Skip to main content
sharethis

ด้ามขวานของไทยที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบต่อเนื่องยาวนานนั้น พลโทพิชาญเมธ ม่วงมณี แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 กล่าวว่า ศาสนา เป็นเพียง 1 ในหลายสิบปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่เท่านั้น

"การนำเรื่องเชื้อชาติและหลักการทางศาสนามาเบี่ยงเบน ใช้เป็นเครื่องมือปลุกปั่นยุงยงให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนเกิดความเชื่อตามแนวทางของผู้ไม่หวังดี ก่อเหตุร้ายเพื่อให้ดูวุ่นวายเหมือนว่าอำนาจรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ปัจจุบันมีการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับหลักการศาสนาที่ผิดๆ ซึ่งวิตกว่าอาจลุกลามไปภาคต่างๆ ได้"

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจึงได้ร่วมกับสมาคมอิสลามกลาง 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกันจัดการอบรมวิทยากรรักษาความมั่นคงแบบบูรณาการสำหรับผู้นำมุสลิมภาคเหนือจาก 42 มัสยิด ราว 200 คน เมื่อวันที่ 26 -27 ก.พ.2548 ที่โรงแรมสวนบัวรีสอร์ท อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โดยมีพลโทพิชาญเมธ ม่วงมณี แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นประธานเปิดและพลเอกพงษ์เทพ เทศประทีป เสนาธิการทหารบกและเลขาธิการรักษาความมั่นคงภายในเป็นประธานพิธีปิดและมอบวุฒิบัตร

ทั้งนี้แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า มิได้หมายความว่าพื้นที่ภาคเหนือจะเกิดเหตุอะไร แต่เป็นการที่จะได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐ และบรรยายวิชาการเรื่องภัยคุกคามความมั่นคง เรียนรู้ประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทย ศาสนากับการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักพื้นฐานศาสนาอิสลาม

"เหมือนกับช่อดอกไม้ข้างหน้าผม" แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าว "แต่ละดอกมีความงามต่างกัน เป็นความหลากหลายที่เมื่อมาเข้าเป็นช่อแล้วสวยงาม ที่ผ่านมาความแตกต่างทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ถ้าได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันปัญหาน่าจะคลี่คลายลงได้"

ในการสัมมนาวันนั้น แม่ทัพภาคที่ 3ให้ข้อมูลว่ามุสลิมที่อยู่ในภาคเหนือมาจาก 4 สายคือ 1.มาจากเมืองจีน เป็นทหารอดีตกองพล 93 ที่นับถือศาสนาอิสลามพร้อมครอบครัว 2. มาจากการติดต่อค้าขายวัวควาย สินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศบังคลาเทศ ปากีสถาน 3. มาจากตะวันออกกลางทางเรือเพื่อค้าขายและปักหลัก 4. คณะที่เผยแพร่ศาสนาต่อเนื่องมาจากภาคใต้

ทั้งนี้ยอมรับว่าในพื้นที่ภาคเหนือ มีรูปแบบการนำเด็กกำพร้า เด็กด้อยโอกาส เด็กจากประเทศลาว พม่า จีน ปากีสถาน มาอุปการะสร้างหอพักให้อยู่ ให้การศึกษาในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการพร้อมๆ ไปกับการสอนหลักของศาสนามอิสลามไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเผยแพร่ศาสนา มีเพียง 1-2 % ที่เบี่ยงเบน ผิดหลักการและเชื่อมโยงกับขบวนการในภาคใต้บ้าง โดยกองทัพร่วมกับคณะกรรม
การอิสลามประจำจังหวัดต่างๆ ก็พยายามทำความเข้าใจอยู่

แม่ทัพภาคที่ 3 ยังกล่าวด้วยว่า วิธีการแก้ปัญหาความไม่เข้าใจนี้มีหลายวิธี อาจเปลี่ยนแปลงบางแนวทางได้ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยเช่นการแบ่งโซน แต่เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างสันติสุขซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ขณะที่ด้านของผู้นำมุสลิมเหนือได้แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ในภาคใต้ไว้อย่างน่าสนใจ นายมงคล เซลามัน นายกสมาคมมุสลิมเชียงใหม่ กล่าวว่า มุสลิมในภาคเหนือรู้สึกห่วงใยและอยากให้เกิดสันติสุขกลับคืนโดยเร็ว ซึ่งน่าจะทำได้หากราชการและมุสลิมพยายามศึกษาซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ขอวิงวอนว่าอย่าหวาดระแวงกัน และหากมีโอกาส แกนนำมุสลิมภาคเหนือก็อยากพบกับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา

โดยก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ยังเคยรวมตัวกันจะเดินทางไปเยี่ยมมุสลิมในภาคใต้ แต่ต้องยุติไปก่อนเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ส่วนในพื้นที่เชียงใหม่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม 40 แห่ง ก็มีการปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้อง ยังไม่พบที่จะเบี่ยงเบนหรือสร้างปัญหาเพราะคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดดูแลอยู่

นายกสมาคมมุสลิมเชียงใหม่ให้ความเห็นเรื่องการแบ่งโซนว่า ถือเป็นปัญหาด้านเทคนิค ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยก เพราหากภาครัฐจะดำเนินการอย่างไรก็น่าจะเก็บเงียบไว้มากกว่า ทั้งนี้เห็นว่าน่าจะได้นำแนวทางที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเคยไปศึกษามาดำเนินการให้เกิดผล ส่วนคณะทำงาน 25 คน ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นและจะลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ก็คาดหวังว่าจะทำงานให้สมกับที่ปวารณาตัวและใช้ตำแหน่งเป็นประกันไว้

ขณะที่ตัวแทนผู้นำมุสลิมภาคเหนือ ได้ร้องขอให้ผู้ปฏิบัติงานรักษาความสงบชายแดนใต้ กองทัพ และสื่อมวลชน ระมัดระวังในการนำเสนอเหตุการณ์ผ่านสื่อ เช่น การใช้คำว่า "มุสลิมหัวรุนแรง" เพราะเป็นการเหมารวมไปหมด มุสลิมในภาคเหนือที่ปฏิบัติตัวเคร่งครัดในศาสนาอิสลามหลายคน เคยถูกถามอย่างหาเรื่องว่าเป็นพวกหัวรุนแรงไปด้วย ซึ่งเห็นว่าเป็นการสร้างความแตกแยก

ทั้งนี้พลโท พิชาญเมธ ม่วงมณี แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า หากที่ผ่านมาเป็นคำพูดผ่านสื่อของกองทัพก็ต้องขอโทษ และจะกำชับให้ระมัดระวัง ส่วนสื่ออื่นๆ ก็จะขอความร่วมมือ ทั้งนี้การรับฟังสื่อควรรับฟังให้รอบด้านและใช้วิจารณญาณด้วย

บทเรียนจากภาคใต้อันก่อให้เกิดความร่วมมือสร้างความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยทหารกับมุสลิมเหนือเช่นนี้ น่าจะเป็นเกราะป้องกันให้พื้นที่ภาคเหนือได้สงบร่มเย็นอย่างที่เป็นอยู่ และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไป.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net