Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความพิเศษ
สินาด ตรีวรรณไชย

(บทความนี้มาจากการสรุปความและเรียบเรียงแก้ไขขึ้นใหม่จากบทที่ 2 ของวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน ดู Sinad Treevanchai (2003). Social Capital and the Performances of Savings Groups: A Case Study in Songkhla. Master Degree Thesis, Faculty of Economics (English Program), Thammasat University. /ตีพิมพ์สู่สาธาณชนครั้งแรกในจุลสาร ปxป ปีที่3 ฉบับที่ 33 เดือนสิงหาคม 2546)

เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆว่า ปัจจัยทางสังคมมีความสำคัญต่อผลทางเศรษฐกิจหลายๆประการ ยกตัวอย่างเช่น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าอัศจรรย์ของประเทศเอเชียตะวันออกถูกอธิบายว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีลักษณะพิเศษทางสังคมขององค์กร เช่น ความเชื่อถือได้ของข้าราชการ (Trustworthiness of bureaucrat) การร่วมมือกัน (cooperation) การทำงานเป็นทีม (teamwork) เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงลักษณะของการเป็นชุมชนที่มีความเชื่อถือไว้วางใจกันทำให้สามารถรวมตัวกันจัดสรรทรัพยากรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น น้ำ ป่า ที่สาธารณะ ทะเล เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอาจเรียกลักษณะความสัมพันธ์เหล่านี้ว่า ทุนทางสังคม

ความหมายของทุนทางสังคม

ทุนทางสังคม หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมที่เราสามารถเรียกเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากมันได้ ตัวอย่างของทุนทางสังคมที่มักถูกกล่าวถึงคือ ความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) เครือข่าย (Network) สถาบัน (Institution) ซึ่งความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมรูปแบบใดที่เป็นทุนทางสังคมนั้น เราอาจพิจารณาง่ายๆว่า ท้ายที่สุดแล้วมันสามารถให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับเราได้หรือไม่นั่นเอง

ทุนทางสังคมเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน กิจกรรมร่วมมือกัน ยิ่งมีมากเท่าไรก็อาจเป็นผลดีในแง่ที่ว่า เกิดการเรียนรู้ รับรู้ และส่งผ่านข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ทำให้เกิดคุณค่าบางอย่างที่สามารถยึดโยงและยอมรับร่วมกัน ซึ่งคุณค่าอันนั้นนั่นเองที่ส่วนหนึ่งเราสามารถเรียกเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากมันได้
ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านในชุมชนแห่งหนึ่งมีกิจกรรมร่วมมือกันอยู่เป็นประจำ ทำให้ชาวบ้านต่างเรียนรู้และเข้าใจ หรือ "รู้จัก" กันเป็นอย่างดี เป็นผลให้เมื่อชาวบ้านต้องการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อระดมเงินออมและปล่อยกู้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนราคาถูกให้คนในชุมชน มันก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเมื่อมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีการโกงกันหรือเชิดเงินหนีไป พูดอีกอย่างก็คือ เป็นเพราะความไว้เนื้อเชื่อใจกันนี่เองที่ทำให้ชาวบ้านได้มีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น เป็นเพราะทุนทางสังคมนี่เอง (ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน) ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น (แหล่งเงินทุน)

ทุนทางสังคมอาจแบ่งกว้างๆได้เป็นสองประเภท คือ ทุนทางสังคมภายใน (Cognitive social capital) และ ทุนทางสังคมภายนอก (Structural social capital)

ทุนทางสังคมภายใน มีลักษณะที่มองเห็นและประเมินได้ยาก เพราะมันอยู่ในจิตใจของเรา ทุนทางสังคมแบบนี้จะเกี่ยวพันกับเรื่องของความรู้สึกนึกคิด จิตใจ ความเชื่อ ทัศนคติ เช่น ความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) คุณค่าร่วมกัน (Share values) ความเกื้อกูลกัน (Reciprocity)

