Skip to main content
sharethis

33. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 (ฝ่ายกฎหมายฯ) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานไปประกอบการพิจารณาว่าการจัดตั้งองค์การอิสระผู้บริโภค บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 57 ไม่ได้มุ่งหมายให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพราะใช้คำว่า "องค์การอิสระ" ไม่ได้ใช้คำว่า "องค์กรอิสระ"

รวมทั้งเป็นการกำหนดหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย ข้อบังคับ และการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้กำหนดให้มีอำนาจในการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น รูปแบบขององค์การอิสระจึงอาจมีหลายรูปแบบได้ เช่น คณะกรรมการสมาคม กลุ่มองค์กรเอกชน โดยผู้ที่ทำหน้าที่องค์การอิสระจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และเป็นกลางทางการเมืองเพื่อให้องค์การนั้น ๆ มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและเสนอความเห็นโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การจัดตั้งองค์การอิสระจึงสามารถแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ควรกำหนดให้มีหมวดว่าด้วยองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินชี้ขาด โดยไม่ต้องตรากฎหมายฉบับใหม่ ประกอบกับการคุ้มครองผู้บริโภคมีกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ๆ อาจจะไม่เห็นชอบด้วยกับความคิดเห็นขององค์การอิสระ จึงควรมีการกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ให้มีความเชื่อมโยงกับอำนาจหน้าที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย

สำหรับหน่วยงานที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการขององค์การอิสระเห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำหน้าที่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้องค์การอิสระมีหน่วยงานธุรการเพื่อทำหน้าที่โดยเฉพาะ

นอกจากนั้น องค์การอิสระที่จะตั้งขึ้นควรกำหนดมีหน้าที่ในการศึกษา ข้อมูล อันเป็นองค์ความรู้เพื่อให้รู้ทันผู้ผลิต ตลอดจนเป็นคลังสมองติดตามสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเกื้อหนุนในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย ก็เกิดประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาต่อไป

และเห็นควรให้สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งกำลังพิจารณาปรับปรุงระบบราชการทั้งระบบใหม่ให้รับเรื่องนี้ไปพิจารณาว่าจะสมควรให้ สคบ. มีสถานะใด อยู่ในสังกัดใด และควรกำหนดสถานะของ สคบ. ไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค หรือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net