อัยการรัฐมั่นใจรอดฟ้องคดีซึนามิ

กรุงเทพฯ-16 ก.พ.48 "ข้อกฎหมายไทยไม่ได้เปิดช่องให้ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายได้ เนื่องจากรัฐไม่ใช่นิติบุคคล หากจะฟ้องคดีจริงผู้ฟ้องจะต้องระบุเฉพาะจงใจถึงตัวบุคคล หรือหน่วยงาน ทบวงกรมใดของรัฐให้ชัดว่าเป็นใคร ซึ่งระบบฟ้องคดีแพ่งประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นเหมือนในไทยหรือไม่ คงต้องตรวจสอบรายละเอียดของข้อกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง" นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ โฆษกประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุ

ภายในสัปดาห์นี้ กลุ่มเหยื่อผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ชาวออสเตรียและเยอรมันรวม 19 คน เตรียมยื่นฟ้องร้องรัฐบาลไทย เครือโรงแรมแอคคอร์ดของฝรั่งเศส และหน่วยงานพยากรณ์ซึนามิของอเมริกาต่อศาลชั้นต้นสหรัฐฯ ที่นิวยอร์ก เพื่อให้จำเลยเหล่านี้แสดงหลักฐานพิสูจน์ว่า ได้ดำเนินการรับมือกับภัยพิบัติคราวนี้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว

นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้อัยการยังไม่ได้รับการประสานข้อมูลจากรัฐบาลหรือกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้หากมีการฟ้องคดีในต่างประเทศจริงก็ต้องศึกษาข้อกฎหมายในประเทศนั้น และกฎหมายระหว่างประเทศว่าเป็นอย่างไรเพื่อทราบหลักการและแนวทางการพิจารณาคดีของประเทศนั้น

อย่างไรก็ดีตามหลักกฎหมายระบุว่า นักท่องเที่ยวไม่สามารถฟ้องคดีอาญากับรัฐบาลไทยต่อศาลประเทศสหรัฐ ฯ ได้ เพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจเอกชนยื่นฟ้องคดีกับรัฐบาลใดในศาลอีกประเทศหนึ่ง ดังนั้นหากมีการฟ้องคดีจริงก็น่าจะต้องเป็นการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ ทบวง กรมใด

ส่วนการฟ้องคดีในข้อหาไม่แจ้งเตือนภัยธรรมชาติก่อนนั้น เห็นว่า ไม่น่าจะฟ้องได้เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติและถือเป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งที่ผ่านมาในการเกิดเหตุดังกล่าวทางการไทยได้แจ้งเตือนภัยกับประชาชนและนักท่องเที่ยวเต็มขีดความสามารถ และเครื่องมือที่มีอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ขีดความสามารถของรัฐบาลไทยในการแจ้งเตือนยังมีข้อจำกัดเพราะขาดเครื่องมือ ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้อง

ทั้งนี้โฆษกประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ยังกล่าวว่า แม้ว่าหากข้อกฎหมายประเทศสหรัฐอนุญาตให้นักท่องเที่ยวฟ้องเรียกค่าเสียหายกับทางการไทยได้จริง ในการต่อสู้คดีนั้นไทยจะต้องยกข้อเท็จ
จริงให้เห็นว่าที่ผ่านมาไทยไม่ได้บกพร่องในการแจ้งเตือน แต่เป็นเหตุเหนือวิสัยที่จะแจ้งเตือนภัยได้ทันเพราะเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยรวดเร็ว และในประเทศแถบเอเชียที่ต้องประสบภัยเช่น
เดียวกันก็ยังไม่สามารถป้องกันภัยดังกล่าวได้ทันท่วงที ซึ่งไทยไม่ใช่เพียงประเทศเดียวที่ได้รับความเสียหาย

หากสุดท้ายศาลสหรัฐ ฯรับฟ้องคดีของนักท่องเที่ยวและมีคำพิพากษาให้ไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายจริง ก็ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การบังคับคดีแพ่งตามคำพิพากษาระหว่างศาลในต่าง
ประเทศจะทำได้หรือไม่เพราะไทยเคยทำข้อตกลงการบังคับคำพิพากษาระหว่างประเทศไว้กับประเทศจีนเท่านั้น

ส่วนประเทศสหรัฐ ฯ จะได้ร่วมกันทำข้อตกลงหรือไม่ ต้องตรวจดูข้อกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดีสำหรับการจัดหาทนายความแก้ต่างคดีนั้น แม้ว่าอัยการจะปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความแผ่นดินดูแลคดีให้รัฐและหน่วยงานรัฐ แต่กรณีนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ฯ ซึ่งอัยการไทยไม่สามารถเดินทางว่าความในต่างประเทศได้เพราะตามกฎหมายกำหนดเรื่องให้การใช้อำนาจและสิทธิของเจ้าหน้าที่ว่าจะกระทำได้เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการนอกประเทศได้

ดังนั้นการจัดหาทนายคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกระทรวงการต่างประเทศจะต้องว่าจ้างทนาย
ความเอง ส่วนอัยการจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานข้อมูลในการต่อสู้คดี อย่างไรก็ดีหลังจากทราบข่าวจากสื่อมวลชนแล้วขณะนี้อัยการเตรียมพร้อมที่จะศึกษาข้อกฎหมายระหว่างประเทศไว้ด้วย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท