ถ่านหินโลกกับต้นทุนสังคมและสิ่งแวดล้อม

เวทีการประชุมถ่านหินโลก (Coal Trans Conference) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเวียงลคอร จ.ลำปาง ถือเป็นงานประชุมระดับโลกงานหนึ่งที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายพลังงานด้านถ่านหินของประเทศไทยอย่างมาก

การจัดเวทีครั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะเจ้าภาพมีการเชิญกลุ่มทุนด้านธุรกิจพลังงานทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 200 คน เช่น บริษัทริโอตินโต (Rio Tinto) จากออสเตรเลีย บริษัทพีทีอะดาโร (PT Adaro) จากอินโดนีเซีย กลุ่ม European Coal Combustion ฯลฯ เป้าหมายการประชุมเพื่อหารือถึงธุรกิจด้านเชื้อเพลิงถ่านหินระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่การนำถ่านหินมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมทั้งในกิจการอุตสาหกรรม

ถ่านหินโลก พลังงานเพื่อใคร ?
หากพิจารณาเป้าหมายการจัดงานของ กฟผ.ครั้งนี้ที่พยายามผลักดันให้มีการนำถ่านหินมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ นั้นดูเหมือนว่าสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการใช้ถ่านหินในประเทศไทย

กล่าวคือ ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยกรณีการนำถ่านหินมาใช้ในกิจการต่างๆ โดยเฉพาะในกิจการโรงไฟฟ้าส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ไม่ว่ากรณีโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่มาของประโยค "มึงสร้าง-กูเผา" จนนำไปสู่การลอบสังหารแกนนำอย่าง "เจริญ วัดอักษร" รวมทั้งโครงการเหมืองลิกไนต์ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ที่ชุมชนท้องถิ่นเกิดปัญหาความขัดแย้งกับ กฟผ.มาโดยตลอด

หรือแม้แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นับวันมีแต่จะสร้างความเดือดร้อนทั้งวิถีชีวิตประชาชนรวมทั้งสิ่งแวดล้อม เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP จ.ระยอง หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ที่ชาวบ้านบริเวณรอบ ๆ โรงไฟฟ้าประสบปัญหาด้านสุขภาพอย่างหนักโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ

ยังไม่นับรวมปัญหาการเพิ่มภาวะเรือนกระจกให้กับชั้นบรรยากาศของโลกที่ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น กรณีเหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างปัญหาเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการนำถ่านหินมาใช้ ขณะที่ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลไม่สามารถเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาได้แต่อย่างใด

แต่เหตุใด รัฐบาลรวมทั้ง กฟผ.ยังเดินหน้าในการนำถ่านหินมาใช้ทั้งในกิจการไฟฟ้าและกิจการอุตสาหกรรมต่อไป ราวกับว่าไม่มีปัญหาผลกระทบหรือการคัดค้านใด ๆ จากประชาชนเกิดขึ้น

นายวิเศษ จูภิบาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นประธานเปิดการประชุมถ่านหินโลกครั้งนี้ กล่าวว่า กรณีผลกระทบที่เกิดจากถ่านหินนั้นตนเชื่อว่าทุกคนทราบดีและตระหนักในปัญหาเรื่องก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และฝุ่น ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานมีนโยบายกำหนดให้ทุกโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างใหม่ต้องให้ความมั่นใจว่าการกระจายของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้องไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังกำหนดให้โรงไฟฟ้าที่สร้างใหม่ทุกโรงต้องลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลในสัดส่วน 5%ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงงานที่สร้างใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีกำลังการผลิตขนาด 500-700 เมกกะวัตต์ได้ และต้นทุนก็สูงถึง 15-17 บาทต่อหน่วย ถือว่าสูงกว่าการใช้เชื้อเพลิงอื่น

ขณะที่ นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า เนื่องจากราคาถ่านหินไม่อิงกับราคาน้ำมันเหมือนแก๊ส ราคาถ่านหินมีเสถียรภาพมากกว่า และปัจจุบันมีแนวโน้มต่ำลง เมื่อนำมาผลิตไฟฟ้า ต้นทุนอยู่ที่ 1.60 บาทต่อหน่วย ไม่รวมต้นทุนที่เกิดจากผลกระทบ

ดังนั้น การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจะช่วยให้ราคาค่าไฟอยู่ในระดับที่สมดุล ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถทำให้ถ่านหินกลายเป็นของเหลวและกลายเป็นก๊าซ ทำให้ไม่เกิดมลพิษจากถ่านหิน ส่วนปัญหาการคัดค้านจากประชาชน กฟผ.มีนโยบายทำความเข้าใจกับประชาชน ดูแลเรื่องการสร้างอาชีพ พัฒนาอาชีพเสริม ให้มีรายได้ที่สูงกว่าเดิม

เหล่านี้คือ คำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายพลังงานในเวทีการประชุมถ่านหินโลกที่เพิ่งผ่านมา ดูเหมือนว่า เหตุผลในการพยายามนำถ่านหินมาใช้มีการพิจารณากันแค่ในมิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ส่วนมิติด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมแทบไม่มีการให้ความสำคัญแต่อย่างใด

คนไม่เอาถ่านชูนโยบายพลังงานทางเลือก

อย่างไรก็ตาม นอกจากเวทีการประชุมถ่านหินโลกครั้งนี้จะดำเนินการไปโดยไม่สนใจต่อข้อเรียกร้องของประชาชนที่ประสบปัญหาที่เกิดจากการใช้ถ่านหินที่เกิดขึ้นแล้ว ภาคประชาชนเองก็มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจากถ่านหินเช่นกันภายใต้ชื่องาน "รวมพลคนไม่เอาถ่านหิน ครั้งที่ 1" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.ลำปาง เช่นเดียวกัน

เวทีสาธารณะรวมพลคนไม่เอาถ่านหินถูกจัดขึ้นโดย เครือข่ายคนไม่เอาถ่านหิน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากถ่านหิน เช่น ชาวบ้านแม่เมาะ จ.ลำปาง โครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการเหมืองลิกไนต์ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย จ.สระบุรี โรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP จ.ระยอง โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ฯลฯ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านรณรงค์ด้านพลังงาน เป้าหมายหลักคือการเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ถ่านหิน

ดังนั้น ทั้งสองเวทีนี้ย่อมมีเป้าหมายการจัดที่แตกต่างกัน เวทีประชุมถ่านหินโลกเป้าหมายคือการหารือเรื่องธุรกิจด้านเชื้อเพลิงถ่านหินระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่การนำถ่านหินมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งในกิจกรรมอุตสาหกรรม ขณะที่เวทีรวมพลคนไม่เอาถ่านหินจัดขึ้น เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านพลังงาน ผลกระทบที่เกิดจากการใช้ถ่านหิน การริเริ่มโครงการพลังงานทางเลือก รวมทั้งการระดมข้อเสนอของภาคประชาชนที่จะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำหนดทิศทางนโยบายด้านพลังงาน โดยเฉพาะการเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการนำถ่านหินมาใช้

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงการประชุมถ่านหินโลกที่ กฟผ.จัดขึ้นว่า เป้าหมายการประชุมไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องพลังงานหรือผลกระทบจากถ่านหินที่เกิดต่อประชาชน แต่เป็นแค่การเจรจาซื้อขายถ่านหิน ขายเทคโนโลยีที่มีอยู่เท่านั้น

ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อว่า แม้ปัจจุบันเราจะมีเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากถ่านหิน แต่จากปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจึงไม่มีการนำมาใช้ อย่างที่แม่เมาะกว่าจะมีการติดตั้งเครื่องดูดจับสารซัลเฟอร์ได้ชาวบ้านก็ต้องต่อสู้เคลื่อนไหวกว่าสิบปี ดังนั้นไม่ใช่ว่าเรามีเทคโนโลยีเหล่านี้แล้วจะมีการนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ส่วนทางออกในปัญหาที่เกิดจากถ่านหินนั้น ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ต้องพยายามหลีกเลี่ยงหรือลดสัดส่วนการใช้ถ่านหินลง นอกจากนี้ประชาชนโดยเฉพาะคนในพื้นที่ต้องมีส่วนกำกับควบคุมโรงไฟฟ้าด้วย

นายชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร แกนนำเครือข่ายคนไม่เอาถ่านหินจากบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ชาวบ้านบ่อนอกแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้ามานานกว่า 10 ปี แต่โครงการนี้ยังคงเดินหน้า แม้ที่ผ่านมามีการยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินการมานับครั้งไม่ถ้วน แต่รัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้สนใจ เพราะคอยฟังแต่กลุ่มทุนเท่านั้น

นายชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเวทีรวมพลคนไม่เอาถ่านหินครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันต้องมีการขยายเครือข่ายคนไม่เอาถ่านหินออกไปให้กว้างยิ่งขึ้น เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีแค่มลพิษเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมชุมชน รวมทั้งความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ แกนนำเครือข่ายคนไม่เอาถ่านหินจากแม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า การรวมตัวของชาวบ้านในนามเครือข่ายคนไม่เอาถ่านหินครั้งนี้ต้องการแสดงให้นายทุนถ่านหินและสังคมไทยรับรู้และยอมรับความจริงว่า มีประชาชนเดือดร้อนจากการนำถ่านหินมาใช้เป็นจำนวนมาก เครือข่ายคนไม่เอาถ่านหินไม่ได้คัดค้านการพัฒนาพลังงาน แต่อยากให้มีการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ที่ไม่ทำร้ายประชาชนและสิ่งแวดล้อมบ้าง อย่างกรณีถ่านหินนั้นเห็นได้ชัดว่าทำให้ประชาชนกลายเป็นคนตายผ่อนส่ง

อย่างไรก็ตาม ในการจัดเวทีสาธารณะรวมพลคนไม่เอาถ่านหินครั้งนี้ เครือข่ายคนไม่เอาถ่านหินมีข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วยคือให้รัฐบาลหยุดการใช้ถ่านหินในประเทศ และให้ยกเลิกโครงการถ่านหินที่ยังไม่มีการดำเนินการทั้งหมด ส่วนโครงการที่มีการดำเนินการไปแล้วให้จัดการแก้ไขตามข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ ให้หยุดคุกคามสิทธิของบุคคลและชุมชนทุกรูปแบบที่ร่วมปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ให้รัฐบาลส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ในการวางแผนนโยบายด้านพลังงานให้คำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมด้วยไม่ใช่พิจารณาแค่ต้นทุนด้านการเงินเท่านั้น และให้มีการทบทวนการวางแผนพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่ที่คำนึงถึงการนำเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการนำถ่านหินมาใช้ที่นับวันจะส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ เนื่องจากการกำหนดนโยบายพลังงานด้านถ่านหินในปัจจุบันภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ เพราะอำนาจการตัดสินใจยังคงรวมศูนย์อยู่ที่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว

แต่อย่างน้อยแล้ว การลุกขึ้นมารวมตัวของภาคประชาชนตัวเล็กๆที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ถ่านหินในนาม "เครือข่ายคนไม่เอาถ่านหิน" ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำไปสู่การให้รัฐบาลทบทวนและยุติการใช้ถ่านหินได้

ขณะเดียวกัน แม้วันนี้ภาคประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการกำหนดนโยบายพลังงานด้านถ่านหินของประเทศ แต่ถือได้ว่าการรวมตัวเป็นเครือข่ายคนไม่เอาถ่านหินนับเป็นก้าวแรกของภาคประชาชนที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆเหล่านั้นได้

อานุภาพ นุ่นสง
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท