บทเรียนจากโรงพยาบาลตากใบ จังหวัดนราธิวาส

โรงพยาบาลตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ตั้งอยู่ตอนล่างสุดของจังหวัดนราธิวาส ติดชายแดนมาเลเซีย ดูแลประชากรจำนวน 8 ตำบล รวม 63,200 คน เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม เป็นอำเภอชายแดนขนาดกลางที่ผู้คนมีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางและค้าขาย มีสถานีอนามัยในพื้นที่จำนวน 11 แห่ง ณ.เดือนกุมภาพันธ์ 2548 โรงพยาบาลตากใบมีบุคลากรทั้งสิ้น 107 คน เป็นแพทย์ 4 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกร 3 คน และพยาบาล 36 คน

นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ ได้นำเสนอบทเรียนที่เป็นประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้

จากเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ถูกจับในข้อหานำปืนไปให้กับผู้ก่อการร้าย จนนำมาสู่การสลายการชุมนุมในวันเดียวนั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่หนักที่สุดสำหรับอำเภอตากใบ นับตั้งแต่มีเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ที่มีการปล้นปืนในค่ายทหารที่จังหวัดนราธิวาส
ในวันนั้น ได้เริ่มมีการชุมนุมในช่วงเช้า แต่ที่โรงพยาบาลไม่มีใครทราบสถานการณ์ จนเวลาประมาณ 11 นาฬิกา แพทย์เวรได้รับแจ้งมาว่าเหตุการณ์ไม่ค่อยดี ในขณะผู้อำนวยการไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล จึงตัดสินใจว่า ถ้ามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นให้ปิดโรงพยาบาล และได้โทรศัพท์ติดต่อ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพื่อรับทราบและขออนุญาต

เมื่อทราบว่าเหตุการณ์ไม่ค่อยดี โรงพยาบาลตากใบจึงได้ประสานไปที่โรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดนราธิวาสเพื่อขอความช่วยเหลือและเตรียมรถพยาบาลในการรับผู้บาดเจ็บ ซึ่งได้รับความร่วมมือดีมากทั้งจากโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป

ประมาณ 15.00 น. ปลัดอำเภอได้ประสานมาที่โรงพยาบาลว่ากำลังสลายฝูงชน ขอให้โรงพยาบาลเตรียมพร้อม มีคนไข้ได้รับบาดเจ็บสาหัสคือ ตำรวจถูกยิงที่ทรวงอก ได้ใส่ ICD เพื่อระบายเลือดออกจากช่องปอด แล้วส่งต่อโรงพยาบาลนราธิวาสได้อย่างปลอดภัย ผู้บาดเจ็บอื่นๆก็ทยอยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตากใบ สถานการณ์พอเอาอยู่ มีคนไข้ 21 ราย รับไว้นอนโรงพยาบาล 3 ราย แม้ยอดผู้ป่วยไม่มาก แต่ความวุ่นวายจากญาติและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีมากทีเดียว

บทเรียนที่สำคัญในเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้แก่

ในวันนั้นร้านค้าในตลาดทุกร้านปิดหมด ปัญหาคือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทั้งที่ขึ้นเวรและอยู่ในเขตบ้านพักรวมทั้งเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลอื่นที่มารอรับ Refer ไม่มีอาหารเย็นรับประทาน ต้องทานขนมเท่าที่มีในโรงพยาบาลแทนข้าวเย็น วันนั้นจึงเป็นบทเรียนที่สำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลต้องมีการกักตุนอาหารแห้งไว้ในยามฉุกเฉินเสมอ
ขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่นั้นสำคัญมาก ในวันนั้นทุกคนเสียขวัญมาก ไม่มีใครคิดว่าในอำเภอตากใบจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ในวันนั้นผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ไปพาครอบครัวไปพักผ่อนในอำเภอหาดใหญ่ เมื่อทราบข่าวและประเมินว่าสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จึงตัดสินใจรีบกลับมาที่โรงพยาบาล

แม้ในวันนั้น ตำรวจที่สนิมสนมจะแจ้งมาว่าอาจไม่ปลอดภัย ระหว่างทางเสี่ยงต่อการถูกปิดกั้นทางหรืออาจมีการโรยเรือใบไว้ที่ถนนก็ได้ แต่ด้วยความเข้าใจในสถานการณ์และภาวะผู้นำของผู้อำนวยการโรงพยาบาล จึงตัดสินใจว่าอย่างไรก็ต้องกลับโรงพยาบาลให้ได้ จึงประสานทางตำรวจเพื่อทราบสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อเลือกเส้นทางที่น่าจะปลอดภัยที่สุด

วันนั้นหากผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบไม่กลับโรงพยาบาลแล้ว หลายปัญหาก็ยากที่จะคลี่คลายไปได้ด้วยดีได้ นพ.สมชายกล่าวว่า "ถ้าไม่เข้าไป คงจะแย่ เพราะว่าเสียขวัญกันหมด "

การสนับสนุนความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลข้างเคียง ไม่ว่ารถส่งต่อ การประสานเพื่อเตรียมรับผู้ป่วยฉุกเฉิน กำลังใจที่ได้รับจากทางโทรศัพท์ที่มาถามข่าวคราวนั้นก็ช่วยให้ความรู้สึกในการทำงานในยามวิกฤตดีขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่มาจากโรงพยาบาลข้างเคียงและเพื่อนแพทย์ในชมรมแพทย์ชนบท

ในช่วงกลางคืน มีผู้สื่อข่าว มาเต็มโรงพยาบาล แต่ละคนจะขอข้อมูลมากมาย วุ่นวายมาก ทางโรงพยาบาลตากใบจึงแก้ปัญหาโดยประสานกับทาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และแจ้งกับนักข่าวว่า โรงพยาบาลไม่มีสิทธิให้ข่าว ให้โทรศัพท์หรือติดต่อสัมภาษณ์จาก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเท่านั้น ซึ่งก็สามารถลดความกดดันในการให้ข่าวและความวุ่นวายอันเนื่องมาจากผู้สื่อข่าวได้มาก

หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ได้มีข่าวลือว่ามีคนตายมากจากการสลายการชุมนุม เพื่อต้องการทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิมให้มากขึ้น แม้กระทั่งในโรงพยาบาล มีการปล่อยข่าวลือเยอะมาก ต้องพยายามเช็คข่าวลือ เพื่อให้ทราบความจริง มิเช่นนั้นโรงพยาบาลก็จะเป็นแหล่งแพร่ข่าวลือที่เป็นเท็จไปด้วย
กรรมการสิทธิมนุษยชนได้ลงมาเยี่ยมผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตากใบ โดยไม่มีการประสานมาล่วงหน้า ซึ่งโชคดีที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลทำให้สามารถประสานงานและจัดการดูแลได้อย่างเหมาะสม

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนก็คือ เมื่อกรรมการสิทธิได้ไปซักถามข้อมูลจากคนไข้นั้น เขาได้ให้ข้อมูลกรรมการสิทธิฯเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะยังไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ากรรมการสิทธิฯคือใคร ต่างจากข้อมูลที่บอกกับหมอ ซึ่งละเอียดและเป็นข้อมูลจริงมากกว่า

หลังจากเหตุการณ์การสลายม็อบ มีเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่จากหลากหลายทบวงกรมมาเยอะมาก มาเยี่ยมบ้าง มาขอข้อมูลบ้าง โทรศัพท์ที่เข้ามาสอบถามก็เยอะมาก จนไม่รู้ว่าใครเป็นตัวจริงตัวปลอม

ในสถานการณ์วิกฤตเช่นกรณีของการชุมนุมที่อำเภอตากใบนั้น โรงพยาบาลในบทบาทแนวหลังควรเน้นการตั้งรับในที่ตั้ง เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยผู้บาดเจ็บทุกคนที่ถูกส่งเข้ามาให้ดีที่สุดตามแนวของแผนการรับอุบัติเหตุหมู่ ในยามวิกฤตนอกจากมีผู้อำนวยการเป็นผู้สั่งการแล้ว ยังควรมีผู้ที่ดูแลรับผิดชอบจัดการข้อมูลผู้บาดเจ็บที่มารับบริการในโรงพยาบาล มีผู้ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เข้ามา มีการดูแลขวัญกำลังใจซึ่งกันและกัน และขอกำลังสนับสนุนจากหน่วยงานข้างเคียงตามความเหมาะสม

นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท