Skip to main content
sharethis

ประชาไท/สงขลา วันที่ 30 ธ.ค. 47 ศาลจังหวัดสงขลามีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาเป็นโจทก์ฟ้อง ชาวบ้านและเอ็นจีโอ ที่คัดค้านโครงการท่อก๊าซฯ ไทย-มาเลย์ รวม20 คน เสมือนหนึ่งว่า เป็นชัยชนะเล็กๆ สำหรับการต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชน ที่ได้ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการของรัฐและกลุ่มทุน เพื่อที่จะปกปักรักษาทรัพยากรและผลประโยชน์ของชาติ และท้องถิ่น และยังเป็นเหมือนอีกหนึ่งหนทางที่เป็นความหวังในการต่อสู้ของประชาชน

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม กลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง บริเวณถนนทางเข้าโรงแรมเจบี หาดใหญ่ จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและถูกจับกุม ภายหลังได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีความอยู่ในศาลจังหวัดตามคดีหมายเลขดำที่195,326,406,624,739,848,903,1652,1993,3448/2546 ระหว่างอัยการจังหวัดสงขลา โจทก์ กับนายรัชฏะ วัฒนศักดิ์ กับพวกรวม 20 คน จำเลย

โดยในวันที่ 30 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องพิจารณาที่ 209 ศาลจังหวัดสงขลา นายพงศธร เหมทานนท์ นายต่อพงษ์ พงษ์เสรี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้ออกนั่งบัลลังก์แถลงคำพิพากษาคดียกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้ง 20 คนทุกข้อหา

การยกฟ้องในคดีนี้ไม่เพียงสร้างขวัญและกำลังใจแก่กลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ และภาคประชาชนอื่นๆ ที่เป็นแนวร่วมในการต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ (และกลุ่มทุน)เท่านั้น แต่ในแง่ของการต่อสู้ตามครรลองของกฎหมายของประชาชน ตัวอย่างการต่อสู้จากกรณีนี้เป็นตัวอย่าที่มีค่าอย่างยิ่งในการศึกษา และเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายตามเจตนารมณ์ของ
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ที่ได้บัญญัติถึงหลักสิทธิชุมชนในการรักษาทรัพยากรธรรม
ชาติของท้องถิ่น และสิทธิในการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย

โดยคำพิพากษาในคดีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า สิทธิชุมชนและสิทธิในการชุมนุมที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นเพียงตัวอักษรที่เขียนไว้อย่างสวยหรู แต่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะกระทำได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงและชอบธรรม ทั้งไม่ต้องรอกฎหมายลูกออกมารองรับ

ทั้งเป็นครั้งแรกที่บทบัญญัติในสองเรื่องสำคัญสำหรับการเมืองภาคประชาชนได้แสดงให้เห็นในทางปฏิบัติได้จริง ซึ่งผู้เขียนได้เทียบตัวบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญกับคำพิพากษาในคดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องของบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการต่อสู้การชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ กับแนวคำพิพากษาของศาล ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป

มาตรา ๔๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา ๕๖ สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยสวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง
ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติสิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา ๕๙ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ

บางส่วนของคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับ2 มาตราข้างต้น " .....โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย เป็นโครงการขนาดใหญ่ทางด้านพลังงานที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับประชาชนชุมชนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดให้ประชาชนชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องร่วมรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ร่วมเสนอความคิดเห็น ร่วมวางแผน ร่วมกระบวนการพิจารณาและเข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่กฎหมายบัญญัติ ประชาชนหรือจำเลยทั้งยี่สิบหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใดย่อมมีสิทธิในการนำเสนอความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าว รัฐบาลแห่งประเทศไทยย่อมตระหนักถึงบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงได้มีการจัดให้มีประชาพิจารณ์ โดยอาศัยระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีการประชาพิจารณ์ พุทธศักราช ๒๕๓๙ ขึ้น จำนวน ๒ ครั้ง ต่างวาระกันที่ห้องประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ และที่สนามกีฬากลางจิระนคร ตามลำดับ แต่มีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยร่วมชุมนุมกันแสดงพลังมวลชนคัดค้านโครงการดังกล่าวจนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นทั้งสองครั้ง

หลังจากนั้น ปรากฏแก่ประชาชนว่ารัฐบาลยังคงดำเนินการตามโครงการต่อไป ประชาชนหรือจำเลยทั้งยี่สิบหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใดย่อมมีสิทธิร่วมชุมนุมกันแสดงพลังมวลชนคัดค้านโครงการดังกล่าวภายในขอบเขตแห่งกฎหมายเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการนี้ได้"

"…ในวันเกิดเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งยี่สิบหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใด และประชาชนร่วมชุมนุมกันที่ลานกีฬาบ้านโคกสัก แล้วตั้งรูปขบวนร่วมกันเดินทางไปตามถนนสายเอเชียมุ่งหน้าไปทางอำเภอหาดใหญ่ โดยมีเจตนาและวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อแสดงพลังมวลชนคัดค้านโครงการดังกล่าว และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามที่ได้ตกลงกันไว้ต่อไป จึงเน้นการให้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญของประชาชนหมู่มากทั้งชายหญิงและคนชรา ย่อมเป็นธรรมดาที่กลุ่มผู้คัดค้านต้องตระเตรียมวางแผนการจัดเตรียมเครื่องแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ อำนวยความสะดวก เครื่องขยายเสียง และสัญลักษณ์ประจำกลุ่มผู้คัดค้านให้เป็นไปในลักษณะเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันส่อแสดงให้เห็นเป็นแนวทางว่ากลุ่มผู้คัดค้านมีเจตนาและวัตถุประสงค์ร่วมกันประกอบกับเพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่การควบคุมดูแลซึ่งกันและกัน สามารถแยกแยะออกจากกลุ่มพลังมวลชนอื่น ๆ ถ้าหากมีได้โดยชัดเจน สอดคล้องกันกับนายวัชระพันธ์และจำเลยที่ ๔ เบิกความสอดคล้องเจือสมกันว่า กลุ่มผู้คัดค้านเดินทางมาก่อนล่วงหน้าเพื่อมิให้ปะปนกับกลุ่มพลังมวลชนอื่นเพียงเท่านี้

ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์แห่งการกระทำของกลุ่มผู้คัดค้านในส่วนนี้เป็นความผิดต่อบทกฎหมายใด การที่กลุ่มผู้คัดค้านร่วมชุมนุมกันเพื่อแสดงพลังมวลชนดังกล่าวจึงเป็นการร่วมชุมนุมกันโดยชอบ"

"…จากนั้น กลุ่มผู้คัดค้านพากันลงจากรถยนต์ยานพาหนะตั้งขบวนเดินเท้าขยับหลีกเลี่ยง เครื่องกีดขวางที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมาตั้งวางขวางกั้นบนถนนสายเอเชีย จะมุ่งหน้าไปทางอำเภอหาดใหญ่ หรือขบวนกลุ่มผู้คัดค้านฝ่าฝืนไม่ยินยอมเลี้ยวเข้าถนนซอยข้างธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม เพื่อเข้าสู่พื้นที่ว่างที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ดั่งที่พันตำรวจเอกสุรชัย สืบสุข พยานโจทก์เบิกความหรือขบวนกลุ่มผู้คัดค้าน หยุดพักร่วมชุมนุมกันบนถนนจุติอนุสรณ์ บริเวณเชิงสะพานจุติบุญสูงอุทิศ จนเจ้าพนักงานตำรวจต้องเข้าผลักดันสลาย การชุมนุมกันเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย ไม่ได้กระทำผิดต่อบทกฎหมายใด จึงมีสิทธิที่จะเดินทางไปตามเส้นทางไปมาตามเส้นทางที่กลุ่มผู้คัดค้านได้เคยปรึกษาหารือวางแผนร่วมกันมาแต่ต้น เพื่อเข้าสู่สถานที่หยุดพักร่วมชุมนุมกันบริเวณสวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถโรงแรมเจ.บี.(หาดใหญ่) รอกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ตกลงกันไว้ให้เป็นผลสำเร็จลุล่วงไป โดยไม่ต้องรอให้เจ้าพนักงานตำรวจทำการตรวจค้นขบวนกลุ่มผู้คัดค้านบนถนนสายเอเชียในท้องที่อำเภอนาหม่อมให้แล้วเสร็จเสียก่อน จึงจะเดินทางต่อไปได้ และไม่จำต้องเดินทางไปตามเส้นทางและเข้าสู่สถานที่หยุดพักร่วมชุมนุมบริเวณพื้นที่ว่างในถนนซอยข้างธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษมตามที่เจ้าพนักงานตำรวจกำหนดกับกลุ่มผู้คัดค้าน"

"…การที่กลุ่มผู้คัดค้านหรือจำเลยทั้งยี่สิบหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใดยังคงหยุดพักร่วมชุมนุมกันบนถนนจุติอนุสรณ์บริเวณเชิงสะพานจุติบุญสูงอุทิศต่อไปอีก แม้ระหว่างนั้นจะมีผู้คัดค้านบางคนหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใดขึ้นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันพูดปราศรัยโจมตีคัดค้านโครงการดังกล่าวสลับกับการเปล่งถ้อยคำด้วยน้ำเสียงปลุกเร้าใจของผู้พูดปราศรัยแล้วมีผู้คัดค้านส่วนที่เหลือเปล่งเสียงขานรับตามวิถีทางครรลองและขั้นตอนของการร่วมชุมนุมก็เป็นเพียงการกระทำกิจกรรมภายในขอบเขตวัตถุประสงค์ในการชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งประสงค์ของกลุ่มพลังมวลชนเท่านั้น

จึงมิทำให้การชุมนุมเรียกร้องของผู้คัดค้านหรือจำเลยทั้งยี่สิบหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใดที่ได้ดำเนินมาโดยชอบแล้ว ตั้งแต่ต้น กลับกลายเป็นการชุมนุมเรียกร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ลำพังเพียงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งยี่สิบหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใดร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้คัดค้านตรงส่วนหน้าของขบวน หรือจัดกลุ่มผู้คัดค้านให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อยของรูปขบวนไม่พลุกพล่านสับสนหรือเดินไปมาพุดคุยสนทนากับกลุ่มผู้คัดค้านหรือผู้คัดค้านคนใด หรือเคยปรากฏว่าจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใดเคยเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องเรื่องใด ๆ สถานที่อื่น ๆ มาก่อนเกิดเหตุ อันเป็นมูลคดีนี้ก็หาใช่ทั้งยี่สิบหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนนั้น ๆ เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการร่วมชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มผู้คัดค้านทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งยี่สิบหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใดมีอาวุธเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้อง ร่วมกันกับกลุ่มผู้คัดค้านจึงฟังไม่ได้ว่าการที่กลุ่มผู้คัดค้านหรือจำเลยทั้งยี่สิบหรือจำเลยทั้งยี่สิบคนหนึ่งคนใดร่วมชุมนุมกันในวันเกิดเหตุเป็นการมั่วสุมตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง"

(คัดลอกบางส่วนมาจากคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 195,326,406,624,739, 848,903, 1652, 1993,3448/2546)

เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาที่ตัดตอนมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญในหมวด สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 44 , 56 , 59 จะเห็นได้ว่า

ตามคำพิพากษาในคดีนี้ ได้วางหลักสอดคล้องกับกับบทกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 56 โดยได้ชี้ให้เห็นในเรื่องสิทธิของชุมชน ในการที่จะเสนอความคิดเห็น คัดค้านโรงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต และหากทางภาครัฐมิได้จัดการโครงการนี้ให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะร่วมกันชุมนุมคัดค้าโครงการดังกล่าว

