Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชิ สุวิชาน เล่าเรื่องป่าสนวัดจันทร์
==================================

เช้าวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา… ผมมีโอกาสได้ไปเยือนดินแดนป่าสนวัดจันทร์อีกครั้งหนึ่ง หากครั้งนี้ เป็นการเดินทางไปเยือนด้วยความหวาดหวั่น กับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะถาโถมเข้ามาในวิถีชุมชนอันเงียบสงบ เรียบง่าย ของพี่น้องปกากะญอที่อาศัยอยู่ท่ามกลางขุนเขา สายน้ำ และป่าสนแห่งนี้มาเนิ่นนาน…เมื่อยินข่าวว่า รัฐกำลังมีโครงการสร้างถนนเชื่อมโยง จากสะเมิง ผ่านป่าสนวัดจันทร์ ไปทางสิ้นสุดที่แม่ฮ่องสอน

…ผมได้รับการติดต่อจากทีมข่าว สกายนิวส์ ไอทีวี ช่วยนำทางเพื่อสำรวจพื้นที่ที่จะมีการปรับปรุงถนนเชื่อมโยงสะเมิง-แม่ฮ่องสอน ผมตอบตกลงทันที เพราะรู้สึกถึงความเปลี่ยนที่จะเข้ามาในไม่ช้า และพยายามครุ่นคิดไปถึงว่า อีกไม่นานถนนบนภูเขาสายนี้จะไม่เหมือนเดิม ที่สำคัญ…ผมอยากเก็บภาพ รายละเอียดสองข้างทาง วิถีการดำรงอยู่ของชุมชนที่นั่น…ก่อนที่มันจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม และผมได้ชักชวน "ชิ สุวิชาน" ศิลปินปกากะญอ ผู้มีแผ่นดินถิ่นเกิดอยู่บนดินแดนป่าสนวัดจันทร์เป็นผู้นำทางในครั้งนี้

เราเริ่มต้นเดินทางออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามถนนหมายเลข 107 ผ่านตัวอำเภอแม่ริม ก่อนจะเลี้ยวซ้ายขึ้นไปบนภูเขา มุ่งสู่ตัวอำเภอสะเมิง อำเภอเล็กๆ ในหุบเขาอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

ยอมรับว่า…ถนนสายนี้ เป็นถนนที่งดงามอีกสายหนึ่งของเชียงใหม่ เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ที่อบอวลด้วยมวลธรรมชาติอันสดใส เมื่อมองผ่านสองข้างทาง เราจะมองเห็นสวนกล้วยไม้ ฟาร์มผีเสื้อ น้ำตกแม่สา ปางช้าง สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ สวนดอกไม้ของชาวบ้านที่ปลูกไว้ตามเนินเขา ผ่านเขตอุทยานแห่งชาติขุนขาน ก่อนจะลัดเลี้ยวไปตามดงดอยและหุบเขา

"สะเมิง-วัดจันทร์ 92 กม." ป้ายบอกทางตรงทางแยกในตัวอำเภอสะเมิง เราหยุดเก็บภาพถนนตรงทางแยก บ้านน้ำริน "จา" นักข่าวไอทีวี หยิบแผนที่มากางดูพร้อมกับชี้ให้ดูว่า เขาจะเริ่มสร้างถนนจากจุดนี้ ก่อนออกเดินทางกันต่อไป ตัดผ่านเข้าไปบนถนนลาดยางแคบๆ ไต่ขึ้นไปบนความสูง ลัดเลาะไปในดงป่าที่รกครึ้มเย็น จนสิ้นสุดถนนลาดยางที่ กม.52 กลายเป็นถนนลูกรังที่ขรุขระด้วยหลุมบ่อ รถยนต์ยังคงขับเคลื่อนต่อไปอย่างช้าๆ

พอเข้าสู่เขตตำบลวัดจันทร์ เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของป่า…
"งดงามและยิ่งใหญ่จริงๆ ป่าสนวัดจันทร์…" ใครคนหนึ่งเอ่ยออกมาเบาๆ เมื่อมองเห็นป่าสนขึ้นเต็มผืนดินผืนป่า ความสดเขียวเข้มของป่าสนกลายเป็นภาพที่หาดูยาก ยิ่งเมื่อจอดรถอยู่บนเนินเขาสูง เราจะมองเห็นภูเขาทอดยาวสลับซับซ้อนเป็นแนวคลื่น ท่ามกลางสายลมหนาวโชยพัดผ่านมายะเยือก…

"เป็นป่าสนธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเอง เขาว่ากันว่า…เป็นป่าสนภูเขาธรรมชาติที่มีพื้นที่กว้างนับหมื่นๆ ไร่ และเหลืออยู่ที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย" ชิ สุวิชาน บอกกับเรา เมื่อหยุดพักกลางป่าสน

ชิ บอกกับเราอีกว่า…จะสังเกตได้ว่าป่าผืนไหนเป็นป่าสนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยดูจาก สนปลูกมันจะเป็นแถวเป็นแนวยาว แต่สนธรรมชาตินั้นจะขึ้นไม่เป็นระเบียบ และที่สำคัญ…สนธรรมชาติที่วัดจันทร์จะมีทั้งสนสองใบและสนสามใบขึ้นสลับกันไปมา ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เนื่องจากต้นสนสองใบกับสนสามใบนั้นจะขึ้นอยู่ในพื้นที่คนละระดับกัน

"แล้วเราจะดูรู้ยังไง…ว่าต้นไหนคือสนสองใบหรือสนสามใบ…" เราเอ่ยถามด้วยความอยากรู้…ชิ บอกว่า จริงๆ แล้ว คนปกากะญอที่นี่ เขาไม่เรียกว่าสนสองใบ หรือสนสามใบ แต่จะเรียกกันว่า…สนดำกับสนเหลือง

"ชาวบ้านเขาจะสังเกตดูง่ายๆ สนดำ หมายถึง สนสองใบ ลำต้นมีสีดำคล้ำๆ และมีเปลือกหนาขรุขระ ส่วนสนเหลืองนั้น หมายถึง สนสามใบ สังเกตดูลำต้นจะมีเปลือกเรียบและสีออกเหลืองๆ แต่คนทั่วไป เวลาจะดูให้รู้แน่ชัด เขาจะดูตรงใบสน ว่ามีสองใบ หรือสามใบ…" ชิ บอกกับเรา

เขาบอกว่า…ชาวบ้านตำบลวัดจันทร์ จะร่วมกันรักษาดูแลผืนป่าสนเหล่านี้ เพราะถือว่าเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ นอกจากให้ความชุ่มชื้นให้ผืนดินแล้ว ในป่าสนยังใช้เป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงชองชาวบ้าน และยังเป็นแหล่งบ่มเพาะพันธุ์เห็ดสน เห็ดหลายๆ ชนิด ให้ชาวบ้านได้เก็บมาเป็นอาหาร

"ป่าสน เราไม่ต้องไปปลูก เพราะมันขึ้นเองตามธรรมชาติทุกปีๆ ดูจากต้นเล็กๆ เหล่านี้ พอถึงเวลา หลังการบ่มเพาะ ได้รับแดดลมฝน มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ต้นสนก็จะโผล่พ้นดินขึ้นมาเอง เราเพียงแต่หมั่นดูแลวิธีป้องกันไฟป่าลุกลามป่าสนด้วยการเผา…" ชิ เอ่ยออกมา ทว่าเราหลายคนกลับงง…ป้องกันไฟป่าด้วยการเผาป่า!?

"นี่เป็นวิธีของชาวบ้าน คนที่อยู่กับป่าสนมานานแล้ว…เพราะทุกคนรู้ดีว่า หากปล่อยให้ใบสนที่หล่นร่วงลงมาเต็มพื้นดินผืนป่า ปล่อยให้มันพอกพูนหนาแน่นเมื่อใด โอกาสที่ไฟป่าจะลุกไหม้ลุกลามไปทั่วอย่างรวดเร็ว จนอาจเกิดผลกระทบต่อป่าสนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเราจัดการเผาเศษใบสนตามพื้นดินให้ใหม้ทุกๆ ปี ปัญหาเรื่องไฟป่าอย่างรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้น…" ชิ อธิบายให้เราฟัง

"แล้วต้นสนต้นเล็กๆ ไม่ถูกทำลายหรือ…"
"ต้นสนนั้นเกิดง่าย ตายยาก พอต้นสนที่สูงเกินสองเมตร หรือมีอายุเกินสองสามปี ก็จะทนต่อดินฟ้าอากาศ ทนต่อความร้อนของไฟได้ นี่เป็นวิธีคิดแบบชาวบ้าน ที่อยู่กับป่ามานาน…" ชิ เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ชิ, ยังได้ชี้ให้ดูร่องรอยการเจาะเอาน้ำมันสน ต้นสนบางต้นถูกเจาะตรงโคนจนลึกแหว่งเข้าไป เขาบอกว่าก่อนนั้นรัฐมีโครงการเจาะเอาน้ำมันสน แต่ชาวบ้านวัดจันทร์ไม่ยอม เพราะต่อไปป่าสนต้องถูกทำลาย จึงร่วมกันคัดค้าน จนที่สุด,ต้องล้มเลิกโครงการนี้ไป

จริงสิ…ชาวบ้านที่นี่ เขาอยู่กับป่ามานานหลายชั่วอายุคน เขารู้ เขามีวิธีดูแลรักษาป่า ซึ่งเป็นคนละวิธีคิดแบบเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่คิดไปอีกอย่าง…ส่งเสริมปลูกป่าสน แต่พยายามจะให้มีการสัมปทานโค่นตัดป่าสนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อแปรเป็นทุนเป็นกำไร…

ทำให้นึกไปถึงเหตุการณ์ในอดีตครั้งก่อน นานหลายสิบปีมาแล้ว…เหตุการการต่อสู้ของชาวบ้านในแถบป่าสนวัดจันทร์ ที่ร่วมกันคัดค้านกับความฉ้อฉล ความไม่เป็นธรรม เมื่อรัฐเริ่มตัดถนนจากข้างล่าง รุกคืบเข้ามาในดินแดนป่าสนวัดจันทร์ สร้างที่พักสำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. เพื่อจะสัมปทานตัดโค่นป่าสนธรรมชาติในพื้นที่กว่าหมื่นไร่...

เนิ่นนานหลายปี…ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันคัดค้านต่อสู้ จนถูกอำนาจ อิทธิพล เข้าข่มขู่และจัดการกับชาวบ้านอยู่หลายครั้งหลายครา แต่ก็สู้พลังอันบริสุทธิ์ของชาวบ้าน คนอยู่ป่าสนวัดจันทร์ไม่ได้…จนในที่สุด, รัฐได้ยุติโครงการสัมปทานป่าสน และยอมให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมปกป้องรักษาดูแลดังเดิม…สำนักงาน ออป.ได้กลายเป็นสำนักงานร้าง และกลายเป็นสถานที่พักให้แก่นักท่องเที่ยวในปัจจุบัน.

และไม่นานมานี้…ข่าวโครงการเชื่อมโยงสะเมิง-แม่ฮ่องสอน โดยมีการปรับปรุงขยายถนนจากอำเภอสะเมิง-บ่อแก้ว ผ่านป่าสน ต.วัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ตัดผ่านไปยังบ้านห้วยตอง-บ้านแม่สะกึด ต.ห้วยตอง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ก็กำลังเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เป็นโครงการที่ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นผู้เสนอให้รัฐบาลนำไปพิจารณา และได้มีการดำเนินงานศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดเลือกแนวสายทาง มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยจำนวน 3 ครั้ง ในระหว่างวันที่ 27-29 ตุลาคม 2546 ณ หอประชุมอำเภอสะเมิง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และที่ศาลาประชาคม อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนในบริเวณพื้นที่โครงการได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและหาทางในการดำเนินงาน

เนื่องจาก เส้นทางส่วนใหญ่ตัดผ่านพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวัน 23 ธันวาคม 2546 กำหนดให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาก่อนเพื่อเสนอความเห็น ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จึงต้องมีการศึกษาด้านเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ตามรายงานบอกว่า เมื่อพิจารณาสภาพพื้นที่แล้ว สามารถใช้เส้นทางที่ตรงกว่า ตามแนวเส้นทางจากทางหลวงหมายเลข 108 ถึง อ.หางดง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1269 จาก อ.หางดง-อ.สะเมิง แล้วก่อสร้างทางแนวใหม่จาก อ.สะเมิง ผ่านบ้านวัดจันทร์ ถึงแม่ฮ่องสอน โดยรวมระยะทางประมาณ 192 กม.ซึ่งสามารถลดระยะทางให้น้อยลงและใช้ความเร็วของรถได้มากขึ้น

ในรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวง ของกลุ่มบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ยังบอกอีกว่า แนวเส้นทางทั้งหมด ก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านวิศวกรรม จราจร และเศรษฐกิจ การลงทุน การก่อสร้างสายทางดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แม้ว่าจะตัดผ่านเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงเขตลุ่มน้ำชั้น 1 A,1 B และชั้น 2 ก็ตาม แต่ก็มีแนวถนนเดิมอยู่แล้ว เป็นการเข้าไปพัฒนาเส้นทางเดิมที่มีอยู่ จึงมีความเหมาะสม ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป

"ถ้าถนนดี คิดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านอาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายของให้ แต่ก็กลัวเหมือนกันว่า หากเข้ามาเยอะ เขาอาจเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และป่าที่เราอาศัยอยู่อาจถูกทำลายมากขึ้น" ชาเหล่พอ ชาวปกากะญอ บ้านห้วยตอง บอกกับเรา

ในขณะที่ชาวบ้านจากบ้านวัดจันทร์ ต.วัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้บอกกับเราว่า ชาวบ้านวัดจันทร์ทุกคนล้วนต้องการถนนลาดยางมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมา การสัญจรไปมาลำบาก แต่ก็ยังรู้สึกหวั่นๆ กันอยู่ว่า เมื่อความเจริญรุกเข้ามา…

"ผมไม่รู้ว่าต่อไป…ชาวบ้านที่อยู่กับป่ามานาน จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร!? มันบอกไม่ถูก เพราะการสร้างถนนสายนี้มีทั้งดีและเสีย ต่อไปการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรคงสะดวกมากขึ้น เพราะพื้นที่แถวนี้อุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชผักได้ตลอดปี" เขาบอกกับเรา

ที่สำคัญ…ที่ผู้คนส่วนใหญ่หวาดหวั่นกันมาก คือปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ แย่งชิงที่ดิน การหาวิธีการทำลายป่าสน เหมือนเมื่อครั้งก่อน หวาดกลัวอนาคต หากผู้คนได้หลั่งไหลกันเข้ามาอย่างหนัก นักท่องเที่ยว นักลงทุนที่จะเข้ามาประกอบกิจการ ต่อไป อาจจะมีร้านอาหาร รีสอร์ท คาราโอเกะ ปัญหาสังคม อาชญากรรม ยาเสพติดฯลฯ ที่จะต้องคืบคลานเข้ามา แล้วมีหน่วยงานไหนที่จะเข้ามาวางแผน คิดช่วยชาวบ้าน ให้ตั้งรับกับปัญหาเหล่านี้!?

นั่น,เป็นโจทย์สำคัญที่ทุกคนต้องคิดกันต่อ…เมื่อคลื่นคนล้นหลาม ต่างมุ่งทะลักเข้ามาสู่ถนนสายนี้ เม็ดเงินกระจัดกระจาย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างบ้าคลั่ง และทำให้หลายๆ คน อดครุ่นคิดต่อไปไม่ได้ว่า อีกไม่ช้า…ป่าสนวัดจันทร์ อาจกลายเป็นเพียงแค่ตำนานให้เรียนรู้และจดจำ…

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net