Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"วันนี้ จะไปเป็นล่ามช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่รังสิต" สาเหตุที่ตัดสินใจไปทั้งๆที่ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยแข็งแรงนักก็เพราะนึกว่า จะไม่ค่อยมีคนไปกัน เนื่องจากอยู่ในช่วงสอบ แต่ไปถึงปรากฏว่า คนเยอะมากทั้งนักศึกษา ทั้งประชาชนผู้มีจิตศรัทธาอันแรงกล้า ต้องการจะช่วยเหลือชาวต่างชาติที่ประสบเคราะห์กรรมจากคลื่นยักษ์สึนามิในครั้งนี้ ทีแรก สตาฟฟ์(ซึ่งก็คือ เด็กธรรมศาสตร์นั่นแหละ) แบ่งพวกเราไปตามห้องต่างๆที่ชาวต่างชาติพักอยู่ เพื่อคอยผลัดเวรกับอาสาสมัครคนเก่าในกรณีที่พวกเขาต้องการไปทำธุระ แต่เนื่องจากชาวต่างชาติที่เข้ามาเมื่อคืนก่อน (27ธ.ค.)ได้กลับประเทศไปบ้างแล้วในช่วงเช้า จึงไม่ค่อยมีชาวต่างชาติให้ดูแลนัก ด้วยความอยากช่วย ก็เลยไปนั่งแยกเสื้อผ้าที่คนเอามาบริจาค เสื้อผ้าเยอะมากทีเดียว เราแยกมันออกเป็นเสื้อของผู้ชายและผู้หญิงขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เสื้อเด็ก กระโปรง และกางเกงขนาดต่างๆ เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถเลือกเสื้อผ้าที่ต้องการได้สะดวก ทีแรกนึกว่า จะขาดแคลนกางเกงใน แต่ที่ไหนได้ มีคนบริจาคมาเป็นถุงๆ (แน่นอนว่า เป็นตัวใหม่ ^_^) ที่จะขาดไปบ้างก็คือ กางเกงบ๊อกเซอร์ อันนี้ก็คงต้องทำใจนิดนึง เพราะชายไทยไม่ค่อยใส่กัน (หรือเปล่า)

ประมาณเที่ยง คนอยากช่วยเยอะขึ้นเรื่อยๆ สตาฟฟ์จึงขอให้ผู้ที่ต้องการเป็นล่ามไปนั่งรอบนแสตนด์ โดยแบ่งตามภาษา เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน รัสเซีย สเปนนิช ดัตช์ สแกนดิเนเวีย เป็นต้น เมื่อเขาต้องการล่ามภาษาใดก็จะมาเรียก "ขอล่ามภาษาญี่ปุ่น 2 คนครับ" ราวกับเล่นเกมโชว์ ทุกคนต่างแย่งงานกันสุดฤทธิ์ ส่วนมากใครนั่งแถวล่างก็จะได้งานไป สตาฟฟ์คนหนึ่งชี้แจงให้ฟังว่า "เมื่อแบ่งงานแล้วก็ต้องแสตนด์บายเอาไว้ก่อน แต่บอกก่อนว่า ก็อาจไม่ได้ทำก็ได้ เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอน เพราะสนามบินยังไม่แจ้งเวลาเครื่องลงมา" อย่างไรก็ตาม คนที่ต้องการมาช่วยเป็นล่ามก็มาเยอะขึ้นเรื่อยๆ จากแสตนด์หนึ่งก็ต้องขยับขยายไปอีกแสตนด์หนึ่ง

ต่อมา เราก็จับพลัดจับผลูได้เป็นหัวหน้าห้องพักห้องหนึ่ง พร้อมลูกทีมอีก 4-5 คน สตาฟฟ์แต่ละคนจริงจังมาก เดินอธิบายงานกันห้องต่อห้องเลยทีเดียว เพราะแม้ว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้ไม่ได้บาดเจ็บมากนัก (หากบาดเจ็บมากจะถูกส่งไปที่โรงพยาบาลก่อน) แต่พวกที่มาตรงนี้ ส่วนใหญ่ต้องการติดต่อกับสถานทูตเพื่อหาทางกลับประเทศ บ้างก็ต้องการหา สามี ภรรยา หรือญาติมิตรของตน ดังนั้น งานที่เราต้องทำ จึงไม่ใช่การบำบัดร่างกาย แต่เป็นจิตใจของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ สตาฟฟ์คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนก่อนมีคนพยายามจะฆ่าตัวตายด้วย เพราะเขาสูญเสียครอบครัวไปหมดแล้วจากเหตุการณ์ครั้งนี้

หลังจากได้รับมอบหมายงานแล้ว เราก็คึกคักกันมาก ต่างก็ผลัดกันสอนภาษาให้แก่กันเพื่อเตรียมต้อนรับบรรดาผู้ประสบภัย แต่เมื่อ3-4ชั่วโมงผ่านไป ก็ได้รับคำตอบว่า ยังไม่รู้ว่า พวกเขาจะมาเมื่อไหร่จริงๆ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ รอ เพราะทุกคนจะเน้นกันมากว่า ไม่ว่าจะทำอะไร อย่างน้อยที่สุดเมื่อเขามาถึง เราต้องพร้อม และท้ายที่สุดแม้เราจะรู้ว่า ที่ๆเราอยู่(ยิม4) เป็นที่ลำดับสุดท้ายที่ชาวต่างชาติจะมาอยู่ เพราะเมื่อมาถึงดอนเมืองแล้วบางคนเลือกจะรออยู่ที่นั่น เพื่อรอเที่ยวบินที่จะบินกลับบ้าน บางคนก็เข้าพักที่โรมแรม 30 แห่งที่เปิดห้องให้พักฟรี(บางห้อง) และหมู่บ้านนักกีฬาโซน D เมื่อไม่พอจึงจะมาอยู่ที่ยิม 4 แต่ก็เพราะได้มีการวางตัวผู้รับผิดชอบไปแล้ว ทุกคนจึงยังรออยู่ด้วยความหวังดีและปรารถนาที่จะช่วยเหลือ

นอกจากพวกนักศึกษาและประชาชนจะมาช่วยกันแล้ว บรรดาห้างร้านต่างๆ ก็มาช่วยอำนวยความสะดวกในหลายเรื่อง เช่น ดีแทคซึ่งให้ผู้ประสบภัยโทรทางไกลไปต่างจังหวัดและต่างประเทศฟรีโดยมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอดเวลา (อันนี้มีคนฝากชมมา) หรือ ตำรวจท่องเที่ยวที่ขึ้นมาจากพัทยาเพื่อช่วยสื่อสารและออกเอกสารต่างๆเพื่อให้นักท่องเที่ยวนำไปยื่นเรื่องต่อได้ที่ประเทศของพวกเขา

ในท้ายที่สุด แม้ว่า ในวันนั้นจะไม่มีชาวต่างชาติจำนวน 1000 คน ตามที่สตาฟฟ์ให้ข้อมูลไว้ แต่บรรดาอาสาสมัครต่างก็ช่วยงานกันอย่างเต็มที่ เท่าที่จะสามารถช่วยได้ บางครั้ง มีประกาศให้ไปช่วยขนของ อาสาสมัครกว่า 50 คนหรืออาจเกินกว่านั้น ต่างก็กรูกันออกไปช่วย (แน่นอนว่า หลายคนต้องกลับเข้ามามือเปล่า)

อาจารย์กฤษณา พรพิบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมาช่วยในงานนี้ตั้งแต่วันจันทร์ เล่าว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ การประสานงานกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอง หรือว่า ททท. เพราะไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย ว่าจะเกิดอะไรต่อไป นี่จึงเป็นสาเหตุให้ต้องแสตนด์บายไว้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการติดต่อกับสถานทูต โดยหลายแห่งมักจะหยุด เพราะเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส บางครั้งโทรศัพท์ติดต่อไปที่สถานทูตแล้วไม่มีคนรับ ก็ต้องลองพานักท่องเที่ยวไปติดต่อที่สถานทูตโดยตรงเลย ซึ่งก็ประสบกับปัญหารถซึ่งมีจำนวนจำกัด อย่างไรก็ตาม ก็ยังดีใจที่มีคนมาช่วยเหลือกันมากมายขนาดนี้

ไม่รู้จะจบยังไงแต่อยากให้เห็นว่า แม้ว่า แต่ละคนจะช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่แต่ทุกคนก็ทุ่มเทกันเต็มที่ ล่ามคนหนึ่งที่เราได้รู้จักในงานเพิ่งผ่าตัดเข่าเสร็จมาสดๆร้อนๆแต่ด้วยความที่อยากช่วยเหลือก็มาช่วยโดยทันทีช่างนับถือจริงๆ -เปรียบเทียบกับนักการเมืองคนอื่นๆแล้ว ไม่รู้ว่าพวกเขาได้ทำอะไรเพื่อประชาชน "ที่รัก" อย่าง "เต็มที่"บ้างหรือยัง

อาสาสมัครคนหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net