Skip to main content
sharethis

------------------------------------------- 1 -------------------------------------------
"เกษียร เตชะพีระ" นักวิชาการฝีปากกล้าแห่งรั้วธรรมศาสตร์เคยเปรียบ "การพัฒนา" ของสังคมทุกวันนี้ว่าเหมือน "ถนนวันเวย์" ที่รุดหน้าไปทิศทางเดียวด้วยอัตราเร่งสูงสุด โดยไม่แยแสกับผู้คนที่ถูกเบียดตกข้างทาง ถูกทับ ถูกทิ้ง ถูกลืมไว้เบื้องหลัง (ย้อนศรวันเวย์,2537)

หากเราตั้งต้นเช่นนั้น คงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า ผู้ถูกเบียดตกจากถนนสายนี้กลุ่มแรกและกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ "เกษตรกร"

ปรากฏการณ์ซ้ำซากยาวนานที่ผ่านมาบอกเราว่า ก่อนที่เกษตรกรจะผันตัวเองมาเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูก หรืออาชีพหาเช้ากินค่ำอื่นใดในเมือง พวกเขาก็เคยตะเกียกตะกายไปบนถนนสายเดียวกันด้วยการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องประสบกับรูปแบบความเจ็บปวดที่ไม่ต่างกัน เป็นโศกนาฏกรรมสากลที่คงไม่ต้องบรรยายให้มากความ

แต่โครงการ "ห้องเรียนชุมชน" ของวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ร่วมกับกลุ่มดินสอสี และกลุ่มมะขามป้อม ได้พาเรามาทำความรู้จักกับชุมชนกลางหุบเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ อันทำให้จินตนาการเกี่ยวกับ "เกษตรกร" ของคนเมืองเปลี่ยนไป เพราะมันหาได้หมายความถึงความล้มเหลว ยากจน ขัดสน ต่ำต้อย หรือผู้อยู่ชายขอบของการพัฒนา ที่ผู้คนบนถนนวันเวย์มักรำลึกนึกถึงด้วยความเวทนาอีกต่อไป

"ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน มันอยู่ที่อิสรภาพ เสรีภาพทั้งในทางความคิด และการดำเนินชีวิต พูดตรงๆ ผมสงสารคนกรุงเทพ เขาไม่มีทางเลือก" อ้ายพัฒน์ อภัยมูล ผู้นำชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งบ้านแม่ทา ตำบลแม่ทา กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนความรู้สึก ในทางตรงข้ามออกมาตรงๆ โดยมิได้มีแววเย้ยหยันแม้แต่น้อย

อิสรภาพ เสรีภาพ ที่ว่านี้หมายความง่ายๆ ถึงการไม่มีหนี้สิน การได้กินพืช ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ การได้มีเงินไว้ใช้จ่ายพออยู่พอกิน การที่คนในครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา การที่เพื่อนบ้านมีอยู่มีกินและรักใคร่กัน การที่อยู่ๆ นึกจะหยุดทำงานก็หยุด หรือกระทั่งการนอนตื่น 8 โมงเช้าในหน้าหนาว....ฯลฯ

"ฝนจะตก 7 วัน 7 คืน ลูกไม่มีงานทำ ไม่มีปัญหา เพราะข้าวมีอยู่เต็มบ้าน กินได้ทั้งปี ผักอยู่ริมรั้ว ไก่ก็อยู่ในเล้า หน้าหนาวนี่ ยังไม่ 8 โมงอย่ามาเรียก ...บางทีก็คิดว่าเฮานี่ก็ดี สบายเหมือนเป็นเจ้าคนนายคน มีอาหารคุณภาพ ได้กินอิ่มนอนอุ่น" อ้ายพัฒน์บรรยายสภาพชีวิตด้วยคำภาคกลางสำเนียงภาคเหนือที่ฟังสนุกเป็นอย่างยิ่ง

แม้จะดูเป็นภาพชีวิตและสังคมชนบทที่สุดแสนจะโรแมนติกก็ตาม แต่ท่ามกลางกระแสทุนนิยม บริโภคนิยมที่เชี่ยวกรากเช่นนี้ ไม่ง่ายนักที่คนเราจะหันมาทวนกระแส และ "เพียงพอ" อยู่กับความต้องการ "พื้นฐาน" ของชีวิต มันไม่เพียงต้องรื้อและสร้างความคิดขึ้นใหม่อย่างขนานใหญ่ หากแต่ต้องจำกัดกิเลสภายในลงไม่น้อยด้วยเช่นกัน

------------------------------------------- 2 -------------------------------------------

อ้ายพัฒน์ก็เหมือนเกษตรกรคนอื่นๆ ที่บาดเจ็บจากความล้มเหลวของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวรับใช้นายทุน ที่เน้นการใช้สารเคมีอย่างหนักหน่วงมายาวนาน

จนปี 2529 ที่วิกฤตการณ์ความอ่อนแอของสุขภาพ และความแตกแยกในครอบครัว ได้แผ่ขยายอย่างเห็นได้ชัดภายในชุมชนที่บอบช้ำจากการทำสัมปทานป่าไม้หลายครั้งหลายคน และพื้นที่ป่าสมบูรณ์ถูกแปรสภาพเป็นไร่ยาสูบและไร่ข้าวโพดอันไพศาล ยังความแห้งแล้งและขัดสนให้ผู้คนมากขึ้นทุกทีๆ กระทั่งอ้ายพัฒน์และสหายอีกไม่กี่คนต้องทำการถอดรื้อความคิดของตนเอง และมองหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมยิ่งกว่า

"เราไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม มันไม่ใช่ไม่ดี แต่เราจะตามมันทันหรือเปล่า เทคโนโลยีมันดี แต่ทำยังไงให้มันเป็นทาสเรา ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง ชาวไร่ชาวนาขายที่ขายทางส่งลูกเรียนหนังสือ แย่งกันเป็นเจ้าคนนายคน แล้วต่อไปใครจะทำไร่ทำนา รัฐบาลจะสร้างอุตสาหกรรมมารองรับได้ขนาดไหน ประเทศเรามันต้องพัฒนาบนฐานการเกษตร อุตสาหกรรมเรามันไม่ทันญี่ปุ่นกับอเมริกาหรอก แต่อย่าลืมว่า เขากินเหล็กไม่ได้ แต่เรากินข้าวได้" อ้ายพัฒน์แสดงวิสัยทัศน์ในวัย 51 ปี

"กลุ่มเฮามาช่วยกันวิเคราะห์ทางออกว่าทำไมสมัยก่อนเลี้ยงลูก 12 คนยังอยู่ได้ไม่ต้องใช้เงินซักบาท ก็เลยคิดว่าต้องรักษาดิน ป่า น้ำ ให้ทรัพยากรและชุมชนอยู่ได้ด้วย เพราะถ้าต่างคนต่างไปต่างคนต่างอยู่ แม่ทาก็อาจได้เป็นสนามกอล์ฟที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ"

เกษตรกรอย่างเขาจึงยังคงเดินไปบนเส้นทางเกษตรกรรม แต่ตัดสินใจ "ลด ละ เลิก" ใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด และหันจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาปลูกพืชแบบผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ แบบพออยู่พอกิน มีเหลือจึงขาย หรือที่เรียกกันว่าแนวทาง "เกษตรกรรมยั่งยืน" ซึ่งแม้ชาวบ้านที่มีที่ดินน้อยที่สุดเพียงไร่เศษๆ ก็สามารถอยู่ได้สบายๆ

อย่างไรก็ตาม การเดินทางบนถนนสายใหม่ เริ่มขึ้นอย่าง "หัวเดียวกระเทียมลีบ" เงียบเชียบ และตะกุกตะกักยิ่ง เพราะไม่มีใครเชื่อว่าทางสายสมถะนี้จะไปรอด และปลดหนี้สินของแต่ละคนได้ "ชาวบ้านเขาว่าผีบ้ามั่ง สุดกำกึ๊ดมั่ง รู้จักไหม เขาหมายถึงคนสิ้นคิด แต่ก็ไม่สนใจค่อยๆ ทำของเฮาไป" อ้ายพัฒน์ว่า

ไม่เฉพาะคนในชุมชน แม้แต่แม่จันทร์ษร อภัยมูล ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของอ้ายพัฒน์เองก็ไม่เข้าใจ ไม่สนับสนุน ขัดแย้งกันจนกระทั่งไม่ห่อข้าวให้สามีกิน แต่สุดท้ายก็เริ่มเห็นด้วย หลังจากผักปลอดสารพิษที่พยายามลองผิดลองถูกปลูกกันมาพักใหญ่เริ่มให้ดอกผลงาม ทุกวันนี้แม่ษรอาศัยแปลงผักสารพัดชนิดในพื้นที่ไร่เศษเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียนจนจบปริญญา

"ตอนแรกเฮาก็บ่ค่อยเจื้อ แมงมันกวนนัก ถามพ่อว่าขอใส่ยาต่อยหนึ่ง พ่อบ่ให้ แต่ตอนนี้เฮาฮู้แล้วว่าจะยะจะใด ปลูกหลายอย่างปนกันแมงมันบ่ค่อยกวน หน้าหนาวเฮาขายผักจีน หน้าร้อนเฮาก็ขายผักพื้นบ้าน ได้ขายทุกวัน 70-80 บางวันได้นักถึง 200-300" แม่ษรเล่าให้ฟัง

ผักจีนที่แม่ว่า หมายถึง ผักจำพวกคะน้า บรอคเคอรี่ กระหล่ำปลี กระหล่ำดอก ตั้งโอ๋ ผักกาดขาว ถั่วลันเตา ฯลฯ ขณะที่ผักพื้นบ้านที่แม่ว่า ล้วนแล้วแต่แปลกหูแปลกตารวมถึงแปลกลิ้น อาทิ ผักขี้หูด ผักกูด ผักเชียงดา ยอดชงโค ผักฮ้วนหมู ผักฮี่ ผักเฮืด มะแปบ รวมไปถึงชะอม ตำลึง ยอดฟักทองและผักริมรั้วอีกหลากหลายชนิด

อ้ายเจริญ โปธาสุ อายุ 48 ปี เป็นเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่เพิ่งมาอยู่ในกลุ่มเมื่อปี 2543 ด้วยหนี้สินติดตัวพะรุงพะรังหลักแสนบาท และมีที่ดินติดตัวเพียง 1ไร่ 3 งาน

อ้ายเจริญเล่าว่าได้รับการถ่ายทอดความคิดจากกลุ่มของอ้ายพัฒน์ โดยแกนหลักเป็นเรื่องของแนวคิด การจัดการชีวิต ส่วนเรื่องเทคนิควิธีนั้นไม่มีสูตรตายตัว อาศัยการปรับประยุกต์กันตามแต่ลักษณะเฉพาะของพื้นที่

เขาเล่าว่าขวบปีแรกของการเดินทางนั้น เต็มไปด้วยอุปสรรคจนเขาเองเริ่มท้อ เพราะพืชผักให้ผลผลิตเพียง 30% หรือเพียงแค่พอกิน แต่เมื่อย่างเข้าปีที่ 2 ปีที่ 3 รายได้จึงค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นในขณะที่ค่าใช้จ่ายไม่มากนัก อาหารการกินแทบไม่ต้องซื้อ ปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลงถูกแปลงเป็นโรงปุ๋ยหมัก หรือถังน้ำหมักชีวภาพที่ต้นทุนจิ๊บจ๊อยนักเมื่อเทียบกับของเดิม

"ปีที่2 ได้เงิน 20,000 กว่า ปีที่3 ได้ 50,000 กว่า ปีที่แล้วได้ 60,000 กว่า ถึงไม่ได้เป็นก้อนทีเดียวเหมือนก่อน แต่รายจ่ายเราน้อย แรงงานก็ไม่จ้าง ทำกัน 2 คนผัวเมีย หนี้เก่าก็ใช้หมดไปครึ่งหนึ่งแล้ว ถึงสรุปได้แล้วว่าควรจะทำอะไร" เจ้าของ" ไร่เจริญ" เล่าให้ฟัง

เรื่องของแนวคิดเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าเรื่องเทคนิค และแน่นอน เป็นเรื่องที่ถ่ายทอดถึงกันได้ไม่ง่ายนัก จากกลุ่มผู้บุกเบิกเกษตรอินทรีย์ที่มีคนร่วมอยู่ไม่ถึงสิบครอบครัวเมื่อปี 2529 ถึงวันนี้ขยายเป็น 70-80 ครอบครัว รวมกับพวกที่อยู่ในช่วงทดลองแล้วก็ประมาณ 139 ครอบครัว ทั้งหมดนี้ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอยู่กว่า 20 ปี

------------------------------------------- 3 -------------------------------------------

แนวทางการปลูกพืชผักผลไม้แบบไม่ใช้สารเคมี ถูกขนานนามหลากหลาย ทั้ง "เกษตรอินทร์" , "เกษตรทางเลือก" "เกษตรผสมผสาน" ฯลฯ แต่อ้ายพัฒน์เห็นว่า เพียงเท่านั้นไม่อาจเป็นหลักประ กันในระยะยาวได้ ต้องขยายไปสู่ "ความยั่งยืน" คือ ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างครบวงจรด้วย

แต่จากการสังเกตอย่างคร่าวๆ ของคนนอก ท่ามกลางกองไฟ อากาศหนาว เหล้าขาว และผักสด มองเห็นหลักชัยสู่ความยั่งยืนของแม่ทาอยู่ 2 อย่างคือ ระบบการจัดการ และ คนรุ่นใหม่

หลังรวมกลุ่มกันได้พักใหญ่ ทำกิจกรรมหลายอย่าง แต่ทางราชการก็ยังมองเป็นกลุ่มเถื่อนไร้สังกัด จึงใช้เงินกลุ่ม 2 แสนกว่าบาทจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ "สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด" ในปี 2544 เพื่อสะดวกต่อการจัดการบริหารต่างๆ รวมทั้งระดมเงินทุนให้กระจายสู่ชาวสมาชิกสหกรณ์ โดยแบ่งเป็นแผนกต่างๆ ไม่ต่างจากสหกรณ์ทั่วไป แต่มีการบริหารแบบไม่ซ้ำใคร

"ประเทศไทยนะ สหกรณ์อยู่ได้หมด แต่สมาชิกอยู่ไม่ได้ซักคน ดูแล้วที่นี่เลยจัดการใหม่ ใครอยากกู้เงินทำโครงการมา อยากเลี้ยงวัวก็ได้ จะมีกรรมการจัดซื้อจูงข้อมือเกษตรกรไปซื้อวัวเป็นตัวๆ มาให้เลย แล้วมีการติดตามตรวจสอบดูแลจนได้ขาย" อ้ายพัฒน์เล่าพร้อมทั้งขยายความว่า คนที่จะกู้เงินจากสหกรณ์ได้ต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องมีแนวคิดเกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องอยู่ระหว่างการศึกษาทดลอง โดยแรกสมัครรับเข้าเป็นสมาชิกต้องผ่านการอบ รม "ทั้งผัวและเมีย" เป็นเวลา 2 วัน

มีคนสะกิดถามป้าข้างๆ ว่าทำไมต้องอบรม 2 คนด้วย... "ก็ถ้าเมียมันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ผัวกลับบ้านไปบอกไม่เอาคำเดียว ผัวมันก็เลิก ตามเมียต้อยๆ เป็นอย่างนี้ประจำ" ...คนถามได้แต่อมยิ้ม

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net