Skip to main content
sharethis

หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มอันดามัน แต่ละกระทรวง ทบวง กรมต่างชงแผนเพื่อการพัฒนา และฟื้นฟูอันดามันในทุก ๆ ด้าน เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอของบฟื้นฟูชายหาดและใต้ทะเลกว่าพันล้านบาท กระทรวงท่องเที่ยวเสนอแผนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวด้วยงบประมาณอีกหลายพันล้านบาทเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแผนฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ เช่น การออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย การจัดระเบียบชายหาดด้วยโครงการบ้านเอื้ออาทร กระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนฟื้นฟูจิตใจของเหยื่อสึนามิ เป็นต้น

ดูเหมือนว่าแนวโน้มของแผนการพัฒนาของกระทรวง ทบวง กรมยังคงมุ่งเน้นอยู่ที่แนวคิดเดิม ๆ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเป็นหลัก การจัดระเบียบชายหาดก็เน้นแนวคิดที่จะต้องสวยงาม เอื้อต่อการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากแผนพัฒนาของภาครัฐคือการฟื้นฟูชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เช่น ป่าชายเลน อันเป็นปราการอย่างดีที่สามารถลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติได้ เป็นต้น

พื้นที่ unseen กับสึนามิ

ท่ามกลางความชุลมุนของบรรดาหน่วยงานที่พากันชงแผน ชงโครงการ ขณะที่ชุมชน ชาวบ้านผู้ตกเป็นเหยื่อของสึนามิกำลังอยู่ในช่วงโศกเศร้าเสียใจกับญาติพี่น้อง บ้านเรือนที่พังทลาย เครื่องมือทำมาหากินที่สูญหายไปกับคลื่นยักษ์ หลายคนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวไม่เหลือทรัพย์สินใด ๆ อาจจะกำลังงุนงง คิดอะไรไม่ออกกับหนทางข้างหน้า การเดินหน้าทำแผนพัฒนาโครงการจึงควรรอเวลา และน่าจะมีการคิดให้รอบด้าน และที่จะขาดเสียมิได้คือการมีส่วนร่วมของคนที่อยู่ตรงนั้น

ข้อมูลข่าวสารในช่วงที่ผ่านมา มีการรายงานกันมากโดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง เช่น เกาะพีพี พังงา และภูเก็ต แต่ความเป็นจริงแล้วยังมีเกาะเล็ก เกาะน้อย และชุมชนจำนวนมากที่ประสบภัยสึนามิ ที่ยังไม่เป็นที่รับรู้ เช่น บ้านอ่าวเคย ต.ม่วงกลาง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง บ้านเรือนถูกทำลายไปเกือบหมดถึง 100 หลังคาเรือน เรือประมงถูกทำลายไปกว่า 150 ลำ เกาะจำ เกาะไผ่ เกาะปู จ.กระบี่ เกาะลันตา แหลมตง ในหมู่เกาะพีพี ที่มีชาวอุรักลาโว้ยอาศัยอยู่ พื้นที่เกาะมุกต์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นต้น

ข้อมูลจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน อันเป็นเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชาวบ้านและพันธมิตร ที่ประกอบด้วย สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ กลุ่มเพื่อนอันดามัน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ โครงการชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ทำการรวบรวมข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐสำรวจไปไม่ถึง โดยเฉพาะชุมชนประมงพื้นบ้านในพื้นที่ unseen ไม่รวมพื้นที่บ้านน้ำเค็ม และเขาหลัก จ.พังงา ที่สื่อหลักนำเสนออยู่แล้ว

พบว่ามีชุมชนประมงพื้นบ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ หมายถึง มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลทั้งหมด 26 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ จำนวน 418 หมู่บ้าน มีครัวเรือนคาดว่าจะได้รับผลกระทบกว่า 20,000 ครอบครัว เครื่องมือประมงพื้นบ้านที่สูญหายไปมีทั้งเรือ กระชัง อวนปู อวนกุ้ง อวนปลา ไซปู ไซปลา ไซหมึก และโป๊ะ บางชุมชนหายไปทั้งหมู่บ้าน รวมทั้งโรงเรียน สถานีอนามัย

ขณะนี้การสำรวจของเครือข่ายฯ ดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น แต่ก็พบประมงพื้นบ้านเสียชีวิตแล้ว 272 ราย ผู้สูญหาย 26 ราย และบาดเจ็บอีก 99 ราย (ไม่นับรวมตัวเลขที่บ้านน้ำเค็ม และเขาหลัก จ.พังงา)

หลังเหตุการณ์สึนามิ ชาวบ้านจำนวนมากยังไม่กล้าออกทะเลหาปลา เพราะภาพคลื่นยักษ์ที่กลืนชีวิตผู้คนยังติดตา และบางส่วนก็ไม่มีเครื่องมือทำมาหากิน ความช่วยเหลือของทางราชการ และของบริจาคไปไม่ถึงหมู่บ้าน และบางหมู่บ้านก็มีหน่วยงานราชการที่ทำงานซ้ำซ้อนกันจนชาวบ้านสับสน บางชุมชนเริ่มมีความแตกแยกกันเพราะความช่วยเหลือ บางส่วนอยากกลับไปอยู่ที่เกาะเช่นเดิม แต่ก็ไม่สามารถกลับได้ เช่นชาวบ้านที่อยู่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นต้น

ภาพของชุมชน unseen ยังไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวมากนัก แต่ก็สะท้อนข้อมูลอีกด้านที่เราไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง

ประมงพื้นบ้านกับการฟื้นฟูชายฝั่ง

เมื่อเอ่ยถึงชายฝั่งอันดามัน คนจำนวนมากจะรู้จักอันดามันในแง่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่งดงาม มีปะการังสวยงาม มีน้ำทะเลใสจนได้รับการขนานนามว่า "ไข่มุกแห่งอันดามัน" จึงไม่แปลก เมื่อเกิดสึนามิ การทุ่มเท ช่วยเหลือบริจาคจึงมุ่งไปที่แผนฟื้นฟูให้อันดามันกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกครั้ง

แต่ความเป็นจริง อันดามันยังประกอบด้วยชีวิตเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ตามเกาะแก่ง พึ่งพาหากินกับท้องทะเล อีกด้วย ช่วงที่ผ่านมาก่อนสึนามิจะมานั้น ชุมชนประมงพื้นบ้านเองก็ต้องต่อสู้เพื่อจะดำรงตัวตน ชุมชนภายใต้กระแสการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างหนัก และดูเหมือนว่าหลังเหตุการณ์สึนามิ ชุมชนประมงยังคงต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อที่จะดำรงตัวตนและเอกลักษณ์ของตนเองภายใต้การไหลบ่าของโครงการต่าง ๆ ดังว่า

ในฝั่งอันดามัน ชุมชนประมงพื้นบ้านมีการรวมกลุ่มทำงานฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว และบางส่วนก็เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภาครัฐ และสำหรับคนในสังคมส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จักชุมชนประมงพื้นบ้านรวมถึงการทำงานฟื้นฟูชายฝั่ง ทรัพยากรทะเลของชุมชนเหล่านี้ เพราะชุมชนประมงพื้นบ้านทำงานอยู่เงียบ ๆ จนถึงปัจจุบันสมาชิกประมงพื้นบ้านกว่า 150 ชุมชนที่ทำงานฟื้นฟูชายฝั่งและท้องทะเล

ที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่มีหนี้สิน และไม่สามารถทำมาหากินได้ เพราะโดนรุกรานจากประมงขนาดใหญ่ที่ทำเรืออวนรุน อวนลาก เข้ามากวาดกุ้ง หอย ปูปลาไปจากท้องทะเลจนเกือบหมด ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านรวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูชายฝั่งและท้องทะเลอย่างจริงจัง จนมีการก่อตั้ง "สมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน" เมื่อปี 2536

งานฟื้นฟูที่ทำกัน เช่น การทำแนวปะการังเทียมแบบพื้นบ้าน การจัดชุดลาดตระเวนปราบปรามเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย การปลูกป่าชายเลน การทำเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ การต่อสู้ในระดับนโยบายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้เครื่องมืออวนรุน อวนลากที่ทำลายล้างทะเล เรียกร้องรัฐให้ยกเลิกสัมปทานป่าชายเลนแก่นายทุน เป็นต้น

ผลจากการทำงานของชุมชนประมงพื้นบ้านเล็ก ๆ ทำให้ทรัพยากรชายฝั่งทั้งในท้องทะเล และป่าชายเลน อันเป็นป่าที่อุดมไปด้วยความหลากหลายของทรัพยากรเริ่มฟื้นฟู และหากใครได้ติดตามข่าวสึนามิอย่างต่อเนื่องจะพบว่าป่าชายเลน หรือป่าโกงกาง ป่าที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำติดชายฝั่งนั้น ช่วยชะลอความรุนแรงของภัยธรรมชาติได้ไม่น้อย และยังมีเด็กน้อยวัย 3 ขวบที่สามารถรอดชีวิตเพราะไปติดอยู่ในป่าชายเลนอีกด้วย

งานฟื้นฟูชุมชน ป่าชายเลน และทรัพยากรใต้ท้องทะเล จึงมีความสำคัญไม่แพ้การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ เช่นกัน

เบญจา ศิลารักษ์
สำนักข่าวประชาธรรม

77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร. 053-810779, 09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net