Skip to main content
sharethis

ระนอง-20 ม.ค.48 นายรังสิโรจน์ วงศ์พรหมเมฆ นักธรณีวิทยาระดับ 8 จากกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยทีมงานและเครื่องมือตรวจวัดความหนาของชั้นดิน และความลึกของน้ำทะเล ได้นั่งเรือออกสำรวจบริเวณที่เกิดปรากฏการณ์ฟองอากาศผุดขึ้นมาจากท้องทะเล ปากคลองช้างแหก ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ความลึกของน้ำทะเลตั้งแต่ 2.5-7 เมตร

นายรังสิโรจน์ กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าฟองก๊าซผุดขึ้นมาจากใต้ท้องทะเล น่าจะเกิดจากชั้นของตะกอนที่มีชั้นซากพืชที่ทับถมกันมาหลายร้อยล้านปี จนทำให้เกิดก๊าซ ซึ่งแต่เดิมก่อนหน้านี้มีชั้นตะกอนดินเหนียว ตะกอนดินทรายปิดทับอยู่ แต่พอเกิดคลื่นยักษ์ซึนามิก็จะกวาดเอาตะกอนที่ปิดทับให้บางลงหรือหายไป ทำให้ก๊าซที่มีแรงดันผุดขึ้นมาเป็นลูก ๆ ขึ้นตามลำคลอง

ส่วนบริเวณอื่น ๆ จากการสำรวจเห็นเป็นจุด ๆ นาน ๆจะผุดขึ้นมา ครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นตามธรรมชาติของพื้นที่ป่าชายเลนโดยทั่วไปอยู่แล้ว น่าจะเป็นก๊าซมีเทน ไม่น่าจะเป็นอันตรายอะไร ซึ่งจะได้เก็บตัวอย่างก๊าซ ตะกอนดิน ไปตรวจวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง

นายรังสิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าได้พบฟองก๊าซผุดจากใต้ทะเลอีกจุดหนึ่งที่บริเวณเกาะหมู ในพื้นที่หมู่ที่ 8 เช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องเดินทางลงไปสำรวจอีกครั้งหนึ่ง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเกี่ยวกับรอยแยกหรือรอยเลื่อนของแผ่นดิน แต่ก็ต้องสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะมีนักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยาอีกชุดหนึ่งเดินทางเข้ามาสำรวจทั้งในทะเลและบนฝั่ง

นายสุทิน ปราบสมุทร อายุ 25 ปี มีอาชีพประมงชายฝั่ง กล่าวว่า ด้วยความอยากรู้อยากเห็นตนได้ดำน้ำลงไปสำรวจตรงจุดที่มีฟองอากาศผุดขึ้นมา ความลึกของน้ำประมาณ 6-7 เมตร พบว่าที่ผิวดินมีบ่อหรือหลุมเล็ก ๆ ความกว้างประมาณ 4 นิ้ว หลายหลุม แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 3-4 เมตร เมื่อเอาฝ่ามือไปปิดตรงปากหลุมมีความรู้สึกว่าเมื่อมีฟองน้ำดันออกมาน้ำจะเย็นกว่าน้ำทะเลธรรมดา

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net