Skip to main content
sharethis

ประชาไท-11 ก.พ.48 "การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภา ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม" คือสาระหนึ่งที่ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ประธานโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กล่าวสรุปในงาน สู่ทศวรรษที่7ปฏิวัติ 2475/สถาปนา มธก.2477 ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่ ภายหลังการอภิปราย "การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 6 กุมภา"

เวียงรัฐ เนติโพธิ์, อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ชี้ว่าสิ่งที่ไม่เปลี่ยน แปลงตลอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 จนถึง ค.ศ.2005คือ รัฐไม่เคยสลายกลุ่มผู้มีอิทธิพลผู้นำท้องถิ่นที่ใช้ระบบอุปถัมภ์ และผู้มีอิทธิพลเหล่านี้คือ คนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับสังคม โดยความเห็นของเธอมองว่ารัฐไทยที่ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลเป็นรัฐที่อ่อนแอในการนำพาสังคมไปสู่เป้าหมาย หรือแทรกแซงสังคม รัฐแทรกแซงไม่ได้มากแต่มีตัวกลางทำหน้าที่แทน

อาจารย์เวียงรัฐยังได้แสดงความเห็นต่อด้วยว่า "รัฐบาลมีความสามารถในการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากระบบอุปถัมภ์ ไม่ได้ปราบแต่ใช้อย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งการใช้อย่างแนบเนียนนี้อาจกลายเป็นการสถาปนาให้การอุปถัมภ์กลายเป็นระบบ" โดยเธอได้ยกคำพูดของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้สัมภาษณ์ไว้หลังการเลือกตั้งว่า "ใครทำอะไรไว้ ต้องจ่ายกลับคืน" อาศัยการจัดสรรที่ลงตัว"

ซึ่งเธอได้เปรียบเทียบสิ่งที่หัวคะแนนจะได้รับประโยชน์ที่แตกต่างกัน คือในปี 1997 หัวคะแนนคนหนึ่งซึ่งเป็นคนในชุมชนแออัด คุมเสียงได้ 300เสียง เขาบอกว่าได้เงินมาหลายพัน เอาไปดาวน์รถมอเตอร์ไซค์ได้ แต่ใน ค.ศ.2004 จากการสัมภาษณ์หัวคะแนนหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีฐานะดี เป็นอดีตนักข่าว กว้างขวางมีคนรู้จักมากทำให้ได้ข้อมูลว่า วางแผนให้พรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งให้ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่ได้เป็นเงินแต่มีการสัญญาว่าจะให้เธอได้ชนะการประมูลงาน

อาจารย์เวียงรัฐมองว่า "ระบบอุปถัมภ์ที่เคยกระจายกลับกระจุกและเป็นระบบมากขึ้น สิ่งตอบแทน "ตัวเงิน" ไม่เกิดการ Mobilization แต่สิ่งตอบแทนที่มาในรูปของผลประโยชน์ไม่ตกถึงชาวบ้าน"

ประเด็นสุดท้ายอาจารย์เวียงรัฐได้กล่าวถึงการที่มีการยกตัวอย่างรัฐบาลพรรคเดียวที่ครองอำนาจยาวนานอย่างพรรคLDPของญี่ปุ่นว่าสามารถนำการพัฒนาประเทศได้มากมายนั้น สำหรับเธอมองว่าสิ่งที่ต่างกันระหว่างสังคมไทยกับญี่ปุ่นคือรัฐบาลพรรคเดียวของญี่ปุ่นบริหารประเทศบนพื้นฐานสังคมที่มีโครงสร้างระบบราชการที่แข็งแรงมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ในขณะที่สังคมไทยไม่ใช่อย่างนั้น จึงเกรงว่ารัฐบาลพรรคเดียวที่ได้ของไทยจะเป็นรัฐบาลแบบมาร์คอสหรือซูฮาร์โตมากกว่า

อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เริ่มการอภิปรายด้วยการชี้ให้เห็นว่า นายกฯทักษิณเป็นเสมือนเจ้าผู้ปกครองสมัยใหม่ (Modern Prince) ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางแสวงหา ผู้นำที่มีทั้งพระเดชพระคุณ ต้องการผู้นำที่เด็ดขาดฉับไว ด้วยภาพของการเป็นเศรษฐี ร่ำรวย ประสบความสำเร็จ พิสูจน์กรรมดีเป็นเสมือนบุญบารมี ที่เหนือกว่าลักษณะผู้นำในสังคมไทยโบราณคือการเป็นเทคโนแครตเป็นนักบริหารมืออาชีพ

การที่มีความพยายามจะนำเรื่องดวงเมืองกับบุญบารมีของผู้นำมาผูกกันนั้น อาจารย์ประจักษ์มองว่าเป็นการหลบเลี่ยงการมองกลับมาที่ตัวเองของชนชั้นกลางในสังคมไทยว่าเราหล่อเลี้ยงวัฒน ธรรมการใช้อำนาจการเหยียดชาติพันธุ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้อย่างไร ถึงเวลาที่สังคมไทยหรือชนชั้นกลางต้องกลับมามองตัวเองด้วย

"เผด็จการที่มาด้วยการเลือกมาเองมอบให้เองเน้นให้เห็นการให้คุณค่าต่อ "เสถียรภาพ" มากกว่า "สิทธิเสรีภาพ" ความคิดว่าการตรวจสอบถ่วงดุลไม่จำเป็นนักถ้ามีรัฐบาลที่ดี การเล่นการเมืองมากไม่ดี บ้านเมืองได้พัฒนาระบอบทักษิณมาสานฝันเผด็จการทหารจนถึงจุดสุดยอด มีความชอบธรรมมากกว่าเพราะมาจากการเลือกตั้ง" คือทัศนะจากนักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่

ประเด็นที่อาจารย์ประจักษ์เป็นห่วงคือเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งแลกมากับการสูญเสียเสถียร ภาพทางสังคม เพราะหากย้อนมองกลับไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาไม่มีรัฐบาลไหนที่ประชาชนต้องเผชิญกับการละเมิดโดยรัฐมากเท่ารัฐบาลชุดนี้

ขณะที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ทำให้สิ่งที่เรียกว่า "สองนครา-ประชาธิปไตย" คลี่คลายไป แต่สิ่งที่กำลังเกิดใหม่ผลการเลือกตั้งส่วนใหญ่กับผลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้สะท้อนสิ่งที่เรียกว่า "สองนครา-ชาตินิยม" ผ่านการแสดงมติมหาชนที่ต่างกันมองประเด็นผลประโยชน์แห่งชาติและความเป็นชาติไม่เหมือนกัน มีกลุ่มที่มองชาตินิยมแบบเก่าในลักษณะของการไม่ยอมสูญเสียดินแดน ที่คับแคบกับกลุ่มชาตินิยมแบบ3ชายแดนใต้ การออกมาใช้สิทธิอย่างล้นหลามคือการบอกว่าเขานับรวมว่าอยู่ในชาติ แต่อาจจะต้องการผู้นำที่น่ารักกว่านี้ ซึ่งต่อเรื่องนี้ที่น่ากลัวคือท่าทีหรือคำพูดของนายกฯที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ทำมาผิด และยังมีการประกาศว่าจะมากินเรียบในครั้งต่อไป อาจารย์ประจักษ์กล่าวทิ้งทาย

ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงชัยชนะของพรรคไทยรักไทยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากผลงานของรัฐบาลเท่านั้นแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่พอใจต่อผลงานของพรรคฝ่ายค้าน และผลการเลือกตั้งที่ออกมาในลักษณะที่ไทยรักไทยได้ที่นั่ง 75เปอร์เซ็นต์ไม่ได้สะท้อนว่าประชาชน 3ใน4 เลือกไทยรักไทยเพราะเมื่อดูผลคะแนนการเลือกแบบแบ่งเขตในหลายพื้นที่จะพบว่ามีการชนะคะแนนกันที่หลักพัน หลักร้อยอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ดร.ปริญญายังสะท้อนให้เห็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกสส.ในระบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดคะแนนอย่างน้อย 5เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้พรรคมหาชนซึ่งได้คะแนนบัญชีรายชื่อประมาณ 1.4ล้าน ซึ่งเท่ากับ 4เปอร์เซ็นต์ไม่ได้รับเลือก และทำให้คะแนนของไทยรักไทยซึ่งได้ประมาณ 17 ล้านคิดเป็นเท่ากับ 50เปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดกลายเป็นได้ สส.บัญชีรายชื่อ 68 คนหรือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นว่าเสียงของคน 4เปอร์เซ็นต์ไม่ถูกรับฟัง

สำหรับกลไกทางกฎหมายที่ทำให้คะแนนเสียงข้างน้อยดำเนินการตรวจสอบได้ยากนี้ ดร.ปริญญาได้ชี้ว่าการอภิปรายรัฐมนตรีรายบุคคลต้องอาศัยเสียง 1ใน5 เท่ากับ 100 เสียง ซึ่งถ้า
ประชาธิปัตย์มี 95เสียง ต้องรวมกับชาติไทยจึงจะทำได้ ในส่วนของการตรวจสอบตามมาตรา303 กรณีทุจริตต่อหน้าที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีเสียง สส.1ใน4 ซึ่งหมายถึงต้องมีเสียงถึง 125 หรือประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 รายชื่อ ขณะนี้ไทยรักไทยได้มี 377เสียง แต่เชื่อว่าต้องมีหลายเขตที่เลือกตั้งใหม่ ซึ่งการทำให้ได้เพิ่มอีก 2เสียงเพื่อสามารถทำงานตรวจสอบได้มากขึ้นน่าจะเป็นไปได้

ดร.ปริญญาได้กล่าวสรุปท้ายว่า "สิ่งที่จะเกิดใน4ปีข้างหน้าคือกระบวนการเรียนรู้ในสังคมไทย "เสียงข้างมากโดยพลเรือน" เป็นประสบการณ์ที่สังคมไทยต้องเรียนรู้"

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net