ทุนทางสังคมภายนอก มีลักษณะที่มองเห็นและประเมินได้ง่ายกว่า เข้าใจได้ง่ายกว่าประเภทแรก ด้วยทุนทางสังคมประเภทนี้เกี่ยวพันกับบทบาท พฤติกรรม การกระทำหรือความสัมพันธ์ที่เราสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเครือญาติ สายสัมพันธ์อุปถัมภ์ หรือจะเป็น เครือข่าย องค์กร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ องค์กรปกครองท้องถิ่น ชมรม เป็นต้น รวมถึงสถาบันในรูปของกฎของการเล่นเกม (Rule of the game) เช่น กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย รัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ทุนทางสังคมทั้งสองแบบที่กล่าวมา เอาเข้าจริงแล้วสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก อีกทั้งในหลายๆครั้ง ยังส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วย เช่น จากตัวอย่างที่แล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (ทุนทางสังคมภายใน) ทำให้สามารถตั้งกลุ่มออมทรัพย์ (กลุ่ม/องค์กรซึ่งเป็นทุนทางสังคมภายนอก) ขึ้นมาได้ ถ้ากลุ่มออมทรัพย์ในฐานะทุนทางสังคมภายนอกนี้ สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ก็จะเป็นการตอกย้ำว่า การเชื่อถือไว้วางใจระหว่างกันเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย ชาวบ้านก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น กระทั่งว่าเกิดเป็น แบบแผนการเชื่อถือไว้วางใจกัน (Norm of trust) ยังไม่ต้องนับว่า เมื่อกลุ่มสามารถดำเนินการไปได้เรื่อยๆแล้ว เงินกองทุนจะยิ่งทบทวีให้ประโยชน์แก่คนในชุมชนได้มากขึ้นไปอีก

ทุนทางสังคมให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างไร เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่ากล่าวถึง
ทุนทางสังคมโดยตัวของมันเองนั้นมิได้เป็นปัจจัยการผลิตโดยตรง หากแต่เป็นตัวกลางในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตหรือทุนอื่น เช่น ข่าวสารข้อมูล ทุนมนุษย์ (Human capital) ทุนกายภาพ (physical capital) ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural resources) เป็นต้น ในราคาที่ถูกลง โดยผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมนั่นเอง

กล่าวโดยกว้างๆแล้ว ทุนทางสังคมให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้โดยผ่านสองช่องทางคือ ลดต้นทุนทางธุรกรรม (Transaction cost) และลดต้นทุนการตรวจสอบดูแล (Monitoring cost)

ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการนิยามทุนทางสังคมอย่างง่ายๆว่าหมายถึง ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Trust) เราก็พอจะเข้าใจได้ว่า เมื่อคนเรามาทำสัญญา ทำกิจกรรมร่วมมือกัน หรือทำธุรกรรมร่วมกัน มันจะเสียต้นทุนตรงส่วนนี้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น พ่อค้าเพชรสองคนที่มีความเชื่อถือไว้วางใจกัน สามารถทำการแลกเปลี่ยนเพชรเพื่อตรวจสอบก่อนซื้อขายจริง โดยมิต้องมีการทำประกันภัยหรือทำสัญญาอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องเสียต้นทุนของธุรกรรมในเรื่องดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการตกลงสัญญาหรือทำกิจกรรมร่วมมือกันแล้ว ต้นทุนในการกำกับดูแลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยึดถือและปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้แก่กัน ก็จะเสียต้นทุนดังกล่าวน้อยลง โดยเฉพาะการจัดหาคนกลางให้เข้ามาควบคุมดูแล (Third party) เช่น หากสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้านสามารถไว้เนื้อเชื่อใจกันได้แล้ว เมื่อกลุ่มให้กู้แก่สมาชิก หลายๆกรณีไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงมิต้องจ้ำจี้จ้ำไชให้สมาชิกเสียดอกเบี้ยและเงินต้นตามกำหนด เพราะคาดหมายได้ว่าสมาชิกจะทำเช่นนั้นอยู่แล้ว

การมีทุนทางสังคมมิใช่ว่าจะให้แต่ผลดีเท่านั้น หากแต่ยังสามารถให้ผลในทางลบแก่ผู้ถือครองหรือสังคมโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับมันด้วย (Negative social capital) ซึ่งผลทางด้านลบของทุนทางสังคมอาจแบ่งได้ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ

ประการที่หนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาการกีดกันคนนอก (Exclusion problem) กล่าวคือ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของคนกลุ่มหนึ่งอาจก่อให้เกิดการกีดกันผู้อื่นในการเข้ามาจัดสรรทรัพยากรได้ พูดอีกอย่างก็คือ ก่อให้เกิดปัญหาการผูกขาดการจัดสรรทรัพยากรบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงให้แก่คนที่อยู่ในกลุ่มความสัมพันธ์เท่านั้น เช่น การที่กลุ่มเชื้อชาติชาวคิวบาได้ครอบงำในหลายภาคธุรกิจของรัฐไมอามี เป็นต้น อันเป็นผลทำให้ธุรกิจดังกล่าวขาดการแข่งขัน ขาดการพัฒนาเทคนิคความรู้ ตลอดจนเสียต้นทุนสังคมและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจากการผูกขาดนั้น
ประการที่สอง ก่อให้เกิดปัญหาการจำกัดเสรีภาพ หรือจ่ายราคาของการมีพันธะกับทุนทางสังคมนั้นมากจนเกินไป (Heavy obligation) กล่าวคือ เครือข่ายหรือความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแข็งจนเกินไป อาจยอมรับเฉพาะแต่คนที่เชื่อฟังกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและไม่ยืดหยุ่นเท่านั้น การพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์ที่บางครั้งเป็นผลดีต่อสังคมโดยรวม จะถูกพิพากษาขับออกจากชุมชนความสัมพันธ์ทันที เช่น ชุมชนชาวจีนในซานฟรานซิสโก แม้จะช่วยเหลือสมาชิกของชุมชนให้ก่อตั้งธุรกิจได้ง่าย แต่อีกด้านหนึ่งก็จะถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากกลุ่มครอบครัวและบริษัทที่มีอยู่ ผู้ที่ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะถูกขับออกจากชุมชนทันที

ประการที่สาม ก่อให้เกิดปัญหาการเข้าสู่วังวนของความเลวร้าย (Downward-leveling pressure) กล่าวคือ การเข้าไปอยู่ในกลุ่มความสัมพันธ์บางรูปแบบ เช่น แก๊งวัยรุ่น แก๊งมาเฟีย แม้จะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายอย่างกับคนในแก๊ง แต่การอยู่ในกลุ่มดังกล่าวมีทั้งแรงกดดันและวัฒนธรรมหลายๆอย่างที่ฉุดดึงให้ลงสู่ห้วงแห่งความเลวร้าย ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การเรียกค่าคุ้มครอง คอรัปชั่น เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่ประการใดต่อสังคมโดยรวม

สิ่งที่ต้องตระหนักเสมอก็คือว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมอันไหนที่เป็นทุนทางสังคมได้ เราต้องสามารถเรียกเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เราต้องการจากมันได้ด้วย นั่นคือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เราต้องการจะเป็นตัวจำกัดในเบื้องต้นว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมอันไหนบ้างที่เราสามารถใช้เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ทุนทางสังคมของคนกลุ่มหนึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกับของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ยังไม่นับว่า ทุนทางสังคมของคนบางกลุ่มกลับเป็นผลเสียต่อคนอีกหลายๆกลุ่มหรือสังคมโดยรวมก็ได้

การวัดทุนทางสังคม

วิธีการวัดทุนทางสังคมพอจะแบ่งได้ 2 แบบ กล่าวคือ หนึ่งวัดไปที่ต้นกำเนิดของทุนทางสังคม ซึ่งก็คือจำนวนและคุณภาพของการมีปฏิสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมร่วมกันในหลายๆรูปแบบ และสองวัดไปที่ตัวทุนทางสังคมนั้นเลย

วิธีแรกค่อนข้างง่ายในการวัดเพราะเข้าใจได้ไม่ยากและไม่ซับซ้อน เช่น การวัดกิจกรรมร่วมกันในหมู่บ้าน อายุของชุมชน จำนวนผู้เข้าร่วมการทำกิจกรรม ความหลากหลายทางลักษณะของผู้คนในเครือข่ายความสัมพันธ์ เป็นต้น แต่ปัญหามีอยู่ว่า จำนวนและคุณภาพของกิจกรรมร่วมกันที่มากกว่าอาจมิได้หมายถึงการมีทุนทางสังคมที่มากกว่าก็ได้ โดยเฉพาะการทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ต้องการ

วิธีการแบบหลังเป็นวิธีการที่ดีกว่าในแง่ที่มุ่งวัดทุนทางสังคมโดยตรงเลยว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน เช่น ระดับของความเชื่อถือไว้วางใจกัน ปริมาณและคุณภาพของกลุ่ม/องค์กร เครือข่ายและสถาบันต่างๆที่ปัจเจกชนหรือชุมชนมี แต่ก็อีกเช่นกัน การสร้างตัวชี้วัดหรือแม้แต่การขีดวงจำกัดว่าอะไรคือความเชื่อถือไว้วางใจ เครือข่าย สถาบัน เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ยังไม่ต้องนับว่า วิธีการวัดทุนทางสังคมที่ใช้นั้นมีความเที่ยงตรงและชัดเจนมากน้อยเพียงไร

ความสำคัญของทุนทางสังคมในทางเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ก็ได้พยายามนำแนวความคิดเรื่องทุนทางสังคมมาศึกษาว่าทุนทางสังคมมีผลทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง และทุนทางสังคมรูปแบบใดที่มีความสำคัญ โดยผ่านการตีความอย่างแตกต่างและหลากหลาย รวมถึงขอบเขตการศึกษาก็แตกต่างกันด้วย อาทิเช่น

นายเจมส์ โคลแมน (James Coleman, 1988) ได้ทำการศึกษาพบว่า ทุนทางสังคมในครอบครัวมีผลอย่างสำคัญในการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย โดยทุนทางสังคมในครอบครัววัดจากการมีอยู่ของพ่อและแม่ในครอบครัว จำนวนพี่น้อง ความคาดหวังในตัวลูกของแม่เรื่องการศึกษา เด็กที่มีทั้งพ่อและแม่ในครอบครัว จำนวนพี่น้องที่น้อยกว่า และแม่คาดหวังในเรื่องการศึกษา มีแนวโน้มที่จะสำเร็จการศึกษามากกว่า

นายโรเบิร์ต พุทนัม (Robert Putnam, 1993) ชี้ว่า ระดับความจำเริญทางเศรษฐกิจและคุณภาพของสถาบันในภาคเหนือของอิตาลีที่มีมากกว่าภาคใต้ เป็นผลมาจากการมีระดับความเชื่อถือไว้วางใจและการเกื้อกูลกัน (Norm of trust and reciprocity) และเครือข่ายชุมชน (Civic engagement) ที่มากกว่า ซึ่งนายพุทนัมนิยามมันว่าคือทุนทางสังคม

แนคและคีเฟอร์ (Knack and Keefer, 1997) ได้สร้างตัวชี้วัดทุนทางสังคมขึ้นมาสองตัวคือ ระดับของความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) และแบบแผนพฤติกรรมร่วมกัน (Civic norms) แล้วนำไปศึกษาในประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบตลาด 29 ประเทศ พบว่า ประเทศที่มีระดับของตัวชี้วัดดังกล่าวมากกว่า มีแนวโน้มที่จะมีระดับประสิทธิผลทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีกว่า

นารายันและพริทเชทท์ (Narayan and Pritchett, 1997) แสดงให้เห็นว่า ทุนทางสังคมเป็น" ทุน" เพราะสามารถเพิ่มระดับรายได้ของครัวเรือน โดยพวกเขาวัดทุนทางสังคมจากจำนวนกลุ่ม/องค์กรที่สมาชิกในครัวเรือนเป็นสมาชิก ระดับการร่วมมือกันในกลุ่มนั้น และความหลากหลายทางลักษณะของสมาชิกในกลุ่มนั้นๆ ครัวเรือนที่มีระดับตัวชี้วัดดังกล่าวมากกว่า มีแนวโน้มที่จะมีรายได้มากกว่า

