Skip to main content
sharethis

พลังงานไฟฟ้า ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาของโลก ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายต่างพยายามหาแหล่งพลังงานเพื่อรองรับกับความต้องการของตน จะเห็นได้จากนโยบายด้านต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ที่แสดงท่าทีต่อประเทศแถบตะวันออก นั่นก็เพื่อประโยชน์ในการค้าขายน้ำมัน ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประเทศไทยก็เช่นกัน ภาครัฐได้พยายามจะหาแหล่งพลังงานใหม่ เพื่อให้เท่าทันกับความเจริญที่ดำเนินไปของประเทศ

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แหล่งพลังงานต่างเริ่มผุดขึ้นในประเทศไทย โดยใช้เชื้อเพลิงต่างๆ เช่น น้ำมัน ก๊าชธรรมชาติ และถ่านหิน แต่ก็มีปัญหาติดตามมากับแหล่งพลังไฟฟ้าที่สร้างขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อน มลพิษจากโรงไฟฟ้าดีเซลล์ หรือแม้กระทั่งสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น

"คุณกลัวการขี่มอเตอร์ไซค์หรือเปล่า…..การที่เราไม่กลัวเพราะเรารู้สึกว่าสามารถที่จะควบคุมได้ เราก็จะนึกว่าสิ่งนั้นปลอดภัย โรงไฟฟ้าก็เช่นเดียวกันในสมัยนั้นที่เราเห็นว่ามันไม่อันตราย ก็เพราะเราคิดว่าสามารถควบคุมได้" สมศักดิ์ เส็นดาโอ๊ะ หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์เชื้อเพลิง กฟผ.นนบุรี กล่าวอลัว่า

เมื่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ 1-3 ก็คิดว่าไม่มีอะไร อากาศจะสามารถทำให้มลพิษเจือจางไม่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แต่พอสร้างถึงโรงที่ 7-9 ก็เป็นเรื่อง เพราะมลพิษมีมากจนเกินมาตรฐาน จนเป็นอันตรายต่อคนและธรรมชาติ

"และสาเหตุที่สำคัญอีกประการคือ เทคโนโลยีในการกำจัดสารพิษก่อนที่จะปล่อยออกมาจากโรงงานสมัยนั้น แพงมากซึ่งหากซื้อมาติดตั้งก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้า" สมศักดิ์ กล่าว

พลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จึงต้องมีการสรรหาแหล่งพลังงานอย่างอื่น เพื่อที่จะทดแทนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคต แต่ถึงอย่างไรก็ต้องคำนึงถึงพลังงานที่สะอาด ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำลายคน
แม่ฮ่องสอน คือจังหวัดที่มีปัญหาในเรื่องของพลังงานไฟฟ้าอยู่ตลอดมา ด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นเต็มไปด้วยพื้นที่ป่าและเขา คิดเป็น 78 ของพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำจึงเป็นการยากยิ่งที่จะเดินส่งสายไฟไปในพื้นที่

ทั้งยังไม่สามารถที่จะเดินสายไฟแรงสูงขนาด 115 กิโลวัตต์ จากเชียงใหม่ไปได้เพราะระยะทางที่ไกลกว่า 200 กิโลเมตรจึงเป็นการไม่คุ้มทุนที่จะทำ และเมื่อทาง กฟผ.จัดเดินสายไฟฟ้าแรงสูงตัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 A มติ ครม.เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 ก็ไม่อนุญาตเพราะเกรงปัญหาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

แต่ความต้องการของใช้พลังงานของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพิ่มขึ้นปีละ 6 เปอร์เซนต์ ทางกฟผ. จึงทำให้ทางภาครัฐต้องหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทน

โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นทางออกหนึ่งของแม่ฮ่องสอนในการหาพลังงานมาเสริมกับแหล่งพลังงานเดิมที่มีอยู่ โดยลักษณะของโครงการจะเป็น การสาธิตระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยมีสำนักงานแผนและพัฒนาเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

พินิจ ศิริพฤกพงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "แม่ฮ่องสอนมีความต้องการใช้พลังไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นปีละ 6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เราต้องหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อทดแทน ซึ่งโครงการพลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์นั้นเหมาะสมกับพื้นที่ของจัหวัดแม่ฮ่องสอนที่เป็นพื้นที่ป่าและเขา ซึ่งเมื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แล้วเสร็จสามารถที่จดลดการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าได้เป็นเงิน 2,907,698 บาทต่อปี "

นับว่าเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งของการผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะพลังแสงอาทิตย์นั้นเป็นพลังงานสะอาดไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ อันจะเป็นผลเสียต่อธรรมชาติ แต่ก็มีข้อเสียอยู่ในหลายประการนั่นคือ เมื่อเทียบราคาต้นทุนต่อหน่วยแล้ว ราคาต้นทุนจะตกอยู่ที่หน่วยละ 8 บาท

แต่ชาวแม่ฮ่องสอนยังใช้ไฟฟ้าเพียงหน่วยละ 2.5 บาทเท่ากับพื้นที่อื่นของประเทศไทย เพราะนโยบายของทางภาครัฐ ที่ได้กำหนดไว้ให้คนทั่วประเทศใช้ไฟฟ้าในราคาที่เสมอภาคกัน

บ้านน้ำเพียงดิน อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งมีปัญหาในเรื่องของไฟฟ้า เพราะพื้นที่ดังกล่าวนั้นติดกับเขตแดนพม่ามักจะมีปัญหาการสู้รบของรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างไกลมีปัญหาในเรื่องการเดินสายไฟ

ทางรัฐจึงได้หาหนทางเพื่อที่จะให้ชาวบ้านนั้นมีไฟฟ้าใช้ โดยได้ทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่เหมาะสม ง่ายต่อการปิดเปิดเครื่อง โดยชาวบ้านเองสามารถที่จะจัดการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าได้

โดยเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าดังกล่าว สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงต้นทุนในการดูแลรักษาน้อยมาก ทางกฟผ.จึงได้โอนให้ อบต.บ้านน้ำเพียงดินนั้นเป็นผู้บริหารจัดการ

ธนสาร ฐานะวุฒิ หัวหน้าโครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังน้ำ บ้านน้ำเพียงดิน กล่าวว่า "โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านน้ำเพียงดิน สามารถผลิตกระแสไฟได้ 40 กิโลวัตต์ ใช้งบประมาณการลงทุนทั้งสิ้น 3.75 ล้านบาท สามารถส่งไฟฟ้าหล่อเลี้ยงได้ 28 ครัวเรือน และอีก 1 โรงพัก ส่วนฤดูกาลนั้นไม่เกี่ยวเพราะว่าที่นี่นั้นมีน้ำใช้ตลอดปี ในการใช้ไฟฟ้าของหมู่บ้านนั้นก็สามารถใช้ได้เหมือนชาวบ้านปกติทั่วไปใช้กัน ทีวี วิทยุ ตู้เย็น แต่ต้องเป็น เบอร์ 5 ชนิดประหยัดไฟ"

แม้ว่าต้นทุนของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งของแม่ฮ่องสอน คือ โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่บ้านน้ำเพียงดิน จะมีต้นทุนที่ถือว่าสูงกว่าปัจจุบัน

แต่เมื่อมองไกลไปในอนาคต งบประมาณที่ได้ลงทุนไปถือว่าคุ้มค่า เพราะพลังเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อคนและธรรมชาติ ได้ประโยชน์และผลกระทบน้อย ดีกว่าการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เคยมีบทเรียนมาแล้วที่ แม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net