โรงเรียน (เสริมพลัง) ชาวนา

"ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ" คำกล่าวที่คุ้นหาตั้งแต่เด็ก ๆ มาถึงวันนี้กระดูกสันหลังชิ้นนี้ยังคงแข็งแกร่งเพื่อแบกรับภาระในการปลูกข้าวเลี้ยงดูคนทั้งประเทศได้หรือไม่?

พวกเขาต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีและสารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่ภายหลังเก็บเกี่ยวกลับต้องเจอกับราคาข้าวตกต่ำ ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาแก้ไขปัญหาอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกหากจะมีชาวนาอยู่ในโครงการพักหนี้ของรัฐบาลจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าชาวนาทั้งหมดจะเป็นเพียงผู้รอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐฝ่ายเดียว ตรงกันข้ามกลับมีการรวมตัวกันพูดคุยถึงแลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างกัน ร่วมกันปรับปรุงพันธุ์ข้าว เช่น กลุ่มเกษตรกรโรงเรียนชาวนา จังหวัดน่าน

โรงเรียนชาวนากับกิจกรรมปรับปรุงเมล็ดพันธุ์

สำรวย ผัดผล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชาวนา กล่าวว่า สมัยเป็นเด็ก ๆ นั้น ครอบครัวมีข้าวไม่พอกิน ต้องไปหยิบยืมคนอื่น หรือไปเชื่อพ่อค้าคนกลางบ่อย ๆ จนเขาไม่ให้เชื่อ "ข้าวไม่พอกิน" จึงเป็นความน้อยใจที่ฝังใจตั้งแต่เด็ก เป็นส่วนที่ทำให้ตนสนใจเรื่องข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวนา ข้าวปลูก ข้าวป่า ข้าวขึ้นทั้งบนที่สูง และในน้ำต้องพายเรือเกี่ยวข้าว ข้าวเป็นพืชที่มหัศจรรย์ จึงสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับข้าว และเก็บสะสมเมล็ดพันธุ์มาเรื่อย ๆ

"ปัจจุบันนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ขบวนการควบคุมอาหารของโลก เช่น การแย่งชิงทรัพยากรนั้นไม่ใช่เพียงการแย่งชิงด้วยการทำสงคราม หรือการให้ความช่วยเหลือผ่านองค์กรความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างประเทศมาพร้อมเงื่อนไขเพื่อกอบโกยทรัพยากร ยุคนี้มีคนเอาเมล็ดพันธุ์ไปก่อน วิจัยและจดสิทธิบัตร เกรงว่าต่อไปชาวนาในประเทศโลกที่สามจะยิ่งลำบากเพราะไม่สามารถเข้าถึงการใช้ทรัพยากรของตน"

ชาวนา คือผู้ที่มีความรู้เรื่องข้าวดีอยู่แล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องยากหากพวกเขาจะเป็นนักวิจัย จากจุดเริ่มต้นที่ว่า จะทำอย่างไรให้มีข้าวพอกิน นำไปสู่การก่อเกิดโรงเรียนชาวนาขึ้นใน 4 หมู่บ้านของจังหวัดน่าน ได้แก่ บ้านน้ำเกี๋ยน บ้านหาดเค็ด บ้านเชียงราย และบ้านทุ่งฆ้อง ผู้ที่จะเริ่มที่จะต่อสู้กับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

หนึ่งในนักวิจัยชาวบ้าน เช่น หวัน เรืองตื้อ บ้านหาดเค็ด ตำบลเมืองจัง กิ่งอำเภอภูเพียง เล่าถึงเรื่องที่น่าเป็นห่วงพันธุ์ข้าวไทย "ไม่รู้ว่า 10 ปีข้างหน้าพันธุ์ข้าว พันธุ์พืชจะเป็นยังไง ถ้าไปอยู่ในมือบริษัทใหญ่ ชาวนา ชาวสวนจะยิ่งลำบากมากขึ้น เช่น ข้าวโพด บริษัทเอาพันธุ์ไปปรับปรุงได้ลูกผสมเดี่ยว ปี 38 เคยซื้อเชื้อพันธุ์ กิโลละ 2 บาท หลังจากนั้นราคามันแพงขึ้นถึงวันนี้ กิโลละ 100 บาทแล้ว... ซื้อพันธุ์ข้าวโพดแพงขึ้นแต่เวลาขายขายได้เพียงกิโล 4 บาท"

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เขาคิดจึงถูกกลั่นออกมาด้วยการลงมือทำ อ้ายหวันเคยทำข้าวไร่มาก่อน เมื่อแต่งงานจึงย้ายมาอยู่กับครอบครัวภรรยาเปลี่ยนมาทำนาข้าว และปลูกข้าวโพด แต่ก็ต้องประสบกับการขาดทุน ทำให้เขายิ่งสนใจที่จะหนีให้พ้นจากการปลูกข้าวโพดเพื่อขาย แต่หันมาเอาดีทางด้านการเลี้ยงวัว ปลูกพืชผักนานาพรรณ และเฝ้าเพียรสังเกตและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในนาของตน

ก่อนที่จะคิดค้นข้าว "พันธุ์หวัน 1" มาได้ ต้องผ่านการทดสอบมาเป็นเวลานานถึง 7 ปี ประสบการณ์ที่หลอมเป็นความรู้ตั้งแต่เด็ก จดจำลักษณะพิเศษของข้าวแต่ละพันธุ์มีข้อเด่นข้อด้อย เช่น ข้าวพันธุ์ กข 6 เมล็ดเล็ก หอม อร่อย และเป็นที่นิยม แต่ก็มีข้อด้อยคือ ลำต้นไม่แข็งแรง ล้มง่าย ส่วนพันธุ์พื้นเมือง เมล็ดโต และสั้น มีข้อเด่นคือ ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่าย

อ้ายหวันจึงคิดว่าถ้าปลูกข้าวสองพันธุ์นี้ผสมกันในแปลงเดียว ต้นของพันธุ์พื้นเมือง (พันธุ์หอมทุ่ง) จะช่วยพยุงข้าว พันธุ์ กข 6 ได้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้ จากบทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า ผนวกกับได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ ร่วมกับชมรมอนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้าน จังหวัดน่าน ทำให้รู้ว่าสามารถที่จะเอาส่วนดีของข้าวทั้งสองพันธุ์มาอยู่รวมอยู่ใต้เดียวกันได้ จึงคิดผสมพันธุ์ต่าง ๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากอ้ายหวันแล้ว ยังมีเพื่อนชาวนาคนอื่น ๆ ราว 20 คน ที่ได้ศึกษาและเอาความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ในชุมชนของตน เพราะพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงอาจเหมาะสำหรับพื้นที่บางพื้นที่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ ดิน สภาพอากาศ และอื่น ๆ ดังนั้น ข้าวที่เหมาะสมกับชุมชนแต่ละแห่งนักปรับปรุงพันธุ์จึงต้องเพียรต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ จากคำถามสั้น ๆ ที่ว่า "ข้าวในฝันของคุณเป็นอย่างไร"

...........................................................................

ลุงสนิท สิทธิวุฒิ บ้านเชียงราย ตำบลบ้านดู่ใต้ อำเภอเมือง กล่าวว่า ทำเกษตรมา 20 ปี ปลูกข้าวโพดและถั่วดิน ใช้ต้นทุนสูง แต่ขายได้ราคาต่ำ จึงเปลี่ยนมาปลูกผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว หรือ ผักกับลาบ ปลูกหน่อไม้ ผักกาดเขียวปลี ผักไผ่ ผักสะระแหน่ รายได้กว่าทำไร่ข้าวโพด เมื่อก่อนได้ 7,000- 8,000 บาทต่อปี ตอนนี้หันมาปลูกผักได้ถึง 24,000บาทต่อปี

"การทำนาเมื่อก่อนปลูกพันธ์ เหมยนอง ต่อมาปลูกพันธ์ กข ตามที่เขามาส่งเสริม ทำพันธุ์พื้นเมืองจึงหายไป ต่อมาข้าวในนาเกิดโรคใบไหม้ระบาด ไม่รู้วิธีการแก้ไข ทำให้สนใจที่จะปรับปรุงพันธุ์ข้าว ปี 46 ได้ความคิดมาจากนายหวัน จึงคิดเลือกพันธุ์ ส่วนตัวแล้วอยากได้ข้าวที่ได้ผลผลิตสูง ระยะยาว แข็งแรง ลำต้นแข็งแรง พันธุ์มีอายุยาว ดังนั้นจึงผสมระหว่างพันธ์เล้าแตก และแม่ผึ้ง อีกคู่หนึ่งผสมระหว่างพันธุ์หอมทุ่งกับ กข 6 ท้ายสุดเราจึงได้พันธุ์ข้าวที่เราต้องการมากที่สุด"

เช่นเดียวกับ ป้าปราณี นากองแก้ว แม่บ้านในชุมชนเดียวกันกับลุงสนิท กล่าวว่า เดิมมีพันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์ดอ ประหลาด พันธุ์นางแก้ว พันธุ์อายุสั้น มีความทนทานต่อความแห้งแล้ว ต่อมาสมัยใหม่ ได้ใช้เครื่องนวดข้าว ทำให้สะดวกสบายต่อการแยกพันธุ์ข้าว ต่อมาเครื่องนวดมีข้าวหลายพันธุ์ผสมอยู่จึงไม่ใช้พันธุ์เดิมที่ปลูกในปีนั้น ๆ ไม่ได้แล้ว ต้องซื้อพันธุ์จาก ธ.ก.ส. ทุกปี

ชาวนาจะสามารถผสมพันธุ์ข้าวได้หรือ? แต่ก่อนคิดว่ามีเพียงนักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ทำได้ ตอนนี้คิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องยากและใหม่ เพียงแต่ช้าบ้าง การศึกษาค้นคว้าปรับปรุงพันธุ์สามารถทำได้ตามความต้องการของตนเองและชุมชน คืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจของป้าปราณี
ตัวอย่างชาวนาอย่างอ้ายหวัน ลุงสนิท ป้าปราณี เป็นตัวแทนชาวนากลุ่มหนึ่งผู้ไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรมชีวิตท่ามกลางปัญหาร้อยแปดในภาคการเกษตร การตั้งคำถามต่อความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินอยู่ แท้จริงวีถีทางของชาวนาควรเป็นอย่างไร การเดินไปสู่ "ประเทศพัฒนาแล้ว" อะไรคือตัวชี้วัดความมั่งคั่ง น่าจะเป็นเทคโนโลยีหรืออาหารสังคมไทยเลือกที่จะเดินทาง

วันข้างหน้าของชาวนาไทย

ภายใต้ที่สังคมชาวนาไทยต้องเผชิญกับสงครามในรูปแบบที่ต้องการควบคุมอาหาร โดยเฉพาะพันธุ์พืช ด้วยเหตุและผลในคราบของนักวิจัยและผู้สามารถค้นคว้า ปรับปรุงพันธุ์ชนิดใหม่ขึ้นมา บุคคลสามารถจดสิทธิบัตรเป็นเจ้าของ โดยต้องจ่ายค่ารักษาความเป็นเจ้าของต่อปี ตราบเท่ากำลังจ่ายของแต่ละคน การจดทะเบียนในกฎหมายนี้ทำให้ผู้ต้องการพันธุ์พืชต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการยื่นขออนุญาตเมื่อต้องการใช้ทุกครั้ง

แต่สำหรับชาวนาอย่างอ้ายหวันกลับไม่คิดเช่นนั้น แม้จะได้ "พันธุ์หวัน 1" มาแล้วก็ตาม สำหรับเรื่องการจดสิทธิบัตร อ้ายหวัน กล่าวว่า "เราเป็นเกษตรกร เราไม่ได้คิดเป็นธุรกิจ เพราะเราไม่ใช่นักธุรกิจ สิ่งที่เราคิด 10 ปีข้างหน้าคนก็จะเห็นคุณค่า เราเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ต้องยืนด้วยขาตัวเอง ไม่ใช่เป็นทาสของต่างชาติ"

ทั้งนี้เพราะเห็นว่า "กฏหมายเอื้อคนรวย รับใช้ระบบทุน" หากว่าไปจดสิทธิบัตรตนอาจจะรวย แต่อยู่บนความทุกข์ของคนอื่น และแลกกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนบ้าน การเอามื้อเอาวัน ไม่น่าจะคุ้มที่จะเอาไป ความรู้ที่ตนได้รับนั้นไปแลกกับเงิน

นอกจากไม่คิดแบบธุรกิจ และต้องไม่ทำลายธรรมชาติ "ฟิลิปปินส์ เขาทดลองที่สุดแล้วย้อนกลับมาหาภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ใช้สารเคมี เรื่องระบบการเกษตร เขาพัฒนาไปไกลกว่าเราเยอะ ดูความมั่นคงทางอาหารและดูวิธีการการทำงานด้านเกษตรบ้านเขา ให้รู้ว่าบ้านเราก้าวขาไปแล้ว เราน่าจะย้อนกลับมามองตัวเอง ทำอย่างไรจึงจะเลี่ยงการใช้สารเคมี" อ้ายหวันเป็นผู้หนึ่งที่กล้าถากถางทางถึงวันข้างหน้าของชาวนาไทย และเขาก็ทดสอบ ทดลองทำด้วยหัวใจ

..................................................................

จิรภัทร์ บัวอิ่น
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท