"ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล"

โดย คณะทำงานด้านวิชาการของ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรน ฉายแสง

20 มกราคม พ.ศ.2548

--------------------------------------------------------------------

๑) ทำไมรัฐต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสถานะบุคคลและสัญชาติ ?

-----------------------------------------------------------------------------------

เพราะ ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยอยู่หลายกลุ่ม อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน รวมทั้งบุตรหลานที่เกิดขึ้นในภายหลัง มีจำนวนมากถึงประมาณสองล้านคนและอนาคตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก ปัญหาดังกล่าว มีผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมาก หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดปัญหาสะสมและจะลุกลามจนเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติหลายด้านในระยะยาว ดังนี้คือ

๑. เกิดปัญหาด้านสังคม / สถานภาพ และสิทธิการดำรงชีวิต โดยเฉพาะลูกหลาน

๒. เป็นภาระของภาครัฐในการควบคุมดูแล

๓. อาจเกิดความขัดแย้งกับคนไทยและความไม่สงบเรียบร้อย

๔. มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

------------------------------------------------------------------------------

๒) เดิมรัฐแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ?

------------------------------------------------------------------------------

๒.๑ ที่ผ่านมา รัฐแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง มีมติครม. รับรองสถานะให้กลุ่มเป้าหมาย ได้รับสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย การแปลงสัญชาติเป็นไทยแก่ผู้อพยพที่มีเชื้อสายไทย การให้สัญชาติไทยแก่บุตรบุคคลเหล่านี้ซึ่งเกิดในประเทศไทย และได้ปฏิบ้ติตามมติครม. และกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องต่างๆ มาเป็นระยะ

๒.๒ การปฏิบัติตามกฎหมาย ยังมีความล่าช้าหลายเรื่อง มีการใช้ดุลยพินิจเกินจำเป็นและเน้นการแก้ไขเป็นรายเฉพาะกรณีมากกว่าการแก้ไขเป็นกลุ่มใหญ่ โดยกำหนดเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ซึ่งมีคุณสมบัติและลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน

๒.๓ ขาดกลไกและการจัดการที่เป็นระบบและขาดมุมมองที่เชื่อมโยงกับทุกประเด็นปัญหาที่ครอบคลุมและครบวงจร

๒.๔ เดิมมีแนวคิดแก้ปัญหาโดยมุ่งเน้นความมั่นคงของชาติ โดยมีข้อกังวลว่าบุคคลไร้สถานะจะเกี่ยวพันกับการลักลอบการค้ายาเสพติดหรือตัดไม้ทำลายป่า หวาดระแวงว่าจะมีการทะลักเข้ามาใหม่ของกลุ่มผู้อพยพจากภายนอกประเทศ กังวลว่าคนไม่ดีจะแทรกเข้ามาได้รับสัญชาติ จนกลายเป็นเข้มงวดจนทำให้สุจริตชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศมานาน บางส่วนเกิดในไทยต้องขาดโอกาสได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

------------------------------------------------------------------------------

๓) กว่าจะได้ยุทธศาสตร์ใหม่ รัฐได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง

------------------------------------------------------------------------------

๓.๑ เมื่อ ๑๘ พ.ค. ๔๗ คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของของนายกรัฐมนตรี ตระหนักความสำคัญของปัญหาสถานะบุคคล จึงมีมติเห็นชอบให้แก้ไขปัญหาในภาพรวมทั้งระบบเกี่ยวกับสัญชาติขอบุคคลต่างด้าวและบุตร โดยเฉพาะในส่วนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ประกอบอาชีพสุจริตและประพฤติตนเป็นพลเมืองที่ดี โดยมอบรองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) รวบรวมจัดทำขัอมูลและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป

๓.๒ ระหว่างพฤษภาคม ๔๗ - พฤศจิกายน ๔๗ รองนายกรัฐมนตรี ( นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ได้มอบหมายให้สำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นฝ่ายเลขานุการในการพิจารณารวบรวมข้อมูลและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา สมช.จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อยกร่างและพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลจนแล้วเสร็จ ผลจากการหารือร่วมจากทุกภาคส่วน ได้สร้างความเข้าใจร่วม มีความรอบด้านต่อการแก้ปัญหา สร้างความเป็นเอกภาพทางแนวคิดและแนวทางปฏิบัติ ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

๓.๓ นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบ (เมื่อ ๒๕ พย. ๔๗) โดยให้นำเสนอต่อที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจต้องแก้ไขปัญหาผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ จึงทำให้การประชุมต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป

๓.๔ วันที่ ๑๒ มค. ๔๘ ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบ ต่อร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว และให้นำเสนอต่อที่ประชุมครม.โดยเร็ว

๓.๕ วันที่ ๑๘ มค. ๔๘ ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีมติเห็นชอบต่อร่างยุทธศาสตร์ การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล

ในระหว่างกระบวนการในการดำเนินการรัฐบาลก็ได้รับการร้องเรียน กรณีบุคคลไร้สัญชาติและสถานะหลายกรณี และมีหลายกรณีสะท้อนให้เห็นความล่าช้าในการจัดการ มีกรณีตัวอย่างที่สนับสนุนให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ ใหม่นี้สอดคล้องกับความต้องการ ตรงกับสภาพที่เป็นจริงของกลุ่มเป้าหมาย

------------------------------------------------------------------------------

๔) ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลมีแนวคิดใหม่อย่างไร ?

------------------------------------------------------------------------------

เป็นการใช้แนวคิดการจัดการปัญหาความมั่นคงในมิติใหม่ กล่าวคือ คำนึงถึงความสมดุลของสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และความมั่นคงของชาติควบคู่กัน ไม่ใช้ปัญหาและข้อจำกัดในอดีตมาเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาทางออกในการแก้ปัญหาในปัจจุบันและอนาคต

โดยมีแนวคิดสำคัญดังนี้ คือ

· ให้ความสำคัญคุณค่าความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

· คำนึงถึงความเท่าเทียมของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิขั้นพื้นฐาน ทัศนคติที่ดีต่อกัน

· ยอมรับความจริงว่ามีคนบางกลุ่มไม่สามารถกลับประเทศของตนได้

· สร้างความสมดุลระหว่างหลักสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ และ ความมั่นคงของชาติ

· อาศัยทุกภาคส่วน / ประชาคม ระหว่างประเทศร่วมแก้ปัญหา

ยุทธศาสตร์ได้แบ่งเป็น ๔ ประการ คือ

๑. ยุทธศาสตร์การกำหนดสถานะ จะมีการกำหนดสถานะที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม มีการจัดทำเอกสารแสดงตน

๒. ยุทธศาสตร์การให้สิทธิขั้นพื้นฐาน จะมีการดูแลคุ้มครองให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง

๓. ยุทธศาสตร์การดำเนินการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อป้องกันการอพยพเข้ามาใหม่ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและสกัดกั้นการเดินทางเข่ามาในประเทศอย่างไม่ถูกต้อง

๔. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ กำหนดแนวทางดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน เพื่อร่วมมือกันในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์

------------------------------------------------------------------------------

๕) ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อยุทธศาสตร์การให้สัญชาติ ?

------------------------------------------------------------------------------

ทั้งนี้ เพราะรัฐไม่ได้มีความประสงค์จะแจกสัญชาติให้แก่กลุ่มเป้าหมายทุกคน โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ หากแต่มุ่งแก้ปัญหาให้ประชาชนและผู้มาอาศัยอยู่ในประเทศทุกคนได้มีสถานะ มีชีวิตอยู่อย่างเปิดเผยไม่ต้องหลบซ่อน หรือหลบเลี่ยงกฎหมาย มีบัตรแสดงตนในฐานะที่เป็นมนุษย์ และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์อย่างทั่วถึง ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และอื่นๆ สำหรับกลุ่มผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ควรได้รับสัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งในยุทธศาสตร์นี้ จะได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

------------------------------------------------------------------------------

๖) หลักเกณฑ์ ประเภทและการจำแนกสถานะ เป็นอย่างไร และจะเริ่มใช่เมื่อไร ?

------------------------------------------------------------------------------

หลังมติ ครม. รัฐบาลได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การจำแนกสถานะบุคคลให้มีความชัดเจน จัดวางระบบการสำรวจและเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลทุกระดับ ให้ครอบคลุมถึงระดับอำเภอ เตรียมความพร้อมของกลไกการจัดการทุกภาคส่วน รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยมีสำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นศูนย์อำนวยการ ประสานงาน ติดตาม ประเมินผล

------------------------------------------------------------------------------

๗) กลุ่มเป้าหมายใดบ้างที่ได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์นี้ ?

