"เปิดสภาฯไม่เท่าเปิดใจ" เสียงสะท้านจาก" ขาประจำ"

กรุงเทพฯ-22 ก.พ.48 ฉับพลันที่ดำริของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีดังออกมาจากทำเนียบรัฐบาลว่าต้องการให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง 2 สภา คือ ทั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐ มนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 700 คน เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้

ฉับพลันเสียงสะท้อนจาก" นักวิชาการ-สว." ซึ่งนายกรัฐมนตรีวิจารณ์มาโดยตลอดว่า "เป็นพวกขาประจำ-แผ่นเสียงตกร่อง" ก็เห็นไปในทำนองเดียวกันว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าการเปิดสภาฯ คือ ทัศนคติของผู้นำรัฐบาลต่อปัญหาภาคใต้ว่า เป็นอย่างไร

"หากจะแก้ปัญหาภาคใต้จริง ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี ที่ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้ารัฐบาลต้องการให้ข้อมูลไหลออกมาก็ต้องยกเลิก" นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน คณะสังคม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์" ประชาไท"

นายสมชายเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ไม่ได้อยู่ที่ว่า จะเปิดการประชุม 2 สภาฯ คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาหรือไม่ แต่อยู่ที่รัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหรือไม่มากกว่า

แม้จะมีการเปิด 2 สภาฯ ตามดำริของนายกรัฐมนตรี แต่ข้อเสนอก็ไม่น่าจะแตกต่างจากที่เคยเสนอมาแล้ว เช่น ข้อเสนอเรื่องคำประกาศปัตตานีของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งโดยเป้าประสงค์ที่แท้จริงนั้น น่าจะเป็นเพื่อต้องการลดกระแสของสังคมมากกว่า เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาล

ขณะที่ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี เห็นสอดคล้องเช่นเดียวกันว่า ดำริดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐ มนตรีน่าจะได้รับแรงกดดันสูง ทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่ขยายตัวขึ้นในรูปแบบใหม่อย่างคาร์บอมบ์ และกระแสความไม่พอใจเรื่องการแบ่งโซนในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงคำพูดที่รุนแรงของนายกรัฐมนตรี

ดร.ศรีสมภพเป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำวิจัยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

"ในแง่กระบวนการรัฐสภา เรื่องนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ ที่อาจบ่งบอกได้ว่าเป็นการจัดการปัญหาขั้นวิกฤต" ดร.ศรีสมภพกล่าว

เมื่อถามถึงความเชื่อมโยงกับการประชุมองค์การที่ประชุมอิสลาม (OIC-Organization of Islamic Con ference) ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.ศกนี้ ซึ่งมีกระแสข่าวว่า อาจจะมีการหยิบยกประเด็นปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ขึ้นมาหารือด้วยนั้น ดร.ศรีสมภพอธิบายว่า การเปิดการประชุมร่วมของ 2 สภาฯนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง สิ่งสำคัญอยู่ที่กรอบความคิด ความเชื่อของผู้นำ ซึ่งหากยังเป็นอย่างที่ผ่านมาการเปิดการประชุมร่วมย่อมไม่มีผล และไม่อาจคลี่คลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงได้ในเวทีโลก อีกทั้งยังมีการส่งสัญญาณด้วยคำพูดแรงๆ มาตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งแล้ว ซึ่งยิ่งจะก่อให้เกิดการท้าทาย

"มีบางกระแสที่มองว่า กลุ่มก่อเหตุพยายามขยายสถานการณ์ความรุนแรง เพื่อให้มีผลต่อการประชุม OIC ซึ่งนี่เป็นเพียงการคาดการณ์ที่ยังไม่ชัดเจน เฉพาะหน้าคิดว่าไม่น่าจะมีผลอะไร OIC คงไม่มีมติอะไรออกมาง่ายๆ ที่สำคัญการก่อสถานการณ์เหล่านี้ไม่มีกลุ่มใดหรือผู้ใดแสดงตัวว่าเป็นคนทำ" ดร.ศรีสมภพสรุป

ขณะที่ ส.ว.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ซึ่งติดตามและให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด เห็นว่า แนวคิดนี้มีขึ้นดีกว่าไม่มี แต่ดูจากพฤติกรรมของนายกฯ และแนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมาแล้ว ไม่เชื่อว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความจริงใจ การประท้วงของประชาชนทั่วไปน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายกฯ ต้องหาทางออกเช่นนี้ โดยที่ไม่ได้สนใจรับฟังอย่างจริงจัง เพราะนายกฯ มีแนวทางในการแก้ปัญหาของตนเองอยู่แล้ว

"ที่ผ่านมามันชัดยิ่งกว่าชัด การใช้ความรุนแรงกับประชาชนยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง กรณีการฆ่าคนที่โดนจับแล้ว มัดมือแล้วยังฆ่าต่อ ก็ยังไม่มีแนวโน้มจะสอบสวนและหาคนผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง เรื่องนี้เป็นจุดดำของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และคนไทยก็เลือกเขากลับเข้ามาอีก เป็นเรื่องเศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย" นายไกรศักดิ์กล่าว

ส.ว.นครราชสีมาเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันทีคือ มาตรการลดการใช้ความรุนแรง และหันมาใช้มาตรการทางสังคม วัฒนธรรม รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามนำเสนอมานานแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีไม่สนใจ และเชื่อว่าคงไม่สนใจต่อไป

ขณะที่ ส.ว.จอน อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็น 1 ในคณะส.ว.ที่ลงไปสำรวจข้อเท็จจริงหลังเกิดเหตุการณ์ที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เห็นว่า ถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการหารือร่วมกัน แต่ต้องดูว่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงนโยบายปัจจุบันที่เน้นการใช้ความรุนแรงได้จริงหรือไม่ อีกทั้งควรขยายการปรึกษา หารือไปยังกับกลุ่มประชาสังคมและคนในพื้นที่ด้วย

ส.ว.จอนยังเห็นว่า เป็นโอกาสดีที่จะนำข้อเสนอในการแก้ปัญหาจากหลายฝ่ายไม่ว่าของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี หรือของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เน้นการให้โอกาส การเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น และการปกครองท้องถิ่น มาพิจารณาเวทีนี้

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของสมาชิกทั้ง 2 สภาฯ ก็มีความแตกต่างกัน ที่ผ่านมากระแสแนวคิดหลักคือ การตอบโต้ด้วยความรุนแรงเป็นการแสดงถึงความเข้มแข็ง แต่รัฐบาลยิ่งใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเท่าไร ยิ่งขับให้คนที่รักสงบต้องเลือกอยู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหากไม่เปลี่ยนแนวทางและท่าทีในการแก้ปัญหาจะยิ่งควบคุมสถานการณ์ที่เริ่มขยายตัวได้ยาก และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นของประเทศ

อย่างไรก็ดี ส.ว.จอนเห็นว่า เรื่องความไม่สงบในภายใต้เป็นเรื่องเร่งด่วนมาก น่าจะเกิดขึ้นก่อนแถลงนโยบาย หรือเริ่มต้นขณะนี้เลยก็ได้ แต่เชื่อว่า หากมีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา น่าจะถูกอภิปรายหนัก และอาจทำให้เวทีหารือนี้ถูกรวมเข้าไปในการอภิปรายด้วยเลยก็ได้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท