Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 14 ม.ค. 47 วานนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดเสวนาครั้งใหญ่เรื่อง "การปรับปรุงแนวคิด และกระบวนการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในประเทศไทย" ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 90 คน ประกอบไปด้วยบุคลากรทั้งจากแวดวงหนังสือพิมพ์ กระบวนการยุติธรรม นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสมาชิกวุฒิสภาโดยแบ่งประเด็นเสวนาออกเป็น 5 กลุ่ม ตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และปัญหา

ภายหลังการเสวนา สภาการหนังสือพิมพ์มีข้อเสนอดังนี้

ในชั้นสอบสวน - การรับเรื่องราวร้องทุกข์ในคดีหมิ่นประมาท สภาการหนังสือพิมพ์เสนอว่า ควรกำหนดให้มีการไกล่เกลี่ยในชั้นพนักงานสอบสวน และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการไกล่เกลี่ยในชั้นสอบสวน โดยให้มีการจัดสัมมนาผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำความเข้าใจ รวมทั้งให้จัดการอบรมพนักงานสอบสวน ในการทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

สำหรับปัญหาเรื่องโจทก์ในคดีหมิ่นประมาทมักไปแจ้งความในหลายๆท้องที่ และหลายจังหวัดด้วยมูลคดีเดียวกันซึ่งอาจเข้าข่ายกลั่นแกล้งจำเลยนั้น มีข้อเสนอว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะมีการรวมศูนย์รับแจ้งความ และผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักร ควรออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการรับแจ้งความ และดำเนินคดีหลายท้องที่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกฎหมายที่ว่า การกระทำผิดกรรมเดียว ควรได้รับการพิจารณาเพียงครั้งเดียว

ในกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องของศาล เสนอว่าควรจะดำเนินการไต่สวนมูลฟ้อง ทั้งกรณีอัยการเป็นโจทก์ด้วย เพื่อกลั่นกรองให้ชัดเจน และควรมีการแก้กฎหมาย โดยน่าจะมีลักษณะพิเศษให้ไต่สวนมูลฟ้องได้หากมีลักษณะความผิดพิเศษ ว่าสมควรให้มีการไต่สวนมูลฟ้อง และน่าจะให้ประธานศาลฎีกาออกแนวปฏิบัติเหมือนกันทุกศาล ว่าประเด็นหมิ่นประมาทที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะไต่สวนมูลฟ้องได้ โดยยังไม่ต้องแก้กฎหมาย ควรแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 และมาตรา 165 ให้จำเลยสามารถนำพยานมาสืบได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการประทับรับฟ้อง และถ้าจำเป็นต้องแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับที่ประธานศาลฎีกาวางระเบียบ โดยแก้กฎหมายในระดับหนึ่ง และผู้ต้องหามีโอกาสนำพยานหลักฐานมาแสดงได้ในชั้นอัยการสั่งสำนวน

ประเด็นโจทก์และจำเลยในคดีอาญา และพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 กลุ่มที่ 3 มีข้อเสนอว่า นิติบุคคลเป็นผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาทได้ และสามารถฟ้องร้องได้ โดยหลักของความเป็นเพราะนิติบุคคลมีชื่อเสียงได้ อาจได้รับความเสื่อมเสียจากการใส่ความของผู้อื่น

ในทางตรงกันข้าม นิติบุคคลไม่ควรเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะนิติบุคคลไม่สามารถกระทำการใดๆ ด้วยตัวเองได้ ความรับผิดทางอาญาเป็นความรับผิดในการกระทำของมนุษย์ ส่วนหนังสือพิมพ์ใดโฆษณาเรื่องเกี่ยวแก่บุคคลใดคลาดเคลื่อนจากความจริง และอาจจะเกิดความเสียหาย ผู้เสียหายอาจแจ้งเป็นหนังสือขอให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้นแก้เอง หรือลงพิมพ์แก้ หรือปฏิเสธเรื่องนั้น โดยจะต้องพิมพ์ในฉบับที่จะออกโฆษณาต่อไป จากเวลาที่ได้รับคำขอดังกล่าวแล้ว หรือฉบับที่ถัดไป เมื่อแก้หรือลงพิมพ์หนังสือ หรือปฏิเสธโดยถูกต้องแล้ว สิทธิในการฟ้องของบุคคลผู้ขอแก้ ทั้งทางแพ่งและอาญาเป็นอันระงับลง

สำหรับกระบวนการทางสังคมเพื่อปกป้องผู้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ มีข้อเสนอว่าในคดีหมิ่นประมาทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสาธารณะ หรือบุคคลที่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าในฐานะผู้เสียหาย หรือผู้ถูกฟ้อง ควรมีเกณฑ์ในการพิจารณาแตกต่างจากบุคคลทั่วไป และสังคมควรสร้างกลไกป้องกันการนำกฎหมายหมิ่นประมาทมาเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและให้ยกเลิกพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 และพ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ

อีกด้านหนึ่งก็ควรจะส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯกำหนดขึ้น ให้การศึกษาแก่ประชาชนได้รับรู้ว่ามีมาตรฐานทางวิชาชีพของหนังสือพิมพ์

ประเด็นสุดท้าย การลงโทษและการชดใช้ค่าเสียหาย เสนอว่า ในคดีหมิ่นประมาทที่เป็นโทษทางอาญา ควรจำกัดเฉพาะที่มีเจตนามุ่งร้ายเป็นพิเศษ ส่วนความผิดทางอาญาควรตัดโทษจำคุก และใช้วิธีการลงโทษวิธีอื่นแทน สำหรับภาระของการพิสูจน์ความจริงในคดีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะ ควรเพิ่มภาระการพิสูจน์ของโจทก์ เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ

ภายหลังการเสวนา นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียรประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯกล่าวว่า จะเพื่อรวบรวมข้อเสนอให้กับหน่วยงานด้านยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการและจะศึกษาในประเด็นที่ยังไม่เป็นที่ยุติ จากนั้น จะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดสู่สาธารณะ เพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net