------------------------------------------------------------------------------

การแก้ไขปัญหาจะครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทั้ง ๖ ประเภท ได้แก่

๑) กลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศและอาศัยอยู่เป็นเวลานานแล้ว ประกอบด้วย ๒ กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ทางราชการมีนโยบายกำหนดสถานะให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถาวร ซึ่งได้รับสถานะไปแล้วแต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากปัญหาและข้อจำกัดในทางปฏิบัติ โดยเหลือผู้ที่อยู่ระหว่างการยื่นคำร้อง จำนวนประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน และกลุ่มที่ทางราชการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติควบคุมไว้ โดยผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวจำนวน ๓๖๐,๐๐๐ คนเศษ รวมทั้งสองกลุ่มประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ คน ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีเชื้อสายไทยและไม่ได้มีเชื้อสายไทย

๒) กลุ่มบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทย แต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษาจำนวนประมาณ ๖๐,๐๐๐ คนเศษ

๓) กลุ่มคนที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศ ได้แก่ บุคคลที่มีผลงาน/ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์รต่อการพัฒนาประเทศ อาทิ ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา (ไม่สามารถกำหนดจำนวนเป้าหมายที่ชัดเจน เนื่องจากขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นกรณีไป)

๔) กลุ่มคนไร้รากเหง้า ได้แก่ บุคคลที่ขาดบุพพการี หรือ ถูกบุพพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่นอกสถานรับเลี้ยงของรัฐและอาศัยอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มที่ไม่สามารถกำหนดจำนวนเป้าหมายที่ชัดเจนต้องมีการสำรวจตรวจสอบเพิ่มเติม

๕) กลุ่มแรงงานต่างด้าว (พม่า ลาว และกัมพูชา) ที่ได้รับการจดทะเบียนซึ่งอาจมีบางส่วนที่ประเทศต้นทางไม่ได้ยอมรับกลับ คาดว่ามีจำนวนประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คนเศษ และหากไม่สามารถรับรองสถานะให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะที่เหมาะสมตามข้อเท็จจริงตามมาตรการระยะยาวของยุทธศาสตร์

๖) กลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือ ได้แก่ กลุ่มที่ไม่มีคุณสมบัติในการรับรองสถานะ ยุทธศาสตร์ได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วยจากทุกภาคส่วนร่วมกำหนดภายใต้มาตรการระยะยาว

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับการจดทะเบียนและสามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ซึ่งได้รับการยอมรับจากประเทศต้นทางจำนวนเกือบ ๑ ล้านคน และผู้หนีภัยสู้รบที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวมานาน ๑๑๐,๐๐๐ คน โดยสองกลุ่มนี้ จะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เฉพาะในเรื่องของการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนเท่านั้น

------------------------------------------------------------------------------

๘) รัฐจัดระบบการบริหารจัดการอย่างไรที่จะทำให้ยุทธศาสตร์นี้บรรลุผล?

------------------------------------------------------------------------------

๘.๑ การบริหารจัดการได้รับการเสริมในทุกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะจัดให้มีชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ครอบคลุมถึงในระดับอำเภอ

๘.๒ มีกลไกซึ่งเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษดำเนินการกำหนดสถานะโดยมีความคล่องตัวไม่ติดกับระบบปกติของทางราชการ

๘.๓ มีคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาสถานะของสิทธิบุคคล รายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ

๘.๔ เสริมด้วยพลังการมีส่วนร่วมของนักวิชาการ ภาคเอกชน องค์กรชุมชน และประชาชนมาร่วมในทุกระดับ

๘.๕ มีการมอบอำนาจการอนุมัติสถานะลงไปสู่ระดับที่เหมาะสมเพื่อรองรับต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้การบริหารจัดการกำหนดสถานะมีประสิทธิภาพโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้รัฐจะจัดงบประมาณและจัดจ้างบุคลากรเพิ่ม เพื่อดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และเมื่อมีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์อย่างจริงจังทั้งระบบ คาดว่าจะแก้ปัญหาที่สะสมได้ภายในสองปี
]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท