เกาะติดชายแดนใต้: ปรับขบวน

ช่วงที่ 3 ที่เริ่มมาตั้งปี 2545 - ปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย" หรือ "Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle Development Project : IMT - GT"

มีการปรับเปลี่ยนกลไก ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ อย่างน่าสนใจยิ่ง ทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชน

ในส่วนของภาครัฐ แบ่งระดับกลไกการขับเคลื่อน ออกเป็น 4 ระดับ

1. ระดับรัฐมนตรี มีการประชุมประจำปี ต่อเนื่องจากวันประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส

2. ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส มีการประชุมประจำปี ก่อนวันประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อสรุปประเด็นความร่วมมือสามฝ่ายของกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการ นำเสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีพิจารณา

3. ระดับกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการ (Implementing Technical Groups : ITGs) มีการประชุมเพื่อกำหนดกิจกรรมตามแนวทางยุทธศาสตร์ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อจัดทำแผนงานดำเนินโครงการฯ และดัชนีวัดความสำเร็จ รวมทั้งกำหนดกลไกควบคุม ดูแล ติดตาม จัดทำเป็นรายงาน เสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยสามารถจัดตั้งกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการย่อย ให้ดำเนินการเฉพาะเรื่องได้ ตามความจำเป็น

4. ระดับกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการย่อย (Sub - ITGs) จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการ เพื่อจัดทำโครงการที่มีความเหมาะสม และมีความเป็นไปได้ เพื่อนำเสนอกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการต่อไป

ในส่วนของภาคเอกชน มีสภาธุรกิจสามฝ่าย เป็นกลไกหลัก ในการประสาน และเสนอโครงการความร่วมมือของภาคเอกชน ต่อที่ประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำปี มีบทบาทและสถานะในที่ประชุมไตรภาคีฯ เป็นคณะผู้แทนภาคเอกชน ที่สามารถแสดงความคิดเห็นโต้ตอบได้

การปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจ อยู่ตรงภาคเอกชนนี่แหละ
1. สภาธุรกิจสามฝ่าย ได้ปรับเปลี่ยนขยายวาระการประชุมออกไปเป็น 3 ครั้งต่อปี หรือ 4 เดือนต่อครั้ง และแต่ละครั้งให้มีการประชุมตามวาระของกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการ โดยประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ

2. ในส่วนของไทย มีการปรับเปลี่ยนกลไกของภาคเอกชนใหม่ ด้วยการยุบ "สภาธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่ประกอบด้วยภาคเอกชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทิ้งลงถัง แล้วจัดตั้ง "สภาธุรกิจ IMT - GT (ประเทศไทย)" ภายใต้การดำเนินการของ "สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย" ขึ้นมาแทน

อันหมายถึงว่า นับแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ตลอดไปจนถึงกาลอนาคตข้างหน้า แผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ IMT - GT ในส่วนของไทย จะถูกกุมทิศทางโดยกลุ่มทุนระดับชาติจากส่วนกลางอย่างเป็นหลัก

สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญ ในช่วงที่ 3 เอาเฉพาะระหว่างปี 2545 - จนถึงก่อนการประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 11 ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 23 - 26 สิงหาคม 2547 ประกอบด้วย…

1. กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีข้อตกลง ดังนี้
ร่วมมือพัฒนาท่าเรือปีนัง - ล็อคสุมาเว อินโดนีเซีย และปีนัง - ตำมะลัง จังหวัดสตูล เพื่อสนับสนุนระบบการบริหาร การฝึกอบรมบุคลากร และการขยายตลาด

ให้มีคณะทำงานพิเศษร่วม พิจารณารายละเอียดและหาข้อสรุปถนนสตูล - ปะลิส เร่งพัฒนาโครงข่ายถนนอลอร์สตาร์ - ดูเรียนบุหยง - บ้านประกอบ - นาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด่านพรมแดนที่จะเปิดใหม่ ณ บ้านประกอบ - ดูเรียนบุหยง

2. กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการการค้าและการพัฒนา ณ จุดแรกเริ่ม ตกลงเร่งรัดพัฒนาตลาดกลางขายส่งสินค้าชายแดน โดยฝ่ายไทยกำหนดก่อสร้างที่สะเดา ส่วนอินโดนีเซีย กำหนดก่อสร้างที่จังหวัดเรียว เกาะสุมาตรา และมาเลเซีย จะพัฒนาโครงการเมืองอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (KOTA PERDANA) เมืองอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร (KOTA PUTRA) และเมืองศูนย์กลางการค้าชายแดนปาดังเบซาร์

3. กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการดำเนินการตลาดเสรี ด้านเขตโทรคมนาคมพิเศษ ตกลงจะเน้นพัฒนาโครงการ Common Calling Cards, Common Call Center, Smart School และ Portal Development

4. กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการการพัฒนารายสาขา เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยว มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือสามฝ่าย พัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ IMT - GT ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคเอเชียและระดับโลก เนื่องจากมีธรรมชาติ ภูมิประเทศ วัฒนธรรมท้องถิ่นที่สวยงามและหลากหลาย สามารถพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวในลักษณะ Package Tour ร่วมกันสามฝ่าย

ทั้งนี้ จะมีการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการต่างๆ อย่างสมบูรณ์ครบวงจร ในระดับมาตรฐานสากล

5. กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการพัฒนาสหสาขา เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอินโดนีเซียสนใจให้ความช่วยเหลือทางวิชาการให้กับธนาคารอิสลามของไทย โดยเฉพาะการดำเนินการในรูปองค์กรที่ปรึกษาทางวิชาการ และการคลัง

6. กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากแนวพื้นที่ "สะพานเศรษฐกิจสงขลา - ปีนัง - เมดาน" และการค้าภายใน เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร โดยเฉพาะด้านอาหารฮาลาล ยางพารา ไม้ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมง ปศุสัตว์ พืชผักผลไม้ และป่าไม้

ในคราวประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 10 เมื่อปี 2546 มีการขยายความร่วมมือครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยรวมจังหวัดสุมาตราใต้ของอินโดนีเซีย และรัฐสลังงอร์ของมาเลเซีย เข้าไว้ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย ทำให้พื้นที่ IMT - GT ของอินโดนีเซีย ครอบคลุมเกาะสุมาตราเกือบทั้งเกาะ ยกเว้นจังหวัดลัมปุง

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 10 เมื่อปี 2546 ยังได้ให้ความเห็นชอบ ต่อความเห็นของ "นายกร ทัพพะรังสี" รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่เข้าร่วมประชุมในระดับรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้

โครงการที่พัฒนา ควรเป็นโครงการที่ทั้งสามฝ่ายมีส่วนร่วม
เน้นความร่วมมือในโครงการ ที่ทั้งสามฝ่ายมีศักยภาพสูงอย่างน้อย 5 เรื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยางพารา (รวมไม้ยางพารา), ปาล์มน้ำมัน, อาหารฮาลาล, การท่องเที่ยว และพลังงาน เป็นต้น

การประสานความร่วมมือสามฝ่าย ควรสื่อความไปถึงเวทีความร่วมมือในภูมิภาคอื่น เช่น ASIAN, APEC, ACD เป็นต้น

การประชุมไตรภาคีฯ IMT - GT ควรกำหนดระยะเวลาไม่ห่างกันเกินไป เพื่อจะได้เร่งรัดติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่า ในท่ามกลางความเงียบของ "IMT - GT" กลับมีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง เป็นความคืบหน้าที่มีโครงการฯ ขนาดยักษ์สารพัดโครงการฯ เรียงตามหลังกันมาเป็นแถวๆ

ถ้าอยากรู้ว่า มีโครงการฯ ขนาดยักษ์ โครงการไหนบ้างจะตามมา โปรดติดตามตอนต่อๆ ไป

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท