Skip to main content
sharethis

---------------------------------- 1 -----------------------------------------

"ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา" จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อนี้หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยรับรู้เรื่องราวมาบ้างแล้ว เพราะที่นี่ผ่านการพิสูจน์ความเป็น "ของจริง" มากว่า 20 ปี และถูกนำเสนอต่อสาธารณชนหลายต่อหลายครั้ง

การตระเวนคัดเลือกและตระเตรียมพื้นที่ชุมชนหลากหลายแห่งทั่วประเทศของทีมงานดินสอสี และกลุ่มมะขามป้อม เพื่อหาชุมชนที่มีเรื่องราวอันสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและของคนในสังคม มาเข้าร่วมโครงการ "ห้องเรียนชุมชน" ของวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) นั้น ก็ยิ่งเป็นการขับเน้นความน่าสนใจของ "แม่ทา" ให้เด่นชัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

"ความยั่งยืน" ของที่นี่อยู่บนแนวคิดที่น่าสนใจยิ่ง นอกจากจะจัดตั้งระบบสหกรณ์เพื่อระดมเงินทุนหมุนเวียนแก่สมาชิก และเป็นการสร้างอำนาจต่อรองในการซื้อหาวัตถุดิบต่างๆ แล้ว ยังมีการแบ่งส่วนงานกันอีกหลายอย่าง ทั้งงานปุ๋ยหมัก งานแปรรูป งานด้านการตลาดที่จะทำการกระจายสินค้าแปรรูป หรือพืชผักไปยังที่ต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการ 15 คน กับกลุ่มสมาชิกที่แบ่งเป็น 9 กลุ่ม ซึ่งในจำนวนนี้เราพบผู้หญิงเก่งอยู่ไม่น้อย ทั้งงานหน้าฉากจนถึงท้ายครัว

แม่สุพรรณ์ กำเพ็ญ หนึ่งในคณะกรรมการสหกรณ์ฯ หัวเรี่ยวหัวแรงในการหาตลาด เล่าถึงความยากลำบากในช่วงแรกๆ ว่า กว่าจะขายผักได้กำหนึ่ง 5 บาท ต้องอธิบายให้บรรดาข้าราชการ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มแรกๆ ฟังจนเสียงแหบเสียงแห้ง แถมบางคนซื้อไปแล้วเอากลับมาคืนอีก เพราะนึกได้ว่ามันสวยเกินไป แต่ตอนนี้กลุ่มลูกค้าเริ่มขยายจำนวนและความหลากหลาย พวกเขาเข้าใจและเชื่อมั่นมากพอที่จะยอมควักกระเป๋า แม้ราคาพืชผักจะสูงกว่าปกติเกือบเท่าตัว

---------------------------------- 2 -----------------------------------------

ดูเหมือนหัวใจสำคัญที่สุดของ "ความยั่งยืน" นั้นหาได้อยู่ที่ตัวสถาบัน หรือความชาญฉลาดในการจัดการของคนรุ่นดึกไม่ หากอยู่ที่ "หน่ออ่อน" หรือคนรุ่นใหม่ ซึ่งผู้ใหญ่ที่นี่ต้องต่อสู้แย่งชิงคืนมาจากเมืองใหญ่ แสงสี รวมทั้งระบบการศึกษารวมศูนย์ที่สั่งสอนให้ลูกหลานของพวกเขาแปลกแยกและดูถูกรากเหง้าของชุมชนตนเอง

"คนเดี๋ยวนี้เรียนจบสูง มีความรู้แต่ไม่มีความคิด พูดตรงๆ ว่าการศึกษาสอนให้เด็กหนีจากชุมชน เกลียดชุมชน สอนคนให้ไปเป็นลูกจ้าง มันก็ดี แต่มันต้องเรียนรู้รากเหง้าด้วย ให้รู้ทั้ง 2 ทางเป็นทางเลือก ถ้ามันตกงานมันก็ทำนาเป็น ถ้าฟองสบู่แตกครั้งใหญ่อีก กลับบ้านก็ไม่ใช่ปัญหาของประเทศ จึงช่วยกันคิดว่าทำยังไงจะดึงเขากลับมา อย่างแรกมันต้องทำให้เขาภาคภูมิใจ และเข้าใจรากเหง้าของชุมชนตัวเอง ให้เขาเห็นคุณค่าของผืนดิน ของการเกษตร"

"ลูกหลานเมื่อก่อนเห็นที่ดินดีๆ ก็คิดว่าจะใช้ผลิตอาหารอะไร ลูกหลานเดี๋ยวนี้พอมันเห็นที่ดินแล้ว มันก็คิดทันทีว่าจะขายได้เท่าไรวะ" ผู้นำชุมชนผู้ร่ำรวยอารมณ์ขันอธิบายแนวคิดสร้างจิตสำนึกคืนถิ่นให้ลูกหลานในหมู่บ้าน

พวกเขาเริ่มต้นที่ลูกหลานผู้นำชุมชนด้วยกันเอง ช่วงแรกนั้นดึงกลับมาได้ 4 คน ผ่านมา 4-5 ปี ถึงทุกวันนี้มีอยู่ 11 คน อายุตั้งแต่ 19 ปีจนเกือบๆ 30 ปี โดยอาศัยโครงการวิจัยต่างๆ ที่ลงมาในพื้นที่เป็นเสริมช่วยให้เยาวชนมีความเข้าใจในชุมชนของตนเอง

โดยเฉพาะโครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข หรือ สรส. ของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ให้เยาวชนถอดองค์ความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ รวมทั้งวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้านหลายอย่าง ที่กำลังจะเลือนหายไปจากชุมชนเต็มที

ประสบการณ์ของพวกเขา วิธีคิดของพวกเขา ตลอดจนศักยภาพของพวกเราล้วนน่าสนใจ และน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิรูปการศึกษาได้เป็นอย่างดี

---------------------------------- 3 -----------------------------------------

" เราไปเรียนหนังสือในเมืองตั้งแต่เล็ก มันเกิดการเปรียบเทียบกับบ้านเรา และเห็นว่าที่นี่น่าจะดีกว่า ต้องลองดูว่ามันจะดีไหม เลยกลับมาช่วยพ่อแม่ทำงาน ปฏิบัติจริง ไม่ใช่เดินตามทฤษฎี มันก็เริ่มซึมซาบและเข้าใจ มันจุดประกายให้เราอยากต่อสู้ และอยากขยายแนวคิดให้มันทันสมัย ส่งออกได้ คนอื่นรับรู้ได้" ศิลป์ชัย นามจันทร์ หรือเจ๋ง วัย 23 ปี เล่าประสบการณ์ 8 เดือนที่เขากลับมาอยู่บ้านให้พวกเราฟัง

หลังจากเจ๋งจบปวส.ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ในเมืองใหญ่แห่งหนึ่งทางภาคเหนือ เขาก็ดิ้นรนหางานทำไม่ต่างจากคนอื่นๆ โดยได้งานเป็นพนักงานขายของบ้าง เป็นผู้ช่วยกุ๊กบ้าง นอกจากสายงานจะไม่เคยเวียนมาตรงกับที่เรียนแล้ว เงินเดือนที่ได้ก็ยังไม่พอเลี้ยงตัว จนกระทั่งเกิดอาการสับสนในชีวิต แล้วหันกลับมาดูพ่อแม่ผู้มีความรู้น้อยเป็นแบบอย่าง

