปีนัง) เป็นเวลากว่าทศวรรษและพระชนม์เกิน ๘๐ ปีแล้ว แต่ก็เสด็จขึ้นเมรุไปเผาศพเจ้าคุณสมเด็จฯ จนเกือบจะไปสิ้นพระชนม์บนเมรุไม้นั้น

ทางจังหวัดอุทัยธานี มีความภูมิใจในบุรุษอาชาไนยของบ้านเมือง ถึงกับสร้างโอสถศาลาไว้ในนามของท่าน หลังจากที่ท่านล่วงลับไปได้ไม่นาน ต่อถึง พ.ศ.๒๕๓๘ แล้ว จึงมีสะพานสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากจังหวัดนครสวรรค์ ไปสู่จังหวัดอุทัยธานี โดยที่นี่ถือได้ว่าเป็นถาวรวัตถุทางด้านสาธารณประโยชน์แห่งแรกที่รัฐบาลยอมตั้งชื่อถวายพระภิกษุสงฆ์ ก่อนนั้นมามีแต่ชื่ออาคารสถานที่ที่ตั้งตามนามเจ้านายและนักการเมืองเท่านั้น

บัดนี้ พระมหานิพนธ์ สุภธัมโม เจ้าอาวาส วัดธรรมโสภิต (ซึ่งเจ้าคุณสมเด็จฯ ตั้งชื่อให้ จากชื่อเดิมว่าวัดโค่ง ดังที่ท่านตั้งชื่อวัดไตรมิตร จากชื่อเดิมว่าวัดสามจีนนั้นเอง เพราะในสมัย ป.พิบูลสงคราม รังเกียจคำว่า จีน หรือ คำเก่าๆที่ขาดความทันสมัย) จังหวัดอุทัยธานี ได้ก่อสร้างอาคารสามชั้นขึ้นในวัด เพื่อตั้งเป็นหอสมุดสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี กำหนดทำพิธีเปิด ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๘ ตามกำหนดการดังต่อไปนี้

งานเปิดหอสมุดสมเด็จพระวันรัต เขมจารี
ณ วัดธรรมโสภิต อ.เมือง จ.อุทัยธานี

เริ่มวันสุกดิบ ศุกร์ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๘
๑๘.๓๐ น. หุ่นกระบอกล้อปัญญาชน โดย นายวสันต์ สิทธิเขตต์ หัวหน้าพรรคศิลปิน
๑๙.๐๐ น. หุ่นสายเรื่อง "สัทธามหาบุรุษ" จากคณะเสมา
๑๙.๔๕-๒๐.๓๐ น. ดนตรีเยาวชน จากกลุ่มแม่เปิน-แม่วงก์ จ.นครสวรรค์

เสาร์ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๘
๙.๐๐ น. คำเชิญเปิด หอสมุดสมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี) โดย นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน
ปาฐกถาว่าด้วย "พุทธศาสนิกในโลกร่วมสมัย" โดย นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์
แล้วเปิดป้ายหอสมุดสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)
๑๐.๔๐ น. พระสงฆ์ ๗๒ รูป เจริญชัยมงคลคาถา
๑๑.๑๕ น. พระภิกษุสามเณรทั้งวัดฉันภัตตาหาร ดนตรีไทยบรรเลงระหว่างภัตกิจ
๑๒.๐๐ น. ญาติมิตรรับประทานอาหาร
๑๓.๐๐ น. บรรเลงเพลงและมีหนังสือจำหน่าย ลดราคาจากบริษัทเคล็ดไทย ฯลฯ
ออกร้านสินค้าทางเลือกจากกระแสหลัก

๑๖.๓๐ น. อภิปรายถึง "สภาพของการพระศาสนา ทั้งทางด้านหายนะและวัฒนะ"
ผู้อภิปรายประกอบด้วย - ๑. พระศรีปริยัติโมลี ๒. ธัมมนันทา ภิกษุณี
๓.น.ส.ปาริชาด สุวรรณบุบผา ดำเนินรายการโดย น.ส. ลภาพรรณ ศุภมันตา

หวังว่านี่คงจะเป็นเครื่องหมายแห่งการบูชาบุคคลที่ควรบูชา และสถานที่นี้คงจะเป็นแหล่งแห่งธรรมทาน สืบสานกรณียกิจที่เจ้าคุณสมเด็จบำเพ็ญมาตลอดชนม์ชีพของท่าน จำเดิมแต่เป็นสามเณรเปรียญเป็นต้นมา ในพ.ศ. ๒๔๔๒ นั้นแล้ว

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท