Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

===========================================

นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดยะลา ถึงวันนี้เป็นเวลาปีเศษแล้ว แต่เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

ท่ามกลางความปั่นป่วนผันผวนในการจัดการปัญหาของภาครัฐ มีการโยกย้าย ถ่ายโอน ก่อตั้งส่วนราชการต่างๆ ตลอดจนการกวาดจับผู้นำศาสนาหรือโต๊ะครูใน 3 จังหวัด โดยอ้างหลักฐานของทางราชการ

แต่น้อยครั้งหรือแทบไม่ได้ยินเลยที่จะมีการพูดถึงการรวบรวมข้อมูลหรือการศึกษาวิจัยในพื้นที่อย่างเป็นระบบที่จะนำไปสู่รูปแบบหรือทางเลือกการจัดการปัญหาใหม่ๆ อันจะพอเป็นความหวังของสังคมได้

รศ.ดร.ศรีสมภพ เป็นหนึ่งในนักวิชาการ ที่ได้มีส่วนเริ่มต้นเก็บข้อมูลทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐ
กิจ สังคม การเมืองในพื้นที่ ให้กับหน่วยงานราชการที่ยุบไปแล้วอย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระหว่างปี 2536-2542 และทำต่อเนื่องแม้ว่า ศอ.บต. จะถูกยุบพร้อมกับ พตท.43 จนถึงปี 2547 ซึ่งสถานการณ์ร้อนระอุอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน(อ่าน- หนึ่งปีหนึ่งทศวรรษความรุนแรงชายแดนใต้: ปริศนาของปัญหาและทางออก)

"รายงานชิ้นที่ทำให้ ศอ.บต. ก็ได้รับความสนใจอยู่เหมือนกัน และตอนหลังก็มีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน แต่ปรากฏว่าสักพักหนึ่งก็ได้ข่าวว่าเขาก็เลิกสนใจไป แล้ว ศอ.บต.ก็ถูกยุบ ฐานข้อมูลที่ให้ไป ไปถามตอนหลังเขาบอกว่าหายไปไหนแล้วไม่รู้ เผอิญเราเก็บเอาไว้ก็เลยเอามาพัฒนาต่อถึงสิ้นปี 2547" รศ.ดร.ศรีสมภพกล่าว

ข้อมูลที่รวบรวมนั้น เน้นเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นแกนหลัก โดยรวบรวมจากหนังสือพิมพ์ ทั้งเวลา สถานที่ บุคคล และผลที่เกิดขึ้น คนตาย คนบาดเจ็บ แล้วเอาไปรวมกับฐานข้อมูลเก่าที่มีอยู่แล้ว แล้วทำให้เป็นระบบ โดยแยกแยะประเภทของเหตุการณ์ ผลที่เกิดขึ้นคืออะไร แล้วเอาไปตรวจเช็คกับแหล่งข่าวข้อมูลอื่นรวมทั้งหน่วยงานราชการบางส่วน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ยังจะมีการทำข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจด้วย เช่น ความยากจน การกระจายรายได้ การศึกษา การจ้างงานในพื้นที่ เพราะต้องการให้ข้อมูลแน่นทุกจุด เพื่อประมวลหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้านของสังคม เศรษฐกิจ หรือความยากจน กับปัญหาที่เกิดขึ้น

อีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลด้านยาเสพติด ซึ่งขอจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) เพื่อให้เห็นปัญหายาเสพติดในพื้นที่ด้วย เพราะที่ผ่านมามีข้อถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลาว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาความยากจน เศรษฐกิจ หรือปัญหาเรื่องการศึกษา รวมไปถึงข้อมูลอาชญากรรม ความรุนแรงต่างๆ

ที่สำคัญมีการศึกษาเรื่องแนวคิดอุดมการณ์ และเชิงวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย โดยจะทำการศึกษาในเรื่องของแนวคิดและพัฒนาการของศาสนา แนวคิดปฏิวัติอิสลาม ที่อยู่ในพื้นที่หรือในประเทศเพื่อนบ้าน

"มันมีสำนักคิด ทฤษฎีและกระบวนการต่างๆ ที่ซับซ้อนมาก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเข้าใจ และเราไม่เคยรู้เรื่องเลย คนไทยไม่รู้เรื่องเลยว่าเขาไปถึงไหนคิดอะไรกัน เรารู้แต่โลกตะวันตก แต่ไม่รู้โลกมุสลิมเลย มันเป็นอีกโลกหนึ่งที่มีนักทฤษฎี มีนักต่อสู้ มีวีรบุรุษของเขาที่สาวลากมาเป็นร้อยปีพันปี และมันต่อเนื่องมาเป็นกระบวนการ บินลาเด็น ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความคิด ที่เรารู้จากสื่อตะวันตก ที่จริงมันมีมากกว่านี้" รศ.ดร.ศรีสมภพแสดงความเห็น

แล้วก็มีประเด็นทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เรื่องรัฐปัตตานี เรื่องขบวนการในพื้นที่ มีการแบ่งกลุ่มอย่างไร ต้องรู้และเข้าใจ ผมไม่ได้ทำคนเดียว ทำเป็นกลุ่มกับอาจารย์ที่มอ. โดยเริ่มจากที่ว่าเราอยากจะทำก็ทำกันไป นั่งคุยกันแบ่งกันไปค้นคว้า เลยไม่เป็นโครงการที่จะไปขอทุนเป็นโครงการใหญ่ๆ แต่ตอนหลังก็ขอทุนจากคณะ

รศ.ดร. ศรีสมภพตั้งเป้าว่าจะทำรายงานการวิจัย พร้อมทั้งเสนอข้อมูลทางวิชาการประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเชิญนักวิชาการคนอื่นที่ศึกษาปัญหานี้มาร่วมหารือ และตั้งใจจะทำเป็นศูนย์ข้อมูลของ 3 จังหวัดภาคใต้ในรูปของเว็ปไซต์ หากประชาชนสนใจก็สามารถจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้

นอกจานี้ในทีมศึกษายังมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Geographic Information System (GIS) ด้วยซึ่งได้ลองทำงานไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการเสนอรัฐบาล โดยดร.ศรีสมภพให้เหตุผลว่า "จะยิ่งเซนท์ซิทีฟ เดี๋ยวรัฐบาลจะตกใจ"

ประชาไท - ทาง 3 จังหวัดเองก็มีการทำ GIS นี้มีข้อแตกต่างกันหรือไม่?

รศ.ศรีสมภพ - อันที่จริง GIS นี้ทำกันเยอะ ทหารก็ทำ ตำรวจก็ทำ มหาดไทยก็ทำของเราเองก็ทำ เทคนิคก็คือ เทคนิค แต่มันอยู่ที่การวิเคราะห์ ซึ่งเราพยายามพัฒนาขึ้นมา จะเห็นรูปแบบอะไรบางอย่าง เช่น การกระจุกและกระจายตัว ฐานข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการพล็อตจุดเดี๋ยวนั้นอาจจะวิเคราะห์ไม่ออก แต่ของผมมีฐานข้อมูล ถ้าเอา GIS มาครอบก็จะเห็นสภาพพื้นทีทั้งในเรื่องโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ คิดจะทำให้สมบูรณ์อย่างนั้น

หน่วยราชการเรามีปัญหาเพราะทำไม่เป็นระบบ และความคิดไม่ชัดในเรื่องที่จะเข้าใจปัญหาและวิเคราะห์ในเชิงยุทธศาสตร์ แล้วความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมันก็จะซ้ำแล้วซ้ำอีก

ประชาไท -พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์กรณีตากใบ ความถี่ของเหตุการณ์มีมากเพียงไร?

รศ.ศรีสมภพ ถ้าหากว่าเราแยกเหตุการณ์เป็นรายจังหวัด นราธิวาสจะเป็นจังหวัดที่เส้นกราฟขึ้นสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ สูงกว่ายะลา ปัตตานี จุดสูงสุดของกราฟข้อมูลรวมจะขึ้นสูงโด่งในเดือนเมษายนช่วงนั้นกรณีกรือเซะ และขึ้นสูงอีกรอบคือเดือนตุลาคม ข้อมูลที่เกิดมาจากนราธิวาสเป็นส่วนใหญ่ เป็นจุดเข้มข้นของการเกิดเหตุ

การระมัดระวังในแง่ที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงก็น่าจะระมัดระวังมากขึ้น แล้วอาจรวมไปถึงประเด็นความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ที่อาจเป็นแนวร่วมให้การสนับสนุน ความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐก็ย่อมสูง ความระมัดระวังก็ต้องสูงเช่นเดียวกัน

แต่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ดูในเรื่องนี้ และดูเหมือนกับว่าอยากจะให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะต้องการจะกวาดจับเสียมากกว่า เหมือนมีตัวผู้ร้ายอยู่ก็ต้องกวาดจับมัน และทำให้มันเข็ดหลาบ แทนการป้องกันหรือจัดการปัญหาในทางการเมือง

กรณี 28 เมษายนก็น่าสนใจมาก เหตุการณ์ในวันนั้นเกิดขึ้นที่ปัตตานีและยะลา นราธิวาสไม่มีเลย แต่ถ้าไปดูบันทึกของเดือนนั้น นราธิวาสก็สูงทั้งเดือน สูงที่สุด เราไม่ทันสังเกตอันนั้น ดูกันแต่วันนั้น ฉะนั้น มันมีปรากฏการณ์ที่เราอาจจะต้องแยกแยะเหมือนกัน ถ้าเอาข้อมูลมาดู

และช่วงเดือนตุลาคมที่เกิดเหตุที่ตากใบ ก็เป็นช่วงที่มันพีคขึ้นอีกเหมือนกัน แสดงว่ามันคงต้องจัดการ โดยในแง่ของนโยบายต้องให้ความระมัดระวัง สถานการณ์มันเหมือนกับว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจ้องจะปราบหรือกดลงไปให้มากในช่วงที่สถานการณ์มันขึ้น กระบวนการมีอยู่แค่นั้น แทนที่จะดูปัญหาเชิงนโยบาย หรือโครงสร้าง

ประชาไท - เหตุการณ์ความไม่สงบในยุคของทักษิณเทียบกับยุคก่อนน่าจะมีความสัมพันธ์กันไหม?

รศ.ศรีสมภพ มันน่าจะมี เพราะจริงๆ มันขึ้นตั้งแต่ปี 2540 เป็นปีวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ มันมีความต่อเนื่องของผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจด้วย ความยากจน การว่างงาน อะไรทำนองนี้ เพราะช่วงหลังการเข้าไปทำงานในมาเลเซียของคนใต้จะสูงมาก และเขาไปไม่ได้ไปถาวร ไปๆ กลับๆ ตลอดเวลา นอกเหนือจากประเด็นของการศึกษา ที่โรงเรียนปอเนาะต่างๆ ขยายตัว มีหลายเรื่องต้องพิจารณา

ประเด็นเรื่องยาเสพติดก็เช่นกัน แต่ในข้อมูลที่นี้ยังไม่ได้นำเสนอ เพราะยังไม่เรียบร้อยดี แต่ข้อสรุปเบื้องต้นที่ได้คือ ที่เขาบอกว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาในหมู่ผู้ก่อเหตุ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ยาเสพติดเป็นองค์ประกอบน้อย ข้อมูลของปปส.เอง จากคนที่เขาจับได้หรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ตั้งแต่กรณีเดือนเมษายนเป็นต้นมา เขาเช็ดเลือดแล้วมียาเสพติดประมาณ 2% ผมว่าถ้าเดินไปตามถนนในกรุงเทพแล้วสุ่มจับคนมาตรวจสงสัยจะมากกว่า

แต่ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ก็มี แต่เป็นยาแก้ไอกับวัตถุออกฤทธิ์ คือพวกยาระงับประสาท พวกนี้หาได้ตามร้านขายยา พวกยาบ้า กัญชาไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่

ประชาไท -เรื่องค้าของเถื่อน หรือน้ำมันเถื่อนเป็นประเด็นใหญ่หรือไม่?

รศ.ศรีสมภพ มีอยู่ส่วนหนึ่ง และเราก็กำลังเก็บข้อมูลอยู่ เก็บยากอยู่เหมือนกัน แต่ผมว่าการค้าของเถื่อนมันมีคนที่ได้ประโยชน์อยู่กลุ่มหนึ่ง เช่น พวกนักการเมืองในท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นบางส่วนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่ว่าเรามองว่าในแง่โครงสร้างใหญ่ของปัญหา ตัวหลักมันมีหลายตัว แต่ด้านใหญ่คือปัญหาเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ยาเสพติด การศึกษา แต่ว่าปัญหาพวกนี้มันเป็นบริบทของการเกิดเหตุ เราจะมองว่าอันนี้เป็นสาเหตุมันก็ด่วนสรุปไป แต่มันเป็นเงื่อนไขที่ชี้ให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลมันล้มเหลว มันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลยในพื้นที่ ความไม่พอใจของประชาชนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีความคิดดีๆ ก็มีเยอะ ก็เลยเชื่อมโยงไปถึงประเด็นของประวัติศาสตร์ และอุดมการณ์ในทางศาสนาอันใหม่ที่เข้ามา

ผมมองว่านี่คือความล้มเหลวของ secularization (การแยกอำนาจของศาสนาออกจากอำนาจการปกครองบ้านเมือง) ในแบบตะวันตก มันจะต้องสร้างอุดมการณ์ใหม่ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ แล้วก็ตามมาด้วยความคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ประชาไท - อุดมการณ์ใหม่เพิ่งเข้ามาในยุคทักษิณหรือฝังตัวอยู่นานแล้ว?

รศ.ศรีสมภพ มันน่าจะมีก่อนหน้านั้น หากมองจากภาพใหญ่ของการเกิดเหตุการณ์ในเวทีโลก ตั้งแต่สมัยช่วงสงครามในอัฟกานิสถาน ก็มีรายงานเหมือนกันว่าคนปัตตานีบางส่วนก็ไปร่วมด้วยสมัยที่ต่อต้านรัสเซีย หลังจากนั้นก็ในช่วงที่ตาลิบัน เข้าใจว่าแถวนั้นกระแสมันขึ้นมาในช่วง 1990s แล้วมีผลกระทบต่อแถวๆ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

มันมีคลื่นกระแสความคิดเหล่านี้ พอเกิดกรณีของ 9/11 ผลกระทบคือนโยบายของอเมริกายิ่งเน้นการปราบปรามการก่อการร้ายทั่วโลก เกิดสงครามในอัฟกานิสถาน อันนี้ก็ยิ่งบานปลาย การแพร่ตัวช่วงปี 2001 ก็เริ่มชัด ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศเราด้วย

ผมมองว่าเราคงมองจุดเดียวไม่ได้ ต้องมองเป็นระดับของการวิเคราะห์ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ประเทศ ระหว่างประเทศ ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาคด้วย ก็จะเป็นหลายชั้นในการจัดการ แพ็คเกจในทางนโยบายก็ต้องแก้ปัญหาหลายระดับ

แต่แน่นอน ปัญหาชี้ขาดมันอยู่ที่ปัญหาภายในของเราก็คือ เรื่องของนโยบายของรัฐที่ผิดพลาด เราไม่ได้โทษรัฐบาลนี้ มันต่อเนื่องสะสม เราจะตำหนิใครไม่ได้

ประชาไท - อุดมการณ์ใหม่นี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดวาฮะบีห์ที่มีการพูดถึงกันมากหรือไม่?

รศ.ศรีสมภพ จริงๆ แล้ว วะฮะบีห์ไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่วะหะบีก็เป็นผลจากการฟื้นฟูอิสลามต้องการให้บริสุทธิ์ ยึดถือคัมภีร์กุรอาน และกฎหมายชาริอะห์ แต่เขาไม่ได้ดูทั้งหมดในแง่ของการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

วะหะบีเป็นกลุ่มความคิด แต่ในนั้นก็มีกลุ่มหลายกลุ่มที่แยกออกไปอีก ซึ่งที่ radical (สุดขั้ว) ทั้ง
หลายก็จะออกไปอีกทางหนึ่ง แต่การที่เราบอกว่าวะหะบีเป็นตัวก่อเหตุเราต้องระวัง เพราะคนที่เป็นวะหะบีทั้งหมดเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่เขาเชื่อเขาศรัทธาในการปฏิรูปสังคม ก็เหมือนกับมาร์กซิสต์ที่มีทั้งแบบประชาธิปไตยและแบบใช้อำนาจรัฐโค่นล้ม

ทางที่ดีต้องทำความเข้าใจว่าเขาคิดอย่าไร ศาสนาอิสลามคืออะไร เวลาจะแก้ปัญหาจัดการก็ต้องแยกให้ชัด มีคนมองว่าอย่างมหาวิทยาลัยอิสลามของยะลา ดร.ลุฟฟี ก็เป็นแกนนำของวะหะบี มันก็สรุปอย่างนั้นยาก เพียงแต่ว่าแกได้รับความศรัทธา ยอมรับจากคนในพื้นที่มาก รวมทั้งด้านการศาสนา แต่แกสนับสนุนความรุนแรงหรือไม่ เท่าที่ฟังผมว่าแกก็ไม่ได้สนับสนุน อย่างน้อยโดยเปิดเผยแกก็เน้นเรื่องสันติภาพมาโดยตลอด

แต่ก็ต้องศึกษาด้วยว่าคำนิยามของ "สันติภาพ" นั้น มันไม่ใช่แบบเรา อย่าไปตีขลุมว่าเป็นแบบเดียวกัน คำว่า "สันติภาพ" ของอิสลามมันมีเงื่อนไขอยู่ด้วย ต้องดูให้ดี ทางการต้องศึกษา

การศึกษาแนวคิด อุดมการณ์ของอิสลามเป็นเรื่องใหญ่ มองในแง่รัฐศาสตร์ ถ้าคุณเข้าใจทฤษฎีการเมืองของตะวันตกได้ ทฤษฎีในการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงสังคม จนถึงมาร์กซิสต์ จนถึงเหมา ทฤษฎีการเมืองของอิสลามเขาก็มี ทำไมเราไม่ศึกษา

ประชาไท - ข้อมูลที่เก็บมาในช่วง 10 ปีมีตัวบ่งชี้ว่ามีการแทรกแซงจากภายนอก ทั้งจะตะวันตกหรือประเทศมุสลิมหรือไม่?

รศ.ศรีสมภพ ข้อมูลไม่ชัด รู้แต่มีการพูดกันเยอะ ความเชื่อของคนในพื้นที่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องศึกษา เป็นเรื่องของการสร้างวาทกรรมที่ทับซ้อนและแย้งกันเอง ชาวบ้านในชุมชนจะมองเหตุการณ์อีกแบบหนึ่ง และชาวบ้านในชุมชนที่มีพื้นฐานต่างกันก็จะมองต่างกัน เช่น ชุมชนพุทธ กับชุมชนมุสลิม

ประเด็นความเชื่อที่ว่าการแซงแทรกจากตะวันตก ซีไอเอ สิงคโปร์ ยิว แรงมาก แต่เป็นความเชื่อเดิมที่คนมุสลิมเองเขาไม่ไว้ใจเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เป็นความคิดความรู้สึก พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นบวกกับประสบการณ์ในปัจจุบัน เขาก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกจงใจสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ซีไอเอ และมีตัวก่อเหตุ คนในพื้นที่ไม่น้อยที่คิดเช่นนี้ เพียงแต่จะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น

มันมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ของโลกที่ตอกย้ำความเชื่อของเขาตอนนี้ เรื่องในปาเลสไตน์ ในอิรัก อิหร่าน เราต้องจัดการปัญหาระหว่างประเทศด้วย มันเป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) อีกอันที่เราไม่มีทางไปเปลี่ยนได้ เพราะของเขาลึก อันที่จริงเป็นสิทธิที่คนเราจะมองโลกต่างกัน แต่ของเราถูกเทรนมาให้มองโลกแบบตะวันตก เราต้องเรียนรู้ว่าโลกนี้มันมีหลาย (paradigm)

ประชาไท - ลักษณะการไม่ประกาศตัวต่างจากยุคก่อนไหม?

รศ.ศรีสมภพ ใช่ เป็นจุดเดียวในโลกตอนนี้ที่ไม่มีการประกาศตัว แต่ความจริงแล้วถ้าศึกษาความคิดของคนอื่น อัลไคดา ก็ไม่ประกาศตัวเหมือนกัน อัลไคดา กว่าที่อเมริกาจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ก่อนที่จะเกิด 9/11 ไม่ถึงปี แต่มันก็ไปถึงไหนแล้ว ก่อเหตุตั้งหลายครั้งทั่วโลกโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร นี่เป็นแนวคิดอันหนึ่งที่เขาทำ เป็นพัฒนาการที่ต้องสร้างขึ้นมา แต่ไม่ได้บอกว่า อัลไคดามาก่อการที่นี่ แต่ลองดูรูปแบบ

สำหรับประเทศไทยการที่เขาไม่บอกมันทำให้ตีกินได้หลายอย่าง ก็เดากันไป ถ้าผมเป็นคนก่อเหตุก็ไม่จำเป็นต้องประกาศตัว แค่นี้ก็พอแล้ว ลองลงไปดูในพื้นที่ โดยเฉพาะในนราธิวาส จะเห็นว่าเหมือนเป็นเมืองร้าง เงียบไปหมด แทบไม่มีรถวิ่ง ความตึงเครียดความหวาดระแวงมีสูง แค่นี้ก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจพังทลายแล้ว โดยที่ไม่ต้องทำอะไรมาก รัฐก็ทำอะไรไม่ได้

ประชาไท - โดยรูปการแล้วพอจะพูดได้ไหมว่ามีองค์กร มีการจัดการ?

รศ.ศรีสมภพ น่าจะมีแนวคิด มีองค์กรในการจัดการ มีแผน แต่ว่าองค์กรเดี่ยวหรือเป็นเครือข่ายขององค์กรเราไม่รู้ เพราะวิธีการปะทะ โจมตี ในแต่ละพื้นที่จะต่างกัน สมมติว่ามีกลุ่มที่โจมตีทางการทหาร เช่น ยึดค่าย ปล้นปืน ก็เป็นทีมหนึ่ง เก่งมาก เชี่ยวชาญมาก แต่ชุดที่ไล่ยิงวันต่อวันก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง และชุดที่ไปวางระเบิดหรือไปเผาก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง มันซับซ้อนมาก หรืออาจจะแบ่งกันทำ ประสานกันภายใน

รัฐบาลพยายามจะบอกว่าจับตัวได้แล้ว แก้ปัญหาได้แล้ว บางทีก็อาจจะไม่ใช่ข้างในจริง หรืออาจจะไม่ใช่เลยด้วยซ้ำไป แต่รัฐบาลก็อ้างว่ามีหลักฐาน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือจัดการตามกระบวนการทางกฎหมายและเปิดเผย มีอะไรต้องเปิดเผยโปร่งใส

ตอนนี้สิ่งเดียวที่รัฐบาลสู้ได้คือ ความชอบธรรมของระบบการเมืองประชาธิปไตย ในระบบเปิดที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะคนในพื้นที่เขาก็ยอมรับว่าการก่อเหตุความไม่สงบมันไม่ดี

ด้านเศรษฐกิจก็ย้ำแย่ ร้านค้าต่างๆ ปิดกันเป็นแถว ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านของชำ พวกนี้เป็นรากหญ้า และเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจมันเดินในระดับหมู่บ้าน ชุมชน แขนขาของกลไกตลาดมันถูกตัด ตัด ตัด เป็นสงครามที่น่ากลัว

ประชาไท - เป้าหมายที่ถูกยิงมีหลากหลาย จะสามารถหาข้อมูลเพื่อทำเข้าใจได้ไหมว่าเป็นใคร และเกี่ยวพันอย่างไรกับทางการ?

รศ.ศรีสมภพ แต่ความหมายในเชิงสัญลักษณ์มันชัด ว่าถ้าเป็นครูก็เป็นครูโรงเรียนสามัญ หรือถ้าเป็นครูในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ก็เป็นครูที่สอนวิชาสามัญ

ประชาไท - ในแง่ข้อมูล ปฏิกิริยาของรัฐในการตอบโต้ความรุนแรงเป็นเช่นไร?

รศ.ศรีสมภพ มันชัด แรงเหวี่ยงชัดมาก แต่ความรุนแรงเป็นปฏิสัมพันธ์กับรัฐด้วยทั้งบวกและลบ เมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม 2547 ผมนั่งคุยกันนักวิชาการต่างประเทศที่ศึกษาเรื่องพวกนี้ เขาดูข้อมูลในประเทศไทยแล้ว เขาบอกว่ามันจะเกิดแรงกว่านี้ 3-4 เท่าให้คอยดู ผมก็ตกใจว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง เท่านั้นก็แรงแล้ว แต่พอถึงปลายปีแล้วกราฟมันพุ่งมากเลย และปีหน้ามันก็มีโอกาสที่จะพุ่งสูงขึ้นไปอีก

แต่เราก็ลืมนึกไปอีกส่วนหนึ่ง เราลืมมองไปว่าที่เขาบอกว่ามันจะแรงขึ้นมันอาจจะรวมถึงแรงเหวี่ยงที่รัฐบาลทำด้วย มีส่วนทำให้สถานการณ์มันรุนแรงขึ้น และตัวคุมแรงเหวี่ยงอันนี้ก็คือรัฐ

ฉะนั้นที่ความรุนแรงขึ้นไปเร็วก็อาจเป็นเพราะการจัดการของรัฐเองไม่ถูกต้อง วิธีการจัดการปัญหาแบบนี้ ถ้าจะพูดถึงประสบการณ์ในหลายๆ ประเทศ เขาก็สรุปว่าทางฝ่ายรัฐต้องใช้ความอดทนมาก ไม่ใช่ปกติ ไม่ใช่แค่ครั้งสองครั้งทนได้ ไม่ใช่แค่นั้น ต้องอึดจริงๆ เพราะถ้าพลาดมันไปหมด ตัวเองทำมาได้สักสิบ พลาดทีเดียวติดลบไปยี่สิบสามสิบ แต่รัฐไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยตระหนัก

มีคนเคยพูดถึงกับว่า รัฐไทยไม่เคยต่อสู้กับพระเจ้า กับคนที่เขาต่อสู้เพื่อพระเจ้า รัฐเคยแต่ต่อสู้กับคนที่ต่อสู้เพื่อประชาชน เพื่อสังคม เพื่ออุดมการณ์ อันนี้เป็นเรื่องใหม่ เราอ่อนที่สุดเพราะเราก็ไม่มีความเชื่อเรื่องพระเจ้าด้วย

ประชาไท - สรุปได้ไหมว่า มาตรการทั้งหมดของรัฐตอนนี้แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่เพียงพอ?

รศ.ศรีสมภพ ไม่พอ ถ้าแก้ได้ก็อาจจะยังไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าหากจะให้เสนอเชิงนโยบาย ผมยังไม่ได้คิด แต่เท่าที่เข้าใจ มันต้องเป็นชุดการแก้ปัญหาที่ใหญ่มาก และเป็นระบบตั้งแต่แนวคิดใหญ่ ยุทธศาสตร์ จนถึงการจัดการระดับย่อยๆ ทุกด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การทหาร กฎหมาย ให้นำไปสู่เป้าหมายอันเดียวกัน มีกระบวนการ มีการจัดรูปโครงสร้างการบริหาร การจัดการแบบใหม่ รวมถึงต้องมีการตรวจสอบ มีการประเมินผล

นึกถึงเวลาเขาจัดระบบเรื่องผู้ว่า CEO ผมเคยไปช่วยทำ เขาทำซับซ้อนมา รัฐบาลคิดซับซ้อนมาก เอาแบบของฝรั่งมามากมาย แต่ทำไมเหตุการณ์ 3 จังหวัด ยุทธศาสตร์ความมั่นคงถึงไม่ใช่ balance flowchart บ้างไม่ใช่ว่าเป็นเทคนิค แต่เป็น concept ยุทธศาสตร์มันอยู่ที่ concept ถ้าไม่ชัดแล้วมันทำไม่ได้ เพราะต้องตรวจสอบกันทั้งระบบ มีการประเมิน มีตัวชี้วัด

ทักษิณอาจจะเก่งในเรื่องธุรกิจ แต่เรื่องการเมือง ความมั่นคง วัฒนธรรม ยังอ่อน ทั้งที่องค์ความรู้เหล่านี้ก็มีมาก แต่มันเป็นองค์ความรู้อีกชุดหนึ่ง ที่แม้แต่นักวิชาการเองก็ยังไม่ค่อยรู้มากนัก มันจึงเป็นเรื่องใหม่มาก

ประชาไท - คิดว่าสังคมไทยยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมไหม เพราะช่วงนี้มีคนบอกคนมุสลิมในกรุงเทพฯ ถูกมองแปลกๆ หรือถูกไล่ลงจากแท็กซี่?

รศ.ศรีสมภพ เหตุการณ์นี้มันพิสูจน์ว่าคนไทยเราจริงๆ แล้วไม่ได้ถูกฝึกให้ยอมรับความแตกต่างเลย เรามีอคติสูงมากกับความแตกต่าง เพียงแต่ที่ผ่านมามุสลิมในกรุงเทพฯ เขาปรับตัวถึงได้รับการยอมรับ แต่ถ้าเขารักษาอัตลักษณ์ของเขา คุณค่าของเขาแข็งตัวนั้น เราไม่รับเลย ระบบการศึกษาเราควรต้องเปลี่ยนใหม่ การยอมรับความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่แค่เพียงคำพูด แต่ต้องทำให้เป็นจริง

ประชาไท - ขอถามเรื่องบทบาทของมอ.ปัตตานี ที่อาจารย์เคยบอกว่าจะให้เป็นพื้นที่ในการสร้างยุทธศาสตร์แก้ปัญหา

รศ.ศรีสมภพ ก็ยังอยากให้เป็นรูปนั้น เพราะถ้าองค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้นใหม่ หรือการสรุปบทเรียนที่จะเกิดขึ้น มอ.ปัตตานีน่าจะเป็นแหล่ง แต่เราก็ยังทำไม่ได้มากเท่าไร ยังมีขีดจำกัดมากอยู่ แต่วงการวิชาการก็ต้องมาช่วยกัน ผมว่าตอนนี้ก็ตื่นกัน จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ นักวิชาการก็ลงไปพยายามประสานงานกัน เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ เริ่มประสานงานกับชุมชน ท้องถิ่น แต่อย่างที่ผมบอกว่ามันต้องมีการจัดการหลายระดับ ทั้งชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ

ถ้ามองเป็นนิมิตหมายที่ดีก็คือ เรากำลังจะไปสู่ uncharted territory เป็นดินแดนใหม่ เป็นพรม
แดนใหม่ของความรู้และประสบการณ์ ผมว่ามันน่าจะดีขึ้น

ข้อคิดเห็นส่วนตัวของผมต่อวงการวิชาการบ้านเราก็คือ เรามีแนวโน้มมากเกินไปที่จะเน้นเรื่องท้องถิ่น เป็นชุมชนท้องถิ่นนิยมมากเกินไป มีความรู้ ใช่มันอยู่กับชาวบ้าน ชุมชนส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งมันเป็นความรู้ที่เราต้องสรุปบทเรียนจากที่อื่นด้วย บางทีเรามีอะไรก็ให้ถามชาวบ้าน แต่ชาวบ้านในสถานการณ์แบบนี้เขาก็ไม่พูดความจริงทั้งหมด หรือบางทีเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันคืออะไร

เราต้องช่วยเขา ต้องมาองภาพกว้างด้วย แต่เราบอกอย่างไปเชื่อคนอื่น หรือต่างประเทศ เลยทำให้เราปิดเกินไป ไปโฟกัสท้องถิ่นเพียงจุดเดียวทั้งที่ข้างนอกมันมีความรู้เต็มไปหมด ตรงนี้ต้องระวัง

เลยไม่มีใครกล้าอธิบายอะไรตอนนี้ งง หันไปถามชาวบ้านชาวบ้านพูดแบบหนึ่ง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็อีกแบบหนึ่ง มันซับซ้อนมาก แต่ผมก็ยอมรับว่าชาวบ้านเข้าใจอะไรหลายอย่าง ซึ่งตอนนี้ก็ทำกันอยู่ทั้งเอ็นจีโอ หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net