และสิทธิของชุมชนในการปกป้องรักษาทรัพยากรท้องถิ่นจากโครงการของรัฐที่จะก่อให้เกิดผล
กระทบนั้น ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐไม่สามารถที่จะละเมิดได้ หากมิได้ปฏิบัติตามข้อบัญญัติตามตัวกฎหมายไม่ว่าจะเป็น การศึกษาประเมิลผลกระทบจากโครงการการทำประชาพิจารณ์ เมื่อปรากฏว่ารัฐมิได้กระทำตามข้อบัญญัติของกฎหมายในเร่องนี้ ประชาชนในท้องถิ่นผู้ได้รับผลกระทบจึงย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมในการคัดค้านโครสการของรัฐได้เช่นเดียวกัน

และสิทธิในการชุมนุมเรียกร้องโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 ตามคำพิพากษานี้ก็วางหลักสอดคล้องกับตัวบทกฎหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และยังมีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยในโครงการใดๆ ของรัฐมีสิทธิอันชอบธรรมในการรวมตัวกันเพื่อชุมนุม ใช้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญได้ หากการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยสันติ และปราศจากอาวุธ

จากคำพิพากษาจะเห็นได้ว่า นอกจากประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการของรัฐ ในกรณีท่อก๊าซไทย-มาเลย์ มีสิทธิที่จะชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ทบทวนโครงการได้แล้ว การตระเตรียมการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการนัดใส่เสื้อสีเดียวกัน การเตรียมเครื่องขยายเสียง การใช้รถยนต์ในการเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวก การเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงถึงพลังมวลชน เจตนารมณ์ของการชุมนุม และความเป็นหนึ่งเดียวของขบวนของผู้ที่มร่วมชุมนุม ย่องเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ทั้งนั้น ไม่เป็นการผิดกฎหมายแต่อย่างใด

การกระทำอื่นใดที่เป็นการกระทำภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวปราศรัย การกล่าวเพื่อปลุกใจเพื่อร่วมชุมนุม การเลือกสถานที่การชุมนุม การกระทำกิจกรรมอื่นใดนั้นที่อยู่ภายใต้กรอบและวัตถุประสงค์ของการชุมนมแล้ว ย่อมไม่เป็นการผิดกฎหมายแต่อย่างใด และไม่จำเป็นจะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง หรือผิดจากการที่ได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองไว้ เพราะหากการนั้นทำตามการวางแผน วัตถุประสงค์ของผู้ชุมนุมอันเป็นเจตนาบริสุทธิ์ในการเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายแต่อย่างใด

และถึงแม้ว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเคยตกเป็นคดีความในมูลเหตุอันเดียวกัน ในกรณีอื่นมาก่อน อาทิเช่น เคยถูกฟ้องเป็นคดีในเหตุการณ์ประชาพิจารณ์ก่อนหน้าเหตุการณ์การสลายการชุมนุมนี้ ก็ไม่สามารถจะนำเหตุการณ์อันเคยเกิดล่วงมาแล้วมากล่าวหาว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองขึ้นได้ เพียงเพราะได้เคยกระทำในเรื่องนี้มาแล้วจากมูลเหตุอันเดียวกัน

และที่สำคัญที่สุด หากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญนั้นได้วางแผน ตระเตรียม เพื่อที่จะกระทำการ และมีเจตนาอันบริสุทธิ์เพียงเพื่อการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นเจตนาอันสุจริตตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นแล้ว การชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอ้างเหตุอันเชื่อถือไม่ได้ ถือเป็นกรกระทำการอันไม่สุจริต และผิดกฎหมาย

การยกฟ้องในคดีนี้ จึงไม่เป็นเพียงแค่ชัยชนะเล็กๆ ของผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ แต่ถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เป็นชัยชนะทางประวัติศาสตร์ของการเมืองภาคประชาน ในการต่อสู้ทางกฎหมาย จนก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่มีผลปฏิบัติเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

สันติชัย อาภรณ์ศรี
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net