Skip to main content
sharethis

บทบาทของ "สุพิเชษฐ สุวรรณชาตรี" ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาภาคใต้ โดดเด่นอย่างยิ่งในฐานะผู้นำแรงงานที่เอาการเอางานในภาคใต้ตอนล่าง

ด้วยความเอาจริงเอาจังดังกล่าว ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเส้นทางรถไฟทอดยาวไปจนถึงสุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส มีพนักงานรถไฟจำนวนหนึ่ง ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ทุกวัน ในบทบาทที่แตกต่างกันไป

"สุพิเชษฐ สุวรรณชาตรี" ในฐานะผู้นำแรงงานรถไฟ จึงรับภาระหนัก ในการดูแลความปลอดภัยและขวัญกำลังใจของเพื่อนพนักงาน ซึ่งเกือบทั้งหมด คือ สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิวาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ด้วยการประสานงานกับผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสูงในกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างทหาร และตำรวจ

หนึ่งปีผ่านไป ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ได้คลี่คลายลงไปเลยแม้แต่น้อย "สุพิเชษฐ สุวรรณชาตรี" มองเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร ต่อไปนี้ คือ มุมที่ผู้นำแรงงานคนนี้มองสถานการณ์ ณ ชายแดนภาคใต้วันนี้

…………………………………………..

มาตรการคุ้มกันรักษาความปลอดภัยในช่วงที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ มีตำรวจและทหารให้การคุ้มครองรักษาความปลอดภัยอยู่ทั้งหมด 413 นาย คอยคุ้มกันตามสถานีต่างๆ ทั้งสถานีขนาดใหญ่ สถานีขนาดเล็ก และระหว่างสถานี ส่วนบนขบวนรถเป็นหน้าที่ของตำรวจรถไฟ คอยรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทาง นับเฉพาะขบวนรถที่เข้าไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มี 22 ขบวนต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีรถตรวจทางจากหาดใหญ่ไปจนถึงสุไหงโก - ลกอีก 4 ชุดๆ ละ 10 นาย

ใช้กำลังในการดูแลเยอะขนาดนี้ ค่าใช้จ่ายตกเดือนละเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายที่ตกเป็นภาระเพิ่มขึ้นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็คือ ค่าอาหารของตำรวจ - ทหารที่มาดูแลความปลอดภัย ส่วนนี้ตกประมาณเดือนละ 800,000 กว่าบาท อันนี้ไม่เกี่ยวกับค่าเบี้ยเลี้ยง ที่เขาเบิกจ่ายจากต้นสังกัดอยู่แล้ว

ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะจ่ายค่าอาหารให้กับตำรวจ - ทหาร ที่เข้าเวรดูแลความปลอดภัยให้เรา 3 มื้อต่อวัน โดยคิดจากค่าข้าวกล่อง กล่องละ 25 บาท ค่าน้ำ 5 บาทต่อมื้อ ตกมื้อละ 30 บาทต่อคน คนละ 3 มื้อ ก็ตกคนละ 90 บาทต่อวัน คูณ 314 คน ก็ตกประมาณ 800,000 กว่าบาทต่อเดือน ปีหนึ่งก็ประมาณ 10 ล้านบาท ใครเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่สถานีไหน ก็เบิกจ่ายตามจริงที่สถานีนั้น

ค่าใช้จ่ายตรงนี้ ไม่รวมในส่วนของตำรวจรถไฟ เพราะค่าใช้จ่ายของตำรวจรถไฟ อยู่กับการรถไฟแห่งประเทศไทยมานานแล้ว

สหภาพฯพอใจกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในปัจจุบันหรือไม่

พนักงานเขาก็โอเค เขาก็อุ่นใจขึ้น เมื่อสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครดูแลใครได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเราก็ต้องดูแลกันเอง เวลาไปไหนเราก็ไปกันเป็นกลุ่ม เพราะเท่าที่ดูสถิติ คนที่ตายส่วนมาก มักจะอยู่คนเดียวเดี่ยวๆ คนออกมาดูวัว คนออกมากรีดยาง พนักงานการไฟฟ้าฯ พนักงานองค์การโทรศัพท์ฯ เขามักจะอยู่กันเดี่ยวๆ คนรถไฟเรา จึงพยายามอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

ต้องเข้าใจว่า จุดที่ง่ายต่อการสร้างสถานการณ์ คือ รถไฟกับโรงเรียน ทำเมื่อไหร่ก็เป็นข่าวเมื่อนั้น ทำแล้วดัง ทำแล้วมีผลสะเทือน รถไฟกับโรงเรียนจึงตกเป็นเหยื่อมาตั้งแต่อดีต อย่างรถไฟระยะทางมันยาว การดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางยากมาก แถมยังต้องใช้คนมากอีกต่างหาก แต่ไม่ว่าอย่างไร โดยภาระหน้าที่เราก็ยังต้องให้บริการ

เราขอกำลังตำรวจ - ทหาร แค่มาช่วยดูแลขบวนรถ ดูแลสถานี คุ้มกันคนทำงานและผู้โดยสาร พอให้มันอุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ ก่อนหน้าเกิดเหตุลอบวางระเบิดป้อมยามทางกั้นรถไฟที่ยะลา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2548 ก็เกิดเหตุการณ์ตำรวจตระเวนชายแดนชุดคุ้มกันรถไฟ ถูกสอยไปสองคน ระหว่างสถานีรือเสาะกับสถานีลาโละ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548

หลังจากจัดกำลังคุ้มกันรักษาความปลอดภัย เกิดเหตุการณ์รุนแรงกับรถไฟมาแล้วกี่ครั้ง

นับจากเกิดเหตุครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 จนมาถึงวันที่ 16 มีนาคม 2548 ก็ 17 ครั้ง คนของรถไฟตายไปแล้ว 4 คน บาดเจ็บอีก 7 คน ในจำนวน 7 คน ที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถกลับมาปฏิบัติงานได้ 3 คน รวมแล้วคนรถไฟบาดเจ็บล้มตายไปแล้ว 11 คน

ส่วนตำรวจที่มาคุ้มครองรถไฟ มีตำรวจตระเวนชายแดนตายที่ไม้แก่น 3 นาย ตายระหว่างสถานีรือเสาะกับสถานีลาโละ 2 นาย นี่ก็เป็นตำรวจตระเวนชายแดน ล่าสุดตาย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2548 อีก 1 นาย คนนี้เป็นตำรวจหน่วยปฏิบัตการพิเศษ รวมตำรวจเสียชีวิตไปแล้ว 6 นาย

ขวัญกำลังใจพนักงานรถไฟเป็นอย่างไรบ้าง

แรกเกิดเหตุกลัวกันมาก จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังกลัว คือ กลัวเป็นปกติ กลัวกันจนเคยชิน ถ้าเดินก็ต้องเหลียวหลัง ความวิตกกังวลยังมีอยู่ วิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เคยทำ เช่น ออกกำลังกายตอนหัวค่ำ เคยเที่ยว เคยออกเดินไปไหนมาไหน ก็หยุดไม่ไป อย่างพนักงานขับรถ พอรถถึงปลายทาง ซึ่งจะมีเวลาว่างมาก ก็ไม่ยอมไปไหน ตอนนี้เตรียมของกินไปจากหาดใหญ่เลย ไม่ต้องออกตลาดหาของกิน ไปถึงก็รวมกลุ่มอยู่ที่เดียวกัน มีอะไรก็เอามากินด้วยกัน

คนที่อยู่สถานีเขาอุ่นใจกับการส่งตำรวจ - ทหารเข้าไปดูแลจริงหรือ

ไม่ร้อยเปอร์เซ็น ถ้าเลือกได้เขาอยากอยากอยู่เหมือนเดิม ใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ก็ไม่มีทางเลือก ต้องส่งตำรวจ - ทหารเข้าไปคุ้มกัน ถ้าถามความรู้สึก ก็เหมือนปุถุชนทั่วไป เขาอยากอยู่อย่างเป็นอิสระ มีหลักประกันความปลอดภัยในชีวืตและทรัพย์สิน

พนักงานสถานี เขาก็อยู่ที่สถานี สถานีใหญ่มีชุดคุ้มครองเฝ้า 24 ชั่วโมง สถานีเล็กก็มีตำรวจ - ทหารเข้าไปดูแล คนที่ประจำอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ มีคนที่มีภูมิลำเนาจากนอกพื้นที่เข้าไปอยู่บ้างก็ไม่กี่คน การรถไฟแห่งประเทศไทยพยายามจัดคนในท้องถิ่นให้กลับไปอยู่ที่บ้าน ภาษาใต้เรียกว่าเป็นคนลูกที่ คนเหล่านี้เป็นมุสลิม เขาอยู่ในพื้นที่มานาน เกิดที่นี่ บรรพบุรุษ ญาติพี่น้องเขาอยู่ที่นี่ จึงไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากเขาลา ก็จะส่งคนจากที่หาดใหญ่ จากนอกพื้นที่ไปแทนเป็นครั้งคราว

มีพนักงานรถไฟเท่าไหร่ ประจำอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ รวมทั้งที่ต้องเข้าออกเป็นประจำ

พนักงานที่เกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องนับตั้งแต่หาดใหญ่ลงไปถึงสุไหงโก - ลก มีทั้งหมด 414 คน มีทั้งพนักงานขับรถ พนักงานประจำสถานี ประจำป้อมยาม ซ่อมบำรุงทาง

ความสัมพันธ์ระหว่างคนรถไฟกับชุมชนมุสลิม หลังจากมีกำลังตำรวจ - ทหารเข้าไปดูแลสถานี

ความรู้สึกระหว่างชาวบ้านกับพนักงานรถไฟในพื้นที่ ก็มีที่ห่างเหินออกไปบ้าง มันเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาต้องระวังตัว

ความรู้สึกชอบไม่ชอบเจ้าหน้าที่รัฐของชาวบ้าน ผมคิดว่าเป็นลักษณะทั่วไป ไม่เฉพาะชาวบ้านมุสลิม ถ้ามองในบริบทของสังคมโดยรวม ชาวบ้านทั่วๆ ไป ก็ไม่ค่อยชอบตำรวจอยู่แล้ว ยกตัวอย่างคนพัทลุง ก็เคยมีเผาโรงพักอยู่เหมือนกัน คนนครศรีธรรมราชนี่ยิ่งร้ายใหญ่ ขนาดจวนผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังถูกเผา ที่เมืองตรัง วันดีคืนดีก็ลุกขึ้นมาเผาที่ว่าการอำเภอวอดไปทั้งหลัง อย่างภูเก็ตประท้วงเผาเมืองก็เคยมาแล้ว

ผมคิดว่า ความชอบไม่ชอบกลไกอำนาจรัฐ จากชาวบ้านผู้ถูกปกครอง ซึ่งด้อยอำนาจกว่า มันเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ตรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันมีความละเอียดอ่อน มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม มีที่มาทางประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้เป็นสื่อก่อความขัดแย้งได้ง่าย มีความน้อยเนื้อต่ำใจ มีความคับแค้นใจ มีคนรู้สึกว่าถูกกระทำจากอีกฝั่งหนึ่งอยู่ตลอดมา ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ปฏิกิริยาตอบโต้เมื่อเขาคิดว่าถูกกระทำ จึงรุนแรงต่อเนื่องยาวนานกว่า

มองเหตุการณ์ชายแดนภาคใต้อย่างไร

ยังไม่มีการวิเคราะห์พูดคุยกันจริงๆ จังๆ จากที่คุยๆ กันเอง พนักงานรถไฟเรามองกันว่า มาจากหลายสาเหตุ อาจจะมาจากเรื่องผลประโยชน์บ้าง กลุ่มโน้นบ้าง กลุ่มนี้บ้าง รวมทั้งผลประโยชน์ของคนในหน่วยงานรัฐเอง แต่ก็ไม่มีใครกล้าฟันธงว่า เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

ถึงแม้จะเคยคุยกันอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เอาทฤษฎีอะไรมาจับ ฟังมาหลายๆ แห่ง มีข้อมูลแบบ "น่าจะ" ไม่มีใครรู้จริง ขนาดรัฐบาลเอง ดูแล้วก็ยังไม่รู้อะไรชัดเจน

ถ้าเป็นสมัยก่อน เราจะมองกันว่า เป็นเทศกาลประจำปี พอถึงช่วงพิจารณางบประมาณ เราก็จะได้ข่าวว่า มีระเบิดเท่าที่เห็นก็แค่ไม้หมอนฉีกเท่านั้น เกิดตูมทีเดียวก็จบ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว คราวนี้เกิดขึ้นถี่มาก

สถานการณ์น่าจะรุนแรงขึ้นหรือไม่

น่าจะรุนแรงขึ้น สังเกตุจากรถไฟที่ขนทหาร - ตำรวจลงไป ไม่เคยเห็นขนตำรวจ - ทหารกลับขึ้นมา ล่าสุดหลังเหตุการณ์ยิงตำรวจตะเวนชายแดน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 ก็ขนลงไปอีก 3 ขบวนรถไฟ ผู้โดยสารที่เพิ่มก็มีทหารนี่แหละ

อย่างเพื่อนที่เปิดร้านเพื่อชีวิตที่ยะลา เราคิดว่าน่าจะกระทบ กลับไม่กระทบอะไรเลย เพราะมีทหารเต็มร้านทุกคืน ชาวบ้านหายไป แต่มีทหาร - ตำรวจเข้าร้านแทน

เคยคุยข้อมูลลึกๆ กับพนักงานรถไฟที่เป็นคนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้บ้างหรือไม่

เขาก็ไม่รู้ ดูแล้วแต่ละคนไม่ค่อยมีข้อมูลอะไรมาก เขาเองก็สับสนเหมือนกัน สำหรับความรู้สึกของคนทำงานด้วยกัน พวกเราไม่เคยแยกว่าเขาคือคนมุสลิม ความสัมพันธ์ของพวกเรายังเหมือนเดิม

บทบาทของสหภาพฯ หลังจากนี้

หลังจากนี้ เราคงต้องดูแลเรื่องของความปลอดภัยของสมาชิกเป็นพิเศษ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา เราก็ต้องขับเคลื่อน เพื่อทำให้สมาชิกอุ่นใจว่า มีคนคอยดูแลเขาอยู่ เราก็รับปัญหามาคุยกับผู้บริหารที่อยู่ในท้องถิ่น อะไรที่ทำกันเองไม่ได้ เราก็นำเรื่องเสนอขึ้นไปให้ผู้บริหารข้างบนช่วยเหลือ

ถ้ามองสถานการณ์ ตอนนี้ก็มีกฎอัยการศึก คือ มันเป็นสถานการณ์สงคราม ถ้าเรารู้สึกไม่ปลอดภัย เราก็มีมาตรการกำหนดไว้อยู่แล้ว เราคุยกันว่า ถ้าใครรู้สึกไม่ปลอดภัย ก็เป็นสิทธิของพนักงานที่จะขอเปลี่ยนไปอยู่จุดอื่น

ตอนนี้ไม่มีใครขอย้าย ถ้าในส่วนของพนักงานขับรถก็แค่ขอเปลี่ยนเส้นทางวิ่ง ส่วนมากคนที่ขอเปลี่ยนเส้นทาง ก็จะเป็นพนักงานที่ประสบเหตุการณ์กับตัวเอง เช่น พนักงานขับรถที่ถูกคนร้ายลอบยิง ก็ขออยู่ที่หาดใหญ่สักเดือน แล้วกลับไปทำงานเหมือนเดิม เท่าที่ทราบมีแต่ตำรวจที่ขอย้าย

พนักงานที่เป็นสมาชิกของสภาพฯ มีอยู่เท่าไหร่

พนักงานรถไฟส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพฯ ดูจากภาพรวมทั้งองค์กร พนักงานรถไฟ 98 เปอร์เซ็น เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ถือว่าเป็นองค์กรที่มีพนักงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมากที่สุดของประเทศไทย แต่ในระดับโลกก็ถือว่ายังอ่อนแออยู่

ปริมาณผู้โดยสารลดน้อยลงมากน้อยแค่ไหน

ข้อมูลทางฝ่ายพาณิชย์บอกว่า ภาพรวมทั้งปีเขตเดินรถที่ 5 ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปจนถึงสุไหงโก - ลก ปริมาณผู้โดยสารลดลง 22 เปอร์เซ็น แต่สาเหตุที่ลดลง ไม่ได้มาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเดียว มันมีหลายอยู่เงื่อนไข

ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของสายการบินโลว์คอร์ส, ปริมาณนักท่องเที่ยวลดลง, ปริมาณการลงทุนในภาคใต้ตอนล่างลดลง, เส้นทางคมนาคมสะดวกสบายขึ้น เป็นถนน 4 เลนตลอดสาย ก็มีส่วนทำให้ผู้โดยสารรถไฟลดลง, การที่อุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต คนใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น นี่ก็มีผลกับรถไฟ, คลื่นยักษ์สึนามิก็กระทบกับรถไฟ

สมัยก่อนคนจะมาเที่ยวหาดใหญ่ แล้วไปไหว้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คนจากภูเก็ตก็มาเที่ยวที่นี่ แต่เดี๋ยวนี้เขาเบนไปทางภาคเหนือ อีสานหมด คนที่มากับรถไฟ ส่วนใหญ่จะมาจากกรุงเทพ จากภาคตะวันออก คนพวกนี้จะมาลงที่สถานีหาดใหญ่ แล้วเข้าไป 3 จังหวัดชายแดน พวกตุ๊กๆ ในหาดใหญ่ก็จะมีรายได้จากตรงนี้ แต่เดี๋ยวนี้กระทบหมด

ประเด็นที่น่าสนใจ สำหรับผม ก็คือ ตลอดปี 2547 มาจนขึ้นปี 2548 นักเรียน - นักศึกษา จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไปเรียนนอกพื้นที่ ไม่กลับบ้าน จากข้อมูลผู้โดยสาร คนกลุ่มนี้ไปแล้ว ไม่กลับใต้ รถไฟมีแต่ขนคนกลุ่มนี้ขึ้นไป ขาขึ้นนี่รถจะเต็มตลอด แต่พอขากลับลงมาทางใต้รถว่าง ไม่ใช่เด็กนักเรียน - นักศึกษาชาวพุทธอย่างเดียว นักเรียน - นักศึกษามุสลิมก็ไม่กลับเหมือนกัน

การรถไฟแห่งประเทศไทยสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่

เท่าที่ผมมีสถิติอยู่ในมือ เฉพาะเขตการเดินรถที่ 5 ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีไปจนสุดชายแดนใต้ ปี 2545 ยอดผู้โดยสาร 7,221,093 คน ยอดรายได้ 717,582,562 บาท พอปี 2546 ยอดผู้โดยสาร 7,154,560 คน ยอดรายได้ 753,623,626 บาท มาถึงปีล่าสุด 2547 ยอดผู้โดยสาร 6,218,946 คน ยอดรายได้ 720,476,493 บาท

พอใจกับแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลหรือไม่

ผมคิดว่า แนวทางของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ใช้สันติวิธี ยอมรับความแตกต่างของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม เห็นว่าน่าจะยอมรับวิถีของความเป็นมุสลิม ให้เขามีสิทธิดำรงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของ น่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาได้ยั่งยืนมากกว่าการนำทหารลงมา ตามแนวทางที่ปฏิบัติกันอยู่ ผมคิดว่า ความรุนแรงไม่ใช่แนวทางของการแก้ปัญหา

เราน่าจะมีเขตปกครองพิเศษ เหมือนบางประเทศ ทางออกน่าจะเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่า มนุษย์ทุกคนถ้าได้รับการยอมรับ ก็จะไม่ทำอะไรให้เสียหาย

ผมเป็นคนในพื้นที่ เป็นคนไทยพุทธที่เกิดและเติบโตในจังหวัดยะลา อยู่ที่นั่นนานมาก มีเพื่อนเป็นมุสลิมเยอะแยะไปหมด แต่ก่อนผมพูดภาษามลายูได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้มานานแล้ว ความแตกต่างทางศาสนาไม่ได้เป็นเหตุให้ต้องขัดแย้งอะไรกัน ผมอยู่ที่นั่น โตที่นั่น ผมมีเพื่อนที่นั่นเยอะแยะ เราไปมาหาสู่กัน มีงานแต่งงาน มีงานอะไร ผมก็ไปร่วมงาน เราจัดงานอะไรขึ้นมา เขาก็มางานเรา

ถ้ามองจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาใช้สิทธิถึง 70 - 80 เปอร์เซ็น โดยกลุ่มวาดะห์ไม่ได้รับเลือกตั้งเลย นั่นเป็นวิธีการลงโทษทางการเมืองที่เขาเลือกใช้ แสดงว่าเขายังต้องการอยู่กับรัฐไทย

ตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธกับคนมุสลิมในพื้นที่ยังเหมือนเดิมหรือไม่

ผมกลับบ้านนานๆ ครั้ง เท่าที่รู้มาจากญาติๆ เพื่อนๆ เริ่มไม่ไว้วางใจกันแล้ว ความสัมพันธ์มันเริ่มจะไม่เหมือนเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net