Skip to main content
sharethis

(*รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยในหัวข้อ ความรุนแรงกับการจัดการ" ความจริง" ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ โดยนำเสนองานวิจัยดังกล่าวในเวทีการประชุม กระบวนการจัดการความจริง : การศึกษามิติและพลวัตรของความเปลี่ยนแปลงของ" ความจริง" ในสังคมไทย เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา)

----------
รศ.ชัยวัฒน์ เริ่มต้นการนำเสนอโดยอธิบายถึง พื้นที่" ปัตตานี" ในงานวิจัยว่า หมายถึงภูมิศาสตร์ทางการเมือง (political geography) อย่างหนึ่ง ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นพื้นที่ทางการเมืองวัฒนธรรม ที่ผูกเอาตัวละครและประวัติศาสตร์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ "ปัตตานี" ในแง่นี้จึงหมายถึง พื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และบางส่วนของสงขลาที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

พื้นที่ "ปัตตานี" มีความเหมาะสมในการศึกษาเรื่องความรุนแรง เนื่องจากปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต และกลับมาคุกรุ่นขึ้นอีกในระยะเวลาปัจจุบัน โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาวิจัยพื้นที่ภูมิศาสตร์ทางการเมืองเดิม ในช่วงเวลาที่ยาวไกลขึ้น โดยศึกษาปัญหาทางทฤษฎีด้วยการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงกับความจริง

รศ.ชัยวัฒน์อธิบายว่า ในสายตาของสังคมไทยดูเหมือนว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะกลับคุกกรุ่นขึ้นมา ตั้งแต่เดือนพ.ย.45 ถึงประมาณเดือนเม.ย. 46

แต่เหตุการณ์ทั้งหมดยังเทียบไม่ได้กับระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2547 ซึ่งเริ่มจากการปล้นปืนในค่ายทหารด้วยฝีมือกองกำลังที่มีการวางแผน จัดการอย่างรัดกุมไม่ต่ำกว่า 50 คน

ความรุนแรงต่อมาคือ การลอบสังหารพระภิกษุ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในพื้น
ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะเวลากว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมามิได้เกี่ยวข้องกับบุคคลฝ่ายพุทธศาสนามาก่อน และไม่น่าจะส่งผลกระทบกระเทือนสายสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ซึ่งเคยอยู่กันมาอย่างปกติในพื้นที่

แต่เหตุการณ์สังหารผู้ก่อการที่บริเวณมัสยิดกรือเซะ และการยิงผู้ชุมนุมที่ตากใบ จ.นราธิวาส 6 ราย และในที่เกิดเหตุ อีก 78 รายเสียชีวิตหลังจากถูกจับกุมในระหว่างการขนย้าย ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกระทบถึงผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม จนน่ากังวลถึงแนวโน้มความรุนแรงในอนาคต

เหตุผลประการต่อมาคือ ทางราชการไทยได้ทดลองโดยกำหนดนโยบายความมั่นคงเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับปี 2542-2546 ที่คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 ก.ย.42 ซึ่งเป็นนโยบายที่ต่างจากนโยบายความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ในอดีต เพราะนโยบายดังกล่าวเริ่มต้นจากความจริงพื้นฐาน คือความหลากหลายทางวัฒนธรรม และนำเสนอแนวทางในการอยู่ร่วมกันโดยยังรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มเดิมไว้

การศึกษาเรื่องความรุนแรงกับการจัดการความจริงในภูมิศาสตร์การเมืองปัตตานี จึงน่าจะเป็นประโยชน์ทางนโยบายโดยเฉพาะกับนโยบายความมั่นคงที่อาศัยความจริงเป็นแนวทางในการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองเดียวกันต่อไป

การจัดการความจริง : จากความผิดธรรมดาสู่ความปกติ

รศ.ชัยวัฒน์กล่าวว่า การหาวิธีทำความเข้าใจปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นคือ ให้ความ สำคัญกับนัยยะเชิงสัญลักษณ์ทั้งต่อรูปแบบและเงื่อนไขของความรุนแรงที่ใช้ งานวิจัยจึงเริ่มต้นจากการตั้งคำถามทางทฤษฎีสองข้อ ข้อแรกคือ สังคมมนุษย์อยู่กับความจริงด้วยวิธีการใด

ข้อสอง คือ ความรุนแรงสัมพันธ์กับความจริงอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงทางตรง(Direct violence) คือการใช้อาวุธและกำลังกดบังคับทำร้าย ต่อร่างกาย พื้นที่ หรือผู้เขียนอีกฝ่ายหนึ่ง ความรุนแรงส่งผลให้แบบวิธี(mode) ในการอยู่กับความจริงของสังคมเป็นอย่างไร เปลี่ยน
แปลงหรือไม่ รูปแบบใด

อาณาบริเวณวัฒนธรรมปัตตานีเป็นพื้นที่ศึกษาพื้นที่ทางการเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนมลายูมุสลิม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศกับสยามที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลากึ่งศตวรรษ ความสัมพันธ์นี้เป็นผลของความแตกต่างทั้งทางศาสนา ภาษา วัฒนธรรมประเพณีและประวัติศาสตร์ระหว่างปัตตานีและสยาม อาณาบริเวณปัตตานียังเป็นพื้นที่ที่บ่อยครั้งแปรสภาพเป็นความรุนแรง ดำรงอยู่ตลอดมาในร้อยปี

กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งสี่กรณีนับว่าโดดเด่น พิสดารในประวัติศาสตร์กึ่งศตวรรษของปัตตานี คือ กบฏดุซงญอในนราธิวาส ปี 2491 กรณีหะยีสุหลง หายไปในทะเลสาบสงขลา ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐสังหารและนำไปถ่วงน้ำ

กรณีสังหาร 5 ศพ ที่สะพานกอตอ และการประท้วงที่ศาลากลางปัตตานี ซึ่งเกิดระเบิดผู้ประท้วงเสียชีวิต 13 คน เมื่อปลายปีพ.ศ.2515-ต้นปี 2519 หรือกระทั่งเหตุระเบิดใกล้ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่จังหวัดยะลาเมื่อปี พ.ศ.2510 เป็นกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างโดดเด่นมาก

ความรุนแรงส่งผลต่อการจัดการความจริงของกรณีทั้ง 4 ทำให้สังคมไทยต้องหาแนวทางกลวิธีแปลงความรุนแรง ซึ่งเป็นปรากฏการที่ผิดธรรมดาให้กลายเป็นสิ่งปกติ ความผิดธรรมดาที่ว่านั้นมีความหมายที่สัมพันธ์กันสองประการ

ประการแรก คือ ในทางทฤษฎี แม้ความขัดแย้งจะเป็นสิ่งผิดปกติในความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมการเมืองก็ตาม หากแต่ทรัพยากรในโลกมีจำกัดมนุษย์มีความต้องการพื้นฐานคล้ายกัน ดังนั้น การจัดการทางสังคมให้มนุษย์อยู่ด้วยกันได้ท่ามกลางความขัดแย้งจึงเป็นธรรมดาของการเมืองในประวัติศาสตร์และประสบการณ์ของมนุษย์

ในแง่นี้ความรุนแรงทางการเมืองไม่ใช่เรื่องปกติ ความรุนแรงไม่ใช่ความขัดแย้ง อาจกล่าวได้ว่ามีปัจจัยอื่นเข้ามาเปลี่ยนความขัดแย้งทางการเมืองให้กลายเป็นความรุนแรง ปัจจัยเหล่านี้เรียกว่า
" มายาแห่งอัตลักษณ์" อันเป็นการอาศัยลักษณะเฉพาะพิเศษของตนและกลุ่มของตนมาแยกพวกตน ออกจากผู้อื่น และสถาปนาความสัมพันธ์ให้ผู้อื่นกลายเป็นอะไรบางอย่างที่ด้อยกว่าต่ำต้อยกว่า

การสร้างความเป็นอื่นให้กับฝ่ายที่แตกต่างจากตน สร้างความเกลียดชังผ่านกระบวนการผลิตซ้ำทางความรู้ ความคิด ผ่านช่องทางสื่อสารทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ กลายเป็นสิ่งที่มีผู้สนใจศึกษามากในปัจจุบัน และเป็นข้ออ้างให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ความรุนแรงกับฝ่ายศัตรูเพื่อขจัด ทำลายหรือกำราบให้อยู่ในอำนาจในฝ่ายตน

ประการที่สอง การศึกษาในสังคมไทย กรณีดุซงญอเป็นการต่อสู้ของชาวมลายูมุสลิม กับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไทย มีตำรวจเสียชีวิต 30 นาย และผู้คนชาวมลายูมุสลิมล้มตายจากการต่อสู้ฝ่ายเจ้าหน้าที่มากที่สุดในครั้งเดียว การหายตัวของหะยีสุหลง ชาวบ้านเชื่อว่าถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐสังหารและนำศพไปถ่วงน้ำนั้น ทำให้ในรอบศตวรรษทางการเมืองระหว่างปัตตานีกับสยามโดดเด่นยิ่งขึ้น

งานวิจัยพบว่าในความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีและรัฐบาลไทยในสภาพนี้สังคมการเมืองแต่ละภาคส่วน พยายามผลิตความจริงของตนออกมา คือ สังคมไทยบอกความจริงอันผิดปกติเหล่านั้นต่าง
กันกับวิธีการจัดการความจริง จนความแน่นอนของความจริงที่เกี่ยวกับความรุนแรงเหล่านั้นเลือนรางลง

รศ.ชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า วิธีวิทยาดวงตาค้างคาวที่นำมาใช้ในการศึกษานี้ เป็นแบบวิธีบอกความจริงที่แตกต่างกัน เริ่มต้นจากคำถามหลักโดยอาศัยศิลปะในการบอกความจริง หรือความไม่ลงตัวของความจริงเชิงข้อเท็จจริง เฉกเช่น ค้างคาวส่งสัญญาณออกไปจากตน และตีความที่สะท้อนกลับมาเป็นรูปความจริง