เจ๋งเป็นคนคุยสนุก เขาพาแขกผู้มาเยือนฝ่าสายหมอกและละอองน้ำค้างเย็นเยียบไปดูสวนของพ่อ และสวนของเขาเองในเช้าวันหนึ่ง พร้อมทั้งอรรถาธิบายการต่อสู้ดิ้นรนของพ่อกว่าที่จะปลุกปั้นดินทรายที่แห้งแล้งเป็นสวนเขียวชะอุ่มชุ่มน้ำ และเขินเล็กน้อยที่จะอวดสวนน้อยๆ ของเขาเอง เพราะต้นไม้ยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ต้นเท่าเข่าหรืออย่างเก่งก็เท่าเอว ถึงกระนั้น ละมุดก็ยังอุตส่าห์ออกลูกเต็มต้นน้อยๆ ให้เจ้าของได้ยิ้มไม่หุบ

"นั่น วัวผมๆ เก็บตังค์ซื้อตั้ง 2,500 แม่มันไม่มีนมให้กิน สงสารเลยซื้อมา ส่วนอีก 9 ตัวนั้นของพ่อ ผมกะเลี้ยงไปเรื่อยๆ ให้มันเป็นแม่พันธุ์ กลุ่มเราส่วนใหญ่จะเอาเงินก้อนมาซื้อวัว เลี้ยงปีสองปีก็ขาย ได้เงินเยอะกว่าดอกเบี้ยเงินฝากอีก" เจ๋งยังอวดสมบัติของเขาไม่หยุดหย่อน

บนถนนลูกรังก่อนกลับที่พัก เส้นทางเงียบจนน่าใจหาย เจ๋งเหมือนอ่านความคิดคนนอกออก เขากล่าวขึ้นมาลอยๆ ว่า มองดูเหมือนชีวิตที่นี่มันน่าเบื่อ แรกๆ เขาก็คิดเช่นนั้น แต่พอมาอยู่จริงกลับพบว่ามีกิจกรรม มีเรื่องมีราวมากมายให้ทำไม่หยุดหย่อน จนในที่สุดก็ปรับตัวให้คุ้นชินกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายได้แม้อายุยังน้อย

"ผมห่วงคนที่ทำเกษตรแบบนี้ตั้งแต่อายุน้อยๆ เหมือนกัน มันง่ายๆ สบายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน จนน่ากลัวว่า ถ้าออกไปข้างนอกคงไม่ทันเขา" ข้อวิตกกังวลไม่มากนักที่เราพบ ซึ่งอาจหมายรวมถึงตัวเขาเองด้วย

ส่วน "หนุ่ย" หรือธวัชชัย อ๋องทิพย์ วัย 25 ปีก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชีวิตผาดโผนโจนทะยานอย่างน่าหวาดเสียว ซึ่งนั่นอาจจะสร้างบุคลิกที่เหมือนจะหาเรื่องอยู่ตลอดเวลาให้เขาได้อย่างลงตัว แต่หากสัมผัสจริงๆ แล้วจะพบว่า "ขำมาก"

ชีวิตวัยเด็กที่ต้องอยู่กับตาและยาย ในขณะที่แม่ไปทำงานที่ร้านอาหารในกรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ทำให้หนุ่ยเป็นคนติดเพื่อนอย่างฉกาจฉกรรจ์ เขาทำทุกอย่างที่เพื่ออยากให้ทำ เขาไปในทุกที่ที่เพื่อนอยากให้ไป ก่อเรื่องตั้งแต่ชกต่อยจนถึงติดยา

"ติดยาอยู่ 2 ปี มันแย่ สงสารยาย แม่ก็ไม่รู้ เลยตั้งใจว่าจะไม่ทำให้แม่ผิดหวัง หักดิบจนเลิกได้เอง แล้วเพื่อนก็ชวนเข้ามาพัฒนาชุมชน เข้ามาดูเกษตรยั่งยืน เข้ามาแรกๆ ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร คิดว่าคงเหมือนพวกเชิงเดี่ยว ต้องทำงานตากแดดตากฝน แต่ซักพักก็เรียนรู้ว่ามันไม่ใช่ ได้เรียนรู้แนวคิด เทคนิควิธีการ แล้วพออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีมันก็ได้พัฒนาตัวเองด้วย เมื่อก่อนไม่กล้าคิดไม่กล้าแสดงออก นิสัยก้าวร้าวเถียงยายตลอดเวลา มาตอนนี้เราใช้เหตุใช้ผลมากขึ้น" คำบอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตหนุ่ย ที่เจ้าตัวนิยามเองว่าเหมือนกับพลิกฝ่ามือ

ถึงวันนี้หนุ่ยก้าวข้ามการต่อสู้กับตัวเองมาสู่การต่อสู้กับความเข้าใจของแม่ เพราะแม่เคยล้มเหลวจากภาคการเกษตรมาก่อน และคาดหวังอย่างรุนแรงให้ลูกชายคนเดียวคนนี้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น

"แม่ยังไม่รู้เรื่องที่ผมมาทำตรงนี้ ผมเริ่มไปแล้วประมาณ 3 งาน กำลังศึกษาเพิ่มเติม คิดว่าตอนนี้มีความรู้แล้วประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ..........ถ้าแม่กลับมาเดือนเมษานี้ ผมว่าจะอธิบายให้เขาฟัง ยังไงผมก็ไม่อยู่ญี่ปุ่น" หนุ่ยกล่าวทิ้งท้าย

ตรงกันข้ามกับ "แพร" หรือศรีแพร กำเพ็ญ คุณแม่ยังสาววัย 27 ปี ซึ่งเพิ่งมีเจ้าตัวเล็กได้ไม่นาน และร่วมอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ช่วยทำงานวิจัยต่างๆ ประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมกับเยาวชน และช่วยงานสหกรณ์อีกจิปาถะ

แพรเป็นคนที่ใช้ชีวิตกับเกษตรยั่งยืนยาวนานที่สุดถึง 4 ปี โดยก่อนหน้าจะมาทำโครงการเยาวชน แพรเป็นนักส่งเสริมการเกษตร และก่อนหน้าที่จะมาเป็นนักส่งเสริมการเกษตร แพรเป็นแม่ค้าในตลาดสี่มุมเมือง เป็นสาวโรงงานอีกหลายแห่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพรายได้ต่ำและไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน

เธอแต่งงานกับนายกอบต. ซึ่งอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง และมาร่วมด้วยช่วยกันในโครงการสร้างคนรุ่นใหม่อย่างขมีขมัน ไม่นับรวมถึงพ่อแม่สามีที่ก็อยู่ในกลุ่มเกษตรยั่งยืนรุ่นบุกเบิก ฉะนั้น เธอจึงทำงานได้อย่างเต็มที่และสบายใจ

เราถามคุณแม่อารมณ์ดีถึงแผนการในอนาคต รวมทั้งแผนที่ชีวิตของลูกน้อย เธอตอบโดยไม่ต้องคิดว่า ขอเพียงให้ลูกเป็นคนดี มีความสุข แค่นี้เป็นพอ ส่วนอนาคตเธอพอใจจะให้มันเป็นเช่นปัจจุบันซึ่งเธอก็ค้นพบที่ทางและมีความสุขดีอยู่แล้ว

คำตอบที่ดูเหมือนสำเร็จรูป ยังความไม่น่าเชื่อให้เกิดแก่ผู้ซักถาม จนต้องถามย้ำว่า อายุยังน้อยแบบนี้เสียดายชีวิตในเมือง ซึ่งอาจหมายถึงอนาคตที่ดีกว่าบ้างไหม ด้วยความคาดหวังว่าอย่างน้อยคำตอบน่าออกมาในทำนองว่ามีบ้างในช่วงต้นๆ ของการตัดสินใจ แพรนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนตอบ

"เสียดาย....เสียดายมากที่มัวแต่ไปเสียเวลาทำอย่างอื่นตั้งนาน" คนที่อยู่ร่วมวินาทีนั้นเท่านั้นที่จะสัมผัสได้ว่ามันจริงเพียงใด

------------------------------------ 4 -----------------------------------------

สองวันสุดท้ายของการเยือนชุมชนแม่ทา กลุ่มมะขามป้อมทุ่มเทพลังเต็มที่ในการทำกิจกรรมร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อแสวงหาจุดเด่นของชุมชนและวิธีการนำเสนอแก่คนทั่วไปในวันมหกรรม "ห้องเรียนชุมชน" ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1-3 เมษายนนี้ โดยการทำกิจกรรมกับกลุ่มเยาชนหลากอายุนี้เป็นไปอย่างเป็นเนื้อเดียว และเต็มไปด้วยเสียหัวเราะ (เกือบจะตลอดเวลา)

"เราแทบไม่ต้องทำอะไรแล้ว เพราะที่นี่เขาพร้อมมาก เพียงแต่ช่วยให้เขาสอบทานคอนเซ็ปต์ของชุมชนให้ชัดเจนอีกครั้ง และให้เทคนิคต่างๆ ในการนำเสนอนิดหน่อย ซึ่งถ้าจะให้ประเมินคงประเมินไม่ถูก เพราะแค่เขากลับบ้านมาทำสิ่งที่เขาทำอยู่นี่ก็เป็นเรื่องน่าปลื้ม น่าทึ่งมากแล้ว มันสำเร็จแล้ว แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนมหกรรม 3 วันที่กรุงเทพฯ นั้นมันเป็นแค่กุศโลบายให้พัฒนาวิธีการนำเสนอ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนเท่านั้น" พี่แมพ สุพงศ์ จิตต์เมือง แห่งกลุ่มมะขามป้อมเปิดใจให้สัมภาษณ์ขณะนั่งผิงไฟ

ขณะที่เจ้าของโครงการอย่างชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากวจส. กล่าวถึงที่มาของงานครั้งนี้ว่า "โครง การนี้ต้องการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของการศึกษา กลุ่มของแม่ทาเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ พวกเขาศึกษาดูงานจนตกผลึก และเริ่มต้นปฏิบัติการจริงในวิถีชีวิตของตัวเอง นอกจากชุมชนจะเป็นแห่งเรียนรู้ให้กับคนภายในชุมชนแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคมด้วย"

พร้อมๆ กับประกาศว่า ขณะที่ปรัชญาการศึกษาในระบบมุ่งแปรธรรมชาติให้เป็นทุน เรียนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เรียนแล้วต้องมีเงินเดือน ซึ่งก็หมายถึงการเป็นลูกจ้าง ปรัชญาของห้อง เรียนชุมชนขอเป็นไปในทางตรงข้าม คือ อยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่แข่งขัน เน้นการอยู่ร่วมกัน และสุดท้ายคือการพึ่งตนเอง

"ทำอย่างไรให้รัฐยอมรับว่าภาคประชาชนมีกระบวนการจัดการศึกษาของตนเอง เพื่อให้รัฐสนับสนุนและเชื่อมโยงเข้ากลับระบบการศึกษาหลักด้วย"

"และทำอย่างไรให้คนยอมรับว่าชาวบ้านหลายคนเป็นอาจารย์ ที่ศึกษาจากการปฏิบัติจริง จนมีความรู้อยู่ไม่ใช่เฉพาะในสมองแต่ในหัวใจด้วย" เสียงสะท้อนจากแกนหลักดำเนินโครงการ

-------------

ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา คือถนนสายใหม่ของผู้ที่เคยถูกเบียดตกจากถนนวันเวย์ วันนี้พวกเขาก้าวเดินอย่างสง่างาม และต้องการประกาศให้โลกรู้ถึง "ทางเลือก" ที่ยังเหลือ สำหรับผู้บาดเจ็บและอ่อนล้าอีกมากมาย

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net