Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.)

การเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ "ซึนามิ" ยังคงดำเนินต่อไป จากธารน้ำใจที่ไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ การค้นหาผู้สูญหาย การแจกจ่ายเครื่องยังชีพ การเร่งสร้างที่อยู่อาศัย บ้านชั่วคราว การเร่งจ่ายเงินชดเชย เงินช่วยเหลือ ยังเป็นภาพที่ปรากฏอยู่หน้าจอทีวี บรรดาผู้สูญเสียไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ ล้วนได้รับการปลอบประโลมปลอบขวัญอย่างจริงใจและจริงจังจากผู้มาเยี่ยมเยียน

โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ได้สร้างความสะเทือนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้พบเห็น ซากปรักหักพังของบ้าน
เรือน สิ่งก่อสร้างต่างๆ โลงศพที่กองเรียงรายเต็มลานวัด คือ ภาพที่ถูกถ่ายทอดไปให้ผู้คนได้ชมทั่วโลก เสียงวิพากษ์วิจารณ์ คำเตือนสติ การสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติ ถูกจัดขึ้นจากหลายแห่ง "ซึนามิ" เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ใช้ได้ผล และเราก็คงต้องใช้ความสูญเสีย แลกกับความตระหนักรู้ ในอีกหลายเรื่องต่อไป

ท่ามกลางความโกลาหลอลหม่านในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ห่างออกไปจากแค้มป์เหล่านี้ไม่ไกล มีสายตาอีกหลายร้อยคู่ ซุกซ่อนอยู่ในที่เร้นลับตามชายป่า ทุกวันนั่งเหม่อมองจับจ้อง สองมือว่างเปล่า หิวโหย สิ้นหวัง พวกเขาคือ ชาย หญิง เด็ก คนชรา ที่รอดตายจาก "ซึนามิ" เช่นเดียวกัน พวกเขาคือ แรงงานข้ามชาติ แรงงานต่างด้าว แรงงานอพยพ พวกหลบหนีเข้าเมือง สุดแท้แต่จะเรียก เกือบทั้งหมดเป็นชาวพม่า

ไม่มีใครกล่าวถึงพวกเขาทางทีวี ทางหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่มีการสำรวจการบันทึก ความเดือดร้อน ที่พวกเขาได้รับ ไม่มีหน่วยงานใดออกมาประกาศให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างจริงจัง เหมือนพวกเขาไม่มีตัวตน ไม่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ทั้งที่พวกเขามีเป็นจำนวนมาก และกำลังทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส จากความตาย การพลัดพราก และความไร้หวังในอนาคต

นายจ้าง นักค้าแรงงานข้ามชาติ ยึดบัตรพวกเขาไป เพื่อจะควบคุมพวกเขา รอคอยโอกาสที่จะแสวง
หากำไรส่วนเกินในอนาคต

ถ้ามีใครบางคนในหมู่พวกเขาเกิดทำผิดพลาด ก่ออาชญากรรม พวกเขาจะถูกเหมารวมว่าเป็นอาชญากรทั้งหมด

ก่อนเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งอันดามัน พวกเขาคือ แรงงานทาส ที่ต้องทำงานหนักทุกชนิด ในบ้าน ในโรงงาน ตามท้องทุ่ง ท้องทะเล ตามคำสั่งของนายจ้าง พวกเขาถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ทั้งจากกฎหมาย และจากนายจ้าง (แน่นอน มีนายจ้างที่ดีไม่น้อย)

แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็อดทนยอมรับชะตะกรรมในประเทศนี้ เพื่อแลกกับการไม่ต้องกลับไปรับการกดขี่ข่มเหงในบ้านเกิดของตนเอง ทนอยู่กับความยากลำบากที่นี่ ดีกว่ากลับไปอยู่ในประเทศของตนเองที่เส็งเครง และอันตราย

แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รัฐภาคภูมิใจ พวกเขาอาจจะมีหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ แต่ถูกเรียกรวมๆว่า แรงงานพม่า แรงงานพม่า ค่าแรงถูก เชื่อฟัง อดทน ขยัน หาได้ง่าย (โดยเฉพาะตามชายแดน) ยิ่งกว่านั้น การละเมิดสิทธิแรงงานเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ ดังนั้นธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นธุรกิจที่ทำกำไรดี

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของสังคมไทย อยู่บนการกดขี่ขูดรีดแรงงานเหล่านี้ มากน้อยเพียงใด ไม่เคยมีการทำวิจัยอย่างชัดเจน แต่พวกเขาคือกลุ่มคนขนาดใหญ่ในสังคมไทยที่ถูกลืม ถูกตั้งข้อรังเกียจ และถูกทอดทิ้ง

เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งที่พยายามช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้อย่างเงียบๆในเขตบ้านทับละมุ อ.ท้ายเหมือง ถูกข่มขู่จากเจ้าพ่อที่มีธุรกิจเรือประมงขนาดใหญ่ในสังกัดหลายสิบลำ ครั้งสุดท้ายถูกซ้อมอย่างทารุณ ต่อหน้านายอำเภอในพื้นที่ที่ประสบภัย จนองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งนั้น ต้องประกาศถอนเจ้าหน้าที่คนไทยทั้งหมดออกนอกพื้นที่ และยุติความช่วย
เหลือแก่แรงงานพม่าที่ประสบภัยในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน ถูกกล่าวหาจากมาเฟียใหญ่ว่า เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการหลบหนีของแรงงานพม่า เป็นที่รับรู้กันว่า การฟื้นฟูสังคม เศรษฐกิจอันดามัน จำเป็นต้องใช้แรงงานพม่าเหล่านี้จำนวนมากในอนาคต ถ้าใครหรือองค์กรใดมีแรงงานพม่าในสังกัดจะสามารถทำกำไรจากธุรกิจค้ามนุษย์นี้ได้อย่างมากมาย ส่วยที่ได้จากธุรกิจเช่นนี้ ก็พอช่วยค้ำจุนระบบราชการไทยได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น การปิดกั้นไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรู้เห็นเกี่ยวข้อง กับบรรดาแรงงานเหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลทางธุรกิจ และเป็นความจำเป็นที่ต้องปกป้องผลประโยชน์
รัฐมนตรีแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนายกรัฐมนตรี จะปฏิเสธไม่รู้เห็นเรื่องเหล่านี้ คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะจำนวนแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนถูกต้อง มีถึง 1.2 ล้านคน ยังผู้ที่ลักลอบและทำงานอยู่ตามชายแดน โดยเฉพาะการเป็นลูกเรือประมง อีกจำนวนมหาศาล

การละเลย หลงลืมคนพม่าจำนวนมากในประเทศไทย เกิดขึ้นได้อย่างไร มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามศึกษาทัศนคติความรังเกียจชาวพม่าของคนไทย แต่คำตอบที่ง่ายที่สุดที่พอจะเข้าใจได้ ก็คือการปลูกฝังความเจ็บแค้นของคนไทยที่ถูกพม่าเข่นฆ่า ปล้นสะดม ในประวัติศาสตร์ และที่สำคัญ ความพ่ายแพ้ที่มีต่อพม่าในอดีต เป็นรอยแผลใจที่ถูกตอกย้ำ ในการเรียนประวัติศาสตร์ พม่าคือ มาร หรือศัตรูที่ทำลายพวกเรา

น่าแปลกที่ ประเทศเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น ก่อสงครามรุกรานประเทศในยุโรป และเอเชีย เข่นฆ่าผู้คนทั้งของตนเองและของประเทศอื่นมหาศาล แต่ในช่วงเวลาเพียงไม่เกิน 60 ปี แทบจะไม่มีคนในยุคสมัยนี้ ที่รู้สึกว่า ทั้ง 3 ประเทศนั้นเป็นผู้ร้ายอีกต่อไป

หรือว่าพม่าเป็นชาติที่ยากจน ล้าหลัง และดูเหมือนจะป่าเถื่อน ยิ่งมีข่าวอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับแรงงานพม่า ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกที่อยู่ในใจของคนไทย ทั้งๆที่คนพม่า มีคนดีมากกว่าคนเลว เช่น
เดียวกับคนทุกชาติ คนพม่าส่วนใหญ่อยากอยู่อย่างสันติ เป็นมิตรไมตรีมากกว่าอยู่อย่างโจร และถ้าใครได้สัมผัสกับนายจ้างคนไทยที่จ้างงานแรงงานพม่า พวกเขาจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าเลือกได้ เขาอยากเลือกจ้างแรงงานพม่า

แต่ข่าวคนพม่าขโมยทรัพย์สินในรีสอร์ตที่พังพินาศในเขตบ้านเขาหลัก ภายหลังคลื่นซึนามิทำให้พวกเขาถูกกวาดล้างจับกุมไปเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการแยกแยะและเมื่อองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคยเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือถอนตัวออกไปอย่างกะทันหัน แรงงานพม่าจึงถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยว ท่ามกลางสิ่งของบรรเทาทุกข์จำนวนมหาศาล ที่ห่างจากที่พักของพวกเขาไปไม่กี่กิโล

บางส่วนของพวกเขาสมัครใจที่จะกลับไปบ้านเกิดของตนเอง แต่อีกจำนวนมาก ที่ชินชากับสภาพชีวิตที่ยากลำบาก กัดฟันต่อสู้กับความเลวร้ายที่นี่ ด้วยความหวังว่า พวกเขาอาจมีโชคในอนาคต แม้จะเป็นความหวังรับหรี่ แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างเดียวที่พวกเขาจะปลอบประโลมซึ่งกันและกันได้

ขอความรัก และความเมตตาจากสังคมไทยแด่พวกเขาด้วยเถิด ในฐานะมนุษย์ผู้เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย และในฐานะมนุษย์ที่มีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมไทยให้เติบโตก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net