Skip to main content
sharethis

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ ดร.คริส กริเซน กลุ่มพลังไท

ขณะที่ถ่านหินกำลังได้รับการอธิบายจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่า เป็นพลังงานทางเลือก และเป็นพลังงานสะอาดโดยชูประเด็น "ถูก" และ "ดี" พร้อมด้วยหลักการ 2 ข้อที่จะสนับสนุนคุณสมบัติ "ถูก" และ "ดี" ของถ่านหิน คือ

ข้อแรก ถ่านหินเป็นพลังงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในบรรดาพลังงานฟอสซิล
ข้อต่อมา การพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติมากเกินไปทำให้เกิดความเสี่ยงสูง เพราะราคาก๊าซธรรมชาติมีความผันผวน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงควรหันไปใช้ทางเลือกอื่น ๆ

ประชาไท มีโอกาสพูดคุยกับ คริส กริเซน ซึ่งเข้าร่วมเวทีประชาชน "รวมพลคนไม่เอาถ่าน" ซึ่งเขาได้เสนอกลับอีกด้านหนึ่งของถ่านหิน

คริสให้ข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับการใช้พลังงานถ่านหิน โดยเรียงลำดับการอธิบายตามหลักการของการไฟฟ้า 2 ข้อคือ

1. ถ่านหินเป็นพลังงานราคาถูก- ข้อเท็จจริงคือ การกล่าวอ้างว่าถ่านหินราคาถูก ทำให้มองเห็นกรอบในการวางแผนที่ผิด คือใช้กรอบด้านการเงิน (Financial Analysis) ชี้ขาด เป็นการมองเฉพาะต้นทุนขององค์กร ทว่าต้นทุนที่แท้จริงต้องมองต้นทุนโดยรวม คือ ต้นทุนด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งต้นทุนของไฟฟ้าถ่านหินแพงกว่าต้นทุนชนิดอื่น ๆ

นอกจากนี้ ต้นทุนที่ว่าถูกนั้น เป็นการคำนวณต้นทุนตามมาตรฐานของประเทศทางยุโรป ใช้ค่าเฉลี่ยของยุโรป แต่ไม่มีการศึกษาในประเทศไทยโดยเฉพาะ

ปัญหาในปัจจุบันก็คือเวลาที่คำนวณต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ไม่ได้รวมความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาถ่านหินเอาไว้ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงปี 2538-2544 จะพบว่า ราคาถ่านหินในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 153 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น 207 % ราคาก๊าซสูงขึ้น 207% แต่พลังงานหมุนเวียนกลับมีราคาถูกลง ยกเว้นพลังงานลม

เพราะฉะนั้น ถ่านหินจึงไม่ใช่แหล่งพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีราคาถูกจริง เฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพ พืชพันธุ์ธรรมชาติ ไม่รวมด้าน ภาวะโลกร้อน ก็ส่งผลกระทบที่สร้างต้นทุนสูงกว่าพลังงานด้านอื่น ๆ แล้ว

2. การใช้ถ่านหินจะช่วยเพิ่มความหลากหลายในการใช้เชื้อเพลิง และลดความเสี่ยงจากการที่เราพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติมากเกินไป

คริสกล่าวว่าข้อเท็จจริงคือแม้ว่าปัจจุบัน ถ่านหินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในประเทศไทยขณะนี้ มาจากแม่เมาะ 70 % แต่ก็มีปัญหาในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และต้องเผชิญกับแรงต้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

คริสให้ข้อมูลว่าว่า อัตราการใช้ถ่านหินภายในประเทศขณะนี้อยู่ในภาวะคงที่ แต่ถ่านหินนำเข้ามีสถิติสูงขึ้น ประมาณ 10% ต่อปี โดยนำเข้าจากออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ซึ่งราคาถ่านหินนำเข้าอ้างอิงราคาน้ำมันดีเซลถึง 60% เพราะฉะนั้น การใช้ถ่านหินจึงไม่สามารถกระจายความเสี่ยงได้ เพราะยังคงเป็นพลังงานที่ผูกขาดอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลก

ผลการศึกษาของ สถาบันพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประมาณการว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุก 10$ จะส่งผลลบต่อ GDP ของโลกถึง 0.5% หรือ 10ล้านล้าน บาท

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไทยบอกว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อจีดีพี แสดงว่ามีการอั้นเอาไว้เป็นหนี้สะสม

จากสถิติราคาเชื้อเพลิงจะพบว่าพลังงานจากฟอสซิลคือน้ำมันและถ่านหินจะราคาสูงขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลงเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภค ดังนั้นการที่เราพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา รัฐบาลต้องลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงจากฟอสซิล

ท้ายที่สุด ข้อเสนอของกลุ่มพลังไทคือ
การวางแผนควรใช้ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ และคำนึงถึงต้นทุนต่อสังคมด้วย.. มิใช่พิจารณาเฉพาะต้นทุนทางการเงินของการไฟฟ้า

ในการวางแผนเปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ ควรสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านราคา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปในการดำเนินธุรกิจอื่นๆ (ยกเว้นการไฟฟ้า เพราะความเสี่ยงนี้ได้ถูกส่งผ่านให้ผู้บริโภคแล้วในรูป ค่าFt)

และสุดท้ายความเสี่ยงด้านราคา (ค่าFt) ไม่ควรให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับ

ข้อเสนอแนะทั้ง 3 ข้อนี้ หากนำมาปฏิบัติจะทำให้เราเห็นว่า "ถ่านหิน" ไม่ดีอย่างที่กล่าวอ้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ "พลังงานสะอาด" ที่ยั่งยืน

*ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มพลังไท www.palangthai.org

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net