Skip to main content
sharethis

--------------------------------------------------------

www.geocities.com/.../ Hangar/8556/tsu_p4.htm
ชายฝั่งทะเลของไทยนั้นแม้จะยังไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการเกิดซึนามิบันทึกไว้ แต่เนื่องจากทะเลอันดามันด้านฝั่งตะวันตกของไทยก็มีแนวแผ่นดินไหวซึ่งเป็นแนวที่เชื่อมต่อมาจากอินโดนีเซีย ดังนั้นชายฝั่งตะวันตกของภาคใต้จึงมีโอกาสเผชิญกับซึนามิได้เช่นกันหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในทะเลอันดามัน แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าซึนามินี้จะเกิดขึ้นเมื่อไรหรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีความรุนแรงเพียงใด เพราะขึ้นอยู่กับโอกาสในการเกิดแผ่นดินไหวรวมทั้งความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีระบบใดๆที่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างแม่นยำ

แต่อย่างไรก็ดี จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณทะเลอันดามัน พบว่าเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ดังนั้นหากจะมองในแง่ของความน่าจะเป็นในการเกิดแผ่นดินไหวจนเป็นเหตุให้เกิดซึนามิในทะเลอันดามันแล้วค่อนข้างจะน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรเตรียมตัวหาทางป้องกันไว้บ้าง

กรณีซึนามินี้สามารถเปรียบเทียบได้กับมาตรการรองรับการเกิดแผ่นดินไหว ในปัจจุบันการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆและโดยเฉพาะอาคารสูงนั้น วิศวกรจะต้องออกแบบเพื่อให้สามารถทนต่อแผ่นดินไหวขนาดเบาได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นป้องกันไว้ล่วงหน้า แต่ก็มิได้หมายความว่าจะต้องเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในเร็วๆวันนี้ ดังนั้นการที่นักวิชาการออกมาเตือนเพื่อให้เตรียมการรับมือซึนามิไว้ก็มิได้หมายความว่าจะเกิดซึนามิถล่มภาคใต้ของประเทศไทยในเร็วๆนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น
ส่วนที่ว่าคำเตือนเรื่องซึนามิจะมีผลต่อการท่องเที่ยวนั้น หากมีการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับซึนามิอย่างถูกต้องแล้วก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น เพราะประเทศต่างๆที่มีชายฝั่งทะเลตามแนววงแหวนแห่งไฟ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฯลฯ ก็ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ นอกจากนี้ ที่หมู่เกาะฮาวายซึ่งเป็นดงภูเขาไฟ (ซึนามิอาจเกิดจากภูเขาไฟระเบิดในทะเลก็ได้) รวมทั้งยังเป็นทางผ่านของซึนามิชนิดข้ามมหาสมุทร ทำให้มีโอกาสเผชิญกับซึนามิสูงกว่าในประเทศไทยมากนัก แต่ก็ยังเป็นเมืองตากอากาศและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของโลก
แม้มนุษย์จะไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดซึนามิได้ แต่ก็สามารถบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หากมีการเตรียมพร้อมรับมือที่ดี ดังนั้นความไม่ประมาทและการเตรียมพร้อมจึงเป็นเรื่องดีและไม่ก่อให้เกิดผลเสียด้านการท่องเที่ยว หากมีการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างถูกต้อง มิใช่ให้ข้อมูลแต่เพียงบางด้านหรือให้ไม่ครบถ้วนซึ่งอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่สาธารณชนได้

สรุปการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในทะเลอันดามันในอดีต

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในทะเลอันดามันในอดีต (ดูตารางด้านล่างประกอบ) ภาพบนเป็นแผนที่แสดงสภาพทางภูมิศาสตร์ ส่วนภาพล่างจะเป็นภาพขยายซึ่งแสดงให้เห็นอาณาเขตของประเทศต่างๆด้วย ตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวคือตำแหน่งที่หมุดปักอยู่ จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลา 98 ปี คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439 ) ถึง ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537 ) มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นในทะเลอันดามัน 7 ครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับซึนามิที่ส่งผลต่อชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทยบันทึกไว้เลย แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าในประเทศไทยในอดีตไม่เคยเผชิญกับซึนามิเลย แต่อาจเป็นเพราะในสมัยก่อนระบบการเก็บข้อมูลยังไม่ดีพอก็เป็นได้

แนวรอยเลื่อนเปลือกโลกหรือแนวแผ่นดินไหวในเขตทะเลอันดามัน จุดสีเขียวที่เห็นคือตำแหน่งที่เคยเกิดแผ่นดินไหว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง ส่วนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะแสดงด้วยหมุด (ดูจากภาพบนจะเห็นหมุดชัดกว่า) แนวแผ่นดินไหวนี้เชื่อมต่อมาจากประเทศอินโดนีเซียซึ่งเชื่อมต่อสู่วงแหวนแห่งไฟหรือแนวแผ่นดินไหวรอบมหาสมุทรแปซิฟิกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ตารางด้านล่างนี้เป็นสรุปการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในทะเลอันดามัน ข้อมูลแผ่นดินไหวนี้ได้มาจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่รวบรวมโดยองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration, NOAA) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งรวบรวมข้อมูลแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอดีตจากทั่วโลก ช่วงระยะเวลาที่นำมาแสดงนี้เป็นข้อมูลระหว่างปี ค.ศ. 1896 - 1994 ในสดมภ์สุดท้ายของตารางซึ่งแสดงเวลานั้นเป็นการคำนวณว่าถ้าซึนามิเดินทางจากจุดเกิดแผ่นดินไหวมาถึงเกาะภูเก็ตจะใช้เวลานานเท่าไรโดยสมมติว่าซึนามิมีความเร็ว 700 ก.ม. ต่อชั่วโมง (ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความเร็วของซึนามิในเขตทะเลอันดามันจะต่ำกว่านี้เนื่องจากมีระดับความลึกเฉลี่ยไม่ถึง 4,000 เมตร) ขอย้ำว่าการคำนวณนี้เป็นการสมมติขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลจะมีเวลาเตรียมตัวนานเพียงใดเท่านั้น เพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลอันดามันทั้ง 7 ครั้งนี้ไม่มีบันทึกไว้ว่าก่อให้เกิดซึนามิที่ส่งผลต่อชายฝั่งทะเลของไทย
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net