เรื่องความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงในภาคใต้ จึงถูกบังคับอยู่ด้วยเรื่องแต่งที่พยายามทำให้สมจริงด้วยข้อมูลที่ค้นหามาเอง และอ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในข่าวหนังสือพิมพ์ ในนิยายเรื่องนี้มีคนบริสุทธิ์ที่เป็นชาวบ้านมลายูมุสลิมถูกทำร้ายหรือฆ่าตายด้วยน้ำมือเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย มูลเหตุที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างแห่งความไม่เป็นธรรม โศกนาฏกรรมสามัญที่เกิดขึ้นกับผู้คนในอาณาบริเวณวัฒนธรรมปัตตานีจึงมากมายต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

การบอกความจริง ด้วยแบบวิธีที่ต่างกันเหล่านี้ ล้วนทำหน้าที่อย่างเดียวกันคือ ทำให้ความรุนแรงในกรณีที่ผิดธรรมดาอย่างยิ่งทั้งสี่กรณีกลายเป็นสิ่งปรกติ เพื่อให้สังคมโดยรวมอยู่กับความจริงในเรื่องของความรุนแรงดังกล่าวได้

ที่น่าสนใจยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือ ในบรรดาสถาบันที่ทำหน้าที่บอก ความจริงทั้งสี่ คือ อนุสาวรีย์ มูลนิธิ นวนิยาย และข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน นวนิยายทำหน้าที่บอกความจริงได้รอบด้านและตรงไปตรงมาที่สุด เพราะสถานะความเป็นเรื่องแต่งของนวนิยายนั้นเอง ข้อสรุปนี้มีเหตุผลสนับ สนุนสองประการ ประการแรกคือประเพณีการแต่งนิยายในอดีต และประการที่สองคือการ เมืองของเรื่องแต่งนั้น

อีกทั้งเรื่องที่แต่งขึ้นมักถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องจริงอยู่แล้ว ทำให้ผู้เขียนอาจบอกกล่าวเรื่องราวที่เป็นจริง เท่าที่ตนรู้ได้มากกว่า โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้สลับซับซ้อนผูกพันผลประโยชน์ ความคดโกงของผู้คนหลายฝ่าย มีการใช้อำนาจรังแกจนคนไม่กล้าพูดความจริง เรื่องแต่งอย่าง นวนิยาย กลับเป็นเรื่องที่น่าจะเข้าใกล้ความจริงกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณวัฒนธรรมปัตตานีได้มากยิ่งกว่าสถาบันที่ผลิตความจริงอย่างอื่น

นัยทางนโยบายของความรุนแรงกับการจัดการความจริง

วิธีวิทยาดวงตาค้างคาวช่วยให้ได้เห็นแบบวิธีการบอกความจริง ความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับสยาม และเตือนให้ผู้ใช้ตระหนักว่า ค้างคาวยังตาบอดแต่ใช้การส่งสัญญาณออกไปจากตนและตีความที่สะท้อนกลับมาเป็นรูปความจริง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น คงไม่ใช่ความจริงทั้งหมดในยุคที่ความรุนแรงปรากฏทั่วไป แต่ความรุนแรงก็สำคัญกว่าความจริง

เกณฑ์การตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดนั้น เป็นเรื่องน่าสนใจและย่อมสัมพันธ์กับวิธีที่สังคมจัดการความจริงอยู่ คำถามที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์มากมายเกี่ยวกับความจริงนั้น บ่อยครั้งสังคมสมัยใหม่ไม่อาจดำรงอยู่กับความจริงเชิงข้อเท็จจริง คำถามในแง่เกี่ยวกับความจริงจึงส่งผลสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ผลงานวิจัยเรื่องนี้ไม่อาจช่วยลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงเพราะไม่ได้มุ่งตอบปัญหาว่าความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นมีปัจจัยเช่นไร งานวิจัยนี้ตั้งคำถามว่า ความรุนแรงสัมพันธ์กับความจริงอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรุนแรงทำให้สังคมต้องจัดการความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงชนิดที่แตกต่างออกไป จากเรื่องอื่นๆอย่างไร

คำตอบที่ได้มีผลต่อความเข้าใจความรุนแรงที่ส่งผลต่อการจัดการความจริงและวิธีการทำงานของสังคมไทยในเวลาเดียวกัน มากกว่าจะตอบได้ว่า ความรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุใด

การเข้าใจความรุนแรงมากขึ้น เข้าใจความสลับซับซ้อนของสังคมไทยโดยรวมมากขึ้น ผ่านวิธีจัดการความจริงรูปต่างๆ จนเห็นความสำคัญของความจริงที่พล่าเลือนในสังคม โดยเฉพาะบริบทประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานีในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ความลวง อาจจะช่วยให้ตั้งคำถามที่มีผลทางนโยบายของประเทศไทยกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันอาจนำไปสู่การช่วยลดเงื่อนไขของความรุนแรงได้ในอนาคตได้

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net