ในประเทศไทยเอง มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่า ทุนทางสังคมโดยเฉพาะการรวมกลุ่มหรือรวมตัวกันจัดสรรทรัพยากรกันเองของคนในชุมชนที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน สามารถทำให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น การตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุน การรวมตัวเพื่อจัดสรรทรัพยากรน้ำ ป่า ที่ดินสาธารณะของชุมชน กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกต่างๆ เป็นต้น ยิ่งกลุ่มหรือเครือข่ายเหล่านี้สามารถเชื่อมกับกลุ่มอื่นๆนอกชุมชนอย่างหลากหลายแล้ว ทุนทางสังคมก็จะยิ่งขยายวงมากขึ้นเท่านั้น

แต่มีข้อพึงระวังเช่นกันว่า มิใช่ทุกกรณีของการมีกิจกรรมร่วมกันของคนหรือชุมชนจะให้แต่ผลดีหรือให้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่า เพราะหากมิได้พิจารณาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างดีแล้ว การมาทำอะไรร่วมกันของกลุ่มคนที่หลากหลายอาจทำให้สูญเสียเวลาและทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ หนำซ้ำในบางครั้งอาจเกิดความขัดแย้งจนบานปลายได้

บทส่งท้าย

นับเนื่องจากการที่สถาบันที่เป็นทางการอย่างรัฐบาล กฎหมาย รัฐธรรมนูญ องค์กรของรัฐต่างๆ มีความสำคัญอย่างมากในการให้คุณให้โทษแก่ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าทำอย่างไรเราจึงจะทำให้สถาบันดังกล่าวนั้นเป็นทุนสังคมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

หากย้อนกลับไปหาต้นกำเนิดของทุนทางสังคมซึ่งก็คือการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันหรือมี กิจกรรมร่วมมือกัน ฉะนั้นหากเรามุ่งหมายที่จะให้สถาบันที่เป็นทางการเป็นทุนสังคมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมจริงๆ ก็จำเป็นต้องยอมรับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนที่หลากหลายในการออกแบบสถาบัน การให้ข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจในทุกระดับเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งต้องให้น้ำหนักหรืออำนาจพอสมควรกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนนั้น

เราจะมีสถาบันที่เป็นทางการที่เป็นธรรมได้อย่างไร หากมันมิได้เกิดจากการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ตัดสินใจหรือหาทางออกร่วมกันของประชาชนหลากหลายกลุ่ม ประชาธิปไตยที่มิใช่แค่การเลือกตั้งจึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการมีสถาบันหลายๆสถาบันเป็นทุนทางสังคมในระดับชาติ

หากเห็นความสำคัญของทุนทางสังคมจริง ฝ่ายรัฐบาลหรือรัฐเองก็สมควรปรับท่าทีการมองเรื่องที่ประชาชนรวมตัวกันเพื่อขอมีส่วนในการจัดสรรทรัพยากร เช่น กรณีเขื่อนปากมูน กรณีท่อก๊าซจะนะ การกล่าวหากล่าวโทษหรือดูถูกดูแคลน รังแต่จะทำให้ความเชื่อถือไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนลดลง อันยิ่งจะเป็นการบั่นทอนการสร้างทุนทางสังคมในระดับองค์รวม

เอกสารอ้างอิง

Coleman, J. (1988). "Social Capital in the Creation of Human Capital." American Journal
of Sociology 94, S95-120.

Knack. S. and Keefer, P. (1997). "Does Social Capital Have an Economic Payoff? A
Cross Country Investigation." The Quarterly Journal of Economics, November, pp.1251-
1288.

Narayan, D., and L. Pritchett. (1997). "Cents and Sociability: Household Income and
Social Capital in Rural Tanzania." Policy Research Working Paper 1796, Washington,
DC: The World Bank.

Putnam, R. D, Leonardi, R. and Nanetti, R. Y. (1993). Making Democracy Work: Civic
Traditions in Modern Italy. Princeton, New Jersey: Princeton University Press.

Sinad Treevanchai (2003). "" Social Capital and the Performances of Savings Groups: A
Case Study in Songkhla." " Master Degree Thesis, Faculty of Economics (English
Program), Thammasat University.
Http://www.worldbank.org/poverty/scapital/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net